Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่าน เขียน เรียน รู้
•
ติดตาม
20 พ.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
5 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับความอ้วน
แม้ว่าความอ้วนจะเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับความอ้วนนั้นยังคงมีอยู่มาก ซึ่งความเชื่อผิด ๆ นี้เองนำมาซึ่งการตีตราทางสังคมแก่คนอ้วนแบบผิด ๆ ดังนั้นแล้วเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความอ้วนหรือโรคอ้วนกันดีกว่า
นิยามของโรคอ้วนในผู้ใหญ่สำหรับคนไทยนั้น คือ การมีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index, BMI) มากกว่า 25.0 กิโลกรัม/เมตร^2 ขึ้นไป การคำนวณดัชนีมวลกายสามารถทำได้โดย นำน้ำหนักหน่วยเป็นกิโลกรัม มาหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม สูง 1.60 เมตร ดังนั้นดัชนีมวลกายเท่ากับ 100 หารด้วย 1.6^2 ได้ค่าเท่ากับ 100/2.56 = 39.06 ซึ่งมากกว่า 25 ดังนั้นแล้วคนนี้เป็นโรคอ้วนนั่นเอง
ในประเทศสหรัฐอเมริการพบว่าความชุกของโรคอ้วนสูงถึง 42.4% และสถิติจากองค์การอนามัยโลกพบว่าผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนบนโลกใบนี้มีมากถึง 650 ล้านคน
ปัจจุบัน ประชาชนให้ความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาของโรคอ้วนกันมากขึ้น แม้ว่าจะมีการรณรงค์เรื่องโรคอ้วน ให้ความรู้แก่ประชาชน โดยกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานของรัฐ ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับความอ้วนยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ ไม่หายไปจากสังคมเรา
ดังนั้นแล้ว เพื่อที่จะได้เข้าใจเกี่ยวกับโรคอ้วน เรามาดูกันว่า 5 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับความอ้วนกัน
5 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับความอ้วน
1. เพียงแค่กินน้อยลง ออกกำลังกายมากขึ้น ก็สามารถลดความอ้วนได้
2. โรคอ้วนเป็นสาเหตุของเบาหวาน
3. คนอ้วนเป็นคนขี้เกียจ
4. พ่อแม่เราอ้วน (รวมทั้งญาติเราด้วย) เราจึงอ้วน
5. ความอ้วนไม่ส่งผลอะไรต่อสุขภาพ
1. เพียงแค่กินน้อยลง ออกกำลังกายมากขึ้น ก็สามารถลดความอ้วนได้
สาเหตุของโรคอ้วนในผู้ป่วยหลาย ๆ ราย เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีพลังงานมากกว่าที่ร่างกายต้องการเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นการกินให้น้อยลง ออกกำลังกายมากขึ้น หรือทำทั้งคู่ก็น่าจะสามารถลดน้ำหนักได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญ นอกเหนือไปจากการกินอาหารหรือออกกำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ การนอนหลับไม่เพียงพอ ความเครียด อาการปวดเรื้อรัง ภาวะฮอร์โมนผิดปกติ (เช่น โรคคุชชิ่ง โรคเบาหวาน โรคธัยรอยด์ทำงานต่ำ) โรคทางพันธุกรรม ยาบางชนิด (เช่น ยาเบาหวาน ยากันชัก ยาสเตียรอยด์) นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารเรายังมีบทบาทสำคัญในการย่อยอาหารและผลิตพลังงานแก่ร่างกายมนุษย์
ดังนั้นแล้วก่อนจะตีตราหรือกล่าวโทษคนอ้วนว่า ไม่รู้จักควบคุมอาหาร ไม่ออกกำลังกาย สำหรับโรคอ้วนของคน ๆ นั้น การรับประทานอาหารหรือออกกำลังกายไม่พอ อาจไม่ใช่สาเหตุของโรคอ้วน ขอให้เข้าใจอย่าได้ด่วนตัดสินไปก่อน
2. โรคอ้วนเป็นสาเหตุของเบาหวาน
โรคอ้วนไม่ใช่ “สาเหตุโดยตรง” ของโรคเบาหวาน คนอ้วนทุกคนไม่ได้เป็นเบาหวาน และคนที่เป็นเบาหวานทุกคน ไม่ได้เป็นโรคอ้วน แต่โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างนหนึ่งของโรคเบาหวาน หมายความว่า ถ้าเราอ้วน เราจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานมากขึ้นกว่าคนที่ไม่อ้วน
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรามีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ มาส่งเสริม เช่น มีกรรมพันธุ์ พ่อแม่หรือญาติสายตรงเป็นเบาหวาน การรับประทานอาหารจำพวกข้าว แป้ง น้ำตาล ที่มาจนเกินไป การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีความเครียด โอกาสที่คนอ้วนคนนั้นก็จะเป็นเบาหวานย่อมสูงขึ้น
3. คนอ้วนเป็นคนขี้เกียจ
เป็นที่ทราบกันดีว่าการใช้ชีวิตที่ไม่มีกิจกรรมทางกาย (physical activity) หรือมีน้อย วัน ๆ นั่ง ๆ นอน ๆ เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคอ้วน การมีกิจกรรมทางกายมากขึ้นสามารถลดน้ำหนักได้ เรื่องนี้ย่อมกระตุ้นสมองเราให้อคติว่า เพราะขี้เกียจเลยอ้วน ไม่ยอมไปออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามความเชื่อนี้ผิดถนัด
มีงานวิจัยที่น่าสนใจที่จะมาหักล้างความเชื่อผิด ๆ นี้ ที่ว่าคนอ้วนเป็นคนขี้เกียจ งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจใจแคนาดา ติดตามนับจำนวนก้าวด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดในคนสุขภาพดี คนน้ำหนักเกิน และคนอ้วนเดินในแต่ละวันและมาเปรียบเทียบกัน ผลการสำรวจพบว่าจำนวนก้าวของคนในสามกลุ่มไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ คนสุขภาพดี และคนอ้วนนั้นเดินในแต่ละวันพอ ๆ กัน คือราว ๆ 8000-9000 ก้าวต่อวัน
ดังนั้นแล้ว ความเชื่อที่ว่าคนอ้วนมักเกียจคร้านนั้นไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีกิจกรรมทางกายน้อยอยู่แล้ว ควรหันมาออกกำลังกายเพิ่ม เดินมากขึ้น ขยับตัวมากขึ้น จะได้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน
4. พ่อแม่เราอ้วน (รวมทั้งญาติเราด้วย) เราจึงอ้วน
ความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนและปัจจัยทางพันธุกรรมมีความสลับซับซ้อน แต่มิใช่ว่าญาติเราอ้วนแล้ว เราต้องอ้วนเหมือนเขา อย่างไรก็ตาม โอกาสหรือความเสี่ยงของเราที่จะอ้วนนั้นสูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีคนในบ้านเป็นโรคอ้วน
มีงานวิจัยมากมายพบว่าพบว่าโรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับยีนส์บางอย่าง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 พบยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนกว่า 50 ตัว ส่วนใหญ่แล้วส่งผลต่อน้ำหนักตัวบ้างเล็กน้อย แต่ถึงกระนั้น สิ่งแวดล้อมภายนอกตัวเรา เช่น อาหารการกิน การใช้พลังงาน จุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร ก็เป็นปัจจัยสำคัญนอกเหนือไปจากยีนที่ส่งผลต่อน้ำหนักตัวและโรคอ้วน
ดังนั้นแล้ว ถ้าเราอ้วน พันธุกรรมจากพ่อแม่เราส่งผลหรือเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน แต่ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ก็สำคัญเช่นกัน มิใช่ว่าจะโทษว่าเพราะพ่อแม่เราอ้วน เราจึงอ้วนเหมือนกันเสมอ
5. ความอ้วนไม่ส่งผลอะไรต่อสุขภาพ
ความเชื่อนี้ผิดอย่างชัดเจน มีหลายภาวะทางสุขภาพเกี่ยวข้องกับความอ้วน เพิ่มความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ข้อเสื่อม โรคหยุดหายใจตอนนอนหลับ สมรรถภาพทางเพศเสื่อมและโรคทางสุขภาพจิตต่าง ๆ
มีรายงานจากกรมควบคุมโรคสหรัฐอเมริการายงานว่า การลดน้ำหนักเพียง 5-10% ส่งผลดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นความดันที่ดีขึ้น ระดับไขมันโคเลสเตอรอลที่ลดลง และระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น นอกจากนี้การลดน้ำหนักยังอาจสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคอ้วนได้เช่นกัน
ดังนั้นแล้วความอ้วนส่งผลต่อสุขภาพเราได้ แม้ว่าจะไม่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่ในอนาคตโรคภัยต่าง ๆ อาจถามหาได้ โปรดอย่าชะลาใจ
อ่านมาครบ 5 เรื่องความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับความอ้วนกันแล้ว เมื่อเข้าใจได้ถูกต้อง ลองหันมาดูแลสุขภาพเพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงความอ้วนกัน นอกจากนี้อย่าด่วนตัดสิน กล่าวโทษหรือตีตราว่าคนอ้วนเป็นคนที่ตะกละ มูมมาม หรือเกียจคร้าน ไม่ยอมออกกำลังกาย เพราะความอ้วนอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่เราไม่ทราบทั้งหมด เราเพียงยอมรับ เข้าใจ และให้กำลังใจ แนะนำให้เขาลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพที่ดีหรือไม่ก็แนะนำไปพบแพทย์ก็ได้ครับ
อ้างอิง
-
https://www.medicalnewstoday.com/articles/medical-myths-5-common-myths-about-obesity#5.-Obesity-does-not-impact-health
-
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21510585/
สุขภาพ
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
รู้ทันหมอ
เรื่องอ้วน ๆ ควรบอกต่อ
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย