Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
24 พ.ค. 2022 เวลา 01:09 • ไลฟ์สไตล์
“มีชีวิตที่ไม่ประมาท”
“… พระพุทธเจ้าเราพอท่านตรัสรู้แล้วก็พิจารณาสัตว์โลก สัตว์โลกที่สอนได้ก็มี ท่านก็ออกสอน ช่วงนี้ใช้เวลา 2 เดือน
2 เดือน ท่านเสวยวิมุตติสุขอยู่ 49 วัน แล้วท่านก็เดินทางไปตามปัญจวัคคีย์ที่ไปเจอที่สารนาถ แล้วก็ไปสอนปัญจวัคคีย์
ธรรมเทศนากัณฑ์แรกคือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ท่านแสดงในวันอาสาฬหบูชา 15 ค่ำเดือน 8
ท่านตรัสรู้ 15 ค่ำ เดือน 6
2 เดือน แต่ 2 เดือนนี้ ท่านเสวยวิมุตติสุขอยู่ 7 สัปดาห์
7 คูณ 7 เท่ากับ 49
แล้วถัดจากนั้นท่านก็ออกมาทำงาน ก็ปฏิบัติ ท่านก็ภาวนาของท่านจนกระทั่งพ้นทุกข์ แล้วท่านก็เอามาบอกต่อ ผู้มีปัญญาก็รู้ตามได้ ผู้ไม่มีปัญญาก็รู้ตามไม่ได้
…
ต้นบัญญัติพระวินัย
พอศาสนาพุทธได้รับความนับถือจากผู้คนจำนวนมาก ทั้งพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งเศรษฐี ทั้งชาวบ้านทั่วๆ ไป ทั้งนักบวชดังๆ หลายสำนัก เข้ามาเรียนเป็นลูกศิษย์ท่าน ผู้คนก็หลั่งไหลมาหาท่าน
พอผู้คนหลั่งไหลมา ลาภสักการะมันก็เกิดมาก คราวนี้ผีเปรตอะไรมันก็ตามมา พวกเลวๆ มันก็ตามมาบวช ก็มาอยู่ในวัดก่อเรื่องก่อราว ทำเรื่องเสียหายอะไรเกิดขึ้นเยอะแยะ
เป็นต้นตอให้เกิด การบัญญัติพระวินัยจำนวนมาก ก็เพราะพวกที่มันมีกิเลสนี่ล่ะ มันเข้ามาบวช
ท่านเมตตา ถ้าจะเลือกคนที่กิเลสเบาบางบวช ศาสนาพุทธก็อยู่ไม่ได้หรอก เพราะคนที่กิเลสเบาบางมีอยู่นิดเดียวนั่นล่ะ คนส่วนใหญ่กิเลสมันยังหนา แต่ว่ามาได้ยินได้ฟังธรรมะ ค่อยๆ ขัดเกลา กิเลสก็ค่อยๆ บางลง นี่คือความเมตตากรุณาของท่าน
แต่เดิมหลวงพ่อสงสัย พระ ขออนุญาตนะ พระเห้ๆ อย่างฉัพพัคคีย์ ทำไมท่านไม่ไล่มันไป ท่านปล่อยมันไว้ เป็นต้นบัญญัติจำนวนมากเลย
1
พระฉัพพัคคีย์ ไม่ใช่ชื่อคน ฉัพพัคคีย์แปลว่าหมู่ 6 คน พระฉัพพัคคีย์เป็นต้นบัญญัติเพียบเลย ทำให้พระเราต้องท่องปาติโมกข์เยอะแยะเลยทุกวันนี้
มานึกอีกที พวกนี้มีคุณูปการ ทำให้พระพุทธเจ้าได้บัญญัติพระวินัย ศาสนาของพระพุทธเจ้าบางพระพุทธเจ้าอยู่ไม่นานก็อันตรธานสูญไป เพราะพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นท่านไม่บัญญัติพระวินัย
อาศัยความดีของพระฉัพพัคคีย์หลายๆ องค์ ไม่ใช่ฉัพพัคคีย์คนเดียวล่ะ ก็เป็นต้นตอทำให้บัญญัติพระวินัยขึ้นมา
เราจะต้องไม่แปลกใจ เห็นไหม ทำไมพระไม่ดีมี ก็มี มีมาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว แต่คนที่ดีก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเอง ดีขึ้นๆ ในที่สุดก็เข้าใจธรรมะ เข้าใจอริยสัจ พ้นทุกข์ไป
คนไม่ดีพระพุทธเจ้ายังให้โอกาส เทวทัตจะมาก่อเรื่องท่านจะรู้ไหม ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่านจะรู้
ครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อรู้จักตั้งหลายองค์ ท่านก็รู้อะไรต่ออะไรในอนาคตตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ท่านไม่มาเป็นหมอดูทายคนโน้นคนนี้หรอก เพียงแต่ท่านรู้ ท่านก็บอก บางทีท่านก็กระซิบๆ บอกว่าจะเป็นอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้อะไรอย่างนี้
…
พระพุทธเจ้าทำไมจะไม่รู้ว่าเทวทัตจะมาก่อเรื่อง แต่ท่านสงเคราะห์ ให้โอกาส แล้วตอนหลังเห็นไหม พอความดีของท่านชนะใจเทวทัต
เทวทัตคิดจะกลับมาขอขมาท่าน เขามาด้วยใจจริงๆ มาด้วยใจที่ยอมจำนนจริงๆ ไม่ใช่ขอขมาเพราะสื่อด่า ขอขมาเพราะสื่อมันด่ามาก โซเชียลโจมตีอะไร เลยต้องขอขมา ไม่ใช่ เทวทัตไม่มีอย่างนั้น เทวทัตมาด้วยใจจริงๆ
อยากมาขอขมาพระพุทธเจ้าก่อนจะตาย แต่มาไม่ทัน จมลงไปในโคลนก่อน ในธรณีสูบ ในขณะที่ตาย มือเท้าอะไรนี่จมดินไปหมดแล้ว เหลือแต่หัว แกเอาลูกคางของแกนี่แตะลงไปที่พื้นดิน ขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกระดูกลูกคางนี้
อานิสงส์ที่เทวทัตทำมาตั้งแต่อดีตมากมาย ไม่ใช่ไม่มีบารมี มีเยอะ แต่ขี้อิจฉาไปหน่อย รวมทั้งความสำนึกผิดในนาทีสุดท้ายของชีวิต พระพุทธเจ้าท่านถึงพยากรณ์ว่าต่อไปเทวทัตจะได้เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ปัจเจกพระพุทธเจ้าบารมีเยอะกว่าอัครสาวกอีก
ถ้าพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้โอกาสเทวทัตใช่ไหม เทวทัตจะไม่ได้มาถึงตรงนี้ นี่คือความกรุณาของพระพุทธเจ้า ให้โอกาสกระทั่งคนแย่ๆ ท่านเองยอมรับสภาพ ความเดือดร้อนอะไรมากมาย
เหมือนหลวงพ่อก็เห็นตามวัดบางที ครูบาอาจารย์ท่านก็เลี้ยงพระเหลวไหลเอาไว้ตั้งเยอะ ท่านไม่ไล่ไป ท่านก็หวังว่าวันหนึ่งมันจะดีได้บ้าง ถ้าไล่มันไปแล้ว มันคงไม่ได้ดีเลย มันจะลำบาก ก็เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านดูแลเทวทัตนั่นล่ะ ความเมตตาของท่านสูงจริงๆ ความกรุณา
ท่านก็ภาวนาแล้วก็รู้ธรรมรู้แจ้ง แล้วท่านก็ค่อยๆ สอนออกไป จนวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน วาระสุดท้ายของชีวิต ท่านก็ยังทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้าจนกระทั่งถึงชั่วโมงสุดท้ายของชีวิต ยังทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้าอยู่
ท่านอุตส่าห์เดินไปที่กุสินารา เมืองบ้านนอกเล็กๆ เลย เพราะว่าท่านจะต้องไปโปรดสาวกองค์สุดท้ายที่จะทันท่าน คือพระสุภัททะ สุภัททะจะต้องมาถามกรรมฐานท่าน เป็นคนสุดท้าย
ตอนท่านไปถึงกุสินารา นอนป่วยหนักแล้ว สุภัททะปริพาชกก็มาขอเข้าเฝ้า พระอานนท์ไม่ให้ พระพุทธเจ้าได้ยิน ท่านบอกให้เรียกเข้ามา ที่ท่านอุตส่าห์มากุสินาราก็เพราะเรื่องนี้ล่ะ เป็นเหตุหนึ่งๆ ไม่ใช่เหตุเดียว ท่านจะต้องมาโปรดสุภัททะ แล้วท่านก็สอนสุภัททะ
สุภัททะมาถึงก็ถามเลยว่า สำนักนั้นเป็นพระอรหันต์ไหม สำนักนี้เป็นพระอรหันต์ไหมอะไรอย่างนี้ ท่านบอกว่าอย่าสนใจเลย ไม่มีเวลาที่จะมาตอบคำถามอย่างนั้นแล้วล่ะ แล้วท่านก็สอนกรรมฐานให้
1
สุภัททะก็ออกไปภาวนา ไปเดินจงกรม ตั้งใจว่าเราจะต้องเข้าใจธรรมะ รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจที่ท่านสอนมาก่อนที่ท่านจะนิพพาน
ท่านก็เด็ดเดี่ยว สร้างบารมีมาไม่ใช่น้อย ท่านเริ่มสร้างบารมีมาพร้อมๆ กับพระโกณฑัญญะ เป็นพี่น้องกัน แล้วองค์หนึ่ง ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นปฐมสาวก องค์น้องตั้งความปรารถนาเป็นปัจฉิมสาวก ก็แปลกขอเป็นคนสุดท้าย
แล้วในที่สุดท่านก็ทำสำเร็จทั้งคู่ ทั้งพี่ทั้งน้อง ท่านก็บรรลุพระอรหันต์ทัน ได้เห็นพระพุทธเจ้าทัน
เพราะฉะนั้นท่านทำหน้าที่ของท่านตั้งแต่ต้นจนจบสะอาดหมดจดมาก ไปดูประวัติท่าน หลวงพ่อศึกษาประวัติท่าน บางทีปีติ น้ำตาตกเหมือนกัน
คนจะบอกพระร้องไห้ เราไม่ได้นั่งร้องไห้เพราะโสกะ ความเศร้าโศก มันมีธรรมปีติ อ่านเรื่องพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เรื่องท่านต่อสู้มาอย่างยากลำบากอะไรนี่ ใจเราฮึกเหิม ใจเราอิ่มเอิบ ฮึกเหิม
ตอนท่านจะปรินิพพาน อ่านมาถึงตรงนี้ ใจเราก็สลดสังเวช ขนาดพระพุทธเจ้าประเสริฐที่สุดยิ่งกว่าใครๆ ในโลก ถึงจุดหนึ่งท่านก็ต้องทิ้งธาตุทิ้งขันธ์นี้ไป แล้วก็เอาไปเผาทิ้ง ไม่ได้เก็บเอาไว้ทำมัมมี่ เอาไว้หลอกคนต่อ
ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
นี่คือเหตุการณ์ในวันวิสาขบูชา ตั้งแต่การเกิดของเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านออกมาบวช จนท่านเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาออกสอน จนกระทั่งท่านปรินิพพาน
ก่อนปรินิพพาน ท่านยังให้ธรรมะไว้อีก บอกให้พวกเราถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ให้พวกเราอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ถ้าเราประมาทก็คือเราปล่อยวันปล่อยเวลาให้มันล่วงไป นี่ประมาทในชีวิต ประมาทในวัย ยังหนุ่มยังสาว ยังไม่ต้องภาวนาอะไรอย่างนี้ นี่พวกประมาททั้งสิ้น
ถ้าไม่ประมาททำอย่างไร ไม่ประมาทก็คือลงมือเสียแต่เดี๋ยวนี้เลย ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะสายเกินไป ลงมือปฏิบัติเสียตั้งแต่วันนี้
แต่ก่อนปฏิบัติต้องเรียนธรรมะก่อน ต้องรู้ ปฏิบัติ มี 2 อัน ปฏิบัติจริงๆ มีศีลด้วย แล้วการฝึกจิตมี 2 ส่วน ฝึกจิตให้มีสมาธิกับฝึกจิตให้มีปัญญา
1
ฝึกจิตให้มีสมาธิ เรียกว่าสมถกรรมฐาน
ฝึกจิตให้มีปัญญา เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน
นี้คืองานที่เราต้องทำ
บางคนบอกว่าไม่มีหรอกคำว่า สมถะ วิปัสสนา ในพระไตปิฎกไม่มี มี พระพุทธเจ้าบอกธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน มีเหมือนกัน
ถ้าเราไม่ประมาท เราได้ยินได้ฟังอย่างนี้ เราก็ลงมือทำ ถือศีลไว้ สำหรับฆราวาส ศีล 5 พอแล้ว ตามกาลเทศะที่สมควร ก็ถือศีล 8
เช่นบางท่านวันเกิดถือศีล 8 อะไรอย่างนี้ บางคนวันพระถือศีล 8 ถือเป็นวันๆ ไม่ได้ถือทุกวันหรอก ไม่ใช่เป็นนิจศีลหรอก
เป็นฆราวาสทำงานหนัก อดข้าวเย็นทุกวัน เดี๋ยวก็เป็นโรคกระเพาะจนได้ ฉะนั้นธรรมะไม่ได้โหดร้ายทารุณอะไรนักหนา
เป็นพระถ้าฉันข้าวเย็นเป็นโรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย ลำบาก แล้วก็อีกอย่างจะต้องท้องเสียยับเยินเลย เพราะไปบิณฑบาตมาแต่เช้า เก็บไว้ฉันตอนเย็น ยกเว้นแต่บางที่เขาฉันมาม่า ฉันอะไร อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง
เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ประมาท
มีชีวิตที่ไม่ประมาท ทุกลมหายใจเข้าออก ให้มีสติไว้
จะหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ อะไรก็ได้
หรือจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็มีสติไว้
มีสติอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
มีสติอยู่ทุกๆ อิริยาบถ
แล้วก็เวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันกระทบอารมณ์ เกิดความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย รู้สึก เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจ รู้สึก
ถ้าเราทำได้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้ามีสติอยู่ได้อย่างนี้ รู้กายรู้ใจอยู่ได้คืนเดียว มีคุณค่ามากกว่าคนที่อายุร้อยปีที่ไม่เคยมีสติอีก
1
อย่างพวกเราอยากอายุยืนๆ แต่อายุยืนแล้วก็ไม่มีแก่นสารสาระอะไร ก็อย่ายืนเลย เกะกะชาวบ้านเขา แต่ถ้าเรามีสติ ท่านบอกแม้เพียงราตรีเดียวก็พึงชม
เพราะฉะนั้นเราจะไม่ประมาท ตั้งใจไว้ให้เด็ดเดี่ยว ต่อไปนี้เราไม่ประมาท
เราจะมีสติหายใจออก เราจะมีสติหายใจเข้า
เราจะมีสติยืน เดิน นั่ง นอน
เราจะมีสติเคลื่อนไหว เราจะมีสติหยุดนิ่ง
เราจะมีสติ เวลาความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย
มีสติรู้ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ
มีสติรู้ รู้ลงไป กุศล อกุศลเกิดขึ้นในจิตใจ
มีสติรู้ อย่างโกรธขึ้นมา รู้ว่าโกรธ
โลภขึ้นมา รู้ว่าโลภ
มีสติกำกับกายกำกับใจของเราไปเรื่อยๆ
แล้ววันหนึ่งเราก็จะได้เข้าใจอริยสัจ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
15 พฤษภาคม 2565
https://www.dhamma.com/four-noble-truths/
เยี่ยมชม
dhamma.com
อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด
อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด เป็นหัวใจของธรรมะเลย ครอบคลุมธรรมะทั้งหมดเอาไว้ได้ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจเสียตัวเดียว สังสารวัฏก็ถล่มลงต่อหน้าต่อตา
Photo by : Unsplash
5 บันทึก
9
4
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
5
9
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย