29 ธ.ค. 2021 เวลา 01:01 • ปรัชญา
"การปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด"
" ... ถ้าเข้ามาถึงจิตถึงใจได้ ก็ลัดสั้นที่สุดแล้ว
ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนว่าการดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด
แต่บอกแล้วว่าไม่ใช่ทุกคนที่เริ่มต้นด้วยการดูจิตได้
บางคนต้องดูกายไปก่อน เพราะว่ายังไม่เห็นจิต
ถ้าเห็นจิตแล้วก็ดูจิตมันทำงานไป
ที่จริงการดูจิต การเห็นจิตไม่ใช่เรื่องลึกลับ
ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดหรอก
เหมือนอย่างบางคนสอนกันบางสถานที่
บางสำนักเขาสอนกันว่าต้องมีจิตผู้รู้
แต่จิตผู้รู้ ไม่รู้วิธีสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
ที่จริงมีวิธีทั้งนั้น ไม่มีอะไรเกิดโดยบังเอิญหรอก
1
อย่างจิตผู้รู้ วิธีง่ายๆ เลย คอยรู้ทันจิตที่หลงนั่นล่ะ
เช่น จิตหลงไปคิด รู้ทันๆ จิตผู้รู้ก็เกิด มันมีวิธีทั้งนั้นล่ะ
ให้รู้เหตุรู้ผลเท่านั้น
ไม่ใช่อยู่ๆ ตัวผู้รู้ก็ลอยๆ มาอัตโนมัติมา ไม่มีหรอก
ถ้าเรารู้เหตุรู้ผล การภาวนาไม่ใช่เรื่องยากเลย
การจะดูจิตดูใจก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย
พอเรามีจิตที่เป็นคนรู้คนดูแล้ว เราก็จะดูลงไป
ถ้าเราดูจิตดูใจไม่ออก เราก็ดูกาย
เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
มีตัวหนึ่งเป็นคนรู้อยู่ ไม่ต้องไปหาว่าตัวรู้อยู่ที่ไหน
ถ้าพยายามหา แสวงหาตัวรู้ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนเลยว่า
“ใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ”
2
เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปเที่ยวหาว่าตัวรู้อยู่ที่ไหน
ร่างกายมันนั่งอยู่ รู้สึกไหมร่างกายมันนั่ง
รู้สึกไหมว่าร่างกายที่นั่งอยู่มันถูกรู้อยู่ เอาแค่นี้พอ
ร่างกายมันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอน
ร่างกายมันหายใจออก รู้ไหมร่างกายหายใจเข้า รู้ไหม
ไม่ต้องไปเที่ยวหาว่าตัวรู้อยู่ที่ไหน จะหาไม่เจอ
หรือเวลาความสุข ความทุกข์เกิดขึ้น
รู้สึกไหมความสุขความทุกข์ก็ถูกรู้
ไม่ต้องไปหาว่าตัวรู้อยู่ตรงไหน
เวลาโลภ โกรธ หลงเกิดขึ้น
รู้สึกไหมโลภ โกรธ หลงถูกรู้
ไม่ต้องไปหาว่าตัวรู้ โลภ โกรธ หลงมันอยู่ตรงไหน
เฝ้ารู้อย่างนี้
ตัวที่ง่ายที่สุดเลย หลวงพ่อสรุปมาจากการปฏิบัติจริงๆ
ถ้าเรารู้ตัวนี้ ตัวรู้เราจะดีดตัวเด่นชัดขึ้นมาเลย
คือตัวหลง หลงที่เกิดบ่อยที่สุดคือหลงคิด
หลงนั้นมี 6 ช่อง หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
หลงทางใจเกิดบ่อยที่สุด
รองลงมาสำหรับคนตาไม่บอด
ก็คือหลงทางตา เป็นเบอร์ 2
แล้วคนที่หูไม่หนวก ช่องหูเป็นเบอร์ 3
อายตนะที่เราใช้บ่อยในวันหนึ่งๆ ก็คือตา หู กับใจ
ระหว่างตา หู กับใจ อันไหนใช้บ่อย ใจเป็นของใช้บ่อย
ตาเห็นรูป ใจก็คิด หูได้ยินเสียง ใจก็คิด
ใจมันก็ปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงสุขปรุงทุกข์อยู่ตลอดเวลา
เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดบ่อยๆ
เพราะฉะนั้นเรียนรู้ลงมาที่ตัวที่เกิดบ่อยที่สุด
เรียนรู้ลงที่ใจเรานี่ล่ะ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ให้มันกระทบไป
แต่กระทบแล้วมีอะไรเกิดขึ้นที่จิตใจ
จิตใจมันเปลี่ยนแปลง เกิดสุขขึ้นมา รู้ เกิดทุกข์ขึ้นมา รู้
เฝ้ารู้ลงไปเรื่อยๆ
แล้วตัวที่เกิดบ่อยที่สุดทางอายตนะใจก็คือตัวคิด
สิ่งที่เกิดทางใจมีหลายอย่าง ตัวที่เกิดบ่อยคือตัวคิด
แล้วสำหรับนักปฏิบัติ ตัวที่เกิดรองลงไปก็คือตัวเพ่ง
สำหรับคนทั่วไป ตัวที่เกิดบ่อยที่สุดคือตัวเผลอ
ตัวหลง ตัวใจลอย ตัวฟุ้งซ่าน
พวกเราไปเฝ้ารู้เฝ้าดูเราจะเห็นเลย
ในทางใจเราตัวที่เกิดบ่อยคือตัวคิด
หรือตัวฟุ้งซ่านนั่นเอง
เรียนก็เรียนตัวที่มันเกิดบ่อยๆ นั่นล่ะ
มันจะได้เรียนเก่งๆ คล้ายๆ ทำการบ้านบ่อยๆ
บางคนบอกว่าเดี๋ยวจิตเข้าจตุตถฌาน ฌาน 4 แล้วจะรู้
เมื่อไรมันจะเข้า จิตหลงคิดมีทั้งวัน ดูของที่มีบ่อยๆ
เมื่อก่อนหลวงพ่อสอนใหม่ๆ ตอนหลวงพ่อเพิ่งบวช
หลวงพ่อก็สอนมีชายหนุ่มคนหนึ่ง
เดี๋ยวนี้คงไม่หนุ่มแล้วล่ะ บอกว่าให้ดูจิตไป
จิตมันเคลื่อนแล้วรู้ๆ
แหม เราสอนตรงไปตรงมา มันบอกไม่เอาหรอก
มันจะรอให้ถ้ามีเสียงฟ้าผ่าหรือเสียงฟ้าร้องแล้วจะรู้
โห ปีหนึ่งมันจะร้องให้เราฟังสักกี่ครั้ง นานๆ จะร้อง
บางวันบางเดือนไม่ร้องเลย อย่างนั้นใช้ไม่ได้
เมื่อไรมันจะฉลาด คล้ายๆ นานๆ จะทำการบ้านทีหนึ่ง
เราเอาตัวที่เกิดบ่อย คือตัวหลงคิดนั้นเกิดบ่อย
หรือตัวอุทธัจจะ ตัวฟุ้งซ่าน มันเกิดบ่อย
วิ่งไปวิ่งมา จิตใจนี้ เราเฝ้ารู้ลงไปเลย
จิตมันเคลื่อนแล้วรู้ๆ ไป
ประเดี๋ยวก็เคลื่อนไปคิดนั่นล่ะ เรารู้เอา
พอจิตหนีไปคิดแล้วรู้
ทันทีที่รู้ จิตคิดจะดับ จิตรู้จะเกิดขึ้น
ฝึกอย่างนี้ให้มาก พอเรามีจิตรู้แล้ว
ต่อไปเราก็จะเห็นจิตรู้ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็คิดใหม่
อยู่ๆ มันก็คิดได้เอง มันเป็นอนัตตา
ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้
พอไหลไปคิดแล้ว พอเรารู้ทัน จิตคิดก็ดับ เกิดจิตรู้
เราไปดับจิตคิดได้ไหม ไม่ได้
แต่จิตคิดมันดับเอง
เพราะสติรู้ทันแล้วก็เกิดจิตรู้ขึ้นมาแทนที่
ตรงที่เราเห็นมันทำงานได้เอง เราเห็นอนัตตา
ดูจิตจะเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตาง่าย
เห็นทุกขังยาก อันนั้นสำหรับคนที่ทรงฌาน
ถึงจะเห็นจิตเป็นทุกข์ได้ ถ้าเราไม่ได้ทรงฌาน เห็นยาก
อย่างเวลาจิตมันทรงอยู่ในฌานที่ 4 ทุกขตามันอยู่ตรงไหน
ทุกขตาก็คือจิตในฌานที่ 4 นั้นกำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย
เดี๋ยวก็กลายเป็นฌานที่ 3 ที่ 2 ที่ 1
หรือหลุดออกมาอยู่ข้างนอก
อยู่กับโลกข้างนอกนี้ อย่างนี้
ถ้าเราทรงฌาน เราก็จะเห็นจิตแสดงทุกขตาได้
แต่ถ้าเราไม่ได้ทรงฌาน
จิตเรามีแค่ขณะเดียวๆ ไม่เหมือนกันเสียด้วย
เราไปดูทุกขัง ทุกขตาดูยาก
ฉะนั้นดูอนิจจัง ดูอนัตตา ดูง่าย ดูของที่เกิดบ่อย
หลักนะ ดูของที่เกิดบ่อยที่สุด เฝ้ารู้ลงไป
อย่างใจเราของคนพื้นๆ ทั่วๆ ไป
คือจิตหลงคิดเกิดบ่อยที่สุด คิดทั้งวัน
ฉะนั้นจิตไหลไปคิดแล้วรู้ๆ
เดี๋ยวก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แล้วถ้าพวกเราทั่วๆ ไปก็จะเห็นอนิจจัง อนัตตา
ถ้าคนไหนขี้โมโห โมโหทั้งวันเลย
ที่จริงก่อนที่จะโมโห ก่อนที่จะโกรธ จิตต้องหลงคิดก่อน
ถ้าจิตไม่คิด จิตไม่โกรธหรอก
หรือบางคนโลภมาก จิตโลภ
จริงๆ ก่อนมันจะโลภ มันก็ต้องคิดก่อน
ฉะนั้นถ้าเรารู้ทันจิตคิดได้ รู้ไปเลย
แต่ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด ให้รู้ว่าจิตคิด
ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด รู้เรื่องที่จิตคิดไม่มีสาระอะไร
ให้รู้ว่าจิตแอบไปคิดแล้ว
ตรงนี้ถ้ารู้ไม่ทันว่าจิตแอบไปคิด เดี๋ยวก็เกิดจิตโลภ
ถ้าไม่ได้อย่างใจก็เกิดจิตโกรธ
พวกนี้บางคน เราดูจิตคิดไม่ทัน
เราไปเห็นตอนจิตโลภ จิตโกรธ ก็ยังดีที่เห็น
ก็ถือว่ายังพอใช้ได้
แต่ที่ดีที่สุดเลย หัวโจกมันเลย จิตคิด จิตไหลไปคิด รู้ไว้
ตัวนี้เกิดทั้งวัน กระทั่งเข้าสมาธิ
บางทีจิตก็คิดขึ้นมาๆ สมาธิก็เสื่อม
เฝ้ารู้เฝ้าดูทุกวันๆ ดูจิตไม่ใช่เรื่องยากหรอก
อย่าเอาตาไปดู จิตไม่มีรูปธรรม เอาตาไปดูไม่ได้
ตาเห็นแต่รูปธรรม จิตเป็นนามธรรม
เราก็รู้ด้วยความรู้สึก ความรู้สึกมันก็เป็นนามธรรม
อย่างเรารู้สึก ตอนนี้จิตไหลไปคิดแล้ว
ตอนนี้จิตโลภแล้ว ตอนนี้จิตโกรธแล้ว รู้สึกเอา แค่รู้สึก
ตอนนี้ชอบแล้ว ตอนนี้เกลียดแล้ว
ตอนนี้มีสุข ตอนนี้มีความทุกข์ เฝ้ารู้ไปเรื่อยๆ
ถ้าเก่งที่สุดก็รู้ว่าจิตคิด เกิดบ่อย ละเอียด
ถ้ารู้ตัวนี้ไม่ทันก็เกิดจิตชนิดอื่นตามมา. ..."
.
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
19 ธันวาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา