22 พ.ย. 2021 เวลา 08:37 • ประวัติศาสตร์
มหาสุขาวตีวยูหสูตร
วรรค ๔๓ มิใช่ยานที่คับแคบ
รับสั่งกับพระเมตไตรยะว่า เธอพิจารณาโพธิสัตว์มหาสัตว์เหล่านั้น ที่ได้เสวยหิตประโยชน์อันดีเลิศเถิด หากมีกุลบุตร กุลธิดาที่ได้สดับนามแห่งพระอมิตายุสสัมมาสัมพุทธะ แล้วสามารถเกิดจิตโสมนัสยินดี เพียงขณะหนึ่ง น้อมพระองค์เป็นสรณะและถวายอภิวันท์ตามจริยาปฏิบัติที่กล่าวแล้วนั้น พึงทราบเถิดบุคคลนี้ย่อมลุแก่ประโยชน์มหาศาล ได้รับกุศลานิสงส์ดังที่พรรณนาแล้ว ในเบื้องต้นดวงจิตปราศจากความต่ำต้อยและความสูงส่ง มีกุศลมูลที่วัฒนายิ่งขึ้น จึงทราบได้ว่าบุคคลนี้หาใช่ผู้มีอัธยาศัยในยานที่คับแคบ*
(ผู้นี้) ในธรรมของตถาคตจักชื่อว่า เอกอัครสาวก** เพราะเหตุนี้ จึงกล่าวแก่เธอเทวดามนุษย์และอสูรทั้งปวงว่า พึงอบรมและบำเพ็ญอยู่ด้วยโสมนัสยินดี บังเกิดจิตอันหาได้ยาก อาศัยธรรมกถานี้เป็นอาจารย์ชี้นำ หากปรารถนายังสรรพสัตว์อันไม่มีประมาณ ให้ดำรงในสถานะที่มิเสื่อมถอยโดยเร็ว ปรารถนาได้ยลอลังการยิ่งใหญ่ของโลกธาตุแห่งนั้น และได้รับความวิเศษของพุทธเกษตร มีกุศลบารมีบริบูรณ์แล้วไซร้ พึงมีวิริยะพากเพียร สดับธรรมทวาร*** นี้
เหตุที่ปรารถนาธรรมนี้ ยังมิให้เสื่อมถอยมายาจิตและสาเลยยจิต แม้จักเข้าสู่มหาอัคคีก็จักมิพึงสงสัยและเสียดาย ด้วยเหตุไฉนนั้นฤา เพราะบรรดาโพธิสัตว์ที่ประมาณจำนวนโกฏิมิได้เหล่านั้น ก็ล้วนแต่ปรารถนาคัมภีรธรรมนี้ มีความเคารพในการสดับธรรมและมิล่วงละเมิด ยังมีโพธิสัตว์จำนวนมากนักและปรารถนาจักสดับธรรมกถานี้ แต่มิได้สดับ เหตุนี้เธอทั้งหลายจึงตั้งความปรารถนาในธรรมนี้เถิด
*คัมภีร์อมิตาภาธิบาย กล่าวว่า ที่กล่าวว่ามิใช่อัธยาศัยหีนยานิกชน นั้นหมายถึงมหาปณิธานสาคร แห่งพระอมิตายุสพุทธะนั้น เป็นเอกยานดุจรถที่เทียมด้วยโคอุสุภราช ไร้ซึ่งสาวกยาน ปัจเจกยาน และโพธิสัตวยาน เพราะยานทั้งสาม ยังเป็นยานเล็ก ต่อเมื่อได้รวมยานทั้งสามแล้ว จึงเรียกว่าเอกยาน มหายาน หรือ พุทธยาน
**ความหมาย คือ พระวจนะนี้ บุคคลในโลกล้วน แต่หยั่งใจเชื่อได้ยาก ผู้ที่ศรัทธาจึงได้ชื่อว่าเป็นสาวกอันดับหนึ่ง
***ธรรมทวาร แปลว่า ประตูแห่งธรรม หรือ ประตูนำไปถึงธรรม บางครั้งแปลว่า ธรรมมุข ธรรมขันธ์ ธรรมวิถีก็ได้ ในกรณีนี้ หมายถึง มหาสุขาวดีสูตร
พระวิศวภัทร แปล
Aputi.com ภาพ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา