27 ก.พ. 2022 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
ในตลาดทั่วโลกตอนนี้พูดกันเยอะมากเรื่อง ภาวะฟองสบู่ หรือ Bubbles หลายคนอาจจะนึกถึงต้นเหตุจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ จริงๆ แล้ว ภาวะฟองสบู่คืออะไร แล้วเราจะเตรียมตัวรับมืออย่างไรได้บ้าง
ภาวะฟองสบู่ คือ การที่มูลค่าของสินทรัพย์เพิ่มสูงเกินกว่าราคาตามความเป็นจริง และมีการเก็งกำไรทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หลายๆ รอบเป็นวงจรขยายตัวมากขึ้นเหมือนฟองสบู่ และเมื่อฟองสบู่แตกก็มักจะทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเกิดขึ้นตามมา ที่สำคัญคือ อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่สินทรัพย์ประเภทเดียวที่อาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่
แล้วอะไรจะทำให้ฟองสบู่แตก?
ส่วนใหญ่ฟองสบู่จะเริ่มแตกเมื่อ นักลงทุนเริ่มตระหนักว่าราคาสูงเกินไปและเลิกคาดหวังว่าราคาจะสูงขึ้นต่อเนื่องอีก หรือการออกนโยบายและมาตรการเพื่อดึงราคาลงกลับสู่ภาวะปกติ เพื่อลดการเก็งกำไรและลดความร้อนแรงของราคาที่สูงเกินความเป็นจริงนั้น
โดยทั่วไปเรามักจะพูดถึง ภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ 4 ประเภท คือ
1. หุ้น (Stock market bubbles)
ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินมูลค่าที่แท้จริง (fundamental value) ของกิจการนั้นๆ ซึ่งอาจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นโดยรวม หน่วยลงทุน หรือหุ้นในบางประเภทกิจการ (sector) ตัวอย่างเช่น internet-bases businesses ที่ได้รับความนิยมอย่างมากจนเกิด dotcom bubble ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990
2. ภาคเศรษฐกิจ (Asset market bubbles)
ความร้อนแรงของตลาดในบางอุตสาหกรรม (industries) หรือภาคเศรษฐกิจ (sections of the economy) ที่นอกเหนือจากตลาดหุ้น เช่น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ หรือสกุลเงินตราต่างๆ ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร cryptocurrencies ต่างๆ
3. สินเชื่อ (Credit bubbles)
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินกู้เพื่อการบริโภคอุปโภคหรือเงินกู้ทางธุรกิจ บางประเภทเครื่องมือทางการเงิน และบางประเภทของรูปแบบการให้สินเชื่อ เช่น หุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทต่างๆ (corporate bonds) หรือสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
4. สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity bubbles)
โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับ ราคาซื้อขายที่เพิ่มขึ้นในสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน โลหะมีค่าทางอุตสาหกรรม และสินค้าทางการเกษตร เป็นต้น
ในอดีตภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและในภาคเศรษฐกิจ (Stock market and market bubbles) สร้างภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในวงกว้างระดับประเทศหรือภูมิภาค และสร้างผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ
ถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราอยู่ในภาวะฟองสบู่ และอันตรายแค่ไหนแล้วได้อย่างไร?
นักเศรษฐศาสตร์ Hyman P. Minsky เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มแรกๆ ที่อธิบายเรื่อง การพัฒนาการของ ความไม่มั่นคงทางการเงิน (financial instability)
และผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ในหนังสือ Stabilizing an Unstable Economy (1986) โดยได้ระบุถึง 5 ระยะของฟองสบู่ (Five Stages of a Bubble) คือ
1. การกระจัดหรือการเข้ามาแทนที่ (Displacement)
นักลงทุนเริ่มสนใจและตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ กระบวนทัศน์ใหม่ๆ เช่น จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น ในช่วง dotcom bubbles
หรือ จากดอกเบี้ยที่ต่ำมาก (historically low) ตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2000-2003 ที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (federal funds rate) ที่ลดลงจาก 6.5% ในปี 2000 เหลือ 1.2% ในปี 2003 และในช่วงนี้เองที่อัตราดอกเบี้ยของเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ที่มีระยะเวลาเงินกู้ 30 ปี มีอัตราต่ำมากที่ 5.23% และก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์
2. ระยะการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (Boom)
โดยทั่วไปราคาจะค่อยๆ สูงขึ้นหลังจากที่นักลงทุนเริ่มสนใจและตื่นเต้นกับกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ในข้อแรก จนเกิดเป็นกระแสความนิยมอย่างมากในวงกว้าง ในระยะนี้สื่อต่างๆ จะพูดถึงสินทรัพย์ในความสนใจนี้แทบจะทุกหนแห่ง
นักลงทุนกลัวที่จะตกรถไฟในการสร้างผลตอบแทนจากโอกาสที่คิดว่าเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต (once-in-a-lifetime) จนเกิดเป็นการเก็งกำไรที่มากขึ้นเรื่อยๆ ดึงดูดนักลงทุนใหม่ๆ และผู้แสวงหาโอกาสเข้ามาอย่างมากมาย
3. ความรู้สึกสนุกสนาน ตื่นเต้น และเป็นสุขอย่างที่สุด (Euphoria)
ในระยะนี้เองที่อาจเรียกได้ว่า นักลงทุนปราศจากความกลัวใดๆ ราคาสินทรัพย์ในกระแสพุ่งทะยานเหมือนจรวด เริ่มมีผู้คนออกมาให้คำนิยามใหม่ในการประเมินมูลค่า หรือ valuation เพื่อสร้างความสมเหตุสมผลของการเพิ่มขึ้นของราคา มีทฤษฎีในการอธิบายปรากฏการณ์ราคาที่สูงขึ้น และนักลงทุนก็พร้อมที่จะเชื่อไม่ว่าราคาจะพุ่งทะยานมากมายแค่ไหนก็ตาม
ตัวอย่างเช่น ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่น เมื่อปี 1989 ที่ราคาขายพื้นที่อาคารสำนักงานในโตเกียวสูงถึง 139,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตารางฟุต
หรือ ในช่วง dotcom bubbles ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2000 ที่มูลค่ารวมของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีใน Nasdaq สูงกว่า GDP ของหลายประเทศในโลก
4. การทำกำไร (Profit-taking)
ในช่วงนี้จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่จับสัญญาณของภาวะฟองสบู่ที่กำลังจะแตกได้ จะเริ่มทะยอยขายสินทรัพย์ในกระแสที่ถือไว้เพื่อทำกำไร เพราะยากมากที่จะคาดการณ์ได้ว่าฟองสบู่จะแตกเมื่อไหร่
1
ตัวอย่างเช่น ในปี 2007 ธนาคาร BNP Paribas ในฝรั่งเศส ได้ยับยั้งการถอนชั่วคราว (halted withdrawals) ของ 3 กองทุน (investment funds) ที่มีความเกี่ยวเนื่อง (exposure) ใน U.S. subprime mortgages อย่างมีนัยสำคัญ เพราะไม่สามารถประเมินมูลค่าการถือครองของกองทุนเหล่านั้นได้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนที่ฟองสบู่แตกในเวลาต่อมา
5. การตื่นตระหนก (Panic)
ฟองสบู่สามารถแตกด้วยเหตุการณ์เดียว และเมื่อแตกแล้วก็จะไม่สามารถขยายตัวเป็นฟองสบู่ได้อีก ราคาสินทรัพย์ในกระแสจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนักลงทุนและนักเก็งกำไรเผชิญสถานการณ์บัญชีเทรด ที่มีมูลค่ารวมต่ำกว่าที่โบรกเกอร์กำหนด และให้ฝากเงินเพิ่ม หรือปิดทุกออร์เดอร์ให้หมด (margin calls) และนำไปสู่การขาย จนราคาสินทรัพย์ก็ยิ่งต่ำลงไปอีกอย่างมาก
ตัวอย่างจากในปี 2008 ที่ S&P 500 ลดลงเกือบ 17% ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจาก Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย และสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของ Fannie Mae, Freddie Mac และ AIG
หวังว่าพวกเราจะได้ไอเดียไปใช้ในการตัดสินใจลงทุนและบริหารจัดการเงินทุนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมทั่วโลกมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนอย่างมาก เพื่อบริหารความเสี่ยงทางการเงินได้อย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์
หากเราเลือกลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจ ก็จะช่วยให้เราลดความกังวลต่อความเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถเข้าใจได้ อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เป็นสิ่งใหม่ๆ จะนำไปสู่ภาวะฟองสบู่เสมอไป หลายๆ นวัตกรรมในอดีตก็สร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดและพิสูจน์ว่ามีมูลค่าในอนาคตที่แท้จริง
ดังนั้น อยากให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอเพื่อทำความเข้าใจ และลงทุนด้วยเงินที่สบายกระเป๋า คือ ลงทุนแล้วไม่เดือดร้อน ไม่กังวลว่าจะขาดรายได้เพื่อนำมาใช้จ่าย หากมีความผันผวนในการลงทุน ขณะที่เปิดรับโอกาสใหม่ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต
แล้วมาติดตามกันต่อในตอนถัดไป กับ Manage Your Money นะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา