12 ม.ค. 2022 เวลา 08:11 • ปรัชญา
“ให้ใช้ธรรมวินัยเป็นศาสดา”
อานนท์ !
ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า
ธรรมวินัยของพวกเรา
มีพระศาสดาล่วงลับไปเสียแล้ว
พวกเราไม่มีพระศาสดา ดังนี้
อานนท์ !
พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น
อานนท์ !
ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว
บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย
ธรรมวินัยนั้น
จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย
โดยกาลล่วงไปแห่งเรา
( บาลี – มหา. ที. ๑๐/๑๗๘/๑๔๑ )
ให้พึ่งตน พึ่งธรรม
อานนท์ ! เราได้กล่าวเตือนไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า
“ความเป็นต่าง ๆ ความพลัดพราก
ความเป็นอย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ย่อมมี;
อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า :
สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว
อันปัจจัยปรุงแล้ว มีความชำรุดไปเป็นธรรมดา,
สิ่งนั้นอย่าชำรุดไปเลย ดังนี้;
ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้”.
อานนท์ ! เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่
มีแก่นเหลืออยู่ ส่วนใดเก่าคร่ำกว่าส่วนอื่น
ส่วนนั้นพึงย่อยยับไปก่อน, ข้อนี้ ฉันใด;
อานนท์ ! เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มีธรรมเป็นแก่นสารเหลืออยู่,
สารีบุตรปรินิพพานไปแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน.
อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า :
สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยปรุงแล้ว
มีความชำรุดไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นอย่าชำรุดไปเลย ดังนี้;
ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้.
อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้
พวกเธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นประทีป
มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ;
จงมีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ.
อานนท์ ! ภิกษุ มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ,
มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่,
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายเนือง ๆ อยู่,
พิจารณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ อยู่,
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายเนือง ๆ อยู่;
มีเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.
อานนท์ ! ภิกษุอย่างนี้แล
ชื่อว่ามีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ;
มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่.
อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี
ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ;
มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่.
อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา,
ภิกษุพวกนั้น จักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด.
มหาวาร .สํ. ๑๙/๒๑๖/๗๓๖.
ตรัสแก่ท่านพระอานนท์ ผู้เศร้าสลดในข่าวการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร
ซึ่งจุนทสามเณรนำมาบอกเล่า ที่พระอารามเชตวันใกล้นครสาวัตถี.
อานนท์ !
ความขาดสูญแห่งกัลยาณวัตรนี้
มีในยุคแห่งบุรุษใด
บุรุษนั้นชื่อว่า
เป็นบุรุษคนสุดท้ายแห่งบุรุษทั้งหลาย
เราขอกล่าวย้ำกะเธอว่า
เธอทั้งหลาย !
อย่าเป็นบุรุษพวกสุดท้ายของเราเลย
( บาลี – ม. ม. ๑๓/๔๒๖-๔๒๘/๔๖๓ )
.
อ้างอิง :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา