5 ธ.ค. 2021 เวลา 14:23 • ปรัชญา
"ทางใครทางมัน ไม่ใช่ว่าสายไหนดีกว่าสายไหน
อยู่ที่อันไหนเหมาะกับเราต่างหาก"
" ... ศาสตร์อันนี้พระพุทธเจ้าสอนมาตั้ง 2,600 ปีแล้ว
คนส่วนน้อยที่จะเข้าใจ คนส่วนใหญ่เข้าใจไม่ถึง
เข้าใจไม่ได้ มันเกินกว่าสติปัญญาจะเข้าใจ
แต่วันนี้เราไม่เข้าใจไม่เป็นไร
รู้วิธีที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว
เราก็เจริญสติ เจริญปัญญาของเราไปเรื่อย ฝึกทุกวันๆ
วันนี้ไม่เข้าใจวันหน้าก็เข้าใจ
เวลาหลวงพ่อทำกรรมฐาน
ตั้งแต่สมัยยังไม่ได้บวช เป็นโยมนั่นล่ะ
ภาวนาไปบางทีมันเกิดสภาวะที่เราไม่รู้จัก
มันมีเยอะแยะไปหมดเลยปรากฏการณ์ต่างๆ
ที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น มันเกิดขึ้นมา
หลวงพ่อก็ใจเย็นวันนี้ไม่เข้าใจไม่เป็นไร
เดี๋ยววันหน้าก็เข้าใจ ใจมันรู้อย่างนี้
เพราะฉะนั้นใจมันจะไม่ดิ้นรนค้นคว้าอะไร
สภาวะใดเกิดขึ้นมา มันจะคืออะไรยังไม่รู้เลย
เห็นสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น เห็นสิ่งนั้นดับไป
แต่สิ่งนั้นคืออะไรไม่รู้
มีเยอะแยะเลยสภาวะแปลกๆ ที่เกิดขึ้น
บางทีภาวนาเราเห็นกลางหน้าอกไหวตัวยิบยับๆ ขึ้นมา
ไม่รู้มันคืออะไร หรือบางทีเห็นมันหมุน
มันหมุนๆ อยู่กลางอกเรานี่ ไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่รู้ก็ไม่รู้
วันนี้ไม่รู้เดี๋ยววันหน้าก็รู้ ภาวนาไปเรื่อยๆ
แล้วเราก็ยังไม่มีโอกาสพบครูบาอาจารย์
ไม่ได้ถามท่าน ก็ใช้ความอดทนดูไป
ไม่ตื่นเต้น ไม่กังวล ภาวนาไปเรื่อยๆๆ
ในที่สุดก็เข้าใจ
ลักษณะของมันเป็นอย่างไร
สภาวะอันนี้มันมีลักษณะอย่างไร มันทำงานอย่างไร
มันทำงานขึ้นมาแล้วมันมีผลอะไรเกิดขึ้น ค่อยๆ เห็นไป
แล้วสุดท้ายมันปิ๊งขึ้นมาเลย
สภาวะอันนี้มันเกิดจากอะไร
พอเรารู้ถึงจุดที่ว่ามันเกิดมาได้อย่างไร
จิตจะวางสภาวะนั้นเลย จะรู้ชื่อหรือไม่รู้ชื่อไม่สำคัญแล้ว
แต่รู้จักแล้ว ชื่อเป็นแค่สมมติบัญญัติ
ฉะนั้นอย่างเราภาวนาแล้วเราเห็นตัวนี้ไหวขึ้นมา
หรือเราเห็นจิตมันวิ่งไปวิ่งมา
หรือเห็นสภาวะแปลกๆ เกิดขึ้น
อย่างแสงสว่างเกิดขึ้น เห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก
เห็นสวรรค์ เห็นอดีต เห็นอนาคต
หรือเราได้ยินเสียง
มีเสียงอะไรแปลกๆ ก็ได้ยินอะไรอย่างนี้
ถ้าเราสงสัย เราก็ถูกหลอกให้ไปดิ้นรนค้นคว้า
ฉะนั้นถ้าเราไม่โง่ มันก็แค่มายาที่จิตสร้างขึ้นมา
เราไม่หลงตาม ตั้งสติ มีจิตตั้งมั่น เฝ้ารู้เฝ้าดูมันไป
สักวันหนึ่งก็เข้าใจ
สภาวะบางอย่างหลวงพ่อใช้เวลาตั้ง 20 ปีถึงจะเข้าใจ
ใช้เวลาตั้งนานกว่าจะเข้าใจ แล้วก็ไม่ดิ้น ไม่ได้ดิ้นรน
ถึงเวลาที่เราภาวนามันถึงจุดหนึ่งก็เข้าใจเอง
เราเข้าใจเราก็วาง ถ้ายังไม่เข้าใจก็ไม่วาง
ฉะนั้นเรียนจนกระทั่งรู้ถูกเข้าใจถูก
เข้าใจแล้ว แล้วมันจะวาง
ถ้ามันยังไม่รู้ถูกไม่เข้าใจถูก มันยังไม่วาง
ยังสงสัยอยู่ ยังดิ้นรนค้นคว้าอยู่
ฉะนั้นการที่เราทำวิปัสสนา
สิ่งที่เราได้มาคือตัวสัมมาทิฏฐิ
ความรู้ถูกความเข้าใจถูก
พอเรารู้ถูกในเรื่องร่างกาย มันก็ปล่อยวางร่างกายได้
พอรู้ถูกในเรื่องของจิตใจ มันก็ปล่อยวางจิตใจได้
ก็ไม่มีอะไรให้ยึดแล้ว
หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟัง
นั่งอยู่กับท่าน เวลาเรียนธรรมะกับหลวงปู่ดูลย์อย่าพูด
นั่งเฉยๆ ภาวนาไป เดี๋ยวท่านพูดของท่านเอง
พอวันหนึ่งอยู่กับท่านๆ ก็พูดขึ้นมา
“เราพิจารณาดูแล้ว ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ส่วนใหญ่เป็นแค่ผีใหญ่”
ผีใหญ่ก็คือไปเป็นพรหม ก็นึกว่าถึงที่สุดแล้ว
นึกว่าถึงที่สุดแล้ว จิตว่าง สว่าง ไม่มีกิเลสเลย
อยู่เฉยๆ ว่างๆ สบายทั้งวันทั้งคืน พึงพอใจอยู่ตรงนี้
แล้วก็รักษาจิตให้ทรงฌานอยู่เรื่อยๆ ไป
ยังมีงาน งานคืองานรักษาจิตให้ทรงสมาธิอยู่
เพื่อจะได้สงบสุข ตัวนี้ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียก ผีใหญ่
บอก ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ที่ว่าดีๆ มีชื่อเสียง
ส่วนใหญ่ก็อยู่ตรงนี้ รักษาตัวจิตเอาไว้
ได้ยินท่านพูดอย่างนี้ ฟังก็รับฟังเฉยๆ ไม่เข้าใจ
ครั้งสุดท้ายที่เข้าไปกราบท่าน
ก่อนท่านมรณภาพ 36 วัน
เข้าไปกราบท่านวันที่ 24 กันยายน 2526
ท่านก็สอน “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้
พบจิตให้ทำลายจิต
จิตจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง”
ฟังตรงนี้ก็ไม่เข้าใจได้แต่ทรงจำไว้
แล้วภาวนาไปเรื่อยๆ
ตัวผู้รู้เรามี เราฝึกจิตให้มันมีผู้รู้
ทำไมท่านให้ทำลายผู้รู้ เราจะทำลายได้อย่างไร
มีสติอยู่มันก็มีผู้รู้ขึ้นมา
มีสมาธิที่ถูกต้องอยู่มันก็มีผู้รู้ขึ้นมา
เจริญปัญญาอย่างถูกต้อง
เห็นรูปธรรมนามธรรมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่
มันก็ยังมีผู้รู้อยู่ แล้วจะทำลายมันได้อย่างไร ดูไม่ออก
ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าใจที่ท่านสอนเป็นลำดับๆ ไป
คลานเตาะแตะๆ ไปเรื่อย หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง
แต่หลวงพ่ออดทน
ในการที่จะทำตามคำสอนของครูบาอาจารย์
ตั้งแต่เด็กเรียนกับท่านพ่อลี
ท่านสอนให้หายใจเข้าพุทออกโธ หลวงพ่อทำตลอด
ทำทั้งๆ ที่ไม่เห็นว่ามันจะพ้นทุกข์ตรงไหน ทำอยู่ 22 ปี
แล้วมาเจอหลวงปู่ดูลย์
หลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต ดูทุกวันเลยไม่เคยเลิกเลย
ดูไปเรื่อยๆ ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ
จิตมันก็ตัวทุกข์ กายก็ตัวทุกข์ จิตก็ตัวทุกข์
ค่อยๆ ฝึกถ้าเข้าใจแล้วใจก็ไม่ดิ้นรน
ถ้ายังไม่เข้าใจ ใจก็ดิ้นรน ใจก็ทุกข์ไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นเราจะพ้นความดิ้นรนได้ ก็ต้องเกิดปัญญา
รู้กรรมฐานที่ควรกับตัวเอง
ทำวิปัสสนากรรมฐานไป เวลาทำวิปัสสนานั้น
ไม่มีใครทำวิปัสสนาตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้
เวลาทำวิปัสสนาจิตมันใช้พลังงานเยอะ
ไม่นานพลังงานก็หมด เราก็ต้องทำสมถกรรมฐาน
ให้จิตได้พักผ่อนอยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่ต้องทำงาน
ทำได้หลายอย่างแล้วแต่ภูมิจิตภูมิธรรมของเรา
อย่างละเอียดเลยก็คือ
พอวางความปรุงแต่งทั้งหลายของจิตลง
กระทั่งความคิด ความนึก ความปรุง ความแต่งอะไร
วางทิ้งหมดเลย จิตก็สงบ สบาย
อยู่ในสภาวะที่ไม่ปรุงแต่ง
ทำตรงนี้ยังไม่ได้ก็อยู่กับความปรุงแต่งที่ดี
ไม่สามารถพักอยู่ในสภาวะที่ไม่ปรุงแต่งได้
ก็พักอยู่ในสภาวะที่ปรุงแต่งที่ดี
เช่น อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ อย่างนี้ปรุงดี
อยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน
ให้ใจมันได้พักผ่อนอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่เป็นกุศล
อารมณ์ที่ดีๆ อยู่กับมัน ใจจะมีกำลังขึ้นมา
ทำได้หลายแบบ
เมื่อวันพฤหัสฯ หลวงพ่อว่างๆ ตอนเช้า
ออกไปเดินข้างหน้าศาลา มีโยมมาหลายคน
บางคนก็รวย บางคนก็จน
คนรวยๆ มา เขากราบแล้วหลวงพ่อก็เออๆ
ก็เดินไปหาคนๆ หนึ่ง เขาบอกว่าเขาจนมาก
เขาจน เขาอยากได้พระนิพพาน
เขาไม่มีอะไรมาถวายหลวงพ่อ
มีน้ำมันเหลืองมาขวดเดียว
คนเอาของมาถวายหลวงพ่อเยอะแยะเลย
หลวงพ่อให้กองไว้วางไว้เดี๋ยวพวกพระเขาเข้ามาดู
อันไหนจะแจกจ่ายไปอย่างไร
น้ำมันเหลืองนี่หลวงพ่อรับไว้เอง
เขาถามว่าเขาควรจะทำอย่างไร
ที่จะทำพระนิพพานให้แจ้งได้
หลวงพ่อบอกว่าขั้นแรกสุด เลยถือศีล 5 ไว้
แล้วอันที่สองไหว้พระ สวดมนต์ ทุกวันๆ
ทำความสงบของจิตใจขึ้นมา
สำหรับคนๆ นี้ศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธเจ้า
หลวงพ่อบอกให้ทำสมถกรรมฐาน
ด้วยการนึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระพุทธเจ้าไปเรื่อยๆ
นึกถึงทั้งวันเลย ไหว้พระสวดมนต์ไป
นึกถึงพระพุทธเจ้าไป ทำอะไรก็นึกถึงพระพุทธเจ้าไว้
จิตมันจะมีกำลังขึ้นมา ให้จิตมันทรงตัวตั้งมั่นขึ้นมาเอง
มีกำลังแล้วดูไปเลยทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของชั่วคราว
โลกข้างนอกก็ของชั่วคราว ร่างกายก็ของชั่วคราว
ความรู้สึกนึกคิดในจิตใจก็เป็นของชั่วคราว
บอกฝึกอย่างนี้ล่ะ 3 ข้อนี้ไปทำ 3 อย่างนี้
แล้วจะทำพระนิพพานให้แจ้งได้
ก็คือถือศีลเอาไว้
ทำสมถกรรมฐานที่เหมาะกับตัวเราเอง
เจริญวิปัสสนากรรมฐานที่เหมาะกับตัวเราเอง
อย่างคนนี้เขาศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธเจ้า
หลวงพ่อให้นึกถึงพระพุทธเจ้ามันคือพุทธานุสสติ
สมาธิมันจะเกิด
พวกศรัทธามากไม่ต้องสอนอนัตตาในการเดินปัญญา
สอนอนิจจัง ให้เขาดูเลยทุกอย่างในชีวิตเป็นของชั่วคราว
โลกข้างนอกก็ชั่วคราว ร่างกายก็ชั่วคราว
ความรู้สึกนึกคิดจิตใจก็ชั่วคราว
ดูอย่างนี้คือการเจริญปัญญาแล้ว
พวกเราบางคนก็พวกฟุ้งซ่านคิดมาก
วิตกจริตอะไรอย่างนี้ บางคนก็ให้ทำอานาปานสติ
บางคนให้พิจารณาร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก แต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก
เรื่องของสมถะทางใครทางมัน ถนัดอะไรก็เอาอันนั้น
อย่างหลวงพ่อถนัดหายใจ
หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
หลวงพ่อก็ใช้อย่างนี้ไม่เลียนแบบคนอื่น
ไม่เลียนแบบกระทั่งครูบาอาจารย์
หลวงตามหาบัวท่านสอนหลวงพ่อ
“ต้องเชื่อเรานะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้”
หลวงพ่อลองทำอย่างที่ท่านบอก จิตมันไม่เอา
บริกรรมแล้วเหมือนอกจะแตก ใจไม่ชอบ
หลวงพ่อมาหายใจสุดท้ายมันก็ลงที่เดียวกัน
สงบลงที่เดียวกัน
ให้เราดูตัวเราเอง ทำกรรมฐานอะไรแล้วจิตจะสงบ
จิตจะมีความสุข ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาได้
หรือเจริญปัญญา สติชอบระลึกรู้อะไรรู้ลงไป
อย่างบางคนรักสวยรักงามมาก
หลวงพ่อก็ให้ดูกายไปเป็นปฏิกูลอสุภะ
ดูเข้าไปมันสวยนักหนาหรือ
ขี้ตั้งแต่หัวถึงเท้า ตั้งแต่ขี้หัวยันขี้ตีน ขี้เล็บ เล็บเท้าด้วย
ดูเข้าไปสิสวยหรือ
บางคนมันรักรูปมาก
ผู้ชายก็เป็นนะไม่ใช่เป็นแต่ผู้หญิง
ผู้ชายยุคนี้หน้านวลเชียว รักนวลสงวนตัว
ดูกายเข้าไปเลย
ดูไปจิตใจมันสลดสังเวชขึ้นมาก็สงบลงมา
หายกระดี๊กระด๊า นี้เรื่องของสมถะจิตใจก็สงบลงมา
จะเจริญปัญญาก็ไปดูเอา
สติระลึกรู้อะไรแล้วเห็นไตรลักษณ์ได้บ่อยๆ
ก็เอาอันนั้นเป็นตัวหลัก แต่ไม่ใช่ไม่รู้ตัวอื่น
เวลาเราเจริญปัญญาบางทีเราก็รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต
อะไรอย่างนี้ มันถนัดตัวไหนก็เอาตัวนั้น
ไม่มีตัวไหนดีกว่าตัวไหนหรอก
ทุกตัวก็ลงไปที่เดียวกัน
...
พุทธะ แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ศาสนาของท่านผู้รู้ ไม่ใช่ศาสนาผู้งมงาย
ฉะนั้นเราจะทำอะไร จะทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไร
ทำแล้วมีผลอย่างไร
เราต้องรู้ สังเกตตัวเอง แต่ละคนมีทางของตัวเอง
...
ครูบาอาจารย์ท่านเคยสอน
เหมือนคนจะไปกินน้ำที่บ่อ มีบ่อน้ำ
แต่ละคนเดินไปไม่เหยียบรอยเท้ากัน
ต่างคนต่างก็มีทางของตัวเอง
แต่มันก็ไปถึงบ่อน้ำอันเดียวกัน
เราก็สังเกตตัวเอง
ทำอย่างไรแล้วจิตใจเราสงบ สบาย
อันนี้เอาไว้ทำสมถะ
ระลึกรู้รูปธรรมหรือนามธรรมอันไหน
แล้วเห็นไตรลักษณ์บ่อยๆ
อันนั้นเอาไว้ทำวิปัสสนา
อย่างหลวงพ่อทำวิปัสสนา
หลวงพ่อดูจิตเอาเลย
เห็นจิตเกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง
หลวงพ่อดูอยู่ตรงนี้
แล้วเวลาเข้าใจมันก็เข้าใจหมด
เข้าใจในรูปทั้งหลาย
เข้าใจในนามธรรมทั้งหลาย
ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว
เข้าใจว่าทุกอย่างตั้งแต่ร่างกายเข้ามา
มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
มันของเกิดๆ ดับๆ
กระทั่งตัวจิตผู้รู้เองก็เกิดๆ ดับๆ
ฉะนั้นเราทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่งให้เด็ดเดี่ยวลงไป
แต่เวลาบางครั้งจิตมันไปรู้สิ่งอื่น
เช่น เราดูจิตอยู่แล้ว
พอร่างกายมันขยับแล้วมันรู้ร่างกาย ก็ไม่ว่ามัน
มันก็จะเห็นร่างกายมันก็เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน
อย่างหลวงพ่อดูจิตๆ นี่ล่ะ
วันหนึ่งเผลอขาดสติ
เห็นเพื่อนเดินอยู่คนละฝั่งถนน
คนนี้ไม่เจอหลายปีแล้ว ดีใจ ดีใจแล้วไม่รู้ว่าดีใจ
เท้าก้าวไปจะข้ามถนนไปคุยกับเขา
พอเท้าเคลื่อนเท่านั้น รูปมันเคลื่อน สติระลึกรู้เลย
จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา
ตอนฝึก ฝึกดูจิต พอร่างกายขยับมันรู้เอง
เพราะฉะนั้นมันเนื่องกันหมด
กาย เวทนา จิต ธรรม 4 อันนี้มันเนื่องถึงกันหมด
เหมือนโต๊ะข้างหน้าหลวงพ่อ มี 4 มุม
ยกเข้ามุมหนึ่ง มันก็ยกโต๊ะขึ้นมาได้ทั้งนั้น
ลากโต๊ะไปได้ทั้งนั้น
มุมไหนมันก็เหมือนกันหมด
มันไม่มีอันไหนดีกว่าอันไหนหรอก
มันอยู่ที่ว่าเราถนัดอันไหนก็ใช้อันนั้นเป็นหลัก
ไม่ใช่พวกดูกายเขาบอก กายเท่านั้นดีที่สุด
พอหลวงพ่อดูกาย หลวงพ่อรู้สึกจืดชืด
ไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย ธรรมดา รู้สึกไม่น่าสนใจ
ดูจิตแล้วสนใจ ขยันดูเห็นไตรลักษณ์ทั้งวัน
แล้วบางคนจะมาดูจิต ก็ดูไม่รู้เรื่องก็ดูกายไป
ทางใครทางมัน ไม่ใช่ว่าสายไหนดีกว่าสายไหน
อยู่ที่อันไหนเหมาะกับเราต่างหาก
...
แต่งานที่เราทำก็มีแค่นี้ล่ะ
ขั้นต้นรักษาศีลเอาไว้
แล้วก็เจริญสมถะและวิปัสสนาด้วยปัญญาอันยิ่ง
คือรู้ว่าตอนนี้ควรทำสมถะไหมหรือควรจะทำวิปัสสนา
มีปัญญาอันยิ่งมากขึ้น
รู้ว่าถ้าจะทำสมถะจะใช้กรรมฐานอะไร
จะทำวิปัสสนาจะใช้อะไรเป็นเครื่องอยู่
หมายถึงตัวที่เราใช้รู้ประจำ
พอรู้ลงไปแล้วมีปัญญาอย่างยิ่งเลย
ก็คือเห็นไตรลักษณ์ไหม
ถ้ารู้รูปธรรมนามธรรมเฉยๆ อยู่
ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ ปัญญายังไม่พอ
ฉะนั้นการที่ทำสมถะและวิปัสสนากรรมฐานด้วยปัญญาอันยิ่ง
มันเริ่มตั้งแต่รู้ว่าจะทำสมถะด้วยกรรมฐานอะไร
จะเจริญวิปัสสนาด้วยกรรมฐานอะไร
ที่จะใช้เป็นเครื่องอยู่หลัก
ใช้คำว่าหลัก เวลาภาวนาจริงมันรู้อันอื่นด้วย
ใช้จิตก็รู้กาย รู้เวทนาด้วย
ใช้กายก็รู้เวทนารู้จิตด้วย
ใช้เวทนาก็รู้กายรู้จิตด้วย มันเนื่องกันหมด
แต่ตัวไหนเป็นหลัก
ต้องฉลาดในการรู้ว่าเราควรกับกรรมฐานอะไร
แล้วพอเราทำกรรมฐานเราก็ต้องรู้อีกแล้ว
ตอนไหนควรทำสมถะ ตอนไหนควรทำวิปัสสนา ก็ต้องรู้
เจริญปัญญาจนจิตฟุ้งซ่านแล้ว ก็ต้องมีปัญญารู้ว่า
ตอนนี้ควรทำสมถะ
ทำสมถะอยู่นานสงบ สบาย แล้วเพลินๆ
ต้องมีปัญญารู้ตอนนี้ควรเจริญวิปัสสนาแล้ว
ที่ว่าเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง
ทั้งสมถะและวิปัสสนามันเป็นอย่างนี้
ไม่ภาวนาโง่ๆ ซื่อบื้อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่
ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาของคนซื่อบื้อ
พุทธะ แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ศาสนาของท่านผู้รู้ ไม่ใช่ศาสนาผู้งมงาย
ฉะนั้นเราจะทำอะไร จะทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไร
ทำแล้วมีผลอย่างไร เราต้องรู้ สังเกตตัวเอง
แต่ละคนมีทางของตัวเอง
ถ้าให้ดีที่สุดไม่ต้องมาถามหลวงพ่อด้วย
สังเกตเอาลูกพระพุทธเจ้า
ช่วยตัวเองให้มากไม่ใช่ถาม
การถามครูบาอาจารย์ถามเมื่อจำเป็น
เมื่อเราติดขัดจริงๆ ช่วยตัวเองไม่ได้แล้วค่อยถาม
หรือเมื่อเราภาวนาจนเรารู้สึกแน่ใจแล้วว่าใช่แน่เลย
ก็ควรจะถามนะอย่างนั้น ที่ว่าแน่ๆ มันอาจจะไม่แน่ก็ได้
อย่างบางท่านบอกไม่มีกิเลสเลย
ที่จริงจิตทรงสมาธิอยู่ตลอด
กิเลสอะไรมันจะโผล่มาให้ดู
ถ้าครูบาอาจารย์ท่านอยู่
ท่านจิกให้ทีเดียวก็หายแล้ว. ..."
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 พฤศจิกายน 2564
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มจาก :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา