18 ต.ค. 2021 เวลา 04:32 • สุขภาพ
ชวนรู้จัก "อาหารทางเลือก" รอบโลก ที่นิยมนำมาทานทดแทน "ข้าว"
สำหรับคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือพยายามฟิตร่างกายตัวเอง
นอกจากการออกกำลังกายแล้ว การทานอาหารก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ
แน่นอนว่า การอดอาหารอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไรนัก (เว้นแต่จะมีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนเป็น routine เนอะ)
นั่นจึงทำให้ ผู้คนส่วนใหญ่พุ่งเป้ามายังอาหารตัวร้ายแต่ให้พลังงานสูงอย่าง “อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต” เช่น ข้าว เป็นต้น
เอ… แต่ว่า จะตัดไปเลยก็ไม่ได้..
เพราะข้าว หรือแป้งคาร์โบไฮเดรต ก็ยังมีความสำคัญอยู่ดี ไหนจะต้องใช้พลังงานออกกำลังกาย หรือ ไหนจะเพื่อความอร่อยครบสมบูรณ์ในมื้ออาหาร…
ครั้นจะลดปริมาณ… แต่บางครั้งก็หงุดหงิดใจเหลือเกิน
แต่จริง ๆ แล้ว การรับประทานแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม หรือ เลือกชนิดที่ให้สารอาหารตามที่เราต้องการ ยกตัวอย่างเช่น ธัญพืช ก็อาจจะไม่ทำให้เราอ้วน
และคงเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาในครั้งนี้ (แต่ถ้าหักโหมทานเยอะ ก็คงไม่รอดอยู่ดีนะ แห่ะ ๆ)
ถ้าหยั่งงั้น วันนี้ให้พวกเรา InfoStory ชวนเพื่อน ๆ ไปส่อง “อาหารทางเลือก" รอบโลก ที่นิยมนำมาทานทดแทน "ข้าว" กัน !
ซึ่งส่วนใหญ่เรื่องราวที่มาของวัตถุดิบหรืออาหารเหล่านี้ ก็จะพบความนิยมในกลุ่มประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน ยุโรปใต้ หรือ ตะวันออกกลาง
จะมีอะไรบ้าง ? แล้วเพื่อน ๆ ได้เคยทานครบทุกชนิดที่พวกเรานำมาชวนส่องหรือยังเอ่ย ?
งั้นไปชมภาพอินโฟกราฟิกสุดสบายตากันดีกว่า !
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมสั้น ๆ เชิญทางนี้ได้เลย
อย่างที่เกริ่นไปแล้วในตอนแรก สารอาหารประเภทแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต ยังคงเป็นสารอาหารหลักที่ให้พลังงานและมีความจำเป็นสำหรับร่างกาย
การแนะนำวิธีการลดน้ำหนักด้วยการ “ตัด” การรับประทานแป้งเข้าไปเลย บางทีอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่แนะนำทางการแพทย์ สักเท่าไร…
แต่การรับประทานอาหารกลุ่มนี้ในปริมาณที่เหมาะสมตะหากละ จึงไม่ทำให้อ้วน ดีทั้งสุขภาพกายและใจ
เพราะว่า สารอาหารจำพวกแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดของความอ้วน แบบที่เราเข้าใจผิดกันมา นั่นเอง
(อ้างอิงจากบทความ “10 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการลดความอ้วน” โดยโรงพยาบาลกรุงเทพ)
ทั้งนี้ทั้งนั้น คำแนะนำที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย คือ เราควรรับประทานแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตคือ ในมื้อเช้าและมื้อกลางวัน แต่ควรงดหรือจำกัดปริมาณในมื้อเย็น สำหรับแป้งทางเลือกที่สามารถนำมาใช้ทานทดแทน “ข้าว” ได้ ก็มีมากมายเลย
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อย่างเช่น ข้าวกล้อง หรือ ประเภทธัญพืช เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ควินัว โฮลเกรน หรือว่าจะเป็น ขนมปังโฮลวีท ที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายเพิ่มขึ้นช้า ๆ และทำให้เรารู้สึกอิ่มได้นาน ลดความอยากอาหารและช่วยลดความหิวได้ (บางชนิดมีไฟเบอร์สูงมาก ๆ อีกด้วยนะ)
นอกเหนือจากกลุ่มอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานสูงแล้ว
เรายังสามารถเลือกรับประทานทานอาหารในกลุ่มโปรตีนและผักใบเขียวทดแทนอาหารกลุ่มแป้งจะเป็นวิธีที่สามารถช่วยลดน้ำหนักได้
โอเค งั้นเราขอหยิบเรื่องราวเบาสมองของอาหารทางเลือกทดแทนข้าว
ที่ตัวพวกเราชื่นชอบอย่าง “คูสคูส (Couscous)” มาเล่าให้ฟังกัน
ว่าแต่… เพื่อน ๆ เคยทาน กันไหมเอ่ย ?
(เราเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อหรือเคยทานกันมาแล้วละเนอะ)
Couscous หากเราดูกันที่ภายนอกแล้ว เราอาจจะเข้าใจว่า เจ้าเมล็ดกลมจิ๋วนี้ น่าจะเป็นข้าวหรือเมล็ดธัญพืชชนิดหนึ่งเนอะ
แต่ในความจริงแล้ว Couscous ถูกจัดว่าเป็นแป้งเซโมลินาในตระกูลพาสต้า
(ซึ่งเป็นแป้งที่ได้ข้าวสาลีสายพันธุ์ดูรัม แต่ไม่ใช่ตระกูล grain)
2
เจ้าตัวนี้ จะมีจุดเด่นคือ ทำง่ายทานสะดวก
หากว่าเราซื้อเป็นแบบกึ่งสำเร็จรูปมานะ ก็ต้มทานได้เลย
ซึ่งเจ้า Couscous ก็จะดูดน้ำและฟูนิ่ม ปรุงแล้วสุกเร็ว เก็บรักษาได้ในระยะยาว
จะมาผัดทานกับไก่รสเผ็ด หรือ พวกสตูเนื้อ ก็ทานอร่อยไม่แพ้ข้าวเลย
ความเป็นมาและเรื่องราวของ Couscous ก็น่าสนใจเหมือนกันนะ
เพราะว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศในแถบทวีปแอฟริกาตอนเหนือ อย่างประเทศโมรอคโค จนชาวยุโรปหลาย ๆ คนที่เริ่มรู้จักเจ้า Couscous เนี่ย เขาก็จะเรียกรวม ๆ กันจนติดปากว่าเป็น “Moroccan Rice” (แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่นะจ้า อย่าไปเข้าใจผิดเด้อ)
รู้ไหมว่า Couscous เนี่ยเกือบจะได้ถูกขึ้นบัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก อีกด้วยนะ !
แต่ที่ใช่คำว่าเกือบเนี่ย ก็เพราะว่า ในปี 2016 ประเทศแอลจีเรีย ได้เสนอชื่อ Couscous เพื่อให้ความสำคัญกับอาหารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีอิทธิพลกับผู้คนในวงกว้าง
รวมไปถึง การอ้างถึงว่า Couscous เองเนี่ย ก็มีจุดเริ่มต้นและแพร่ขยายมาจากประเทศแอลจีเรีย ที่นิยมทานอาหารเมล็ดจิ๋วนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 แล้ว
แต่อย่างไรก็ดี หลาย ๆ ประเทศในแอฟริกาตอนเหนือ (แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือ โมรอคโคและตูนิเซีย) ก็ได้ออกมาขัดแย้งว่า “เห้ย ! เดี๋ยวก่อนนะ Couscous มันไม่ได้กำเนิดและยอดนิยมมาจากประเทศของนาย แต่ประเทศของเรา ตะหากละ !”
เมนู Moroccan Couscous with Meat
แผนการขึ้นบัญชีมรดกโลกของ Couscous โดยประเทศแอลจีเรีย จึงถูกพับเก็บไปในทันที
อย่างไรก็ดี ความนิยมของ Couscous ก็กลับไม่ได้ลดลงไปเลยในทวีปแอฟริกา ไม่ว่ามันจะกำเนิดมาจากประเทศไหนก็ตาม...
แต่เหมือนที่เราเข้าใจคือ หลาย ๆ สื่อความรู้ที่ให้ข้อมูลถึงเรื่องประวัติของ Couscous
เขาก็จะเขียนกันว่า Couscous มีต้นกำเนิดมาจาก “สหรัฐอาหรับมาเกร็บ AMU (Arab Maghreb Union)” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ในตอนเหนือของแอฟริกา ได้แก่ อัลจีเรีย ลิเบีย มอริเตเนีย โมรอคโคและตูนิเซีย
MU (Arab Maghreb Union)
ที่น่าสนใจอีกนิดนึงคือ
“แล้วทำไมประเทศแอลจีเรีย ถึงได้มั่นใจว่าตัวเองเป็นต้นกำเนิดของ Couscous ได้มากขนาดนั้นละ ?”
เรื่องราวนี้คงอ้างอิงได้จากบันทึกของคุณ “Charles Perry” นักประวัติศาสตร์ด้านอาหารชาวอเมริกัน ที่เขียนไว้ว่า Couscous เป็นอาหารประจำกลุ่มชนเบอร์เบอร์ (Berber people) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์ของแอฟริกาเหนือทางตะวันตกของลุ่มแม่น้ำไนล์ ในระหว่างศตวรรษที่ 11 - 13
ซึ่งชาวเบอร์เบอร์กลุ่มนี้ ก็เป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำในเขตประเทศแอลจีเรีย ในยุคสมัยของราชวงศ์ซีริด (Zirid dynasty)
กลุ่มชนเบอร์เบอร์ในยุคสมัยใหม่
เรื่องราวนี้ ก็ยังมีการบักทึกไว้ในหนังสือของ นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่อีก 2 ท่านที่มีนามว่า “Lucie Bolens” และ “Hady Roger Idris” ที่มีการบันทึกในลักษณะเรื่องราวเดียวกัน
โห เล่ามาซะไกลเลย !
งั้นเราขอจบที่การแพร่ขยายของ Couscous ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากชาวอาณานิคมฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 16 ที่ได้เข้าไปพบเจ้าอาหารชนิดนี้ และด้วยนวัตกรรมการปรุงอาหารของฝรั่งเศสก็พัฒนาไปมากในช่วงนั้น จึงทำให้พวกเขาสามารถนำ Couscous มาต้ม อบ นึ่ง พร้อมทานคู่กับเมนูอาหารฝรั่งเศสได้อย่างลงตัว
แน่นอนว่าหากอาหารจานใดมาตกถึงฝีมือการทำอาหารของชาวฝรั่งเศสและอิตาลี ก็มักจะได้รับการรังสรรค์และแพร่ขยายไปทั่วทวีปยุโรป (รวมถึงเกาะอังกฤษด้วย)
French Style CousCous
พอหอมปากหอมคอ หวังว่าคงจะไม่ยาวจนเกินไป
งั้นวันนี้พวกเรา InfoStory ขอตัวไปทานข้าว… เอ้ย ! ไปทานอาหารทางเลือกดีกว่า 🙂
(แต่จริง ๆ แล้ว เราเองก็ยังคงทานข้าวสวยอย่างข้าวหอมมะลิหรือข้าวญี่ปุ่นอยู่ดีนะ ยอมรับเลยว่าเป็นคนติดข้าวขาวเอาเสียมาก แห่ะ ๆ)
โฆษณา