17 ต.ค. 2021 เวลา 03:47 • ปรัชญา
"อยู่กับปัจจุบัน ... อย่างชาญฉลาด"
" ... เครื่องมือในการรู้สภาวะคือตัวสติ
ตัวที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันได้
ก็คือตัวสมาธิที่ถูกต้อง
2 ตัวนี้เป็นเครื่องมือใหญ่ในการปฏิบัติ
ถ้าเรามีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ
นั่นคือองค์มรรคที่ 7 กับที่ 8 แล้ว สำคัญมาก
แล้วมีสติระลึกไป มีสมาธิขึ้นมาฝึกขึ้นมา
มีกรอบ ตัวชี้กรอบ
ตัวที่เป็นกรอบ ให้เรารู้ว่าเรามีสติเพื่ออะไร
เรามีสมาธิเพื่ออะไร ตัวนั้นคือตัวสัมมาวายามะ
ฉะนั้นในการฝึกจิตจะมีองค์ธรรม 3 ตัว
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
สัมมาวายามะเป็นตัวชี้เป้าว่า
ความเพียรที่เราจะทำ ทำไปเพื่อละกิเลสที่มีอยู่
เพื่อปิดกั้นกิเลสใหม่ อกุศลใหม่ไม่ให้เกิด
เรามีความเพียรเพื่อทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด
เพื่อทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ
ท่านใช้คำว่ากุศล ไม่ใช่บุญ
บุญกับกุศลไม่เหมือนกัน
บุญเป็นการทำความดีต่าง ๆ
กุศลต้องรู้เหตุรู้ผล เรียกว่ามีความฉลาดถึงจะเป็นกุศล
รู้เหตุรู้ผล
เจริญสติอย่างรู้เหตุรู้ผล
เราเจริญสติก็รู้เหตุรู้ผลของการเจริญสติ
ไม่ใช่เจริญเพราะว่าควร
เห็นคนอื่นเขาเจริญ เราก็เอาอย่างเขาบ้างอะไรอย่างนี้
อย่างนั้นทำโดยไม่รู้เหตุรู้ผล
ถ้าเราเจริญสติอย่างรู้เหตุรู้ผล
เราก็รู้เลยที่เรามีสติอยู่ เป็นไปเพื่อลดละอกุศล
เพื่อเจริญกุศล
ที่เรามีสมาธิไม่ใช่เพื่อเสพสุข
ไม่ใช่เพื่อมีอิทธิฤทธิ์
ไม่ใช่เพื่อจะรู้โน่นรู้นี่ รู้อดีต รู้อนาคต รู้ใจคนอื่น
อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นทำไปเพื่อพอกพูนกิเลส
สมาธิที่ถูกต้องก็ทำไปเพื่อลดละกิเลส
เพื่อลดละอกุศล เพื่อเจริญกุศล
สมาธิที่จะเจริญกุศลได้จริง ๆ
คือทำให้เกิดปัญญาได้จริง ๆ
กุศลสูงสุดคือปัญญา
สมาธิที่จะทำให้เกิดปัญญาคือตัวสัมมาสมาธิ
คือสมาธิที่จิตตั้งมั่น
สมาธิที่เป็นความตั้งมั่นของจิต
สมาธิไม่ใช่จิต
ต้องบอกว่าสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต
ไม่ใช่คือจิตที่ตั้งมั่น
จิตไม่ใช่ตัวสมาธิ จิตเป็นตัวรู้
แต่ตัวรู้ตัวนี้มีสมาธิที่ถูกต้อง ก็หล่อเลี้ยงตัวรู้ ตั้งมั่น
อย่างพวกเราภาวนา อย่างเรารู้ลมหายใจ
แป๊บเดียว เรามีสติอยู่กับลมหายใจ
แป๊บเดียว จิตไหลลงไปอยู่ที่ลมหายใจแล้ว
อันนี้จิตไม่ตั้งมั่น จิตถึงถลำลงไปรู้อารมณ์กรรมฐาน
หรือดูท้องพอง ดูท้องยุบ จิตไม่ตั้งมั่น
จิตไหลลงไปอยู่ที่ท้อง อันนี้ใช้ไม่ได้แล้ว
มีสติแต่ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง
มีสติเพ่งไปเรื่อย ๆ ได้อะไร ได้สมถะ
จะได้สมถะเฉย ๆ
แต่ถ้ามีสมาธิที่ถูกต้อง มันจะได้ปัญญา
ในตำราถึงสอนบอก
“สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา”
ไม่ใช่สัมมาสติ ลำพังมีสติไม่เกิดปัญญาหรอก
ต้องมีจิตตั้งมั่นด้วย
สติระลึกรู้รูปธรรม นามธรรม ที่กำลังปรากฏ
ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง
ตรงจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
มันเกิดจากจิตมีสัมมาสมาธิ
ตรงที่จิตมันรู้รูปธรรม นามธรรมที่ปรากฏ
เรียกว่ามันมีสติ
ถ้ารู้รูปธรรม นามธรรม ที่กำลังปรากฏ
ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง
มันจะเห็นความเป็นจริงของรูปธรรม นามธรรม
นั่นคือตัวปัญญา
มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
หลวงพ่อย่อลงมาตรงนี้บอกว่าให้เรา
“มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง”
รู้ตามความเป็นจริง คือมีอะไรเกิดขึ้นในกาย รู้สึก
มีอะไรเกิดขึ้นในจิต รู้สึก
รู้ตามความเป็นจริงไป ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ไม่นาน ถ้าเราทำได้ไม่นานปัญญาจะเกิด
เราจะเห็นความเป็นไตรลักษณ์
สติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นและเป็นกลาง
สติรู้อย่างเป็นกลาง สติไม่เข้าไปแทรกแซง
จิตก็เป็นกลาง
เราก็จะเห็นความจริงของร่างกาย
ร่างกายนี้ไม่ใช่สิ่งใดอื่นเลย
ร่างกายนี้ก็คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
อาศัยมีสติระลึกรู้ร่างกาย ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
กายเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น
รู้ตามความเป็นจริงไป
สุดท้ายก็จะเห็นความจริง
กายนี้ไม่ใช่อะไรอื่น กายนี้คือตัวทุกข์
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ถ้าสติระลึกรู้ถึงจิต ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ก็จะเกิดปัญญาเห็นเอง
จิตนี้ไม่ใช่อะไรอื่น จิตนี้คือตัวทุกข์
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ตรงที่เห็นตัวทุกข์
บางทีก็เห็นเพราะว่ามันทุกข์เพราะเป็นอนิจจัง
มันทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้นเป็นทุกขัง
มันทุกข์เพราะเราควบคุมบังคับไม่ได้
เรียกว่าเป็นอนัตตา
ตรงที่เห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ เรียกว่าเรารู้ทุกข์
ค่อยรู้ๆๆๆ ลงไปจนมันแจ่มแจ้ง
ตรงที่แจ่มแจ้งก็คือรู้ว่า
รูปนี้ไม่มีอะไรอื่นนอกจากทุกข์
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
นามธรรมไม่มีอะไรอื่นนอกจากทุกข์
มีแต่ทุกข์มากและทุกข์น้อย
พอเห็นอย่างนี้จิตก็วาง ไม่ดิ้นรนต่อ
อย่างไปเห็นปฏิกูล อสุภะอะไรยังไม่พอ
ยังไม่ได้เห็นไตรลักษณ์
ปฏิกูล อสุภะ เป็นบัญญัติไม่ใช่ของจริง
อย่างเรารู้สึกว่าขี้หมาเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ
ไม่สวยไม่งาม ทำไมแมลงวันมันบอกหอมชื่นใจ
มันไม่จริง
ฉะนั้นตัวปฏิกูลตัวอสุภะอะไรนี้
เป็นแค่เครื่องมือข่มราคะชั่วครั้งชั่วคราว
อย่างดูกายเห็นร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะอะไรอย่างนี้
แล้วก็ไม่อยากยึดถือแล้ว
พอไปเจอกายของเทพเข้า กายของเทพ ของพรหม
มันไม่เห็นปฏิกูลอสุภะแล้ว
คราวนี้ไปยึดกายเทพ กายพรหมต่ออีกแล้ว
ฉะนั้นยังล้างกิเลสไม่ได้
แต่ถ้าเราเห็นไตรลักษณ์
กายนี้มีแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ไม่มีอะไรตั้งอยู่ ไม่มีอะไรดับไป
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
เห็นอย่างนี้ จะเป็นกายมนุษย์ กายหมา กายแมว
กายผี เปรต สัตว์นรก กายเทพ กายพรหม
มันก็อาการเดียวกัน
คือตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน
ตกอยู่ใต้กองทุกข์อย่างเดียวกันนั่นเอง
ฉะนั้นเห็นไตรลักษณ์ถึงจะเดินปัญญาอย่างแท้จริง
ถ้าเห็นแค่ปฏิกูลอสุภะข่มราคะได้
ถามว่ามีประโยชน์ไหม มี มีมาก ๆ ด้วย
เหมาะกับพระ พระหนุ่ม ๆ มาบวชราคะแรงอะไรอย่างนี้
หลวงพ่อก็ให้ดูกายเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ
เป็นอุบายข่มราคะไป
ส่วนจะเดินสติ เดินปัญญาจริง ๆ ก็ดูไตรลักษณ์
เห็นกายแสดงไตรลักษณ์ไป
บางองค์ก็เห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ไป
แล้วแต่จริตนิสัย
แล้วแต่ความชำนิชำนาญที่เคยฝึกมา
หลายภพหลายชาติ มันก็เป็นอย่างนั้นล่ะ สะสมมา
ยากไปไหมวันนี้
ไม่ห่วงอาลัยถึงอดีต ไม่กังวลถึงอนาคต
มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น
อยู่กับปัจจุบันนี้ล่ะ แล้วเราจะได้ของดี ของวิเศษ
ต่อไปวันข้างหน้า
ร่างกายนี้แก่ ร่างกายนี้เจ็บ ร่างกายนี้ตาย
จิตมันก็เป็นกลาง มันก็ไม่ทุกข์
เหมือนอย่างน้ำท่วม
ถ้าจิตมันรู้สึกว่าน้ำท่วมเป็นเรื่องธรรมชาติ
เป็นเรื่องธรรมดา ยอมรับได้ เตรียมพร้อมไว้แล้ว
น้ำท่วมก็ไม่ทุกข์เท่าไร
คนไทยเก่ง คนโบราณ ปลูกบ้านใต้ถุนสูง
บ้านอยู่ริมคลองทั้งนั้น
หน้าแล้งก็ลงไปอยู่ใต้ถุนบ้าน มันร้อน
กลายเป็นบ้าน 2 ชั้น ชั้นบนบังแดด
ชั้นล่างโล่ง ๆ แหมสบาย มาทอผ้า
มาทำอะไรอยู่ใต้ถุนบ้าน
พอน้ำมาก็ขึ้นไปอยู่ชั้นบน
ไปไหนก็พายเรือไป ไม่เห็นจะเดือดร้อนเลย
พายเรือเปล่า ๆ ชักจะขี้เกียจ ชักจะเซ็ง
หาเรื่องสนุกจนได้ เล่นเพลงเรือมันซะเลย น้ำท่วม
เห็นไหมเขาปรับตัวได้ น้ำท่วมไม่ทุกข์หรอก
กูจะเล่นเพลงเรือแล้ว
ถ้าเราทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม
เราทุกข์ไม่เลิกหรอก เพราะโลกนี้ไม่สมอยาก
โลกนี้มีแต่ปัญหา
แต่ถ้าเราสามารถปรับตัวอยู่กับมันได้
มีความสุขได้ สบายใจได้
คนไทยเก่งเรื่องพวกการปรับตัว
พยายามปรับตัวให้ดี อย่าเที่ยวโทษโน้นโทษนี้
อย่างจำได้ไหมตอนที่ต้องใส่มาสก์ใหม่ ๆ
บางคนกลุ้มใจ ใส่มาสก์ใหม่ ๆ
ก็ต้องหาทางทำอย่างไรจะใส่ให้มันมีความสุข
ให้มันสนุก ก็เขียนบนมาสก์
ใส่เข้าไปแล้วเหมือนหมาเลย เคยเห็นไหม
ใส่มาสก์แล้วเหมือนปากหมา
เห็นแล้วก็มีความสุขแล้ว
รู้จักปรับตัว สามารถอยู่ได้ในทุก ๆ สถานการณ์
คนที่ปรับตัวได้ก็คือทำตัวเหมือนน้ำ
เปลี่ยนแปลงตัวเองเข้ากับสิ่งแวดล้อม
ไม่ใช่พยายามเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเอง
ทุกวันนี้ชอบเรียกร้อง เรียกร้องคนอื่น
เรียกร้องรัฐบาล เรียกร้องอะไร
จะให้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้เข้ากับตัวเอง
ไม่มีวันหมดปัญหาหรอก
ฉะนั้นปรับตัวเองให้เหมือนน้ำ
อยู่ตรงไหนก็อยู่ได้ ปรับตัวไปเรื่อย ๆ
แต่ว่าปรับแบบมีหลัก
ไม่ใช่ถูกกิเลสลากไปเรื่อย ๆ
มีสติอยู่กับปัจจุบันไปนี่ล่ะ แล้วจะได้ของดี. ..."
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
9 ตุลาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา