28 ก.พ. 2022 เวลา 13:30 • ธุรกิจ
เคยไหมที่เหมือนจะรู้ว่าควรทำอะไรเพื่อสร้างเงินออมเงินลงทุน แต่เริ่มแล้วหยุดอยู่หลายครั้ง หรือไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ วันนี้อยากแนะนำแนวคิดแบบ Design Thinking เพื่อออกแบบการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance)ในแบบของเราแบบง่ายๆ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตและการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ในชีวิต (personal value)
Design Thinking เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับการออกแบบการเงินส่วนบุคคล เพราะการเงินส่วนบุคคล คือเรื่องเกี่ยวกับตัวเราทั้งหมด รูปแบบการใช้ชีวิตที่เราต้องการ และวิสัยทัศน์ของความสำเร็จในแบบฉบับของเรา
เมื่อเราได้ฝึกฝนทักษะด้านการเงินได้อย่างเหมาะสมแล้ว เราจะสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผล เราจะมุ่งมั่นในหนทางสู่เป้าหมาย เพื่อโอกาสความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะในโลกที่หมุนเปลี่ยนผ่าน มีสิ่งใหม่ๆ ปัจจัยใหม่ๆ ที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจตลอดเวลา
Design Think คืออะไร และทำไมจึงเป็นกุญแจสำคัญ ในการออกแบบการเงินที่ต้องการ?
ช่วงเริ่มแรก Design Thinking ใช้ในกระบวนการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และใช้กันแพร่หลายทั้งภาคธุรกิจและระดับบุคคลทั่วโลก โดยเฉพาะหลังจากที่ Tim Brown, CEO ของบริษัทที่ปรึกษา Ideo ได้เขียนบทความใน Harvard Business Review เรื่องการใช้ Design Thinking ในการทำธุรกิจ ในปี 2008
Design Thinking เป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยจัดลำดับความสำคัญของความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ จากการสังเกตพฤติกรรม การพยายามค้นหา ออกแบบด้วยวิธีการทำจริงและทำซ้ำ (iterative and hand-on approach)
Design Thinking ยึดคนเป็นจุดศูนย์กลาง (human-centered) ที่อิงกับสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าลูกค้าตอบสนองต่อผลิตภัณฑ์และบริการอย่างไร มากกว่าการคาดการณ์เอาเอง และในระหว่างการสังเกตนั้น ก็จะมีการออกแบบใหม่เพื่อปรับปรุงให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น จึงเรียกว่าเป็นการทำซ้ำจากการการสังเกต เพื่อต่อยอดการพัฒนาอย่างรวดเร็วสู่การนำต้นแบบ (prototypes) ไปทดสอบ
และนั่นคือ ความแตกต่างอย่างมากจากวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ที่เป็นลักษณะเส้นตรง คือ ระบุปัญหาแล้วร่วมกันหาทางออก อาจกล่าวได้ว่า การทำซ้ำ (iterative แบบ non-linear) จากการสังเกตและออกแบบต้นแบบเพื่อทดสอบ คือวิธีการหลักของ Design Thinking
It is less of a means to get to a single solution, and more of a way to continuously evolve your thinking and respond to consumer needs.
By Graham Tuttle February 24, 2021
วันนี้เราจะข้ามเรื่องราวของ Design Thinking กับการทำธุรกิจ ไปสู่ การประยุกต์ Design Thinking มาใช้ออกแบบการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) ของพวกเรา เพื่อสร้างแผนที่เส้นทางและการเดินทางในแต่ละวัน ให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการมากขึ้นในทุกๆ วัน
ได้อ่านแนวคิดและข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในเรื่องนี้หลายท่าน ขอเลือกนำเอาแนวทางของ Julia Chung, CEO ของ Spring Plans และดำรงตำแหน่ง Vice President ของ the Financial Planning Association of Canada มาให้พวกเราได้เรียนรู้วิธีการนำ Design Thinking มาใช้ออกแบบชีวิตเราเองอย่างง่ายๆ โดยจะอธิบายเพิ่มเติมให้ด้วย เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น และสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมของพวกเราในประเทศไทย
Design Thinking มี 5 ขั้นตอนที่สำคัญ
1. ความเข้าอกเข้าใจ (Emphaty)
เริ่มต้นจากการทำความเข้าอกเข้าใจตัวเราเองอย่างแท้จริง ว่าเราคือใคร เราให้คุณค่ากับสิ่งใด และจริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าอกเข้าใจแบบซ้ำๆ ในชีวิต เพราะเราเปลี่ยนไปในทุกวัน จากประสบการณ์ใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ การพัฒนาการของตัวเราทั้งอายุ การใช้ชีวิต คนรอบข้าง ความรับผิดชอบ และอื่นๆ มากมาย
การรู้จักตัวเราเองจากภายในเป็นสิ่งสำคัญ และต้องทำสม่ำเสมอตลอดชีวิต เพราะเมื่อเรารู้จักตัวเรา เข้าใจตัวเรา เราจะรู้ได้ว่าในแต่ละขณะเวลาที่ต้องตัดสินใจในชีวิต มันหมายความว่าอย่างไร
2. การกำหนดให้ชัดเจน (Define)
เริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายของผลลัพธ์ที่เราต้องการให้ชัดเจน เหมือนง่ายแต่ไม่ง่ายเลย อยากให้พวกเราย้อนไปในข้อแรก คิดถึงว่าเราได้อะไรบ้างจากการทำความเข้าอกเข้าใจตัวเราเอง ใช้ข้อมูลตรงนั้นในการระบุองค์ประกอบของสิ่งที่ต้องการบรรลุผลสำเร็จในทางการเงิน เช่น ชีวิตหลังเกษียณ การดูแลชีวิตเมื่อไม่ได้ทำงานประจำ การมีบ้านของตัวเอง การส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ การมีธุรกิจของตัวเอง หรือการไม่มีหนี้ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้อย่าเขียนขึ้นมาลอยๆ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องเริ่มต้นจากความเป็นตัวเราและคุณค่าในชีวิต ไม่อย่างนั้นจะเป็นการไหลไปตามกระแสค่านิยมและความคาดหวังในสังคม ว่าเมื่อมีสิ่งนั้นแล้ว ต้องมีสิ่งนี้ เมื่อระบุเป้าหมายของผลลัพธ์ได้แล้ว ลองถามตัวเองดูว่า ทำไมมันจึงสำคัญกับตัวเรา ถ้าตอบไม่ได้ชัดเจน แนะนำให้ทำใหม่
3. การระดมความคิด หรือ การค้นหาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ (Ideate)
ตอนนี้ที่หลายคนทำสองข้อแรกสำเร็จแล้ว ก็จะรู้แล้วว่า อะไรในชีวิตที่ทำให้ชีวิตเรามีความหมาย (purpose) และมีความสุข (happiness) จากการที่เราได้ระบุถึงสิ่งที่เราต้องการในชีวิตที่ไม่ใช่ตัวเงิน
ในขั้นตอนนี้ ถึงเวลาที่เราจะถามตัวเองต่อว่า แล้วเราต้องใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ เพื่อสนับสนุนให้สิ่งที่เราต้องการในชีวิตเหล่านั้นเกิดขึ้นได้
นี่เป็นช่วงเวลาที่เราต้องเริ่มมองหาทางเลือกที่เราสามารถจะทำได้ อาจเป็นการลงทุนในระยะยาวหรือการออมเงินในระยะสั้น หรืออาจหมายถึงการชำระหนี้คืนเพื่อให้มีกระแสเงินสดเหลือมากขึ้น เพื่อความมั่นคงที่มากขึ้นในชีวิต และเอามาต่อยอดให้บรรลุเป้าหมายได้
4. การสร้างต้นแบบ (Propotype)
ตอนนี้เรามีทางเลือกอย่างน้อย 2-3 ทางเลือกที่จะสามารถทำได้จากข้อ 3 แล้ว เราก็พร้อมแล้วที่จะทดสอบทางเลือกต่างๆ ที่มี เพื่อทดสอบและคัดเลือกทางเลือกที่เหมาะสม และเป็นไปได้สำหรับเรา
อาจเป็นการทดสอบด้วยการคำนวนหาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนรูปแบบต่างๆ (investment calculation) ว่าเพี่อให้มีเงินใช้จ่ายต่อเดือน 15,000 บาทนอกเหนือจากการทำงาน (passive income) จะต้องลงทุนจำนวนเท่าไหร่ที่อัตราผลตอบแทนในแต่ละทางเลือกการลงทุนที่เราสนใจ
หรืออาจเป็นการทำการวางแผนจัดการเงินสดอย่างง่าย (cash flow calculation) ที่ได้เคยเล่าให้ฟังในตอนก่อนๆ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา (https://www.blockdit.com/posts/61effd92bfc1ced744244863)
กำหนดช่วงของค่าใช้จ่ายในแต่ละหมวดในแต่ละเดือน เพื่อทราบเงินสดเหลือในแต่ละเดือน เพื่อการออมและการลงทุน (wealth calculation) หรือนำไปชำระหนี้ให้หมดเร็วขึ้นเพื่อประหยัดดอกเบี้ย (debt calculation)
อย่าลืมว่า นี่คือ Design Thinking ดังนั้นอย่าหยุดที่จะค้นหาทางเลือก และสร้างต้นแบบเพื่อทดสอบแต่ละทางเลือก ทำซ้ำจนกว่าจะเห็นลู่ทางว่าจะสามารถออกเดินทางไปสู่เป้าหมายของผลลัพธ์ที่ต้องการได้ อย่างไม่เลื่อนลอย หรือเป็นแค่แนวคิดแบบกว้างๆ ทั่วๆ ไป
5. การทดสอบโดยการทำจริง (Test)
ตอนนี้เรามีผลทดสอบจากต้นแบบเพื่อประเมินผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้จากข้อ 4 แล้ว อยากให้เลือก 1-2 ทางเลือกที่ทดสอบได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้น มาทดสอบโดยการทำจริง
สำคัญมากๆ ว่า ผลลัพธ์จากทางเลือกที่เลือกมานั้น ให้ผลการทดสอบจากต้นแบบว่าเป็นไปได้ที่จะนำพาเราไปสู่สิ่งที่เราต้องการในชีวิต
และเมื่อเราเริ่มทำจริงใน
  • 1.
    แผนการใช้จ่ายในหมวดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละเดือนที่ทำให้มีเงินเหลือได้ตามเป้าหมาย หรือ
  • 2.
    กลยุทธ์การลงทุนในทางเลือกที่ประเมินแล้วจากเงินที่เหลือในแต่ละเดือน หรือ
  • 3.
    แผนการชำระหนี้ให้เร็วขึ้นก่อนกำหนดเพื่ออิสระภาพทางการเงิน
อย่าลืมว่า เรายังคงเปลี่ยนแปลงแผนที่จะทำได้เสมอ จากการเข้าใจตัวเองชัดเจนมากขึ้นว่าต้องการอะไรในชีวิต และเมื่อไหร่ที่ต้องการผลสำเร็จ จากข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ หรือสถานการณ์ที่ดปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจหมายถึงอาชีพและรายได้ ภาระความรับผิดชอบที่มากขึ้น หรือภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย เป็นต้น
เราสามารถเพิ่มเติมและทดสอบทางเลือกใหม่ๆ หรือปรับปรุงทางเลือกเดิมได้เสมอ นี่คือ ขั้นตอนการทดสอบในสภาวะความเป็นจริงในตลาดจริง ที่เราประหยัดจริง มีเงินเหลือจริง มีเงินลงทุนและผลตอบแทนจริง และหนี้ลดลงจริง เราสามารถปรับปรุงในระหว่างทางเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้เสมอ
อย่าลืมนะคะว่าการเงินส่วนบุคคล คือเรื่องของเรา และที่สำคัญที่สุดคือ เราสามารถออกแบบการเงินส่วนบุคคลให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิต และเป้าหมายความสำเร็จในชีวิตของเราแต่ละคนได้
หากเราไม่ได้ใช้เวลาตรงนี้ สะท้อนมองตัวเราที่ภายใน เราจะถูกดึงดูดไปในกระแสภายนอก เดินไปและทำไปตามค่านิยมและกระแสในสังคม ซึ่งอาจไม่ทำให้เราได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการอย่างแท้จริง
และอย่าหยุดที่จะทำซ้ำๆ Design Thinking คือการทำซ้ำๆ เพราะเราเติบโตขึ้นทุกวันในทุกด้านของชีวิต รวมทั้งสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกรอบตัวเรา ที่ก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หวังว่าพวกเราจะได้ไอเดียดีๆ ไปต่อยอดวางแผนออกแบบการเงินส่วนบุคคลค่ะ
แล้วมาติดตามในตอนถัดไปกับ Manage Your Money นะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา