25 ธ.ค. 2021 เวลา 02:19 • ไลฟ์สไตล์
“สำรวมอินทรีย์ ... สำรวมที่ใจอันเดียว”
“ … การภาวนาไม่ใช่เรื่องยากอะไรนักหนาหรอก
รู้ทันกิเลสที่มันเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในใจเรา
รู้ไปเรื่อยๆ กิเลสมันเกิดตอนไหน
กิเลสมันเกิดตอนที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น
ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด
กิเลสมันเกิดตอนมีผัสสะ
แล้วในความเป็นจริงกุศลก็เกิดตอนที่มีผัสสะเหมือนกัน
ฉะนั้นถ้าไม่มีผัสสะจิตก็ไม่ทำงาน ก็ต้องอาศัยมีผัสสะ
มีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
พอมันกระทบอารมณ์แล้วจิตมันก็ทำงานต่อ
มองเห็นรูปอย่างนี้จิตพอใจมีความสุข
เห็นรูปอย่างนี้จิตไม่พอใจ จิตไม่มีความสุข
ตาเห็นรูป ตาไม่ได้มีความสุขหรือมีความทุกข์
เวลาที่ตาเห็นรูปไม่มีสุขไม่มีทุกข์หรอก
เป็นอุเบกขาตลอด
เวลาหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส
ตา หู จมูก ลิ้น มันก็เป็นอุเบกขาตลอด
แต่กายเวลากระทบอารมณ์มันมีสุขมีทุกข์ได้
แต่เวลาตากระทบอารมณ์เป็นอุเบกขาอย่างเดียว
หูกระทบอารมณ์เป็นอุเบกขาอย่างเดียว
จมูกกระทบอารมณ์ ลิ้นกระทบอารมณ์
เป็นอุเบกขาอย่างเดียว
เวลาลิ้นเรากระทบรส
ลิ้นไม่เคยบ่นเลยว่าอร่อยหรือไม่อร่อย
ตัวที่ชอบไม่ชอบ อร่อยไม่อร่อยคือจิตต่างหาก
มันทำงานหลังการกระทบไปแล้ว
ฉะนั้นเวลาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์
แล้วมันจะปรุงดี ปรุงชั่วอะไรนี้ มาปรุงที่จิตทั้งนั้น
ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงได้ 2 ที่ ที่กายกับที่จิต
ร่างกายกระทบอารมณ์อย่างนี้มันมีความสุขทางกาย
กระทบอารมณ์อย่างนี้มีความทุกข์ทางกาย
อย่างอากาศร้อนๆ ลมเย็นๆ โชยมาถูก ร่างกายมันสบาย
แล้วร่างกายที่ร้อนจัดๆ มันจะตายเอาง่ายๆ เส้นเลือดจะแตก
พอลมพัดมาร่างกายมันก็สบายผ่อนคลาย
มีความสุขในร่างกาย
หรืออากาศเย็นจัดลมยังมาพัดอีก
ร่างกายจะทนไม่ไหว เพราะร่างกายมันเป็นตัวรูป
ตัวรูปมันมีคุณสมบัติที่มันแตกสลายได้
ด้วยความเย็นความร้อน
อย่างมันหนาวจัดๆ มันก็ตายเหมือนกัน
ร่างกายนี้ก็แตกสลายเหมือนกัน
กระบวนการทำงานของจิต
ฉะนั้นในตัวกายนี้เวลากระทบอารมณ์ มีสุข มีทุกข์
ตัวจิตเวลากระทบอารมณ์ มีสุข มีทุกข์ มีเฉยๆ ได้
แต่ตา หู จมูก ลิ้น เวลากระทบอารมณ์มันเป็นอุเบกขาอย่างเดียว
ตาเห็นรูป รูปจะดีหรือรูปไม่ดีตาก็แค่เห็น
เสียงจะดีหรือเสียงไม่ดีหูมันก็แค่ได้ยิน
กลิ่นจะหอมหรือกลิ่นจะเหม็น จมูกมันก็แค่ได้กลิ่น
รสจะอร่อยไม่อร่อย เปรี้ยวหวานมันเค็มอะไรกระทบมา
มันก็แค่รู้เท่านั้น คนที่ชอบไม่ชอบคือตัวจิต
มันทำงานต่อจากกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันกระทบมา
มันส่งสัญญาณเข้ามาที่จิต จิตก็มาพอใจไม่พอใจ
เฝ้ารู้เฝ้าดู เราจะเห็นกระบวนการทำงานของมัน
การที่จิตใจเราดิ้นรนปรุงแต่ง
มีกิเลสขึ้นมา หรือมีกุศลขึ้นมา
มันก็อาศัยผัสสะเป็นจุดตั้งต้น
เรามีตาไปเห็นรูปก็เกิดการทำงานของจิตใจขึ้นมา
ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา
แล้วก็เข้าไปยึดไปถือ
ปรุงสุขก็ไปยึดสุข ปรุงทุกข์ก็ไปยึดทุกข์
คืออยากให้มันหายไป เกลียดชังมัน
ไม่ได้เป็นกลางต่อสุขต่อทุกข์
เกิดกุศลก็ไม่เป็นกลาง พอใจ
นักปฏิบัติจิตเป็นกุศลพอใจ
จิตมีความโลภ โกรธ หลงขึ้นมาไม่พอใจ
มันมาเกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นที่จิตเรานี้ทั้งหมด
ฉะนั้นเราเฝ้ารู้เฝ้าดูเราเห็นกระบวนการที่จิตมันปรุงแต่งความทุกข์
กระบวนการนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
หลวงพ่อตัดเอาท่อนท้ายตั้งแต่มีผัสสะ
ก่อนจะมีผัสสะมันก็มีกระบวนการ
มีอยู่อีกท่อนหนึ่งตั้งแต่อวิชชาขึ้นมา ตัวนั้นฟังยาก
ค่อยภาวนาแล้วค่อยรู้ค่อยเห็นเอา
ตอนนี้ที่เราฝึกถ้าเราฝึกดูจิตดูใจ
เรารู้ว่าความเปลี่ยนแปลงของจิตมันเริ่มตั้งแต่มีผัสสะ
พอมีผัสสะมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ใจกระทบความคิด นี่มีผัสสะ
ความคิดก็เป็นธรรมารมณ์อันหนึ่ง ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม
ความคิด เป็นบัญญัติ
พอ ใจ มันกระทบอารมณ์ขึ้นมา จิตใจมันก็ทำงานต่อ
เช่น มันคิดเรื่องนี้โทสะก็เกิด คิดเรื่องนี้ราคะก็เกิด
สมมติเราคิดถึงนางงามสักคนหนึ่ง
พอเรานึกถึง ใจเราชอบผู้หญิง
คำว่า เรา หมายถึงได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย
ยุคนี้ผู้หญิงชอบผู้หญิงก็เยอะ
เราเห็นผู้หญิงสวยๆ ใจมันชอบ รู้ทันลงไป
เฝ้ารู้เลยใจเราเปลี่ยนแล้ว
มันเปลี่ยนตามหลังการกระทบอารมณ์
ใจกระทบความคิดจิตมันก็เปลี่ยน
ตากระทบรูปจิตก็เปลี่ยน
หูกระทบเสียงจิตก็เปลี่ยน
จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส
กายกระทบสัมผัส จิตมันก็เปลี่ยน
ฉะนั้นเราจะดูจิตดูใจ
เราไม่ได้หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์
บางคนจะดูจิตก็เข้าถ้ำปิดหูปิดตาหมดเลย
ไม่ให้กระทบอารมณ์แล้วจะดูจิต
จิตก็ว่างๆ ไม่ได้กระทบอารมณ์หยาบๆ
ถามว่ามีไหมจิตที่ไม่กระทบอารมณ์ ไม่มีหรอก
เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นต้องมีอารมณ์
อารมณ์จะหยาบหรืออารมณ์จะละเอียดเท่านั้นเอง
อารมณ์นั้นจะเป็นเรื่องราวที่คิด
หรือจะเป็นรูปธรรม หรือจะเป็นนามธรรม
ก็แล้วแต่ว่าจิตมันจะไปรู้อะไรเข้า
มันจะมีผัสสะทางช่องทางไหน
อย่างใจกระทบความคิด
ตัวความคิดก็เป็นอารมณ์บัญญัติ
อารมณ์บัญญัติทำวิปัสสนาไม่ได้
แต่ถ้าเราดูจิตเราทำได้ พอใจกระทบความคิด
เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว
เราเห็นสุข ทุกข์ ดี ชั่ว ตรงนี้
ตัวสุข ตัวทุกข์ ตัวดี ตัวชั่ว เป็นอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นนามธรรม
ตัวนี้ใช้ทำวิปัสสนาได้
แต่เรื่องราวที่คิดทำวิปัสสนาไม่ได้ ไม่มีไตรลักษณ์
ไม่หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์
เราอย่าหลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์
มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส
มีกายก็กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหวไป
มีใจก็ไม่ได้ห้ามความคิด
ไม่ห้ามอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ต้องสำรวม
ตรงนี้ฟังเข้าใจยาก บอกให้สำรวมอินทรีย์
คือสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
หลวงพ่อก็บอกว่าให้มันกระทบเข้าไป
แล้วมันจะสำรวมตรงไหน
การสำรวมอินทรีย์ไม่ใช่ว่ามีตาแล้วไม่ดู
มีหูแล้วไม่ฟัง มีใจก็ไม่คิด
สำรวมอินทรีย์ ก็คือตากระทบรูป
จิตเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว มีสติรู้ทัน
นี่ล่ะความสำรวมจะเกิดขึ้น
หูได้ยินเสียงถ้าไม่สำรวม
มันก็เกิดราคะ เกิดโทสะอะไรขึ้นมา
เสียงอย่างนี้ชอบ เสียงอย่างนี้ไม่ชอบ
ถ้าเราสำรวม
หูได้ยินเสียงจิตมันชอบ จิตมันไม่ชอบขึ้นมา
เกิดราคะ เกิดโทสะขึ้นมา
เรารู้ทัน เราก็ไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ
นี้เราสำรวมแล้ว ตาเห็นรูปไม่พอใจโทสะแทรกเข้ามา
เห็นหน้าคนนี้จิตมันโทสะขึ้นแล้ว
ตาเห็นรูปของคนที่ไม่ชอบ โทสะขึ้น
สติมันรู้ไม่ทันก็ไปชกเขาอะไรอย่างนี้
ฉะนั้นการสำรวมอินทรีย์ ไม่ใช่ว่าไม่ดู
ไม่ฟัง ไม่ดม ไม่รู้รส ไม่รู้สัมผัสทางร่างกาย ไม่คิดนึก
...
สำรวม ก็คือกระทบอารมณ์แล้วอะไรเกิดขึ้นที่จิตที่ใจ มีสติรู้ทัน
นั่นล่ะเรียกว่าสำรวมอินทรีย์ สำรวมที่ใจอันเดียว
ไม่ได้ไปสำรวมที่ตาหรอก
สำรวมที่ตาจะสำรวมได้อย่างไร
ตาจะเห็นรูปใครจะห้ามได้
รูปจะดีหรือรูปไม่ดีใครจะห้ามได้ เป็นวิบากทั้งหมด
จะเห็นรูปที่ดีเพราะว่ากุศลวิบากมันให้ผล
เห็นรูปที่ไม่ดีเพราะอกุศลวิบากให้ผล
มันจะสำรวมได้อย่างไร
กรรมมันจะให้ผลจะไปปิดกั้นมันได้อย่างไร
ฉะนั้นการกระทบอารมณ์เราไม่เลี่ยงหรอก
แต่กระทบอารมณ์แล้วจิตใจเราเป็นอย่างไร เรามีสติรู้ไว้
...
คราวนี้ความคิดเราก็จะดี คำพูดของเราก็จะดี
การกระทำของเราก็จะดี
ไม่ถูกสิ่งเร้าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มายั่วให้สติแตก
นี่เรียกว่าการสำรวม ตัวนี้ล่ะเป็นศีลชั้นสูง
ไม่ใช่ศีลเป็นข้อๆ ศีลเป็นข้อๆ ก็ดีเหมือนกัน
แต่ศีลที่จิตอันเดียวที่การสำรวมอินทรีย์ สูงกว่าอีกชั้นหนึ่ง
เราจะฝึกดูจิตดูใจ ก็ต้องรู้ มีตาก็ดู หูก็ฟัง
แต่พอสัมผัสอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว
จิตเรามีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น มีสติรู้ทัน
ตัวนี้ตัวสำคัญ
แต่ก็มีข้อยกเว้น
บางครั้งกำลังของสติ สมาธิ ปัญญาเราไม่พอ
เราก็ต้องพยายามเลี่ยงการกระทบอารมณ์บางอย่างที่เราแพ้
คล้ายๆ เราจะชกมวยเราก็ต้องเลือกคู่ชก
คู่ชกตัวนี้เก่งเกินไปเราเลี่ยงก่อน
เราไปฝึกชกกับพวกที่ยังไม่เก่งมากก่อน
เวลาที่เราจะกระทบอารมณ์
อย่างเป็นพระโดยเฉพาะเป็นพระ
จะมาใช้หลักว่ามีตาก็ดูมีหูก็ฟังไม่ได้ เดี๋ยวมันแพ้
เพราะกำลังของเรายังไม่พอ
กิเลสมันยังมีกำลังมาก
มากกว่าสติ สมาธิ ปัญญาของเรา
ฉะนั้นบางทีก็ต้องเลี่ยง ครูบาอาจารย์ท่านก็มี
ท่านไปเห็นผู้หญิงสวยๆ เดินธุดงค์อยู่ในป่าแท้ๆ
คิดว่าจะหลีกเลี่ยงผัสสะ หนอยไปเจอผู้หญิงสวยอยู่ในป่า
ที่จริงมันอาจจะไม่สวยเท่าไรหรอก
แต่ว่าตอนนั้นไม่เห็นผู้หญิงมานานแล้ว
เห็นลิงก็อาจจะรู้สึกสวยขึ้นมาก็ได้
มันไม่ได้เห็นอะไรสวยๆ จริงๆ
อันนี้ท่านไปเห็นผู้หญิงสวยจริงๆ
จิตก็มีราคะขึ้นมา ท่านก็พิจารณาปฏิกูลอสุภะ
ทำอะไรก็ไม่ลงเลย จิตมันเห็นแต่หน้าผู้หญิงคนนั้น
แล้วก็สวยอยู่อย่างนั้น สู้ไม่ไหวจะสึกแล้ว ท่านก็หนี
เพราะฉะนั้นบางทีสู้ไม่ไหวก็ต้องถอยเหมือนกัน ต้องรู้จัก
ไม่ใช่ว่าจะสักว่ารู้ว่าเห็น
กระทบอารมณ์แบบห้าวหาญตลอดเวลา
ต้องประเมินตัวเองเหมือนกัน
ถ้าสู้ไม่ได้ต้องถอยเหมือนกัน
เจอผู้หญิงสวยๆ อย่าไปมองหน้า มองเล็บเท้าแทน
เดี๋ยวก็เห็นสิ่งสกปรกอะไรอย่างนี้
ก็ต้องรู้จักเอาตัวรอดเหมือนกัน
จะมาห้าวหาญเห็นผู้หญิงสวยก็ดู สักว่ารู้ว่าเห็น
แป๊บเดียวก็ตามเขาไปแล้ว ก็ต้องรู้ว่าเรามีจุดอ่อนอะไร
อย่างมีผู้หญิงบางคน เป็นคนชอบซื้อของ
เจออะไรมันก็อยากซื้อหมด
วันหนึ่งก็ไปเดินที่ห้าง กะว่าจะไม่ซื้ออะไร
ไปเดินเอาแอร์เฉยๆ ดูโน่นดูนี่พอสบายใจเดี๋ยวก็จะกลับบ้าน
เดินไปเห็นกระเป๋า กระเป๋าสวยๆ
พอเห็นปุ๊บจิตอยากได้ จิตอยากได้รู้ว่าอยากได้ เก่งไหม
แล้วขาดสติอีกทีหนึ่งกระเป๋ามาถึงบ้านแล้ว ขาดยาว
ถ้ายังสู้ไม่ไหวหนีไว้ก่อน หลบไว้ก่อน
แต่ถ้าพอสู้ไหวแล้วอย่าหนี หนีตลอดไม่มีทางชนะ
สู้แบบไม่ประเมินตัวเองก็แพ้แน่นอน
นี่มันเป็นศิลปะการปฏิบัติ …”
1
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 ธันวาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา