26 มี.ค. 2022 เวลา 14:33 • ธุรกิจ
แองโกลาได้รับเงินกู้จากจีนในจำนวนที่มากถึง 42.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีเงื่อนไขวงเงินที่ผ่อนปรนสูง (generous terms) เมื่อเปรียบเทียบกับเงื่อนไขการให้เงินกู้ทั่วไป แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้จีนคือเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของแองโกลา บทความนี้จะชวนเรามาไทม์แมชชีนไปดูเหตุการณ์ในช่วงปี 2004-08 ที่ทำให้จีนยกระดับบทบาทครั้งสำคัญได้สำเร็จ และสนุกกับการเรียนรู้ไปด้วยกันค่ะ
1
กรณีศึกษา:
แองโกลา (Angolan) และการก้าวเข้าสู่บทบาทเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของจีน
เรามาเริ่มต้นที่เรื่องราวที่สำคัญของแองโกลาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านเหตุการณ์ครั้งรุนแรงมามากมายและยาวนาน จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่การพัฒนาหยุดไปหลายร้อยปี
แองโกลาเป็นประเทศในตอนใต้ฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ในแอฟริกา
ในยุคจักรวรรดินิยม (Imperialism) โปรตุเกสได้เข้าไปตั้งรกราก (coastal settlement) และสาขาการค้า (trading posts) ในช่วงศตวรรษที่ 16 จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากโดยเฉพาะแร่ธาตุ (minerals) และน้ำมันสำรอง (petroleum reserves) และการค้าทาสร่วมกับคนในท้องถิ่น จนกระทั่งในปี 1975 ที่แองโกลาได้ประกาศอิสรภาพ (independennce) ซึ่งนำไปสู่สงครามกลางเมืองในปีเดียวกัน
1
ในครั้งนั้น มีพรรคการเมืองใหญ่ของแองโกลา 2 พรคที่เข้าร่วมเป็นแกนหลัก คือ
  • กลุ่มที่นิยมคอมมิวนิสต์ People's Movement for the Liberation of Angola (MPLA) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียด และคองโก กับ
  • กลุ่มที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ National Union for the Total Independence of Angola (UNITA) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา และแอฟริกาใต้
ทั้งสองพรรคการเมืองมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน คือ การร่วมกันเรียกร้องอิสรภาพจากโปรตุเกส ก่อนที่จะต่อสู้กันเรื่องระบบการปกครองภายหลังจากที่ได้รับอิสรภาพแล้วในปีเดียวกัน ซึ่ง MPLA ประสบชัยชนะและบริหารแองโกลาเป็นต้นมา
1
แองโกลาเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก แต่มีการกระจุกตัวของรายได้อย่างมาก ความมั่งคั่งของประเทศสะสมในกลุ่มคนจำนวนน้อยและเก็บรักษาความมั่งคั่งไว้ในจีน และสหรัฐอเมริกา เป็นหลัก สภาพความเป็นอยู่ในประเทศในแองโกลาแย่มาก มีอายุขัยเฉลี่ยน้อย ตั้งแต่ในปี 2017 รัฐบาลแองโกลาประกาศการต่อต้านคอร์รัปชั่น และมีการจับกุมและดำเนินคดีอดีตผู้่บริหารภาครัฐ
1
จากรายงานของ World Bank น้ำมันคิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP แองโกลา และ 95% เป็นรายได้จากการส่งออก กล่าวได้ว่า น้ำมัน คือทุกอย่างของเศรษฐกิจแองโกลา
ในบทความนี้จะเน้นช่วงเหตุการณ์ก่อนปี 2008 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของจีนกับบทบาทเจ้าหนี้รายใหม่ จนพัฒนาสู่การเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดในปี 2006
นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา แองโกลาประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงแทบทุกด้าน เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง จนส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ค่าเงิน และภาระหนี้สาธารณะ (public debt) ที่ขึ้นไปเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า 60% ของ GDP ซึ่งจะยังไม่กล่าวถึงในรายละเอียดในที่นี้
1
แองโกลาเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมากตั้งแต่ช่วงปี 2014 จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ
นโยบายด้านต่างประเทศและการเงินของแองโกลา
1
แองโกลาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศมาเน้นการพัฒนาความสัมพันธ์กับซีกโลกตะวันออก (foreign policy towards the East) อันเนื่องมาจากประเด็นการเมืองที่สะสมมาตั้งแต่อดีตที่พึ่งพิงซีกโลกตะวันตก (traditional Western partners) ตัวอย่างที่สำคัญคือ
1
  • แรงกดดันต่อปัญหาคอร์รัปชั่นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นอย่างมากโดย NGOs
  • International Monetary Fund (IMF) และ World Bank ที่กำหนดเงื่อนไขการปฏิรูปทางการเมือง และการเปิดเผยข้อมูลที่มากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลการค้าขายปริมาณน้ำมันสำรองของแองโกลา
  • ปัญหาการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อันเกิดจากสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาถึงเกือบ 30 ปี ตั้งแต่ประกาศอิสรภาพ
2
Riki Matsumoto Research Analyst | formerly @YaleSOM Program for Financial Stability
นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่แทบเริ่มจากศูนย์ ประเมินงบลงทุนสูงถึง 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนั่นหมายถึง การก่อหนี้ใหม่มหาศาล
ในปี 2002 ที่สิ้นสุดสงครามการเมือง แองโกลาประเมินว่าต้องใช้เงินสนับสนุนการพัฒนาประมา​ณ 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าสามารถระดมทุนในประเทศได้ 3-4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสถาบันการเงินในประเทศ
รัฐบาลแองโกลาจึงจำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนนอกประเทศเพื่อพัฒนาประเทศตามเป้าหมายอีกประมาณ 11-12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
1
ในปี 2004 สถานการณ์หนี้ต่างประเทศตั้งต้นของแองโกลาสูงถึง 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และความสามารถในการชำระหนี้ของแองโกลาที่ยากลำบากมาก
3
แต่แองโกลามีภาระหนี้เดิมที่สูงมาก และยังไม่สามารถชำระคืนได้ คือ
เงินกู้จาก Paris Club of Creditors จำนวน 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่นอกจากจะไม่สามารถชำระเงินต้นได้แล้ว การชำระดอกเบี้ยก็ยากลำบาก
1
เงินกู้จาก IMF ที่เข้ามาภายหลังและเริ่มเข้ามาตั้งเงื่อนไขที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปทางการเมืองและการบริหารจัดการน้ำมันสำรองของประเทศ และทำให้แองโกลาสามารถเจรจากับ Paris Club ในการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ได้สำเร็จ
1
แต่แองโกลาไม่ยินดีกับการสร้างเงื่อนไขการปฏิรูปทางการเมืองโดย IMF และรัฐบาลแองโกลาก็ล่าช้าในการดำเนินการ
การปรับรูปแบบโครงสร้างเงินกู้ (structured finance) และหนทางสู่ความสามารถในการชำระหนี้ และภาระดอกเบี้ยที่สูงมาก
“Oil backed Loan Policy”
1
เมื่อราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้นจาก 10 ดอลลาร์ ต่อบาเรล ในช่วงท้ายๆ ของศตวรรษที่ผ่านมา แองโกลาเริ่มเปลี่ยนไปกู้เงินที่อิงกับนำ้มันสำรองเป็นหลักประกัน (oil backed loan policy) ผ่าน Sonangol ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐ (state oil company) จนกลายเป็นรูปแบบเงินกู้หลักของแองโกลา ซึ่งทำให้แองโกลาสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
แต่เงินกู้ดังกล่าวมีดอกเบี้ยแพงมาก แองโกลาจ่ายส่วนเกินของดอกเบี้ยสูงมากเป็นค่าความเสี่ยงที่ถูกประเมินโดยเจ้าหนี้ สิ่งนี้เกิดจากการกำหนดจำนวนเงินกู้ที่ได้รับบนพื้นฐานของราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าราคาตลาดอย่างมาก
ในช่วงที่ผ่านมา Sonangol ได้เคยนำปริมาณน้ำมันสำรองเกือบทั้งหมดในแผนการผลิตในอนาคต (future planned oil production) เป็นหลักประกันเงินกู้ จนกระทั่งถูกวิจารณ์อย่างมากว่าเป็นรูปแบบเงินกู้ที่แพงมากและไม่เหมาะสมสำหรับแองโกลา เมื่อเทียบกับรูปแบบเงินกู้ที่ได้รับจาก IMF ที่แม้ว่าจะมีเงื่อนไขทางการเมืองอย่างมากก็ตาม (sizeable political reforms)
การเข้ามาของจีนในแองโกลาในฐานะเจ้าหนี้รายใหม่
ในขณะที่รัฐบาลแองโกลาตัดสินใจเลือกรูปแบบเงินกู้ที่อิงกับน้ำมันสำรอง (oil backed loan policy) นั้น จีนที่มีความสนใจการลงทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ ก็ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในแองโกลาตั้งแต่ในช่วงสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองในเดือนเมษายน 2002 ที่แองโกลาต้องการการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว (rapid socio-economic development) และนี่คือนโยบายที่สำคัญที่สุดของแองโกลาในขณะนั้น
1
จีน คือ ผู้ให้หนทางไปสู่ความสำเร็จ (solution) ด้วยการให้เงินกู้ แน่นอนว่าจีนได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในทางการเมืองด้วยในฐานะเจ้าหนี้ของแองโกลา ผ่าน China Exim Bank, China Development Bank (CDB), China Construction Bank (CCB), Sinosure และ China International Fund (CIF) เป็นต้น
1
  • ที่สำคัญที่สุดคือ เงินกู้ที่ได้รับจากจีน ไม่มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปทางการเมือง เนื่องจากจีนยึดนโยบาย การไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในของประเทศอื่น “non-interference in the sovereign affairs of nations states”
2
  • การเบิกเงินกู้เพื่อใช้ดำเนินงานตามโครงการของแองโกลาเป็นไปอย่างรวดเร็ว จากสภาพคล่องทางการเงินอย่างมากของจีน และการให้เงินกู้เป็นในลักษณะการให้กู้ที่สามารถกู้ได้เพิ่มในอนาคต หากมีความต้องการทางการเงินของแองโกลาเพื่อพัฒนาประเทศ
1
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ได้ปรับลดลง พร้อมกับตารางการชำระคืนหนี้ที่สมเหตุสมผลมากขึ้น (reasonable repayment schedules)
1
  • แลกกับการให้จีนเข้ามาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน (oil industry) และนั่นหมายถึงโอกาสการทำกำไรจากการลงทุนในอนาคต
1
ไทม์แมชชีนย้อนไปดูการพัฒนาการของการให้กู้เงินในรูปแบบที่อิงกับน้ำมันสำรอง (oil link)
“Loan Chronology and the Oil Link”
ช่วงที่ 1 : การพัฒนาความสัมพันธ์ในระดับสูงระหว่างรัฐบาลจีนและแองโกลา
1
เราอาจกล่าวได้ว่าจีนใช้เวลาหลายปีในการทำความรู้จักเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและหน่วยงานที่สำคัญของแองโกลา เพื่อพัฒนาไปสู่กรอบข้อตกลงของเงินกู้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแองโกลา
พฤษภาคม 2000: Kundy Pahyama ซึ่งเป็น Defense Minister ของแองโกลา ได้เดินทางไปจีน หลังจากที่ปริมาณการส่งออกน้ำมันจากแองโกลาไปจีนเพิ่มขึ้นจาก 40,000 bpd ในปี 1999 เป็น 174,000 bpd ในปี 2000
26 พฤศจิกายน 2003: การลงนามใน “Framework Agreement” ระหว่าง China’s Ministry of Foreign Trade and Economic Cooperation (MOFTEC) และกระทรวงการคลังของแองโกลา (the Angolan Ministry of Finance) ซึ่งเป็น “กรอบข้อตกลงในการร่างสัญญาเงินกู้จำนวนไม่เกิน 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดช่วงเวลาการพัฒนาโ่ครงสร้างพื้นฐานของแองโกลา”
กุมภาพันธ์ 2004: Manuel Vicente ผู้บริหารสูงสุดของ Sonangol เดินทางไปปักกิ่ง เพื่อหารือแนวทางการร่วมลงทุนในโครงการ (upstream and downstream sectors) ซึ่งรวมถึงโครงการโรงกลั่นน้ำมัน “Lobito Oil Refinery” ด้วยกำลังการผลิต 240,000 bpd
การลงนามในสัญญาเงินกู้ วงเงินกู้ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บวกกับวงเงินกู้ส่วนเพิ่มอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมีนาคม 2004 โดย China Exim Bank
1
มีนาคม 2004: Zeng Beyan (Chinese Deputy Prime Minister) เดินทางไปแองโกลา ตามด้วยการเดินทางไปปักกิ่งของนายกรัฐมนตรีแองโกลา และการลงนามในสัญญาเงินกู้ระหว่าง China Exim Bank และกระทรวงการคลังของแองโกลา วงเงินกู้ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บวกกับวงเงินส่วนเพิ่มอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐถ้ามีความจำเป็นเพิ่มเติม โดยครอบคลุมมากกว่า 100 โครงการ ประกอบด้วย รถบรรทุก 1,500 คันเพื่อใช้งานโดยชาวไร่ชาวนาและการค้าขายพืชผลการเกษตร การพัฒนาไฟฟ้า (power grid) โครงการเกษตรกรรม การสร้างถนน การพัฒนาด้านสาธารณสุข การศึกษา และการพัฒนาด้านสังคมต่างๆ เป็นต้น ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 17 ปี
กันยายน 2004: แองโกลาได้จัดตั้ง “Technical Monitoring Office (GAT)” สำหรับเงินกู้ที่ได้รับจากจีน โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นประธาน ทำงานร่วมกันระหว่าง กระทรวงการคลัง, Ministry for Public Works, หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินอื่นๆ และ Sonangol ที่เข้ามาในฐานะผู้เชี่ยวชาญเพราะเงินกู้ค้ำประกันโดยปริมาณการกลั่นน้ำมัน
ตุลาคม 2004: แองโกลาได้จัดตั้ง National Reconstruction Office (GRN) เพื่อกำกับดูแลการกู้ยืมเงินและการใช้จ่ายเงินจากแหล่งเงินต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเงินกู้จากจีน ภายใต้ Eximbank loan
ช่วงที่ 2 : การพัฒนาการให้เงินกู้ในโครงการที่สำคัญมากขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงโครงการพัฒนาโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ สนามบินใหม่ เมืองใหม่ ระบบรถไฟ และอื่นๆ
1
การลงนามในสัญญาเงินกู้ วงเงินกู้ 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่มีดอกเบี้ย สำหรับโครงการด้านเทคนิค (technical projects) และโครงการศึกษาความเป็นไปได้
1
26 กุมภาพันธ์ 2005: การลงนามในสัญญาเงินกู้จำนวน 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินกู้ที่ไม่มีดอกเบี้ยสำหรับโครงการด้านเทคนิค (technical projects) และมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจในการร่วมกันศึกษาการสำรวจน้ำมันใน Block 3/05 (เดิมคือ Block 3/80) ระหว่าง Sonangol และ Sinopec และการสำรวจความเป็นไปได้ของโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ของแองโกลา
การลงนามในสัญญาเงินกู้ วงเงินกู้ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบูรณะซ่อมแซมและพัฒนาพื้นที่ที่เสียหายในช่วงสงคราม
มีนาคม-เมษายน 2005: การลงนามในสัญญาเงินกู้ใหม่ระหว่าง China International Fund (CIF) และ GRN จำนวน 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบูรณะซ่อมแซมและพัฒนาพื้นที่ในแองโกลาที่ได้รับผลกระทบจากสงครามมายาวนาน ได้แก่
- โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ มูลค่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- โครงการส่วนขยายและซ่อมแซมรางรถไฟ มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- โครงการระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับเมืองหลวงแองโกลา และโครงการอื่นๆ
นอกจากนี้ สัญญาเงินกู้นี้ยังกำหนดวงเงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 6-7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มีระยะเวลาเบิกถอน 4 ปี
ช่วงที่ 3 : การพัฒนาไปสู่การร่วมลงทุนในโครงการที่สำคัญต่างๆ (joint venture)
1
การลงนามในกิจการร่วมทุนมูลค่าโครงการ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่
มีนาคม 2006 การจัดตั้งกิจการร่วมลงทุนระหว่าง Sonangol Refineries (Sonangref) และ Sinopec เพื่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันใน Lobito มูลค่าโครงการ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังการผลิต 240,000 bpd ตามที่ได้มีการหารือและร่วมศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2004 ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งผลให้จีนมีสถานะเป็นผู้เล่นต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดในแองโกลาในยุคการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม (post war reconstruction)
Reference: International Monetary Fund (IMF)
ช่วงที่ 4 : การพัฒนาสู่รูปแบบโครงสร้างเงินกู้ใหม่ (structured finance) ที่ไม่อิงกับน้ำมันสำรองเป็นหลักประกัน และการเข้ามามีบทบาทที่โดดเด่นขึ้นของ CADF และ CDB
1
เมษายน 2007: China-Africa Development Fund (CADF) และ China Development Bank (CDB) ได้หารือกับ Aguinaldo Jaime รองนายกรัฐมนตรีแองโกลา เรื่องเงินกู้ที่ไม่มีน้ำมันสำรองเป็นหลักประกัน โดยยังไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการในขณะนั้นในเรื่องรูปแบบโครงสร้างเงินกู้ใหม่
สิงหาคม-กันยายน 2008: แองโกลาและจีนกลับมาเริ่มหารืออย่างจริงจังและเห็นตรงกันที่จะใช้รูปแบบเงินกู้ใหม่ที่ไม่อิงกับน้ำมันสำรองเป็นประกัน เปลี่ยนเป็นการค้ำประกันโดยแบบ “sovereign guarantees” โดยกระทรวงการคลังแองโกลา เพื่อเป็นการรับความเสี่ยงร่วมกันในเงินให้กู้ที่รัฐบาลแองโกลาจะเข้ามารับผิดชอบในกรณีที่เงินกู้คงค้างที่ไม่สามารถชำระคืนได้ในอนาคต
sovereign guarantees เป็นรูปแบบโครงสร้างเงินกู้ใหม่ที่ไม่อิงน้ำมันสำรองเป็นหลักประกัน แต่เป็นการรับความเสี่ยงร่วมโดยรัฐบาลแองโกลา
1
  • CADF ซึ่งก่อตั้งในปี 2006 ได้รับ seed capital จำนวน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และถือเป็นเรือธงแรกในรูปของ Equity Fund เพื่อลงทุนในทวีปแอฟริกาของจีน โดยเฉพาะด้านไฟฟ้า ถนน รถไฟ ปิโตรเลียม และเกษตร
  • “sovereign guarantee” เป็นรูปแบบเงินกู้ที่ใช้โดยทั่วไปสำหรับโครงการพัฒนาโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศที่ขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ เช่น World Bank เป็นต้น
ช่วงที่ 5 : การชะลอเงินกู้ของจีนอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก และความสามารถการชำระหนี้ของแองโกลาที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น
1
ธันวาคม 2008: เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินและแองโกลาวิตกว่าจีนจะระงับโครงการเงินกู้ที่สนับสนุนแองโกลา ทำให้ Dos Santos ซึ่งเป็นประธานาธิบดีแองโกลาเดินทางไปจีนเพื่อ
  • ขอการยืนยันและรับปากว่าจะยังคงให้เบิกถอนเงินกู้ได้ตามปกติ
  • ขอความชัดเจนในการสนับสนุนการพัฒนาที่สำคัญ (flagship projects) ได้แก่ สนามบินแห่งใหม่ การพัฒนาเมืองใหม่ (new Luanda City project) Sonaref refinery, Soyo Technological and Industrial City and Development Pole), โรงไฟฟ้า และส่วนขยายการขนส่งทางอากาศและศูนย์ฝึกอบรมของ Sonangol
ในขณะนั้น แองโกลามองว่าควรดำเนินตามนโยบายการพัฒนาประเทศต่อไป แม้ว่าจะเกิดวิกฤติทางการเงินโลกในปี 2008 ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติในเวลาไม่นาน
อย่างไรก็ดี จีนมีนโยบายชะลอการให้เงินกู้เพิ่มเติมกับประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งยังคงเป็นไปตามแนวทางนี้จนถึงปัจจุบัน เพื่อบริหารความเสี่ยงโดยรวม
แองโกลาเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างมากตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก และความพยายามแก้ไขจนส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างมาก รวมทั้งภาระหนี้ที่มีสัดส่วนหนี้เงินตราต่างประเทศสูงมาก
Riki Matsumoto Research Analyst | formerly @YaleSOM Program for Financial Stability
แนวทางในระยะต่อไปของนโยบายเงินกู้และต่างประเทศของแองโกลา เพื่อผลักดันการพัฒนาประเทศ
ในช่วงหลังนี้ แองโกลาได้ขอเจรจากับ IMF เพื่อเพิ่มแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมจากเงินกู้ที่ได้รับจากจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของประเทศ เพื่อรักษาสมดุลของนโยบายหนี้ต่างประเทศของแองโกลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป โดยเฉพาะในเรื่อง
  • รัฐบาลแองโกลาจะยินยอมรับเงื่อนไขการปฏิรูปทางการเมืองที่เคยเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้หาแหล่งเงินกู้ใหม่ และเป็นโอกาสของจีนที่ก้าวเข้ามาเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
  • เงื่อนไขเงินกู้จากแหล่งเงินทุนอื่น โดยเปรียบเทียบกับเงินกู้ที่ได้รับจากจีน เนื่องจากแองโกลาได้รับเงินกู้จากจีนในจำนวนวงเงินที่มากและมีเงื่อนไขวงเงินที่ผ่อนปรนสูง (generous terms) เมื่อเปรียบเทียบกับเงื่อนไขการให้เงินกู้ทั่วไป เช่น หลักประกันที่พิจารณารูปแบบ sovereign guarantees ขณะที่ธนาคารอื่นยังต้องการอิงกับน้ำมันสำรองเป็นหลักประกัน รวมทั้ง อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า
1
ทวีปแอฟริกาเป็นดินแดนที่มีความน่าสนใจอย่างมาก และมีเรื่องราวผ่านห้วงเวลาหลายร้อยปีที่มากมาย ในบางช่วงเสมือนว่าโลกหยุดหมุนในซีกฝั่งทวีปแอฟริกา ไม่มีการพัฒนาใดๆ เกิดขึ้นที่นั่น และในบางช่วงที่เสมือนว่าเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด หรือเศรษฐกิจที่มีปัญหาในทุกมิติในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากการพึ่งพิงรายได้ต่างประเทศบนทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ามากเกือบทั้งหมดของระบบเศรษฐกิจ
ยังมีอีกหลายเรื่องราว อีกหลายรายละเอียดในเส้นทางการพัฒนานี้ ที่รอให้เราเข้าไปศึกษาค้นคว้าต่อ ไม่ง่ายเลยที่จะเข้าใจจากมุมมองและเหตุผลในปัจจุบัน เพราะเงื่อนไขของเวลาที่ต่างกัน และเหตุผลที่เราเชื่อว่าเป็นบรรทัดฐานก็อาจไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ในอดีต อยากให้เราสนุกและท่องไปกับโลกแห่งการเรียนรู้ด้วยกันค่ะ
แล้วพบกันใหม่ในตอนถัดไป กับ Manage Your Money ค่ะ
โฆษณา