Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
5 ธ.ค. 2021 เวลา 02:51 • ปรัชญา
“นิโรธมี 5 ชนิด”
1. ดับทุกข์ลงไปด้วยสมาธิ
2. ดับทุกข์ลงไปด้วยการเจริญปัญญา
3. ดับทุกข์ลงไปด้วยอริยมรรค
4. ดับทุกข์ลงไปด้วยอริยผล
5. ดับสนิทแห่งทุกข์ พ้นจากรูปจากนาม คือพระนิพพาน
…
“ … ตัวสันติสุขคือตัวนิโรธ มีเป็นลำดับๆ ไป
อย่างใจเราว้าวุ่นเรามาทำความสงบ
ไหว้พระ สวดมนต์ พุทโธไป หายใจไป
ใจเราสงบลงมาก็เป็นนิโรธชนิดหนึ่ง
มันดับความฟุ้งซ่านวุ่นวายได้
ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยสมถะ
หรือเราเจริญปัญญา
เฝ้ารู้เฝ้าดูรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย
ที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเข้ามาในจิตใจเรา
จนจิตใจเรายอมรับความจริงได้
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาล้วนแต่ต้องผ่านไปทั้งสิ้น
ใจยอมรับตรงนี้ได้เราก็ถึงนิโรธอีกชนิดหนึ่ง
เป็นนิโรธที่เกิดจากการเจริญปัญญา ทำวิปัสสนา
นิโรธอีก 3 ชนิดก็คือ
ความดับทุกข์ตอนที่เกิดอริยมรรค
ความดับทุกข์ตอนที่เกิดอริยผล
และก็พระนิพพาน
พระนิพพานเป็นนิโรธที่สูงที่สุด
เคยได้ยินใช่ไหม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
นิโรธมี 5 ชนิด
ดับทุกข์ลงไปด้วยสมาธิ
ดับทุกข์ลงไปด้วยการเจริญปัญญา
ดับทุกข์ลงไปด้วยอริยมรรค ด้วยอริยผล
ดับสนิทแห่งทุกข์ พ้นจากรูปจากนามคือพระนิพพาน
สิ่งที่เราต้องฝึกก็คือ 2 อันแรก
2 ข้อแรกคือสมถะกับวิปัสสนา
เราทำ 2 ข้อนี้ได้ถูกต้อง ทำได้มากพอ
นิโรธ 3 ตัวหลังก็มาเอง
เกิดมรรค เกิดผล สัมผัสพระนิพพาน
พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนว่า
ตัวมรรคสิ่งที่ต้องเจริญ
ท่านบอกว่าการเจริญสมถกรรมฐาน
และวิปัสสนากรรมฐานด้วยปัญญาอันยิ่ง คือตัวมรรค
ที่หลวงพ่อสอนพวกเราทุกวี่ทุกวันก็ 2 เรื่องนี้เอง
ฝึกสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน
สมถกรรมฐานฝึกให้จิตใจสงบ มีความสุข
มีกำลัง มีเรี่ยวมีแรง
แล้วดีขึ้นไปอีกก็คือฝึกจนกระทั่งจิตมันตั้งมั่น
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา
สิ่งเหล่านี้เราได้มาด้วยการทำสมถกรรมฐาน
ส่วนการทำวิปัสสนากรรมฐาน
เป็นการใช้จิตซึ่งมันมีความตั้งมั่นแล้วมีกำลังแล้ว
ไปเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย
โดยเฉพาะกายกับใจของเรานี้ เรียนรู้ให้มาก
จนกระทั่งมันยอมรับความจริงว่า
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในร่างกายเราก็เป็นของชั่วคราว
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในจิตใจเราก็เป็นของชั่วคราว
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา
ใจมันยอมรับตรงนี้ก็มีปัญญาเกิดขึ้น
ถ้ากำลังมันพอก็เกิดอริยมรรค อริยผล สัมผัสพระนิพพาน
เมื่อจิตมันวางรูปธรรมวางนามธรรมลงไป
จิตก็ไปสัมผัสพระนิพพาน
มันมี 2 ทางเลือกว่าจิตวางรูปธรรมนามธรรม
อันหนึ่งก็คือไปสัมผัสพระนิพพาน
อีกอันหนึ่งก็คือไปหลงอยู่ในโลกของความคิด
สุดโต่งไปข้างหลงไปเลย
อารมณ์มี 4 อย่าง อารมณ์บัญญัติ เรื่องราวที่คิด
ส่วนใหญ่สัตว์ทั้งหลายมันก็หลงอยู่ตรงนี้
ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานมารู้รูปรู้นาม
เป็นอารมณ์อีก 2 อย่าง
อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้มีทั้งหมด 4 อย่าง
อันแรกอารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่เราคิดนั่นล่ะ
ใจคิดๆ ไป สงบบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง
คิดบางเรื่องก็สงบ คิดบางเรื่องก็ฟุ้งซ่าน
ก็ได้สมาธิ ได้สมถะ ทำได้
อย่างเราคิดว่าชีวิตเราไม่แน่นอน
เดี๋ยวก็ตายแล้วอะไรอย่างนี้
คิดถึงความตายเรื่อยๆ จิตก็สงบได้ก็เป็นสมถะได้
แต่ถ้าจะเจริญวิปัสสนา
ก็ต้องใช้เรียนรู้อารมณ์รูปธรรมนามธรรม
แล้วรูปธรรมนามธรรมจะแสดงไตรลักษณ์ให้เราดู
ความคิดไม่มีไตรลักษณ์ให้เราดู
มันคิดได้ทั้งวันทั้งคืน
ฉะนั้นเราดูรูปธรรม ดูนามธรรม
แต่ดูได้จิตต้องตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
จะเห็นรูปนั้นเป็นของถูกรู้ถูกดู
นามธรรมทั้งหลายเป็นของถูกรู้ถูกดู
จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ ก็เฝ้ารู้อย่างนี้เรื่อยๆ
ในที่สุดก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่ตัวเรา
เป็นของถูกรู้ถูกดูเท่านั้นเอง
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ตรงนี้เรียกว่าเราเจริญปัญญา
สิ่งที่ได้จากการเจริญปัญญา
คือความรู้ถูกความเข้าใจถูก หรือตัวสัมมาทิฏฐิ
เราเรียนศาสนาพุทธ
เรียนให้เต็มที่เลยแล้วเราจะพบ
สิ่งที่เราเสียไปคือตัวมิจฉาทิฏฐิ
สิ่งที่เราได้มาก็คือตัวสัมมาทิฏฐิ
ความรู้ถูกความเข้าใจถูก
1
2
พอเราภาวนาตามรู้ความจริงของกายของใจ
จนเกิดความรู้ถูกความเข้าใจถูก
ต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย
มีปัญหาเกิดขึ้นทางร่างกายจิตใจก็ไม่ทุกข์
มีปัญหาเกิดขึ้นในจิตใจเกิดขึ้น
เช่น เราต้องพลัดพรากจากคนที่เรารักอะไรอย่างนี้
เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา จิตใจมันก็ไม่ทุกข์
ถึงเวลาต้องพลัดพราก
อย่างบางคนสามีภรรยาอยู่ด้วยกันหลายสิบปี
ฝากเป็นฝากตายอยู่ด้วยกัน
ถึงวันหนึ่งคนหนึ่งตายไป คนยอมรับไม่ได้
อีกคนที่เหลือยอมรับไม่ได้ มันเหงา มันว้าเหว่
ก็จมอยู่ในความทุกข์ไป
ในขณะที่คนเคยฝึกกรรมฐาน
สามีภรรยาที่เรารักตายไป หรือลูกเราตายไป
มันจะรู้สึกอีกแบบหนึ่ง รู้สึกว่าช่วงที่เขามีชีวิตอยู่
เขาได้ทำหน้าที่ที่ดีที่สุดแล้ว
มาอยู่กับเราดูแลกันให้ความสุขกัน ชีวิตดี
เขาได้ทำสิ่งที่ดีๆ ได้ทำหน้าที่ของเขาเสร็จแล้ว
ตอนนี้เป็นเวลาที่เขาจะต้องแยกทางไปที่อื่นแล้ว
ใจมันยอมรับได้ ใจมันไม่ทุกข์หรอก
นี้ยอมรับไม่ได้ ทุกข์
โดยเฉพาะเรื่องลูก คนไหนลูกตาย
โอ๊ย ทุกข์ที่สุดเลย ทุกข์หนักกว่าพ่อแม่ตายอีก
พ่อแม่ตายเรารู้สึกมันธรรมดา
แก่แล้วมันก็ต้องตายบ้าง
แต่เด็กมาตายไปก่อนเรารู้สึกไม่ธรรมดา
ยอมรับไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ทุกข์
ถ้ายอมรับได้ใจไม่ทุกข์
กลไกของจิตใจมันอย่างนี้
คือยอมรับได้ในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ทุกข์
ยอมรับไม่ได้แล้วทุกข์
1
ทำวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้เห็นความจริง
การที่เรามาทำวิปัสสนากรรมฐาน
เพื่อเรายอมรับความจริงได้
ทำแล้วเราจะยอมรับความจริงได้
เพราะเราคอยมีสติระลึกรู้ในร่างกาย
จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ เห็นร่างกายมันทำงาน
เราจะรู้เลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายเราเป็นของชั่วคราว
ร่างกายหายใจเข้าก็ชั่วคราว
ร่างกายหายใจออกก็ชั่วคราว
ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็ชั่วคราว
ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งก็ชั่วคราว
ร่างกายจะมีความสุขก็ชั่วคราว
ร่างกายจะมีความทุกข์ก็ชั่วคราว
ร่างกายจะมีชีวิตอยู่ก็ชั่วคราว
ต่อไปมันก็ยอมรับได้
ร่างกายจะแตกดับมันก็ชั่วคราว
เรามาภาวนาทำวิปัสสนากรรมฐาน
เพื่อให้เห็นความจริง จนกระทั่งยอมรับความจริงได้
รู้สึกอยู่ในร่างกายจนกระทั่งยอมรับความจริงของร่างกายได้
มันต้องแก่ มันต้องเจ็บ มันต้องตาย
เจริญวิปัสสนากรรมฐานอ่านจิตอ่านใจตัวเองไป
มันจะเห็นเลยความสุขที่เกิดขึ้นก็ชั่วคราว
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็ชั่วคราว
กุศลที่เกิดขึ้นก็ชั่วคราว อกุศลที่เกิดขึ้นก็ชั่วคราว
ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเราในจิตใจเราเป็นของชั่วคราว
นี่เห็นอย่างนี้ เฝ้ารู้ไป
ต่อไปความสุขเกิดขึ้นใจมันก็ฉลาด
มันรู้ว่าของชั่วคราว ใจก็ไม่ห่วงหาอาวรณ์
ว่ามันจะต้องอยู่กับเราตลอดไป
รู้ว่ามันชั่วคราว ความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ
เราก็รู้ว่ามันของชั่วคราว ไม่เกลียดมันหรอกเดี๋ยวมันก็ไป
ใจมันเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว
เมื่อใจมันเป็นกลาง ใจมันจะหยุดความดิ้นรน
ตัวความดิ้นรนนั้นเรียกว่าภพ ถ้ามีภพมีทุกข์นั่นล่ะ
เมื่อไรใจมันยอมรับความจริงได้
ใจก็หยุดความดิ้นรน
พอใจหยุดความดิ้นรนได้ใจก็ไม่ทุกข์
อะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย ใจก็ไม่ทุกข์
อะไรจะเกิดขึ้นในจิตใจ ใจก็ไม่ทุกข์ … “
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 พฤศจิกายน 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
เยี่ยมชม
dhamma.com
ฉลาดรู้กรรมฐานที่ควรกับตัวเอง
ต้องฉลาดในการรู้ว่าเราควรกับกรรมฐานอะไร แล้วพอเราทำกรรมฐานเราก็ต้องรู้อีกแล้ว ตอนไหนควรทำสมถะ ตอนไหนควรทำวิปัสสนา ก็ต้องรู้
Photo by : Unsplash
8 บันทึก
19
10
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์
8
19
10
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย