24 ธ.ค. 2021 เวลา 13:55 • ปรัชญา
“ศิลปะการปฏิบัติ”
1
“ … หลักของการปฏิบัตินั้น พระพุทธเจ้าสอนแต่ละคนมีหลักของการปฏิบัติ หลักของสติปัฏฐาน ของสมถะ ของวิปัสสนา สอนอะไร สอนเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท 24 อะไรอย่างนี้ ท่านก็สอนใครๆ ก็ได้ยิน
แต่ตอนที่ลงมือปฏิบัติมันมีศิลปะ ศิลปะว่าตอนนี้ควรจะทำสมถะ หรือควรจะทำวิปัสสนา
ถ้าจะทำสมถะ สมถะชนิดไหนเหมาะกับเรา ชนิดไหนไม่เหมาะ
จะทำวิปัสสนาจะใช้กรรมฐานอะไร แล้วจะมองในมุมของอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตาอะไรอย่างนี้ มันเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่เราสังเกตตัวเอง
ถ้าจะทำสมถะ เราสังเกตตัวเอง ทำกรรมฐานชนิดไหนแล้วจิตสงบ จิตสบายจิตรวมอะไรอย่างนี้ เราก็รู้เราถนัดอย่างนี้
อย่างหลวงพ่อถนัดอานาปานสติแล้วบวกพุทโธเข้าไปด้วย เพราะเรียนกับครูบาอาจารย์ตั้งแต่เด็ก ท่านก็สอนมาอย่างนี้ ฉะนั้นอยากสงบก็หายใจ สงบแล้ว
ฉะนั้นเราก็รู้เราจะใช้กรรมฐานอะไร หรือจะทำวิปัสสนา จะเดินปัญญาจะใช้กรรมฐานอะไร ก็สังเกตเอา
อย่างหลวงพ่อสมาธิ ทำสมถะใช้อานาปานสติบวกกับพุทธานุสสติ เพราะว่าเป็นคนรักพระพุทธเจ้า คิดถึงพุทโธๆ อย่างนี้จิตมีความสุข เบิกบาน เวลาทำวิปัสสนาหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้ดูจิต ท่านไม่ได้สอนส่งเดชหรอก
ก่อนที่ท่านจะสอนท่านพิจารณาเกือบชั่วโมง ไปกราบท่านบอก “หลวงปู่ผมอยากปฏิบัติ” ท่านพยักหน้าทีหนึ่ง แล้วท่านก็นั่งหลับตาของท่านนิ่งๆ ไปอย่างนั้น นานเลยเรานึกว่าท่านนอนหลับไปแล้ว
ลืมตาขึ้นมาท่านก็สอนให้ดูจิตเอา ท่านบอกว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”
คำว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว” ของท่านหมายถึงหลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎกมามากแล้ว อ่านหลายรอบพระไตรปิฎก แต่อ่านเฉพาะพระวินัยกับพระสูตร อภิธรรมอ่านไม่รู้เรื่อง ค่อยมารู้ทีหลังหรอก ภาวนาไปเรื่อยๆ
ค่อยๆ ฝึก ฉะนั้นพวกเราได้ยินว่าหลวงพ่อทำสมถะ ด้วยอานาปานสติบวกพุทธานุสสติแล้วจะต้องเอาอย่าง ไม่ใช่ ทางใครทางมันไปดูตัวเอง ทำอย่างไรแล้วสงบเอาอันนั้นล่ะ
ได้ยินว่าหลวงพ่อเจริญปัญญาด้วยการดูจิต ทำจิตตานุปัสสนาเห็นจิตเกิดดับ เห็นจิตตสังขาร จิตที่มีราคะเกิดดับ จิตที่มีโทสะเกิดดับ จิตหลงเกิดดับ ก็ไม่ใช่ว่าพวกเราทุกคนจะต้องดูจิต ทางใครทางมัน แล้วแต่สะสมมาทางไหนก็ทำทางนั้น ค่อยๆ ฝึกเอา
แต่หลักต้องแม่น ดูจิตก็ไม่ใช่บังคับจิต ดูกายก็ไม่ใช่บังคับกาย หลักมันต้องแม่น ดูจิตก็ต้องรู้จิตตามที่จิตเป็น จิตเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ดูกายก็ต้องกายเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ไปดัดแปลงกายดัดแปลงจิต เห็นไหมหลักนี้อันเดียวกัน แต่จะดูอะไรเอาที่เราถนัด ที่มันเหมาะกับจริตนิสัยเรา
อย่างหลวงพ่อเป็นพวกช่างคิดไม่ยอมง่ายๆ หรอก คำว่าศรัทธานี่ไม่มากหรอก มีศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้า แต่ศรัทธาไม่มากในพระรุ่นหลังๆ เห็นแล้วก็ชาวบ้านแค่ห่มเหลืองเท่านั้นเอง ไม่ค่อยยอมหรอก ใจ เขาไหว้ผีไหว้เจ้าไหว้อะไร ไม่เอาหรอก ไม่เชื่อ เราไหว้แต่พระ ให้ไปไหว้เจ้าไหว้อะไรใจมันไม่เอา ดูถูกไหมไม่ดูถูก แต่ใจมันไม่เอา มันรู้ว่าไม่ใช่สรณะ
ถ้าไปไหว้ผีไหว้เจ้า ทำบุญให้แผ่ส่วนบุญให้ บางทีบ้านหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ลูกครึ่งจีน บรรพบุรุษเขาไหว้เจ้าไหว้อะไรกัน เราก็จุดธูปเขาให้ปักก็ปักไป แต่ในใจไม่เชื่อหรอกว่า ผีมันจะมากินขนมเข่งของเราอะไรอย่างนี้ มีแต่เดี๋ยวเราจะกินเอง
ฉะนั้นใจมันจะไม่งมงายเรื่องพวกนี้ หลวงปู่ดูลย์ท่านคงดูแล้ว หลวงพ่อไม่ใช่พวกศรัทธาจริต เราเป็นพวกพุทธิจริต แล้วเป็นพวกทิฏฐิจริต เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ท่านสอนให้ดูจิตเลย ถ้าเป็นพวกตัณหาจริต รักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม ไปดูกาย เรียกรู้จักเลือกกรรมฐานที่มันเหมาะกับตัวเราเอง
ค่อยฝึกไป มันก็ค่อยพัฒนาไปได้เอง ไม่ใช่เรื่องยากหรอก เพราะฉะนั้นเราไปดูตัวเอง เราจะทำสมถะ เราจะใช้กรรมฐานอะไร เราจะทำวิปัสสนาเราจะใช้กรรมฐานอะไร แล้วเราจะดูในมุมอะไร อนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา
ไตรลักษณ์ไม่ได้เห็นทีเดียว 3 อัน เห็นอันใดอันหนึ่งพอแล้ว แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะดูอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา ตัวนี้สนุกมากเลยในการหาคำตอบตัวนี้ ไปหาเอาเองไหม ท่าทางไม่ยอม
ดูสภาวะที่เป็นปัจจุบันไป
ดูกายดูใจลงปัจจุบันไปเรื่อยๆ
ถ้าจิตเราตั้งมั่นเป็นกลาง สติระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจไป
แล้วมันจะเห็นเอง ว่ามันจะเห็นกายเห็นใจในมุมของอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา
ไม่จำเป็นจะต้องไปหาก่อนว่าควรจะดูอะไร ดูอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา จิตมันเลือกของมันเอง
อย่างบางทีเราดูจิตมันเกิดดับ
จิตมีราคะเกิดแล้วดับ
จิตมีโทสะเกิดแล้วดับอะไรอย่างนี้
เฝ้ารู้เฝ้าดูเห็นมันเกิดดับๆ
มีแล้วไม่มีคือเห็นอนิจจัง
อนิจจัง เห็นว่าสิ่งที่มีแล้วมันก็ไม่มีคืออนิจจัง
เวลาตัดสินความรู้จิตมันเลือกเอง
บางทีดูจิตเกิดดับๆๆ อย่างนี้
เวลาที่มรรคผลเกิด มันเห็นอนัตตาเฉยเลยก็ได้
เห็นเลยทั้งหมดนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา มันเห็นเอง
เพราะฉะนั้นถึงจุดนั้นจิตมันเลือกเอง ว่ามันจะดูอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นเราพามันดูกายอย่างที่กายเป็น ดูใจอย่างที่ใจเป็น ดูไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเลือกหรอก ถึงจุดนั้นมันตัดสินเองว่ามันจะดูช่องไหน
อย่างคนที่ภาวนาเป็นพวกที่ทรงสมาธิสูง จิตทรงสมาธิมาก ดูจิต จิตจะมีแต่ความสุข เพราะฉะนั้นจะไปดูว่าจิตบังคับไม่ได้ ก็ดูไม่ได้หรอก เพราะว่าจิตที่ทรงสมาธิมันเหมือนบังคับได้ มันจะทรงสมาธิอยู่นานเป็นวันๆ ก็อยู่ได้ จะไปดูอนิจจังมันก็ดูไม่ได้
เพราะมันคงที่อยู่อย่างนั้นล่ะเห็นว่ามันคงที่ ไม่เห็นว่ามันจะเป็นอนิจจังตรงไหนเลย จะไปดูว่าเป็นอนัตตาก็ไม่ได้ ก็เราทำขึ้นมาได้ จิตทรงสมาธิเราฝึกเรื่อยๆ ชำนาญแล้ว นึกจะทรงสมาธิก็ทรงเลย ดูอนัตตาก็ดูไม่ได้
แล้วทำอย่างไรจะปล่อยตรงนี้ได้
ถึงจุดหนึ่งที่อินทรีย์เราแก่กล้า บารมีเราแก่กล้าพอ จิตมันจะไปเห็นตัวทุกขตาเอง มันจะเห็นว่าตัวจิตผู้รู้ที่แสนวิเศษตัวนี้ ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ ไม่มีอะไรทุกข์เท่าตัวจิตผู้รู้อีกต่อไปแล้วในโลกนี้ ทุกข์อย่างอื่นเรารู้ปุ๊บก็ดับปั๊บ
1
จิตผู้รู้ดูลงไปยิ่งทุกข์ขึ้นๆๆ เหมือนโลกจะระเบิด เหมือนจิตจะแตกอะไรอย่างนี้ ในที่สุดจิตมันก็ฉลาด โอยมันทุกข์ จิตมันก็สลัดคืนจิตให้โลกไป อันนี้พวกที่เขาทรงฌาน มันจะหลุดพ้นด้วยการเห็นทุกขตา
พวกที่ปัญญาแก่กล้าแล้วก็จะหลุดพ้นด้วยการเห็นอนัตตตา เห็นสุญญตา
แล้วพวกทั่วๆ ไปก็จะเห็นเกิดดับ เห็นอนิจจัง เห็นอะไรไป เราเลือกไม่ได้หรอก ถึงจุดนั้นจิตเขาเลือกของเขาเอง
หลักต้องแม่น แต่เวลาเดินการปฏิบัติก็ต้องรู้จักเลือก จะใช้กรรมฐานอะไรจิตจะสงบ จะใช้กรรมฐานอะไรจะเห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ฝึกตัวนี้
ส่วนจะเห็นมุมของอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา ไม่ต้องเลือก จิตมันเลือกเองตอนที่มันตัด แต่บางคนครูบาอาจารย์เขาสอน ดูมุมนี้บ่อยๆ เพราะท่านรู้ว่ามันจะตัดด้วยมุมนี้
อย่างบางคนให้ไปดูกายเป็นอนิจจัง ดูไม่ได้ หรือไปดูจิตเป็นอนิจจังดูไม่ได้ ครูบาอาจารย์พิจารณาแล้ว ท่านก็บอกไปดูทุกอย่างไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา โลกธาตุนี้ว่างเปล่า ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขาอะไรอย่างนี้ อันนี้ท่านสอนให้ดูมุมของอนัตตา
จิตเขาถ้ามองมุมอื่นแล้วมันขี้เกียจดู ถ้ามองมุมนี้แล้วมันขยันดู อย่างนี้ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมองออก ท่านก็บอกให้ว่าเราควรจะมองมุมไหน
แต่ทั้งๆ ที่ท่านบอกว่ามองมุมนี้ เราก็ฝึกพัฒนาตัวเอง แต่ตอนที่ตัดไม่มีใครบอกแล้ว จิตมันเลือกช่องที่จะตัดของมันเอง ฉะนั้นการปฏิบัติสนุก มีลีลา มีลวดลายอะไรน่าเรียนน่ารู้ สนุกมากเลย. …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 ธันวาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มจาก :
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา