25 ก.พ. 2022 เวลา 14:30 • ธุรกิจ
Bloomberg ได้รายงานข่าววันนี้ว่า National Bank of Ukraine ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศ ได้ร่วมกับองค์กรการกุศล คือ Come Back Alive เปิดบัญชีพิเศษเพื่อระดมเงินจากคนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการทำสงคราม ผ่าน crowdfunding
มาทำความเข้าใจเรื่อง crowdfunding แบบง่ายๆ กันใน 10 นาทีค่ะ
Crowdfunding เป็น platform การระดมทุนที่เกิดขึ้นมานานแล้วในหลายแห่งทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยเองก็มีโครงการรับบริจาคและระดมทุนด้วย Crowdfunding จำนวนมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด
1
กลไกการทำงานหลักที่สำคัญของ Crowdfunding
Crowdfunding เน้นการระดมทุนจากคนทั่วไปจำนวนมากที่จำนวนเงินต่อรายน้อย และคาดหวังพลังเงินจำนวนน้อยจากคนจํานวนมาก (Crowdfunding is when a "crowd" funds a project or business, rather than one or two major investors.)
เป้าหมายหลัก คือ เพื่อสร้างโอกาสให้สามารถระดมทุนของธุรกิจ หรือโครงการใหม่ๆ ได้อย่างสะดวก ภายในเวลาอันรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินทุนที่น้อยกว่าการระดมทุนโดยทั่วๆ ไป
ในกระบวนการจะมีคนกลาง หรือ Funding Portal/Platform โดยใช้ internet platform เป็นส่วนใหญ่ และมีการกำหนดกฏเกณฑ์ในการทำ Crowdfunding เช่น สิ่งที่ห้ามนำมาเสนอระดมทุน ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคนกลาง (Platform’s rules)
ถ้าโครงการไม่สามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมายเงินทุนที่ต้องการจัดหา (funding goal) โดยปกติแล้ว Platform จะคืนเงินให้กับผู้ลงทุนที่ใส่เงินมาแล้วในช่วงเวลาของการระดมทุนจนถึงเป้าหมาย เช่น ภายใน 48 ชั่วโมง เป็นต้น
ถ้าการระดมทุนสำเร็จตามเป้าหมาย ผู้ระดมทุนจะได้รับเงินทั้งหมดหักด้วยค่าธรรมเนียมในการจัดการที่จ่ายให้ Platform
รูปแบบของ Crowdfunding โดยทั่วไป มี 4 ประเภท คือ
1. รูปแบบบริจาค (Donation-based funding)
เป็นรูปแบบที่ใช้กันแพร่หลายขององค์กรการกุศลหรือโครงการที่มุ่งทำประโยชน์เพื่อสังคม
ตัวอย่างในประเทศไทย ได้แก่ เทใจดอทคอม หรือ มูลนิธิก้าวคนละก้าว และเป็นรูปแบบที่ National Bank of Ukraine ร่วมกับองค์กรการกุศลเลือกใช้เพื่อระดมทุนจากคนทั่วไปในครั้งนี้ ในบางประเทศมีธุรกิจขนาดเล็กบางลักษณะที่เลือกใช้การระดมทุนในรูปแบบนี้
ผู้ลงทุนในรูปแบบนี้ จะถือว่าเป็นการให้เงินบริจาค และไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ
2. รูปแบบสิ่งของ (Reward-based funding)
ผู้ที่เข้ามาระดมทุนส่วนใหญ่จะนำเสนอในรูปแบบของโครงการที่ใช้ไอเดียใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ในตลาด ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีในตลาด
ลักษณะผลตอบแทนมีหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับขนาดโครงการและเป้าหมายการสร้างความตื่นเต้นในโครงการของผู้ระดมทุน โดยทั่วไป ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูป สิ่งของเช่นเสื้อยืด หรือผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาได้สำเร็จ หรือได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่างเพื่อตอบแทนเช่นส่วนลด หรือ Tokens
3. รูปแบบของการกู้ยืม (Debt-based funding หรือ peer-to-peer (P2P) lending)
เป็นการกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคล ผ่านตัวกลางที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่จับคู่ผู้กู้และผู้ให้กู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา และเป็นผู้จัดทำสัญญาสินเชื่อระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยทําหน้าที่กํากับดูแลการดำเนินงานของตัวกลางที่ได้รับอนุญาตแล้ว
เงินที่ลงทุนคือเงินให้กู้ ที่ผู้ระดมทุนต้องชำระคืนภายในระยะเวลาที่กำหนดในการระดมทุน และผู้ร่วมลงทุนจะได้รับ ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย
4. รูปแบบหลักทรัพย์ (Equity-based funding หรือ Investment)
เป็นการระดมทุนที่ให้หุ้นหรือหุ้นกู้ ซึ่งถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนรูปแบบหนึ่งและอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของ ก.ล.ต. โดยจะมีตัวกลาง หรือ Funding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ทําหน้าที่คัดกรองบริษัทที่จะระดมทุน (รายชื่อผู้ได้รับอนุญาตใน www.sec.or.th/TH/Pages/MarketData/ListOperator.aspx หรือแอปพลิเคชัน “SEC Check First”)
หากเป็นการลงทุนในหุ้น ผู้ลงทุนจะได้รับ หุ้นในธุรกิจที่ระดมทุนนั้นๆ และกำหนดจำนวนหุ้นตามจำนวนเงินที่ลงทุน ผู้ลงทุนอาจจะได้รับเงินปันผลหรือส่วนต่างราคาจากการขาย (capital gains) หากเป็นการลงทุนในหุ้นกู้ ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ย
สำหรับผู้ที่สนใจระดมทุน
การที่ Crowdfunding จะประสบผลสำเร็จเป็นงานที่หนักมาก และการสามารถเริ่มนำเสนอโครงการได้ใน Platform ก็ไม่ได้รับประกันความสำเร็จ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ
  • 1.
    การสื่อสารทางการตลาดกับผู้คนจำนวนมากให้เข้าใจ สนใจและตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการ (marketing message & materials)
  • 2.
    การหาวิธีการประชาสัมพันธ์โครงการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและใช้ต้นทุนต่ำสุด (cost-effective methods)
นอกจากเป้าหมายการระดมทุนแล้ว ยังสามารถสร้างผลทางการตลาดและสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายด้วยต้นทุนที่ต่ำด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนจากการลงทุน
การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง มากน้อยแตกต่างกันไป สำหรับ Crowdfunding อยากแนะนำให้พวกเราเน้นเรื่อง ความน่าเชื่อถือของคนกลาง หรือ Platform เป็นอันดับแรก ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.(Investment) หรือ กระทรวงการคลัง (Debt) เท่านั้น
ปัจจุบันมี Platform ที่ทำขึ้นเอง เพื่อหลอกลวงและนำเสนอโครงการหลอกๆ ขึ้นมาขายฝัน แต่ไม่มีอยู่จริง ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก แม้แต่ในรูปแบบบริจาค (Donation) ก็มีการทำโครงการหลอกๆ เช่นกัน ฉวยโอกาสหาประโยชน์จากความใจดีและน้ำใจของคนทั่วไป และมีการสร้างกระแสทางสังคมในสื่อต่างๆ
จึงต้องรอบคอบและศึกษาทั้ง Platform และตัวโครงการที่มาระดมทุนให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง เพื่อไม่เสียเงินที่เก็บออมไว้โดยเปล่าประโยชน์
แล้วมาติดตามกันต่อในตอนถัดไป กับ Manage Your Money นะคะ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา