21 ธ.ค. 2021 เวลา 12:19 • ปรัชญา
"พุทโธตัวจริง"
" … บางคนสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมไม่ค่อยมีใครพูดถึงจิตผู้รู้
สมัยที่หลวงพ่อเข้าไปเรียนกับครูบาอาจารย์
30 กว่าปีก่อน เรียนกับองค์ไหนท่านก็พูดแต่คำว่าจิตผู้รู้
รุ่นหลังๆ คนลืมคำว่าจิตผู้รู้ไป
จะเอาแต่พุทโธให้จิตสงบ เสียแก่นสารสาระไปแล้ว
เรียนไม่ได้แก่น ได้แต่ผิวๆ เปลือกๆ
มันนั่งท่องพุทโธไปเรื่อยๆ หวังว่าจิตจะสงบ จิตจะดี
จิตวันหนึ่งจะบรรลุมรรคผล มันยังไม่มีเหตุมีผลพอ
พุทโธจริงๆ คืออะไร พุทโธจริงๆ คือผู้รู้
พุทโธแปลว่าอะไร แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เรามัวแต่เรียกชื่อมัน แต่เราไม่เห็นตัวมัน
มันก็ยังไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่หรอก
เหมือนเราท่องตำรา ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ท่องได้
แต่ฉันทะหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่เคยเห็น
วิริยะหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่เคยเห็น
จิตตะ วิมังสาเป็นอย่างไร ไม่เคยเห็น
มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา
เราท่องคำว่า พุทโธๆ แต่เราไม่เคยเห็นพุทโธ
เราไม่เคยเห็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เรียกเรายังไม่ได้สาระอะไรเลย
เราท่องได้แต่ชื่อ แต่เราไม่เจอตัว
เหมือนเรารู้จักชื่อใครสักคนหนึ่ง
ตัวจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้
มันผิวเผินเกินไป
ฉะนั้นเราต้องเรียนให้ได้ พุทโธตัวจริง
จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านสอนเข้ามาที่ผู้รู้เลย
อย่างครูบาอาจารย์องค์หนึ่งที่หลวงพ่อเรียนกับท่าน
ท่านอาจารย์บุญจันทร์ วัดถ้ำผาผึ้งท่านสอนบริกรรม
ไม่ได้สอนหลวงพ่อหรอก ท่านสอนคนทั่วๆ ไป สอนบอก
“พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ”
ไม่ใช่พุทโธเฉยๆ พุทโธเป็นสิ่งที่ใจมันไปรู้เข้า
พุทโธแล้วก็รู้ใจของตัวเองให้ได้
ตัวใจตัวนั้น ตัวผู้รู้ เรามีผู้รู้เพื่ออะไร ก็ต้องรู้เหตุผล
ไม่ใช่มีผู้รู้แล้วก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
ฟังแล้วยังไม่มีเหตุผลพอ
ที่เรามีจิตผู้รู้ขึ้นมา เพื่อจะตัดชีวิตเราให้ขาดเป็นท่อนๆ
ชีวิตช่วงนี้หลง ชีวิตช่วงนี้รู้ ชีวิตช่วงนี้หลง ชีวิตช่วงนี้รู้
ชีวิตมันจะขาดเป็นท่อนๆๆๆๆ ไป สันตติมันขาด
สันตติคือความสืบเนื่องมันขาด
ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้ สันตติจะไม่ขาด ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง
อย่างคนหลงอย่างนี้ มันหลงทั้งวัน
มันหลงตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลับแล้ว มันก็หลงฝันไปอีก
ชีวิตมีอันเดียวคือหลง
มันไม่มีทางเงยหน้าอ้าปากขึ้นมาเห็นธรรมะได้เลย
แต่อย่างเราหลงอยู่ แล้วเราเกิดจิตผู้รู้
ชีวิตที่หลงเป็นอดีตไปหมดแล้ว ตายไปหมดแล้ว
ชีวิตปัจจุบันรู้ ชีวิตปัจจุบันที่รู้ อยู่ชั่วคราวก็ตาย
กลายเป็นชีวิตที่หลงขึ้นมาอีกแล้ว
พอชีวิตที่หลงเกิดขึ้น เกิดสติรู้ทันอีก
ชีวิตที่หลงก็ตายไป เกิดชีวิตที่รู้ขึ้นมาอีก
2
เพราะฉะนั้นที่เรามีจิตผู้รู้
เพื่อจะตัดตอนสภาวะอันนั้นให้มันขาดเป็นช่วงๆๆๆ ไป
เรียกว่าสันตติมันขาด
ถ้าสันตติไม่ขาด ไปทำวิปัสสนายังไม่ได้หรอก
เข้าใจหรือยังว่าทำไมต้องมีจิตผู้รู้
จิตผู้รู้จะทำให้สันตติขาด
ถ้ามีจิตผู้หลง มีแต่สันตติ
คือหลงๆๆๆๆ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
แต่พอมีผู้รู้ปุ๊บ ที่หลงๆๆ เราขาดสะบั้นเลย
เกิดรู้แทรกขึ้นมา
มันจะเหมือนเราเกิดใหม่ อดีตที่หลงตายไปแล้ว
ปัจจุบันรู้ แล้วมันก็ไม่เที่ยง
เดี๋ยวมันก็หลงใหม่ ไม่ต้องห้าม
ถ้าจะรักษาตัวผู้รู้ จะรู้ๆๆ ไปเรื่อยๆ ใช่ไหม
ก็ไปสร้างสันตติตัวใหม่ขึ้นมา
สร้างความสืบเนื่องชนิดใหม่ขึ้นมา
ฉะนั้นเราเฝ้ารู้เฝ้าดู จะเห็นจิตหลงเกิดแล้วดับ
จิตรู้เกิดแล้วดับ เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้ สันตติขาด
มีคำอยู่ 2 ตัว ฆนะตัวหนึ่ง ฆนะ กับสันตติ
ฆนะมันแตกตอนที่เรามีตัวผู้รู้ ขันธ์มันจะกระจายตัวออก
ฉะนั้นตัวผู้รู้ทำให้ฆนะแตก
ฆนะตัวนี้ อย่างนี้เรารู้สึกมีตัวเราเพราะฆนะไม่แตก
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมอยู่ด้วยกัน
ในขณะจิตเดียวกัน รูปนามรวมอยู่ด้วยกัน
เรียกมันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ฆนะคือคำว่ากลุ่มก้อน
พอมีตัวผู้รู้ขึ้นมามันจะเห็น รูปก็อยู่ส่วนรูป
จิตอยู่ส่วนจิตที่เป็นผู้รู้ มีเวทนาเกิดขึ้น ผู้รู้อยู่อย่างนี้
จะเห็นเวทนากับจิตแยกออกจากกัน
เรียกมันแตก แตกออกได้ แล้วพอแตกแล้ว
ต่อไปสันตติก็ขาดด้วย
โดยเฉพาะดูที่จิต เกิดดับๆ รวดเร็ว ทำอย่างนี้ได้
มรรคผลนิพพานไม่ไกลๆ ทำไม่ได้ มีแต่จิตหลงๆๆๆ
กระทั่งจิตหลงเพ่ง เพ่งอยู่อย่างนั้นล่ะ
จิตหลงเพ่งอยู่ได้เป็นกัปๆ เลย เป็นพรหมไปนั่งเพ่งไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาจิตของเรา
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
สรุป ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด
แต่ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร
ให้มีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูกรรมฐานอันนั้น
เช่น เราหายใจออก หายใจเข้า
เราเห็นร่างกายที่หายใจออก ร่างกายที่หายใจเข้าถูกรู้
จิตเป็นคนรู้ แล้วถ้าจิตมันไหลไปที่อื่น
มันลืมร่างกายที่หายใจ
สมมติเราใช้ร่างกายหายใจเป็นวิหารธรรม
เป็นที่อยู่ของจิต พอจิตมันเกิดหนีไปคิดเรื่องอื่น
เรามีสติรู้ทัน จิตหนีไปแล้ว ไม่ห้าม หนีได้ แต่หนีแล้วรู้
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง
ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
ไม่ใช่เพื่อให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว
อันนั้นเรื่องของสมถะ เอาไว้ตอนไหนมันไม่มีแรงแล้ว
จิตมันฟุ้งแล้ว ทำอย่างนั้นให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว
แต่ตอนที่เราจะฝึกจิตของเราให้ดีขึ้นมา
ให้พัฒนาก้าวหน้ารวดเร็ว ทำกรรมฐานไป
แล้วพอจิตมันทิ้งจากอารมณ์กรรมฐาน รู้ทันมันไป
อย่างเราท่องพุทโธๆ อยู่ดีๆ หนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว
รู้ทันว่าจิตหนีไป จิตหลงเกิดขึ้น
พอเรามีสติรู้ว่าจิตหลงเกิดขึ้น
จิตหลงจะดับ จิตรู้จะเกิด มันจะอัตโนมัติเลย
1
พอจิตรู้เกิดบ่อยๆ มันจะสลับกับจิตหลง
ครั้งแรกช่วงแรกๆ ที่ฝึก จิตหลงยาว ยาวมากๆ
แล้วเกิดจิตรู้แวบเดียว แล้วจิตหลงก็ยาวๆ อีก
แล้วเกิดจิตรู้อีกแวบหนึ่ง
แต่พอเราฝึกชำนิชำนาญ จิตหลงแวบหนึ่ง จิตรู้แวบหนึ่ง
จิตหลงแวบหนึ่ง จิตรู้แวบหนึ่ง
หลวงพ่อไม่ได้บอกว่าจิตรู้ รู้ๆๆๆๆ
เดี๋ยวก็รู้สึกอีกจิตเที่ยงขึ้นมา
พวกที่ภาวนาแล้วเห็นว่าจิตเที่ยง มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ
จริงๆ จิตมันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
เราค่อยฝึกไปเรื่อย ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
พอจิตมันหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน เรารู้
ตรงที่เรารู้ปุ๊บ จิตรู้จะเกิดขึ้นอัตโนมัติเลย
ฉะนั้นอารมณ์กรรมฐานเหมือนเหยื่อตกปลา จิตรู้คือตัวปลา
ฉะนั้นเราไม่ได้เอาพุทโธ เราไม่ได้เอาลมหายใจหรอก
เราไม่ได้เอายืน เดิน นั่ง นอน ไม่ได้เอาท้องพองยุบ
ไม่ได้เอาขยับมือ 14 จังหวะอะไรอย่างนั้นหรอก
อันนั้นเหยื่อตกปลา เหมือนไส้เดือนเท่านั้นเอง
ที่เอาไปเกี่ยวเบ็ดตกปลา ตัวปลาคือตัวจิตตัวจิตรู้นี่ล่ะ
ฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
คล้ายๆ มีเบ็ดตกปลา มีเหยื่อตกปลาแล้ว
กรรมฐานนี้เป็นเหยื่อตกปลา
จิตเรามาอยู่ที่อารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน
ปลาว่ายมาอยู่จะมากินเหยื่อแล้ว
ปลาว่ายดุกดิกๆ มา รู้ทัน มันไม่ยอมกิน มันหนีไปแล้ว รู้ทัน
หรือมันฮุบไปแล้ว รู้ทัน
ตรงมันฮุบคือจิตมันจับอารมณ์เข้าไปแล้ว รู้ทัน
มันไปเพ่ง หายใจเข้าพุท ออกโธ
แล้วมันไปเพ่งลมหายใจ มันไปติดเบ็ดแล้ว
1
ดีไหมปลาติดเบ็ด ถ้าเราเป็นปลามันก็ไม่ดีหรอก
ถ้าเป็นคนตกปลา ก็ดีสิ แต่เราจะเอาจิต
เราเอาปลา ปลาเป็นตัวเอก ไม่ได้เอาเหยื่อ
อารมณ์กรรมฐานคือเหยื่อตกปลา จิตคือปลา
1
เรามีอารมณ์กรรมฐานเป็นตัวล่อ
เดี๋ยวจิตมันเข้ามาหาอารมณ์กรรมฐาน
บางทีมันมาแล้วมันก็ฮุบเข้าไป เสร็จแล้ว
คือการติดเพ่ง ติดอยู่ในอารมณ์อันนั้น
บางทีมันมาแล้วมันมามองๆ แล้วมันก็ไม่เอา
ดูไปดูมา หนีไปที่อื่นแล้ว นี่คือจิตหลง
หลงไปที่อื่นแล้ว ลืมอารมณ์กรรมฐาน
เคยไหม หายใจเข้าพุทออกโธ คิดเรื่องอื่นไปแล้ว
คิดไปถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปแล้ว นี่ปลาหนีไปแล้ว
ปลาก็ไม่ได้ เสียเวลาตกปลา
คอยรู้ปลาคือจิตมันจะไปที่ไหน
ถ้ารู้ทันมัน เราจะพัฒนาได้ เราจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา
ถ้ารู้ไม่ทันก็จะมี 2 อัน คือจิตผู้เพ่งกับจิตผู้หลงไป
ฉะนั้นให้ไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง หลงแล้วรู้ไปเรื่อยๆ
พอเห็นบ่อยๆ จิตมันจำได้ว่าสภาวะหลงเป็นอย่างไร
พอหลงปุ๊บ ความหลงจะดับทันที เพราะสติจะเกิดทันที
ทันทีที่สติเกิด จิตจะเป็นกุศลแล้ว
จิตหลงเป็นจิตอกุศล ทันทีที่สติเกิด จิตหลงก็จะดับทันที
เราจะได้สติขึ้นมา ถ้าเรามีสติอยู่เนืองๆ
กิเลสครอบงำใจเราไม่ได้ ศีลเราจะดีขึ้นมา
เรามีสติเนืองๆ รู้เท่าทันจิตใจตัวเอง
จิตจะตั้งมั่นมากขึ้นๆ มันจะมีกำลังขึ้น
อย่างบางคนหลวงพ่อบอก เออ ช่วงนี้จิตมีกำลังแล้ว
ที่จิตมันมีกำลังไม่ใช่จิตมันไปยกอะไรได้หรอก
จิตมันมีกำลังคือมันรู้ตัวได้ถี่ๆๆๆ อย่างเป็นธรรมชาติ
ไม่ได้จงใจที่จะรู้สึก
แต่ก่อนที่มันจะรู้ได้เป็นธรรมชาติโดยไม่จงใจ
มันก็ต้องจงใจไว้ก่อน หัดเหมือนตกปลานี่ล่ะ
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนมาที่อารมณ์นี้ก็รู้
จิตหนีไปก็รู้ รู้เรื่อยๆ ไป
ตรงที่เรารู้ทันจิตที่เคลื่อนไปเคลื่อนมา
จิตที่เคลื่อนมาตรงนี้ก็หลง หลงเพ่ง หลงเผลอ หลงเพลิน
ตรงที่รู้ทันว่าจิตหลง สติ ศีล สมาธิ ปัญญาจะเกิด
จะสะสมไปเรื่อยๆ สุดท้ายวิมุตติก็เกิด มรรคผลก็เกิดขึ้น
ยากไปไหม นี้ง่ายที่สุดล่ะนะ
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
แล้วคอยรู้ทันเวลาจิตมันหลง
ไม่ได้รักษาจิต จิตมันหลงแล้วรู้ จิตเราหลงแล้วรู้
เอ๊ะ ทำไมหลวงพ่อบอกว่าให้มีสติรักษาจิต
แต่ทำไมบอกเราว่าไม่ต้องไปรักษาจิต
เราไม่ต้องรักษา สติมันรักษาให้เราเอง
มีสติเถอะ จิตไม่ชั่วหรอก
มีสติเถอะ จิตไม่ฟุ้งซ่านหรอก
มีสติเรื่อยๆ ไปแล้ว เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย
ของรูป ของนาม ปัญญามันก็เกิดเอง …"
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 ธันวาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา