30 พ.ย. 2021 เวลา 13:03 • ไลฟ์สไตล์
"ติดชั่วก็ทุกข์ ติดดีก็ทุกข์"
การภาวนาไม่มีใครมาบังคับเราหรอก
จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แล้วแต่ความสมัครใจ
เกิดมาแล้วจะเพลินๆ อยู่กับโลกก็ได้ ไม่เป็นไร
เราก็เป็น เราก็เจออย่างที่เราทำ
ทำเหตุอย่างไร เราก็มีผลเป็นอย่างนั้นเจอสิ่งเหล่านั้น
เป็นไปตามเหตุทั้งสิ้น ไม่มีใครบังคับหรอก
จะภาวนาหรือไม่ภาวนา
จะเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่เชื่อไม่สำคัญหรอก
ทุกคนมีอิสระ
แต่ธรรมะคือสัจจะคือความจริง มันให้ผลกับเราเอง
ถ้าเราปล่อยเนื้อปล่อยตัว
ปล่อยกายปล่อยใจตามกิเลส
อย่างไรความทุกข์มันก็ต้องมาหาเรา
ไม่ใช่พระพุทธเจ้าเป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์นี้
แต่มันเป็นธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ
ทำเหตุอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น
ไม่ใช่ทฤษฎีที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นมาหรือบงการขึ้นมา
เพียงแต่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบ
สัจธรรมความจริงข้อนี้เท่านั้นเอง
แล้วท่านก็ชวนพวกเราให้ภาวนา
ให้ลงมือทำทาน รักษาศีล ทำสมาธิ เจริญปัญญา
ท่านก็ชวน ใครทำก็ทำไม่ทำก็ไม่ทำ ไม่ว่า
แล้วแต่ละคนก็จะได้รับผลที่สมควรกับการกระทำของตัวเอง
อย่างเราจะเห็นคนจิตใจมีโลภะรุนแรง
มีโทสะรุนแรงอะไรอย่างนี้
บางทีก็ก่อเรื่องก่อราว บ้านเมืองวุ่นวายอะไรอย่างนี้
เขาก็รู้สึกว่าอย่างนี้ดี ก็ดีแบบของเขา
แต่กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ
ถ้าจิตใจของเขาเร่าร้อน อยากให้ทุกคนทั้งบ้านทั้งเมือง
อยากให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้
อยากให้ทุกคนเป็นอย่างนี้ อย่างที่เขาคิดอะไรอย่างนี้
ลงมือกระทำ คนแรกที่ได้รับผลคือตัวเขาเอง
จิตใจไม่มีความสงบสุข วุ่นวาย เครียด
มีแต่ความทุกข์ นี้เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม
มันยุติธรรมเสมอ
ถ้าเราเดินตามแนวที่พระพุทธเจ้าสอน
ก็คือเราทำกรรมดี ผลของมันก็คือความสุขที่เราจะได้รับ
เวลาเราทำความดี ไม่ใช่ว่าชาติหน้าถึงจะมีความสุข
ถ้าเราทำความดีด้วยจิตใจที่ถูกต้องจริงๆ
เรามีความสุขตั้งแต่คิดจะทำ
สมมติว่าเราคิดจะปฏิบัติเพื่อลดละกิเลสอะไร
นี่เราคิดดี หรือเราคิดสงเคราะห์สัตว์ เห็นสัตว์ลำบาก
คิดจะให้ความช่วยเหลือมันอะไรอย่างนี้ เราคิดดี
ใจเราก็เริ่มดี เราลงมือกระทำ
เช่น เราทำทานอะไรอย่างนี้ เราลงมือทำทาน
ลงมือรักษาศีล ลงมือทำสมาธิ ลงมือทำวิปัสสนา
เราก็มีความสุขในระหว่างทำด้วย
ไม่ใช่ต้องรอชาติหน้า
ความดีทำเมื่อไรก็ดีเมื่อนั้น
คนแรกที่ได้รับประโยชน์จากการที่เราทำดีคือตัวเราเอง
คือจิตของเราจะดี แต่การทำดีก็ต้องระวัง
ทำไปทำมา จิตพลิกเป็นอกุศลได้ ต้องระวัง
อย่างสมมติเราเห็นหมาอดอยากข้างถนนอะไรอย่างนี้
เราอยากสงเคราะห์มัน เราคิดดีแล้ว
เราลงมือช่วยเหลืออะไรอย่างนี้ หาข้าวไปให้มันกิน
หมามีจำนวนมากข้างถนน เราคนเดียวเลี้ยงไม่ไหว
ก็เริ่มชวนคนอื่นมาช่วยกันเลี้ยงอะไรอย่างนี้
ยิ่งเลี้ยงหมาไป หมายิ่งมาเยอะขึ้นๆ
คนเอามาแถมให้เรื่อยๆ สุดท้ายเครียด
จิตพลิกเป็นอกุศลแล้ว กังวลใจ
พยายามทำดีแต่มันเกินตัว
ทำไปแบบไม่ได้ประมาณอย่างนี้ สุดท้ายก็เครียด
จิตเป็นอกุศล ทำแล้วมีโลภะ อยากให้คนมาช่วยเยอะๆ
ตัวนี้โลภแล้ว แล้วพอไม่ได้อย่างใจก็โกรธ
คือจิตมีโทสะ เศร้าหมอง
เพราะฉะนั้นจิตเป็นของว่องไว
ทั้งๆ ที่เราพยายามจะทำดี คิดดี พูดดี ทำดี
จิตมันจะพลิกเป็นอกุศลได้ง่ายๆ
1
หรือเราเห็นหมาถูกรถชน สงสารมัน เมตตา กรุณา
มีกรุณาไปช่วยอุ้มมาไว้ริมถนนอะไรอย่างนี้
เห็นหมาเจ็บมาก เราก็พลอยเจ็บไปด้วย ทุกข์ทรมานใจ
อันนี้โทสะ กรุณาพลิกไปเป็นโทสะแล้ว
ถ้าเราไม่มีสติรู้ทัน จิตใจเราก็ถูกโทสะครอบงำ
จิตก็เศร้าหมอง
เพราะฉะนั้นการทำความดี มีโอกาสทำก็ทำ
โอกาสผ่านไปแล้วก็แล้วกันไป
มีจังหวะเมื่อไร มีโอกาสเมื่อไรก็ทำอีก
การทำความดี ถ้าทำโดยหวังผลตอบแทน
ก็มีผลดีเหมือนกันแต่ผลดีไม่มาก
เพราะมันเจือกิเลสได้ง่ายๆ เลย เจือโลภะไป
ถ้าทำความดีเพราะเห็นว่ามันควรทำ
ไม่ได้หวังผลว่าจะต้องได้อย่างนั้น
จะต้องได้อย่างนี้ตอบแทน
จิตใจเราจะมีอิสรภาพ มีอิสระจากความดีด้วย
ทำความดีก็จริง แต่จิตใจมีอิสระจากความดีด้วย
ไม่ตกเป็นทาสของความดี
อิสรภาพจากความดี
ท่านพุทธทาสท่านเคยสอน
หลวงพ่อจำได้นานนักหนาแล้ว
ท่านบอก ชั่วกับดีอัปรีย์พอกัน
อัปรีย์หมายถึงไม่น่ารัก
ติดในความชั่วอันนี้เลวสุด
ติดในความดีก็ทุกข์เหมือนกัน
ฉะนั้นทำอย่างไรเราจะไม่ทำชั่ว
เราทำความดีแต่ไม่ติด
เวลาทำความดีบางคนติด ติดดี ติดดีมากๆ ก็กลุ้มใจ
อย่างจะทำอาหารถวายพระตั้งใจทำเต็มที่
เอาให้อร่อยเต็มที่เลย ตอนทำก็เครียดแล้ว
จิตไม่ได้เป็นกุศลแล้ว จิตมันกังวล
ฉะนั้นเราพยายามละเอียดลออ ประณีต
เรื่องจิตเรื่องใจของเรา
จิตมันชั่ว มีสติรู้ทันแล้วก็อย่าทำ
จิตมันปรุงดีขึ้นมา มีสติรู้ทัน เราก็ทำ
แต่ว่าอย่าไปติดมัน
พวกติดดีก็น่าสงสาร แต่พวกติดดีก็ดีกว่าติดชั่ว
แต่ไม่ติดอะไรเลยดีที่สุด พูดง่าย ทำยาก ก็ต้องฝึก
หลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยมเมื่อก่อนนี้ก็ติดดี
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านสั่งไว้ตั้งแต่ปี 2526
ท่านบอกให้หลวงพ่อไปเผยแพร่ธรรมะที่หลวงพ่อภาวนา
ท่านบอกว่าคนจริตนิสัยแบบหลวงพ่อ มันมีเยอะ
ต่อไปยิ่งเยอะใหญ่ คือพวกคนเมือง
ถ้าได้ยินได้ฟังแนวทางปฏิบัติอย่างที่หลวงพ่อทำมา
อะไรอย่างนี้ ก็จะได้ประโยชน์
หลวงพ่อก็ออกเผยแพร่
เขียนไปลงหนังสือบ้างอะไรบ้าง
เจอเพื่อนกันเขาสนใจเขาถาม ก็บอก
บอกทีแรกบอกแบบติดดี
อยากให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราเข้าใจ พยายามทุ่มเท
บางครั้งไปที่บ้านเพื่อน ไปสอนกรรมฐาน
เขาก็รวมกลุ่มกัน 4 – 5 คนอะไรนี่
นั่งสอนตั้งแต่เย็นๆ ยันสว่าง
สอนควบคุมการภาวนา นั่งสมาธิบ้าง
สอนบ้างอะไรบ้าง
ตอนมาบวชแล้วก็ยังเป็น เวลาแสดงธรรม
ก็อยากให้คนฟังเข้าใจ เขาจะได้มีความสุข
เขาจะได้ทุกข์น้อยๆ ใจมันมีความอยาก มันโลภ
มันอยากดีด้วยซ้ำไป
อยากให้คนเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้า
เพราะเป็นของดีของวิเศษ
ถ้าเข้าใจแล้วตัวเองก็ร่มเย็น
ครอบครัวของตัวเองก็ร่มเย็น
ไปอยู่ตรงไหน ตรงนั้นก็ร่มเย็น
ต่อมานานๆ ก็เริ่มสังเกตเห็นว่า ที่เราทำไม่ถูกหรอก
มันฝืนเรื่องของกรรมมากไป
เราไปเคี่ยวเข็ญเขาภาวนา
แต่ใจเขาไม่ได้อยากภาวนาถึงขนาดนั้น
เขาอยากภาวนานิดๆ หน่อยๆ
เพื่อเป็นนิสัยสืบไปในชาติต่อๆ ไปอะไรอย่างนี้
เขาไม่ได้อยากบรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้
เราติดดี เราก็อยากให้เขาภาวนาเยอะๆ
ให้เขาเข้าถึงมรรคผลนิพพานในชาตินี้
มันเป็นความไร้เดียงสาเจตนาดีแท้ๆ เลย
แต่ว่าการกระทำมันฝืน ฝืนเรื่องของกฎแห่งกรรมไป
ไปแทรกแซงชีวิตจิตใจของเขา
ต่อมาตอนมาบวชแล้ว หลวงพ่อก็เริ่มค่อยๆ เห็น
ก็ค่อยสังเกต ถึงเราทุ่มเทสอนเท่าไหร่ๆ
แต่ละคนมันมีลิมิตของมัน
มันรับได้ในขอบเขตที่ควรจะรับได้
มันไม่ใช่คนทุกคนจะบรรลุมรรคผลนิพพานในชีวิตนี้
บางคนเขาไม่ต้องการ แต่การที่เขามาฝึก
มาหัดภาวนาอะไรอย่างนี้
อย่างน้อยเขาก็เริ่มมีศีลที่ดีขึ้น
เวลาจะทำผิดศีลก็รู้จักละอายใจ
พอสอนกรรมฐานมาก็เลยรู้ เราไปฝืนไม่ได้หรอก
แต่ละคนมีกรรมเป็นของตัวเอง คือเขาทำได้แค่นี้ล่ะ
ถ้าเราติดดี เราอยากให้เขาดีอะไรอย่างนี้ อันนี้ติดดี
สิ่งที่ตามมาก็คือทุกข์ ติดชั่วเราก็ทุกข์ ติดดีก็ทุกข์
อย่านึกว่าติดดีแล้วไม่เป็นไร
เรานั่งสมาธิ แล้วเราก็ติดดี
นั่งแล้ว แหม มันสงบ มันสุข
มันสว่างผ่องใสอะไรอย่างนี้ ติดดี
นั่งทีไรก็อยากให้มันเป็นอย่างนั้นทุกที
ลืมไปว่าสมาธิก็เป็น 'อนัตตา'
วันนี้สงบ อีกวันไม่สงบแล้ว
ถ้าเราติดดีเราก็กลุ้มใจว่าทำไมวันนี้ไม่เหมือนเมื่อวาน
ถ้ามันเหมือนเมื่อวานแล้วน่ากลัวเลย
แสดงว่าไม่มีคำว่าเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างคงที่
เกิดมาจิตใจเป็นอย่างไร ตอนตายจิตใจก็เป็นอย่างนั้น
แต่เพราะมันเปลี่ยนแปลงได้ต่างหาก
เราถึงฝึกตัวเองได้
ภาวนาๆ ไปเรื่อยๆ เคยสงบก็ไม่ใช่ว่าจะสงบทุกวัน
บางวันเคยเจริญปัญญาได้
บางวันก็เดินไม่ได้ เจริญปัญญาไม่ได้
หน้าที่เราก็เรียนรู้ไป สุดท้ายปัญญาที่แท้จริงก็เกิด
กระทั่งจิตใจนี้เรายังควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้เลย
ใจเราเรายังบังคับไม่ได้เลย
จะบังคับใจคนอื่นได้อย่างไร
เราก็ฉลาด เข้าใจ เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น
ก็ไม่คาดหวังว่าทุกคนจะต้องดีเหมือนกันหมด
ทุกคนจะต้องเจริญเหมือนกันหมดอะไรอย่างนี้
อันนั้นถูกหลอกแล้ว
มีสติคุ้มครองรักษาจิตของเราไว้
กุศลเกิดขึ้น รู้ทัน อกุศลเกิดขึ้น รู้ทัน
ในจิตใจเรามันเกิดกุศล เกิดอกุศล เกิดขึ้นแล้ว
ถ้าเราไม่รู้ทัน จิตมันก็จะทำงานต่อ ก็ปรุง ดิ้นรนไป
ถ้าจิตดิ้นรน ไม่ว่าจะดิ้นรนเพราะอยากดี
หรือดิ้นรนเพราะอยากชั่ว
ก็เป็นภาระของจิตด้วยกันทั้งสิ้น
ฉะนั้นมีสติรักษาจิตก็คือ คอยรู้เท่าทันจิตของเราเอง
จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้
จิตหลงก็รู้ จิตตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ก็รู้
จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้
เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้ เฝ้าดู ตลอดเรื่อยๆ ไป
ตั้งแต่ตื่นจนหลับทำได้ก็ดี
ช่วงไหนดูไม่ได้ก็กลับมาอยู่กับกรรมฐานเรา
เช่น มาอยู่กับพุทโธ มาอยู่กับลมหายใจ
พอจิตมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ดูความเปลี่ยนแปลง
จิตใจมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น รู้ทัน
ถ้ารู้ไม่ทัน กุศลอกุศลก็จะบงการเรา
ให้เกิดความปรุงแต่งทางกาย ทางวาจา ทางใจเกิดขึ้น
อย่างพระหลายองค์ที่เคยเห็น ชอบเทศน์มากเลย
อยากเทศน์ เจอใครก็จะเทศน์อย่างเดียวเลย
มีความเมตตาอยากให้เขารู้เรื่อง
อันนี้ไม่มีสติรักษาจิตตัวเอง
จิตถูกความเมตตาผลักดัน
ถูกความกรุณาผลักดันให้ดิ้นไปดิ้นมา
ฉะนั้นเรามีสติ ดูแลจิตของเราไว้ให้ดี
จิตเป็นกุศลก็รู้ จิตโลภ โกรธ หลงก็รู้ เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ
ถ้าเราไม่รู้ ความปรุงแต่งจะเกิดขึ้น
ปรุงแต่งทางใจ ทางกาย ทางวาจา
อะไรพวกนี้ตามมาเป็นแถวเลย.
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
21 พฤศจิกายน 2564
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา