Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
17 มี.ค. 2022 เวลา 01:27 • ไลฟ์สไตล์
“ทำผลไม่ได้ ต้องทำเหตุ”
“ … มีบางคนภาวนา คิดว่าไม่ต้องทำอะไรเลย
ทำจิตให้ว่างๆ นั่นล่ะคือการปฏิบัติ
คิดอย่างนั้น คิดง่ายไป
ก็เลยมุ่งฝึกให้จิตไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง
ทำจิตว่างๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย
รู้สึกการปฏิบัติธรรมไม่มีหรอก
ไม่มีการกระทำ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น
ศาสนาพุทธไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เชื่อเรื่องกรรม
เชื่อเรื่องการกระทำ
ทำกรรมก็ต้องมีผลของกรรม ไม่ใช่ว่างๆ
บางคนภาวนาเอะอะก็ว่างๆๆ พูดไปอย่างนั้น
ไปสร้างความว่างขึ้นมา ไม่ใช่ของจริง
ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของกรรม
กรรมก็เป็นเรื่องของเหตุกับผล
ทำเหตุชั่ว คือมีตัณหาเป็นเหตุ ก็มีทุกข์เป็นผล
มีศีล สมาธิ ปัญญา คือมีมรรคเป็นเหตุ ก็มีนิโรธเป็นผล
เวลาละฝ่ายชั่วก็ละที่เหตุ ละที่ตัณหา
ผลคือทุกข์ มันก็ไม่มี
ในฝ่ายดี เจริญ เพราะมรรคต้องเจริญ
ฉะนั้นเหตุของทุกข์กับเหตุของนิโรธเราทำต่างกัน
เหตุของทุกข์คือตัวตัณหา ต้องละเสีย
เหตุของนิโรธคือตัวมรรค ต้องเจริญ
ฉะนั้นกิจต่ออริยสัจจะชัดเจนอยู่
ตัวทุกข์เป็นตัวผลของตัณหา ละไม่ได้
การละ ไปละที่ผลไม่ได้ ต้องละที่เหตุ
ฉะนั้นท่านบอกทุกข์ก็ให้รู้ว่ามันทุกข์
สมุทัยคือตัณหาให้ละเสีย
นิโรธก็เหมือนกัน นิโรธเป็นผล
อยู่ๆ เราไปทำผลขึ้นมาไม่ได้
เราต้องทำเหตุ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
หรือการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8
เราเจริญแล้ว ในที่สุดก็ได้ผล คือ นิโรธ
อยู่ๆ เราไปทำผลไม่ได้ เราต้องทำเหตุ
เหตุคือมรรค ต้องเจริญ
ถ้าฝ่ายชั่ว เหตุคือตัณหา ต้องละ คนละแบบกัน
เวลาภาวนาบางคนก็ทำผิด
มีความทุกข์เกิดขึ้น พยายามแก้ทุกข์ ละทุกข์
หรือหนีทุกข์ ทำไม่รู้ไม่ชี้
ถึงทำไม่รู้ไม่ชี้ ทุกข์มันก็มีอยู่
มันไม่หนีไปไหนหรอก
ต้องแก้ที่เหตุ
เหตุของทุกข์คือตัวตัณหา
ส่วนนี้หลวงพ่อสอนอยู่เรื่อยๆ
ส่วนเหตุของมรรค เหตุของผล ของนิโรธ
คือตัวมรรค ต้องเจริญให้มาก ทำให้มาก
อยู่ๆ เราไปทำนิโรธขึ้นมา
น้อมจิตไปอยู่กับพระนิพพานเฉยๆ
หวังว่าอยู่กับนิพพานนานๆ เราก็จะบรรลุนิพพาน
มันก็คล้ายๆ อยากละทุกข์
อันนี้ก็อยากสร้างนิโรธขึ้นมา มันทำไม่ได้ทั้งคู่
ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว
1
เส้นทางที่ตัน เส้นทางที่ผิด
หลวงพ่อเคยทำผิด ที่หลวงพ่อกล้าพูดอย่างนี้
เพราะหลวงพ่อเคยทำผิดมาเยอะแล้ว
หลวงพ่อบอกแล้ว หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง
แต่หลวงพ่อมีครูบาอาจารย์ที่เก่ง
หลวงพ่อมีแต่ความอดทน สังเกตเอา ทนเอา
เคยภาวนาผิด น้อมจิตลงไปดูที่ตัวอารมณ์
แล้วจิตมันก็เคลื่อนไปที่อารมณ์
ก็ไม่ให้สติจับเข้าไปที่อารมณ์
ทวนกระแสเข้ามาหาจิต
พอสติมันจะจับเข้าที่จิตก็ไม่เอา
เคลื่อนเข้าออกอยู่ตรงนี้
ในที่สุดจิตรวมลงตรงกลาง ว่าง ไม่มีอะไรเลย
ไม่มีรูป ไม่มีนาม ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน
ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีพระอาทิตย์พระจันทร์
อะไรก็ไม่มีทิ้งสิ้นเลย
ไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมอะไรในนั้นเลย
ไม่มีกระทั่งเวลา
เวลามันจะเกิดได้มันต้องมี 2 จุดที่สัมพันธ์กัน
ถ้ารวมลงไปที่เดียว เป็นหนึ่งเดียว เวลาก็หายไปด้วย
ไปอยู่ในภาวะนั้น
ไม่รู้ว่ากี่นาทีกี่วันอะไรอย่างนี้ ไม่รู้เรื่องเลย
สงบ เงียบอยู่อย่างนั้น ก็ทำไป
พอถอยออกมาจากตรงนี้ แล้วก็คิดว่า
เอ๊ะ ตรงนี้ล่ะมังนิพพาน
มันว่าง สว่าง บริสุทธิ์
หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา
หยุดกิริยาอาการของจิต
ไม่มีอะไรเลย
ไม่เหลืออะไรสักอย่าง
ไม่มีรูป ไม่มีนาม ไม่มีกิเลส
ไม่มีความปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้นเลย นี่ล่ะนิพพาน
คิดอย่างนี้
คิดว่าถ้าเราอยู่ตรงนี้นานๆ ให้จิตมันคุ้นเคย
ถึงเวลาเราก็ไปอยู่กับนิพพาน
นี่คือการทำผล ไม่ใช่ทำเหตุ มันทำผิด
เพราะฉะนั้นอย่างหลวงพ่อได้ยินสอนๆ กัน
ทำจิตให้ว่าง มันไม่ถูกหรอก
ว่างมากที่สุดมันก็มาได้แค่ที่หลวงพ่อทำนั่นล่ะ
มันเป็นเส้นทางที่ตัน เส้นทางที่ผิดแล้ว ไปทำผล
ภาวนามาเรื่อยๆ จิตก็อยู่ตรงนี้
นึกจะเข้าไปก็เข้า
เข้าแล้ว อยู่ช่วงหนึ่งมันก็ออก
ดูแล้วไม่ใช่ นี่น่าจะเป็นสมาธิอะไรสักอย่างหนึ่ง
ไม่ใช่นิพพานหรอก
แต่มันคล้ายๆ ก็อปปี้ สภาวะของนิพพานมา
เอามาเป็นที่อยู่
ขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์
ไปเล่าให้ท่านฟังว่าทำอย่างนี้ๆ
ไม่จับผู้รู้ ไม่จับสิ่งที่ถูกรู้ แล้วจิตรวมลงไป ว่าง บอก
“ผมสงสัยว่ามันจะเป็นสมถะ เป็นสมถะสักอย่างหนึ่ง”
ท่านบอกว่าใช่ เป็นสมาธิ เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง แต่หัดไว้เถอะ ทำความรู้จักมันไว้ เพราะว่าในยุคนี้ ไม่มีคนเล่นอย่างนี้แล้ว
ก็กราบเรียนท่านบอก “ผมกลัวติด”
ท่านบอก “ถ้าติดอาตมาจะแก้ให้เอง”
เราก็ทำอยู่อย่างนั้น
แล้วก็ใจก็หวั่นๆ ว่าจะทำให้เราเนิ่นช้า
เราไม่ได้ทำเหตุ แต่เราไปทำผล
เราไม่ได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา
แต่หนีเข้าไปอยู่ในว่าง
แต่ครูบาอาจารย์บอกให้ฝึกไว้
ให้ทำความรู้จักกับมันไว้
พอฝึกอยู่ช่วงหนึ่งก็ไปเจอหลวงปู่บุญจันทร์เข้า
หลวงปู่บุญจันทร์ท่านให้พระมาเรียกหลวงพ่อไปหา
เราไม่รู้จักท่าน แต่ท่านรู้จักเรา
ไปกราบท่าน ท่านก็ถามว่าภาวนาอย่างไร
ก็เล่าให้ท่านฟัง
ภาวนาไม่จับทั้งผู้รู้ ไม่จับทั้งสิ่งที่ถูกรู้
จิตอยู่กับความว่าง
ก็โดนท่านตวาดเอา “นิพพานอะไรมีเข้ามีออก”
โดนท่านตวาดอยู่ 2 รอบ
ท่านตวาดรอบแรก
เราก็งงๆ คิดว่าท่านฟังสำเนียงเราไม่ออก
หลวงพ่อก็ฟังสำเนียงท่านไม่ออกเหมือนกัน
ท่านเป็นคนอีสาน มาอยู่ทางเหนือ
เสียงท่านก็ฟังยาก
1
โดนท่านตวาดครั้งที่สองว่า
“เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก”
จิตมันทิ้งเลย เพราะมันรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นสมาธิ
ก็ไม่เล่นอีกแล้ว มันจะทำให้เนิ่นช้า
แต่ว่ารู้จักมันแล้ว
เข้าใจมันแล้วในสิ่งที่หลวงปู่เทสก์ท่านต้องการ
ฉะนั้นเห็นใครภาวนาทำจิตว่าง รู้เลย
เราเคยทำผิดมาแล้ว
ว่างมากที่สุด มันก็ไม่เกินที่หลวงพ่อเคยทำนั่นล่ะ
ฉะนั้นเราไม่ค่อยตื่นเต้น
เวลาได้ยินคำสอนให้ทำจิตว่าง
จิตกับอารมณ์เป็นของคู่กัน กระทั่งจิตที่รู้นิพพาน
นิพพานเป็นอารมณ์ ก็ต้องมีจิตที่รู้นิพพาน
ไม่ใช่ว่างๆ ไม่มีอะไรเลย
ไม่มีอะไรเลยเป็นสมาธิชนิดหนึ่ง
นั่นก็ไม่มี นี่ก็ไม่มี
หรือบางคนยิ่งหนักกว่านั้นอีก
นั่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด ไม่ยึดอะไรสักอย่างหนึ่ง
ไม่ยึดอะไรเลย ก็ยึดวาทะว่าจะไม่ยึดอะไรเลย
อดยึดไม่ได้
ทำอย่างไรเราจะไม่ยึด
ทำอย่างไรเราจะเข้าถึงนิโรธที่แท้จริง
เราต้องเจริญมรรค
ในขณะที่เราเจริญมรรค
เป็นการสร้างความดี ทำแต้มบวก
เราก็ไม่ต้องทำแต้มลบขึ้นมา
อย่าทำชั่ว ถ้าชั่วก็ทำ ดีก็ทำ มันก็เจ๊าๆ กัน
ไม่มีอะไรดีขึ้นมาหรอก ก็ไม่เจริญ
เพราะฉะนั้นศีลต้องรักษา ความชั่วอย่าทำ
แล้วฝึกจิตฝึกใจของเราให้มันตั้งมั่น
…
เราภาวนาเพื่อลดละกิเลส เจริญกุศลให้ถึงพร้อม
การที่เรารักษาศีลก็คือการเจริญมรรคส่วนหนึ่ง
เรามีสัมมาวาจา ก็คือศีลข้อ 4 ต้องรักษา
ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด
ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
ทำไมพูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ
เพราะกิเลสมันผลักดัน
ทำไปด้วยโลภบ้าง ด้วยโกรธบ้าง ด้วยหลงบ้าง
หลงคือไม่ใช่แค่ลืมเนื้อลืมตัว
หลงมันถึงขั้นไม่รู้ผิดชอบชั่วดี
โมหะตัวแสบๆ เลย ระดับรุนแรง
คือตัวไม่รู้ผิดชอบชั่วดี
ส่วนหลงใจลอย เป็นโมหะพื้นๆ เป็นอุทธัจจะ
ฉะนั้นเราต้องเจริญมรรคให้สมบูรณ์
ถือศีลให้ดี สัมมาวาจาคือศีลข้อ 4
สัมมากัมมันตะคือการถือศีลข้อ 1, 2, 3
ไม่ประทุษร้ายผู้อื่น สัตว์อื่น
ไม่ลักไม่ขโมย ฉ้อโกง หลอกลวงพลิกพลิ้วอะไรต่างๆ
นี่ผิดศีล
ไม่ประพฤติผิดในกาม
ฉะนั้นถ้าให้ดีก็คือสันโดษในคู่ของตัวเอง
บางคนร่างกายไม่ได้ประพฤติผิดในกาม
แต่จิตมันประพฤติ คิดลามกอนาจารอะไรอย่างนี้
อันนี้ก็ยังไม่งาม
ไม่ถึงกับผิดศีล แต่มันผิดธรรม ไม่สำรวม
นอกจากศีลแล้ว เราก็ต้องฝึกพัฒนาจิตใจของเรา
มีสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
เป็นเครื่องพัฒนาจิตใจ
พื้นฐานก็มีปัญญาขั้นต้น มีความคิดเห็นที่ถูกต้อง
มีความเห็นถูก เขาเรียกว่ามีสัมมาทิฏฐิ
มีความคิดถูก เขาเรียกว่าสัมมาวายามะ
คือความคิดความเห็นของเราต้องถูก
ต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่งมงาย
เชื่อในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ทำเหตุต้องมีผล
ทำเหตุชั่วก็มีผลเป็นทุกข์
ทำเหตุดีก็มีผลเป็นความพ้นทุกข์
เป็นเรื่องมีความเชื่อที่ดี รู้หลักของการปฏิบัติ
มีความเห็นถูก รู้หลักของการปฏิบัติ
รู้ว่าทุกข์ต้องรู้ สมุทัยต้องละ
ไม่ใช่ไปสร้างมันขึ้นมา ต้องฝึก
พอมีความเห็นถูก คือรู้
พูดง่ายๆ รู้เรื่องของอริยสัจในทางทฤษฎีในเบื้องต้น
แล้วก็มีความคิดถูก
ถ้าเรามีความเห็นถูก ความคิดมันก็ถูก
มีความเห็นผิด ความคิดมันก็คิดผิดๆ
พอคิดผิดๆ มันก็ทำผิดๆ
ตรงคิดผิดๆ มันก็เป็นมิจฉาสังกัปปะ
ทำผิดๆ ก็เป็นมิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ
ถ้าทำถูกมันก็เป็นสัมมา
คิดอย่างไรถึงจะเรียกว่าคิดถูก
คิดโดยไม่มีอกุศลอยู่เบื้องหลังความคิด
คิดไปด้วยโทสะ ก็เป็นพยาบาทวิตก
คิดไปด้วยราคะด้วยโลภะ ก็เป็นกามวิตก
คิดไปด้วยความหลง โมหะ ก็เป็นวิหิงสาวิตก
คนมีโมหะ มันเบียดเบียนตัวเองขั้นแรกเลย
แล้วก็ไปเบียดเบียน คนอื่นต่อ
เรามาสำรวจตัวเอง สำรวจไปเรื่อยๆ
พอศีลเราดี ความคิดเห็นของเราถูกต้อง
เราก็ลงมือเจริญพัฒนาสติ สมาธิอะไรพวกนี้ พัฒนา
มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนา
คือสัมมาวายามะ เป็นความเพียรชอบ
ที่เราจะภาวนาต่อไปนี้ทำไปเพื่ออะไร
เพื่อลดละอกุศลที่มีอยู่
เพื่อปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด
เพื่อทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด
เพื่อทำกุศลที่เกิดแล้วให้ถึงพร้อมให้บริบูรณ์มากขึ้น
เพราะฉะนั้นเวลาเราคิดจะลงมือปฏิบัติธรรม
ต้องรู้เป้าหมายที่ชัดเจน
ไม่ใช่เห็นคนอื่นเขานั่งสมาธิก็นั่งบ้าง
เขาเดินก็เดินบ้าง
เขาพุทโธก็พุทโธบ้าง
เขาดูท้องพองยุบก็ดูบ้าง
ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร
นั่นภาวนาแบบคนตาบอด
มืดๆ บอดๆ คลำๆ ไปเรื่อยๆ
ที่จริงเราภาวนา
เพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศลให้ถึงพร้อม
ถ้าเราทำกุศลของเราถึงพร้อมแล้ว
เรียกว่าเราทำเหตุที่ดี
กุศลของเราสมบูรณ์แล้ว
เหตุก็ดี ผลที่ดีคือนิโรธก็จะปรากฏขึ้น
นิโรธไม่ได้เกิดขึ้น
นิโรธไม่เหมือนทุกข์
ทุกข์พอเรามีตัณหา ความทุกข์มันก็เกิด
แต่นิโรธ มันไม่เกิด
มันเป็นสภาวะซึ่งมันมีอยู่แล้ว ตัวพระนิพพาน
ที่เราทำความดีแทบเป็นแทบตาย
เจริญศีล สมาธิ ปัญญา จนปัญญาแก่รอบ
หมดความยึดถือในรูปในนามได้ ก็เห็นแจ้งนิโรธ
นิโรธเลยไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้ไปเกิดขึ้นจริงๆ
แต่การที่เราทำเหตุอย่างนี้
มันทำให้เราเข้าไปเห็นนิโรธ
เข้าไปประจักษ์นิโรธ
เพราะฉะนั้นนิพพานมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหา
หาอย่างไรก็ไม่เจอ หยุดหาอาจจะเจอ
ที่เราหา เราดิ้นรนภาวนา มันทำด้วยอยาก
ตราบใดที่ใจยังอยากอยู่
ใจก็ต้องดิ้นรนไปเรื่อยๆ
การที่จิตใจมันดิ้นรน เรียกว่าจิตมันสร้างภพ
ตราบใดที่มีภพ ก็มีชาติ
คือการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา
แล้วก็มีทุกข์
ฉะนั้นเราภาวนา ค่อยๆ เรียนรู้มันไป
การเจริญมรรค ศีลต้องรักษา
แล้วก็ภาวนาไป สังเกตไป
พัฒนาสติ ให้มันอัตโนมัติขึ้นมา
วิธีพัฒนาสติให้อัตโนมัติ ให้เกิดเป็นสัมมาสติ
คือการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง
พูดง่ายๆ รู้กายอย่างที่กายเป็น
รู้ใจอย่างที่ใจเป็น
คอยรู้เรื่อยๆ ไป รู้เนืองๆ รู้บ่อยๆ รู้ถี่ๆ เท่าที่ทำได้
ต่อไปไม่เจตนาจะรู้ มันจะรู้ได้เอง
ตรงที่เราไม่ได้เจตนาจะรู้
แต่ว่าพอสภาวธรรมเกิดแล้วมันรู้ได้เอง
เรียกว่าเรามีสติอัตโนมัติขึ้นมาแล้ว
ก่อนสติอัตโนมัติจะเกิด ก็ต้องตั้งใจก่อน
ตั้งใจเจริญสติปัฏฐานไป
จะรู้กายก็ได้ เวทนา หรือจิต หรือธรรมก็ได้
เอาที่เราถนัด ดูสภาวะเนืองๆ
ต่อไป ไม่ได้เจตนาจะเห็น มันเห็นเอง
นั่นล่ะสติตัวจริงมันเกิดโดยไม่ได้เจตนา …”
.
1
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 มีนาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/cause-and-effects/
เยี่ยมชม
dhamma.com
ทำผลไม่ได้ ต้องทำเหตุ
การละไปละที่ผลไม่ได้ ต้องละที่เหตุ ฉะนั้นท่านบอกทุกข์ก็ให้รู้ว่ามันทุกข์ สมุทัยคือตัณหาให้ละเสีย นิโรธเป็นผล เราไปทำผลขึ้นมาไม่ได้ ต้องทำเหตุ
Photo by : Unsplash
8 บันทึก
10
7
8
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
8
10
7
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย