1 มี.ค. 2022 เวลา 13:48 • ธุรกิจ
เชื่อไหมคะว่า เราจะได้ผลลัพธ์ทางการเงินที่ต้องการ ถ้าเราให้ความสำคัญกับการตัดสินใจทางการเงิน
ถ้าวันนี้เรากำลังเผชิญความกังวลเรื่องการเงิน อยากให้ลองอ่านตัวอย่างที่จะเล่าให้ฟัง เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและมีสุขภาพการเงินที่แข็งแรงและเติบโตในทุกๆ วัน
หัวใจของการแก้ไขปัญหาในทุกเรื่องของชีวิต อยากให้เน้นการแก้ไขที่ประเด็นต้นเหตุของปัญหา (problems) มากกว่าการมุ่งแก้ไขโดยดูจากอาการของปัญหา (symptoms) เหมือนกับที่คุณหมอวินิจฉัยอาการป่วยของเรา ว่าอาการมีลักษณะอย่างไร แล้ววิเคราะห์ลงลึกต่อ ว่าอะไรที่เป็นสาเหตุ เพื่อหาทางรักษาให้หายจากการอาการ
หรือหลายท่านจะบอกว่า อย่ามองปัญหาที่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ ให้มองลึกลงไปที่ใต้ฐานน้ำแข็ง เพื่อบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
เรามาดูตัวอย่าง แนวทางการบริหารจัดการปัญหา เรื่อง “การเป็นหนี้เกินตัว”
หากเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่มีหนี้ตลอดเวลา ชำระหนี้เดิมก็มีหนี้ใหม่เกิดขึ้นเสมอ บางครั้งยอดหนี้สะสมแล้วเพิ่มขึ้นในทุกเดือน ทั้งๆ ที่มีรายได้ไม่น้อยเลยในแต่ละเดือน
อาการที่ปรากฏและทำให้กังวล คือ “การมีหนี้มากต่อเนื่อง ไม่สามารถลดลงได้เลย”
ต้นเหตุของปัญหาที่ก่อให้เกิดอาการเป็นหนี้มากต่อเนื่อง คือ “การใช้จ่ายเกินตัว คือใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้รับ”
ความแตกต่างของการแก้ปัญหา
1. หากเราเพ่งมองอาการที่ปรากฏ และทำให้กังวล คือ เป็นหนี้มากต่อเนื่อง
การตัดสินใจแก้ปัญหา:
เราตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการพยายามชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนด ด้วยการหาเงินก้อนใหม่มาชำระ ซึ่งอาจนำรายได้ทั้งเดือนที่เพิ่งได้รับมาชำระ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?
ผลลัพธ์จากการแก้ปัญหา:
หนี้ลดลง เพราะได้เงินมาชำระคืน แต่เนื่องจากนำรายได้ทั้งหมดมาชำระ จึงต้องกู้เพิ่มใหม่เพื่อนำมาใช้จ่าย สุดท้ายก็กลับสู่ภาวะการเป็นหนี้เช่นเดิม
การแก้ปัญหาในแนวทางนี้ โดยทั่วไปจะเป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผลระยะสั้น ในที่สุดอาการของปัญหาก็จะกลับมาปรากฏ ให้ต้องกังวลอีก
1
2. หากเราเพ่งมองลึกลงไปที่ต้นเหตุของอาการที่ปรากฏ “สิ่งที่ทำให้เราเป็นหนี้มากต่อเนื่อง”
ถ้าเราเริ่มต้นการตัดสินใจแก้ปัญหาจากต้นเหตุ คือ “การใช้จ่ายเกินตัว คือใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้รับ”จะเกิดอะไรขึ้น?
สิ่งนี้จะทำให้เราตระหนักรู้ว่า เราไม่ได้มีปัญหาที่การเป็นหนี้ หรืออาจพูดได้ว่า ปัญหาไม่ใช่การเป็นหนี้ แต่ปัญหาคือ การใช้จ่ายเกินตัว ใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้รับ
แนวทางที่เราจะแก้ปัญหา คือ การตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบให้ตัวเอง
“เราจะต้องทำอย่างไร เพื่อ 3 สิ่งนี้”
  • 1.
    หยุดการก่อหนี้เพิ่มได้อย่างไร?
  • 2.
    ชำระคืนหนี้ที่มี เช่น เงินกู้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ได้อย่างไร ที่จะทำให้ไม่วนกลับมาเป็นหนี้ในลักษณะเดิมๆ อีก?
  • 3.
    มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย?
จากคำถามข้างต้น เราได้เริ่มมองลึกถึงต้นเหตุของปัญหา หรือพฤติกรรมที่ทำให้การแก้ไขที่อาการของปัญหา ไม่เคยทำให้ปัญหาหมดไป
เราจะต้องทำอย่างไร เพื่อหยุดการก่อหนี้เพิ่ม? เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า “การหยุดเลือดไหล” ซึ่งสำคัญอย่างมากในการแก้หนี้
ทำไมเราถึงก่อหนี้เพิ่ม? ทำไมเราจึงตัดสินใจใช้จ่ายในแต่ละเรื่องอย่างในปัจจุบัน? สิ่งเหล่านั้นที่เราใช้จ่ายไป เป็นสิ่งที่จำเป็นไหม สามารถลดทอนทั้งรายการและจำนวนที่ใช้จ่ายลงได้ไหม เพื่อลดหรือหยุดการก่อหนี้ใหม่
ในเรื่องนี้ อยากแนะนำให้ย้อนไปดูบทความที่ Manage Your Money ได้เขียนไว้ เรื่อง Action Plan ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตาม link : https://www.blockdit.com/posts/61effd92bfc1ced744244863
เราจะต้องทำอย่างไร เพื่อชำระคืนหนี้ที่มี เช่น เงินกู้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ที่จะทำให้ไม่วนกลับมาเป็นหนี้ในลักษณะเดิมๆ อีก? เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า “การหยุดวังวนของปัญหา”
อยากเสนอว่า แทนที่จะรอให้ไม่มีทางเลือกในการชำระคืนหนี้ จนถึงวันที่ครบกำหนดต้องชำระทั้งจำนวน จนทำให้ต้องนำเงินรายได้ที่เพิ่งจะได้รับมาทั้งหมดมาชำระหนี้ แล้วก็ต้องกู้ใหม่เพราะไม่มีรายได้เหลือเพื่อใช้จ่าย หรือแม้กระทั่งการต้องหาเงินกู้ใหม่มาชำระเงินกู้เก่า สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความตั้งใจและความพยายามอย่างมาก เพื่อหยุดวังวนของปัญหาให้ได้
สมมติว่าหนี้ส่วนใหญ่คือ หนี้จากบัตรเครดิต ยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน จากยอดใช้จ่ายทุกเดือนที่สะสมเพิ่ม เพราะไม่ได้ชำระหนี้ของแต่ละเดือนเมื่อครบกำหนดในรอบเดือนถัดไป หรือชำระเพียงบางส่วนและจ่ายดอกเบี้ย
เพื่อหยุดวังวนของปัญหา อยากให้เริ่มจากการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะชำระหนี้จากการใช้จ่ายแต่ละเดือนให้มากที่สุด เสมือนหนึ่งว่าเป็นเพียงการใช้ประโยชน์จากบัตรเครดิตเพื่อยืดระยะเวลาการชำระเงินสูงสุดประมาณ 45 วัน และชำระทั้งจำนวนเมื่อได้รับใบเรียกเก็บหนี้ วิธีการนี้ นอกจากจะไม่มีหนี้เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนแล้ว ยังไม่ต้องชำระดอกเบี้ยจากการใช้บัตรเครดิตด้วย
หากสินค้าหรือบริการที่จำเป็นต้องซื้อมีมูลค่าสูง ทำให้ไม่สามารถชำระทั้งจำนวนได้ แนะนำให้เปรียบเทียบโปรโมชั่น และเลือกซื้อจากร้านค้าที่ขายด้วยโปรโมชั่น “ผ่อนชำระ 0%” ซึ่งเป็นการผ่อนชำระที่เราไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย หากเราชำระเต็มตามยอดที่เรียกเก็บในทุกเดือน เช่น ผ่อนชำระ 0% 10 เดือน เรียกเก็บเดือนละ 1,000 บาท รวมยอดทั้งสิ้น 10,000 บาท
ข้อควรระวังคือ ให้ใช้ความรอบคอบในการเลือกซื้อสินค้าและบริการแบบ “ผ่อนชำระ 0%” เพราะหากเรามีรายการซื้อแบบผ่อนชำระจำนวนมาก ยอดชำระเงินต่อรายการดูน้อย แต่เมื่อรวมทุกรายการ จะเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนจำนวนมาก และในที่สุดอาจมากกว่ารายได้ที่เราจะสามารถชำระได้ และเกิดอาการ “เป็นหนี้มากต่อเนื่อง” ได้อีก
วิธีการนี้ เราจะสามารถทะยอยชำระหนี้ได้จนหมด ขณะที่ไม่ได้ก่อหนี้เพิ่มมากเท่าเดิม จนในที่สุดก็จะสามารถไม่มีหนี้ได้
เราจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย? เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า “สร้างการเติบโตของสุขภาพทางการเงิน”
แน่นอนว่า เมื่อเราสามารถ “หยุดเลือดไหล” และ “หยุดวังวนของปัญหา” ได้แล้ว ลำดับถัดไปที่เราต้องทำคือ การสร้างสมดุลของสุขภาพทางการเงิน ที่เรามีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
โดยทั่วไป รายได้สามารถเพิ่มได้ 2 ส่วน คือ
  • 1.
    รายได้ที่สูงขึ้นจากงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน อาจเกิดจากผลงานที่โดดเด่นจนได้รับเงินเดือนเพิ่ม โบนัส การเลื่อนตำแหน่ง หรือรายได้ที่มากขึ้นหากเป็นเจ้าของกิจการ เพราะสินค้าเป็นที่ต้องการ หรือมีสินค้าใหม่กลุ่ม ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
  • 2.
    รายได้ที่เพิ่มเติมจากงานที่ทำ เช่น รายได้เสริมจากงานอดิเรก หรือรายได้จากการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น หุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ เป็นต้น
อยากแนะนำให้ย้อนดูบทความที่ Manage Your Money ได้เขียนไว้ เรื่อง “โอกาสการสร้างรายได้จากงานอดิเรก” และ “โอกาสจากการลงทุน” ตาม links :
ถึงตรงนี้ พวกเราจะเริ่มเห็นแล้วว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นต้นเหตุของอาการที่ปรากฏ จะให้ผลที่ยั่งยืนกว่ามาก
จากตัวอย่าง หากเราคิดวิเคราะห์ได้ดี ก็จะชัดเจนในสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้
  • 1.
    หยุดเลือดไหล
  • 2.
    หยุดวังวนของปัญหา
  • 3.
    สร้างการเติบโตของสุขภาพทางการเงิน
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเรากับไอเดียในการมองเห็นและวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาทางการเงิน เพื่อสร้างสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงอย่างยั่งยืนค่ะ
แล้วมาคุยกันต่อตอนถัดไปกับ Manage Your Money นะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา