23 มี.ค. 2022 เวลา 14:35 • ธุรกิจ
ทำไมจีนจึงสนใจการลงทุนในแอฟริกาอย่างมาก? และทำไมแอฟริกาจึงเปิดรับเงินกู้จากจีนอย่างมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา? อะไรทำให้ชาติตะวันตกแผ่วไปในช่วงหลัง? กลไกการลงทุนในแอฟริกาของจีนคืออะไร? และก้าวต่อไปของแอฟริกาในการพัฒนาประเทศมีทางเลือกอะไรบ้าง? มาหาคำตอบไปด้วยกันค่ะ
3
ทำไมจีนจึงสนใจการลงทุนในแอฟริกาอย่างมาก และทำไมแอฟริกาจึงมีนโยบายเปิดรับการลงทุนและการกู้ยืมเงินจากจีนอย่างมาก?
จีนเป็นประเทศที่พัฒนาทีหลังชาติตะวันตกแต่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จนสามารถลดระดับความยากจนของประเทศ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคือกุญแจสำคัญ จีนดำเนินกลยุทธ์พัฒนาแบบผสมผสานทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาเมือง และระบบการเงิน จนเกิดผลสำเร็จของการพัฒนาในภาพรวม
2
จะเห็นว่าในการพัฒนาของอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศพัฒนาแล้วในช่วงต้น การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ และมีการก่อหนี้จำนวนมากเช่นกันในหลายประเทศในขณะนั้น แนวทางพัฒนานี้จึงเป็นสิ่งที่ประเทศในแอฟริกาต่างมุ่งหวังว่า เป็นแนวทางแห่งความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ
1
แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมาก คือ ประเทศที่พัฒนาก่อนเหล่านั้นต่างมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน พัฒนาตลาดเงินตลาดทุนและกลายเป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญของโลก ผ่านกระบวนการสะสมความมั่งคั่งจากการค้าระหว่างประเทศ ในช่วงจักรวรรดินิยมและการปฏิรูปอุตสาหกรรม ที่อุดมด้วยวัตถุดิบ แรงงาน เครื่องจักร และเงินทุน
3
จีนในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ในการสนับสนุนเงินกู้เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ
ในช่วงปี 2000-2017 จีนได้ก้าวเข้าสู่บทบาทเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลก ด้านเงินกู้เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (international development finance) และส่วนใหญ่เป็นในรูปของเงินกู้ มากกว่าเงินช่วยเหลือ (grants) ในขณะที่รูปแบบเงินกู้ของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และชาติตะวันตกอื่นๆ จะมีสัดส่วนของเงินช่วยเหลือ (grants) ในการสนับสนุนทางการเงินมากกว่า 25% และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปทางการเมืองรวมอยู่ด้วย และเป็นที่มาของการแสวงหาทางเลือกแหล่งเงินทุนใหม่ของประเทศในแอฟริกา เพื่อลดข้อจำกัดนี้
การเข้ามาทีหลังของจีนในฐานะผู้มีสภาพคล่องในระบบการเงินโลก จากความสำเร็จของการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างมาก และการก้าวเข้าสู่บทบาทผู้นำโลกในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่รายใหม่ในระบบการเงินโลกนั้น แอฟริกาเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นอย่างมากในหลายมิติ
1
ประเทศในทวีปแอฟริกาที่เป็นความสนใจของทั้งชาติตะวันตก อินเดียและจีนมายาวนาน
แอฟริกาเป็นทวีปที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก และยังมีช่องว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมหาศาล ขณะที่มีความพึ่งพิงเงินกู้จากชาติตะวันตก และองค์กรการเงินระหว่างประเทศ เช่น World Bank และ IMF อย่างมากมาตลอดตั้งแต่สิ้นสุดยุคจักรวรรดินิยมเป็นต้นมา เงินกู้ดังกล่าวมีเงื่อนไขการปฏิรูปทางการเมืองที่รัฐบาลประเทศในแอฟริกาต้องปฏิบัติตามให้เกิดผลคืบหน้าเป็นลำดับ แต่นั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาลต่างๆ ในแอฟริกาไม่ต้องการ และเริ่มแสวงหาทางเลือก จนเป็นโอกาสของจีน
2
จีน เจ้าหนี้ที่เข้ามาทีหลังรู้ดีว่าเงินให้กู้ในแอฟริกานั้น มีความเสี่ยงอย่างมาก และเป็นตลาดใหม่ที่จีนไม่มีความคุ้นเคย แต่จีนก็ไม่มีทางเลือกมากนักในการเบียดเข้าไปให้กู้กับประเทศที่มีการพัฒนาแล้วที่มีความเสี่ยงต่ำกว่ามาก และจีนมีประสบการณ์สูงด้านเงินกู้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure financing)
1
ตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา จีนเริ่มนำเข้าน้ำมันเนื่องจากความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว การแสวงหาและเข้ามีส่วนร่วมในแหล่งพลังงานจึงเป็นสิ่งที่จีนให้ความสนใจ และแอฟริกาก็เป็นแหล่งพลังงานด้านน้ำมันที่สำคัญของโลก
2
การเข้าลงทุนและสนับสนุนทางการเงินในแอฟริกาจึงให้ประโยชน์ในหลายมิติ และจีนก็ประสบผลสำเร็จในที่สุด
1
จีนมีความต้องการด้านพลังงานอย่างมากและมีปริมาณการนำเข้าน้ำมันเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
กลไกการลงทุนที่สำคัญในแอฟริกาของจีน
ความสำเร็จในการลงทุนของจีนในแอฟริกาเกิดจากบทบาทและความพร้อมของสถาบันการเงินจีน และบทบาทของคณะผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ในการเจรจาทั้งด้านการสนับสนุนทางการเงิน การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งความมุ่งมั่นในการประสานผลประโยชน์อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายสิบปี
1
China Exim Bank มีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนทางการเงินในแอฟริกา
ในขณะนั้น ประเทศในแอฟริกามองจีนด้วยความสนใจอย่างมากว่า คือ ผู้ให้หนทางไปสู่ความสำเร็จ (solution) ด้วยการให้เงินกู้ และแน่นอนว่าจีนได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในทางการเมืองด้วยในฐานะเจ้าหนี้ของแองโกลา ผ่าน China Exim Bank, China Development Bank (CDB), China Construction Bank (CCB), Sinosure และ China International Fund (CIF) เป็นต้น
1
China Exim Bank มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเริ่มสนับสนุนทางการเงินให้กลุ่มประเทศในแอฟริกา ในช่วงปี 2000-2007 รองจาก China Development Bank
Institute of Developing Economies Institute of Developing Economies,
Japan External Trade Organization (JETRO) ได้รายงานเมื่อปี 2009 ว่า China Development Bank มีขนาดสินทรัพย์ถึง 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่า World Bank ขณะที่ China Exim Bank ถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในกลุ่มสถาบันการเงินเดียวกัน (the world’s third largest export credit agency)
นอกจากนี้ บริษัทเพื่อการลงทุน (Investment Corporations) ของจีนก็มีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะมีหลายโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นในลักษณะการร่วมลงทุนหรือการเข้าซื้อกิจการบางส่วน เช่น China International Fund
1
จีน กับการลงทุนในสถาบันการเงินชั้นนำที่ดำเนินงานในแอฟริกา
จีนเรียนรู้จากกลุ่มประเทศตะวันตกที่พัฒนาไปก่อนหน้าว่า การค้า การลงทุน อุตสาหกรรม และการเงิน คือองค์ประกอบสำคัญที่ต้องมีให้ครบเพื่อก้าวสู่การเป็นชาติมหาอำนาจที่ยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้
2
ดังนั้น จีนได้เข้าลงทุนในหลายธนาคารขนาดใหญ่ที่มีการดำเนินงานและสาขา (extensive African footprints) ที่สำคัญได้แก่
1
  • Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) ซึ่งเป็นธนาคารที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ที่สุดในโลก ได้เข้าถือหุ้น 20% ใน Standard Bank Group Ltd. ของประเทศแอฟริกาใต้ ด้วยมูลค่าซื้อขายถึง 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม 2007
1
Standard Bank ดำเนินงานใน 18 ประเทศในทวีปแอฟริกา มีขนาดสินทรัพย์เกือบ 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ปี 2007
Caggeso, 2007
1
  • China Investment Corp เข้าลงทุนใน Blackstone ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจของสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหลังจากนั้น Blackstone ได้ช่วยให้ China Development Bank เข้าลงทุนใน Barclays Bank ซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำอังกฤษที่ดำเนินกิจการในแอฟริกา โดยเฉพาะใน ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ แซมเบีย และซิมบับเว ด้วยมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
1
การเข้าลงทุนในกิจการธนาคารชั้นนำในแอฟริกา ทำให้จีนเข้ามามีอิทธิพลในทางการเงินท้องถิ่นในกลุ่มประเทศแอฟริกา และช่วยอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในประเทศต่างๆ
2
ทั้งนี้ ในภาพรวมอาจแบ่งความสนใจของจีนในแอฟริกาได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ
  • ศูนย์กลางระดับภูมิภาคในแอฟริกา (regional hubs)
  • การลงทุนด้านพลังงาน (energy focused)
  • กลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไต้หวัน (Taiwan focused)
  • ความมั่นคงระหว่างประเทศ (security/terrorism focused)
1
Reference: Executive Research Associates (Pty) Ltd
ทำไมประเทศในแอฟริกาจึงให้ความสนใจจีนอย่างมาก?
แอฟริกาถูกกดดันอย่างมากจากองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศ เช่น World Bank และ IMF ซึ่งเป็นแหล่งเงินกู้หลักของแอฟริกามาตลอด ในเรื่องการปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลในประเทศต่างๆ ในแอฟริกาพยายามล่าช้าในการดำเนินการตามเงื่อนไข จนในที่สุดก็พยายามหาทางเลือกอื่นเพื่อทดแทน
ที่สำคัญที่สุดของรูปแบบการสนับสนุนทางการเงินของจีน ในฐานะทางเลือกแหล่งเงินทุนสำหรับแอฟริกา คือ เงินกู้ที่ได้รับจากจีน ไม่มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปทางการเมือง เนื่องจากจีนยึดนโยบาย การไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในของประเทศอื่น “non-interference in the sovereign affairs of nations states” และมุ่งเน้นประโยชน์จากการค้าและการลงทุนเป็นหลัก
1
กลยุทธ์ที่สำคัญของจีนในการเข้ามามีบทบาทในแอฟริกา
  • ความพร้อมด้านสภาพคล่องทางการเงินในจีนที่มีการสะสมได้กว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (US$2 trillion) ตามรายงานของ JETRO ในปี 2009
1
  • แอฟริกามีช่องว่างของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure gap) อย่างมาก จากภาวะสงครามกลางเมืองและความไม่สงบทางการเมืองมายาวนาน
1
  • เงินให้กู้ยืมเน้นการสนับสนุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่
1
  • รูปแบบเงินกู้เป็นแบบมีหลักประกัน คือ ทรัพยากรธรรมชาติของแอฟริกา (natural resources) โดยเฉพาะน้ำมัน
1
  • เงื่อนไขเงินกู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการเพื่อลดความเสี่ยงการชำระหนี้ ในรูปของเงินกู้โครงการ (structured finances) ที่กำหนดบัญชีรับเงินรายได้ (escrow account provisions) และบัญชีสำรองเพื่อชำระหนี้ (debt repayment reserve accounts หรือ DSRAs) ซึ่งใช้โดยทั่วไปในวงการธนาคารในเงินกู้ลักษณะนี้
1
  • การร่วมลงทุนและเข้าซื้อกิจการและโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และด้านทรัพยากรธรรมชาติในแอฟริกา โดยเฉพาะด้านแร่ธาตุและพลังงาน
1
  • การตกลงเป็นผู้ดำเนินการในหลายโครงการขนาดใหญ่ ทั้งในส่วนการบริหารจัดการวัตถุดิบและแรงงาน
1
ก้าวต่อไปของประเทศในแอฟริกาในการพัฒนาประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องยากมากสำหรับประเทศในแอฟริกาที่จะหาหนทางในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากจุดแข็งของประเทศเองด้านทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่มีมาก และช่องว่างของการพัฒนาที่หยุดนิ่งไปเป็นระยะเวลายาวนาน หลายประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติประสบปัญหาสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องหลายสิบปี นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคจักรวรรดินิยมเป็นต้นมา
1
ภายหลังจากที่เหตุการณ์ความไม่สงบบรรเทาลง หลายประเทศประสบเงื่อนไขทางการเงินที่กดดันให้ต้องปฏิรูปการเมือง จนตัดสินใจหลีกเลี่ยงด้วยการหาแหล่งเงินทุนใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าในมิตินี้
1
เหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 จนถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด และความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อ และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือถดถอยในอนาคต ทำให้จีนชะลอการให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อลดความเสี่ยงการไม่สามารถชำระหนี้ได้ของประเทศในแอฟริกา นั่นคือเหตุผลอย่างเป็นทางการ กับวันนี้ที่ชาติตะวันตกต้องการกลับมาเพิ่มบทบาทในแอฟริกา และประเทศในแอฟริกาเองที่เริ่มต้องการสร้างสมดุลให้มากขึ้น
1
ประเทศในแอฟริกาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป มีทางเลือกอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการชะลอการพัฒนาประเทศตามข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จนกว่าจีนจะเลิกการชะลอโครงการเงินกู้ หรือหันกลับไปขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น World Bank และ IMF เป็นสิ่งที่เราจะต้องติดตามต่อไป
1
แล้วมาติดตามกันต่อในตอนถัดไป กับ Manage Your Money ค่ะ
References :
China's Finance in Africa
What and How Much?
Published online by Cambridge University Press:  17 December 2020
Evelyn F. Wamboye
China applies brakes to Africa lending , Financial Times, 11 January 2022
China in Africa, Strategic Overview, Executive Research Associates (Pty) Ltd, October 2009
African Growing Enterprises
Institute of Developing Economies Institute of Developing Economies
Japan External Trade Organization (JETRO)
โฆษณา