Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
30 พ.ค. 2022 เวลา 05:11 • ไลฟ์สไตล์
“โลกนี้ไม่มีอะไร โลกนี้มีแต่ทุกข์
… โลกก็อยู่ส่วนโลก
โลกก็กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง
แต่ใจเราไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง เพราะเข้าใจโลก”
2
“ … จิตเข้าถึงความเป็นกลาง
พอใจเราภาวนามากๆ เราเห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จิตใจเราจะค่อยๆ เป็นกลางมากขึ้นๆ
อย่างแต่เดิมเราหิวความสุข พอเราภาวนาเรื่อยๆ
เราก็จะเห็นความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ความหิวในความสุขมันก็จะลดลง
ไม่รู้จะดิ้นรนหาอะไรหนักหนา เหน็ดเหนื่อยแทบตาย
อย่างคนในโลกทั่วไปมันดิ้นรนหาความสุขทั้งนั้นล่ะ ถึงขนาดไปเล่นงานพระ เล่นงานเจ้าอะไร เพราะอยากมีความสุขนั่นล่ะ ไม่ได้อยากทุกข์อะไรหรอก
ถ้าเฝ้าดูลงไป โอ้ ที่หาความสุข ที่จริงคือหาความทุกข์
แล้วความสุขที่ได้มาก็ไม่ยั่งยืน ใจมันเห็นอย่างนี้
หรือเวลาความทุกข์เกิดขึ้น เราก็เห็น
ความทุกข์ก็เป็นของไม่ยั่งยืน ความสุขก็ไม่ยั่งยืน
ใจจะค่อยๆ โน้ม ไปสู่ความเป็นกลาง
มันเป็นกลางเอง ไม่ต้องไปทำให้มันเป็นกลาง
ถ้าไปทำให้มันเป็นกลาง มันก็เกินจากคำว่าเห็นไปแล้ว
เห็นจิตใจมันสุข เห็นจิตใจมันทุกข์ เห็นเฉยๆ
ถึงจุดหนึ่งปัญญา มันจะเกิด
สุขกับทุกข์นั้นเท่าเทียมกัน ด้วยความเป็นไตรลักษณ์
คือไม่เที่ยงเหมือนๆ กัน
ทนอยู่ไม่ได้เหมือนๆ กัน
บังคับไม่ได้ตามใจชอบเหมือนๆ กัน
พอจิตมันเข้าสู่ความเป็นกลาง มันก็จะหยุดการดิ้นรน
พอเป็นกลาง มันก็คือมันจะไม่อยากต่อแล้ว
ที่มันมีตัณหาขึ้นมา เพราะมันไม่ยอมเป็นกลางนั่นล่ะ
ถ้ามันเป็นกลาง มันก็ไม่ต้องอยาก
อย่างมันเป็นกลางต่อความสุข เป็นกลางต่อความทุกข์
มันก็ไม่ได้อยากได้ความสุข ไม่ได้อยากหนีความทุกข์
เมื่อไม่มีความอยาก ความดิ้นรนของจิตก็ไม่เกิด
จิตใจก็เข้าถึงสันติสุข เข้าถึงความสงบสุข ไม่ดิ้น
ถ้าอินทรีย์แก่กล้าพอ ศีล สมาธิ ปัญญาแก่กล้าพอ
อริยมรรค อริยผลก็จะเกิดขึ้น เกิดเอง
ไม่มีใครสั่งให้เกิดได้
เพราะฉะนั้นเราหัดรู้หัดดูสภาวะทั้งหลาย
ที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในปัจจุบัน
เกิดขึ้นในจิตในใจเรานี่ล่ะ เกิดตลอดเวลา
ดูจนกระทั่งจิตเข้าถึงความเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง
จิตจะหมดการดิ้นรน หมดความหิวโหย
ถ้าสติ สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว
การที่เราฝึกรู้ฝึกดูนั่นล่ะ
จากไม่เคยมีศีล ก็จะมีศีล
จากไม่เคยมีสมาธิที่ถูกต้อง ก็จะมีสัมมาสมาธิ
จากที่ไม่เคยเห็นไตรลักษณ์ ก็จะเห็น
ในที่สุดจิตก็เป็นกลาง
ฉะนั้นการที่เรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองนั่นล่ะ
ศีล สมาธิ ปัญญามันจะสมบูรณ์ขึ้น
เมื่อศีล สมาธิ ปัญญามันสมบูรณ์แล้ว
อริยมรรคก็จะเกิดขึ้นเอง
เราไม่ต้องสั่ง ถึงจุดหนึ่ง มันเกิดเอง
จะห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ มันเกิดได้เองอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นหน้าที่เราทำอย่างไร
หน้าที่เราไม่ใช่ไปทำมรรคผลให้เกิด
เพราะบอกแล้วไม่มีใครทำได้
หน้าที่เราก็คือเจริญสติไป
มีสติรู้กายอย่างที่กายเป็น
มีสติรู้เวทนาอย่างที่เวทนาเป็น
เวทนาที่ดูง่ายคือเวทนาทางใจ
เวทนาทางกายเล่นยาก จิตไม่ทรงฌานจริง
ดูเวทนาทางกาย ทุกข์หนักๆ สติแตกเอา
ฉะนั้นแนะนำให้ดูเวทนาทางใจ
ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ในใจเรา
รู้ไปเรื่อยๆ ไม่เห็นจะยากอะไรเลย
ตอนนี้ใจเราสุขเราก็รู้ ตอนนี้ใจเราทุกข์เราก็รู้
ตอนนี้ใจเราเฉยๆ เราก็รู้ ก็หัดอย่างนี้ไป
หรือใจเราเป็นกุศลขึ้นมา เราก็รู้
ใจเราเป็นอกุศลขึ้นมา เราก็รู้
เมื่อรู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่อไปจิตมันจะค่อยๆ ฉลาด
มันจะรู้ว่าธรรมะทั้งหลายที่เป็นคู่ๆ
สุขหรือทุกข์ก็ของคู่กันใช่ไหม ดีหรือชั่ว มันก็ของคู่กัน
สิ่งที่เป็นคู่ๆ ทั้งหลาย
มันเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
สุขกับทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
ไม่เที่ยงเหมือนกัน
ถูกบีบคั้นให้แตกสลายเหมือนกัน
บังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้เหมือนกัน
ดีกับชั่วก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
ดีหรือชั่วก็เป็นของไม่เที่ยง
ความดีหรือความชั่วเกิดขึ้น
จิตที่ดีหรือจิตที่ชั่วเกิดขึ้น
ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เดี๋ยวก็ดับ
เพราะฉะนั้นจิตจะดีหรือจิตจะชั่ว เราสั่งไม่ได้ นั่นคืออนัตตา
พอเห็นอย่างนี้ เห็นไตรลักษณ์ซ้ำๆ ซ้ำๆ ลงไป
จิตมันจะเป็นกลางเอง ต้องเติมคำว่า “เอง”
มันเป็นกลางเอง
แต่ถ้าเราพยายามให้มันเป็นกลาง
มันจะเป็นกลางเอง มันจะไม่เองหรอก
เพราะฉะนั้นพยายามดูซ้ำแล้วซ้ำอีก
การภาวนาไม่มีอะไรมาก
เห็นกายอย่างที่กายเป็น
เห็นเวทนาอย่างที่เวทนาเป็น
เห็นจิตใจที่เป็นกุศล อกุศลอย่างที่มันเป็น
หรือถ้าละเอียดขึ้นไป เราก็จะเห็น
กระทั่งตัวจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
จิตที่เป็นคนรู้คนดูนี่ล่ะ
ทีแรกเรามีจิตที่เป็นคนรู้คนดูไปดูกาย
แล้วก็เห็นกายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
เรามีจิตที่เป็นคนรู้คนดูเป็นผู้เห็นไปรู้เวทนา
เราก็เห็นเวทนาตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
เรามีจิตที่เป็นผู้รู้ผู้เห็นอยู่
สติไประลึกรู้กุศลอกุศลที่เกิดขึ้น
เราก็จะเห็นว่ามันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
แล้วตัวจิตเอง ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ผู้เห็น
เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง
เฝ้าดู ฝึกไปเรื่อยๆ ในที่สุด
จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลาง หมดความหิวโหย
โลกก็อยู่ส่วนโลก โลกก็กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง
แต่ใจเราไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง
เพราะเราเข้าใจโลกแล้ว
โลกก็คือรูปกับนาม
เรียนรูปนามของตัวเอง ดูกายดูใจตัวเอง
ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็จะเข้าใจโลกทั้งโลกเลย
มันก็เหมือนกัน
กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงตลอด ไม่เคยหยุดนิ่ง
ฝึกไป แล้วเราจะได้ของดีของวิเศษ
สติปัฏฐานคือทางสายเอก ทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น
คนส่วนใหญ่เขายังเวียนว่ายอีกนาน ต้องสะสมบุญบารมีของเขาต่อไป การเดินทางในสังสารวัฏนี้ยาวนานมาก เวียนว่ายตายเกิดยาวนานเหลือเกิน
บางทีตัณหา มานะ ทิฏฐิอะไรพวกนี้ลากเราลงทะเล ลากเราลงไปในนรกก็ได้
เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ วันหนึ่งจะได้พ้นจากมัน
โลกนี้ไม่มีอะไร โลกนี้มีแต่ทุกข์
เห็นแล้วสลดใจ สลดสังเวช ไม่มีอะไรจริงๆ ความโง่ คือตัวอวิชชานั่นล่ะ ตัวโง่ ทำให้เกิดตัณหา อยากโน้นอยากนี่
พอเรียนรู้ความจริงลงไป ทุกอย่างเกิดแล้วดับ
โลกนี้มีแต่ความกระเพื่อมไหว
กายนี้ใจนี้ของเรามีแต่ความกระเพื่อมไหว
ไม่มีอะไรจริงจัง ไม่มีอะไรยั่งยืน
ใจมันจะค่อยๆ คลายตัวออกจากโลก
คลายออกเป็นลำดับๆ ไป
ฝึก ไม่มีทางเลือกที่สองหรอก นอกจากการเจริญสติปัฏฐาน
มีสติ รู้กาย เวทนา จิต ธรรม
ไม่มีอย่างอื่น ไม่มีเส้นทางที่สอง
พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าสติปัฏฐาน
การที่มีสติรู้กาย รู้เวทนา รู้จิตที่เป็นกุศล อกุศล
รู้รูปธรรมนามธรรมทั้งปวง
นั่นล่ะคือทางสายเอก
ทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น
เราต้องเห็น ถ้าเราเรียนด้วยการอ่าน ด้วยการฟัง ด้วยการคิด กิเลสไม่สะเทือนเลย เรียนตำรามากๆ บางทีเซลฟ์จัด บางทีหลงผิดอะไรได้ง่ายๆ เลย
บางทีก็ตีความธรรมะเพี้ยน เพราะว่ามีกิเลสอยู่ แต่หัดรู้จิตใจตัวเอง มันจะไม่มีการตีความธรรมะ เพราะมันเห็น
ถ้าเรายังไม่เห็นก็อาศัยคิดเอา ตีความเอา ถูกบ้างผิดบ้าง ฉะนั้นไม่มีวิธีที่สองที่พาเราสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ นอกจากการเจริญสติปัฏฐาน พยายามศึกษาเข้า
ธรรมะที่พวกเราควรจะเรียนรู้ อย่างน้อยก็รู้ว่ามันคืออะไร
อย่างรูปธรรมนามธรรม ขันธ์ 5 อายตนะ 6 อะไรอย่างนี้
เรียนลงไป ไตรลักษณ์ สติปัฏฐาน 4 อะไรนี่
ลองไปอ่านพระไตรปิฎกในเรื่องเหล่านี้ อ่านเข้าใจ เราจะคลำเส้นทางได้ หลวงพ่อเริ่มต้น หลวงพ่อก็อ่านจากพระไตรปิฎกนั่นล่ะ
ใครพูดธรรมะอะไรเราก็เข้าใจ ไม่ใช่ไม่เข้าใจ ฟังใครพูดอะไร เราก็รู้หมด เพราะเราก็อ่านมาแล้ว แต่มันรู้ด้วยการจำเอาๆ มันไม่ใช่รู้แจ้ง ต้องภาวนา ถึงจะรู้จริงๆ
หลวงพ่อเคยไปถามหลวงพ่อพุทธทาส ยุคก่อนท่านพุทธทาสเป็นพระที่ดังมาก เมืองไทยมีพระที่ดังสุดๆ เลย ที่มีความรู้แตกฉานถึงขีดสุดเลย ในยุคก่อนมี 2 องค์ คือหลวงพ่อพุทธทาสกับท่านประยุทธ์ ตอนนี้ท่านเป็นสมเด็จแล้ว 2 องค์นี้ความรอบรู้ของท่านมาก
หลวงพ่อเห็นท่านพุทธทาสแต่งตำราเยอะแยะ แล้วหลวงพ่อก็อ่านของท่านแล้วหลวงพ่อก็เกิดมิจฉาทิฏฐิ โน่นก็ว่าง นี่ก็ว่าง
วันหนึ่งไปประชุมกรรมการศาสนาในทำเนียบ เจออาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ หลวงพ่อก็พูดถึงนั่นก็ว่าง นี่ก็ว่าง
ท่านก็เมตตา เรียกเข้าไปหา ก็ไปนั่งที่พื้น นั่งพับเพียบ ท่านเป็นระดับครูบาอาจารย์ ท่านเป็นฆราวาส ความรู้ท่านเยอะ ท่านแต่งพระไตรปิฎกฉบับประชาชน
ท่านบอกว่าที่เราเข้าใจมันยังไม่ใช่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านไม่ได้สอนว่าตายแล้วสูญ ท่านไม่ได้สอนให้อยู่ๆ ก็ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างให้ว่างให้หมดอะไรนี่ อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งสิ้น ท่านก็สอน
เราก็อึ้งเลย ที่เราอ่านตำรามาเยอะแยะ เราก็ตีความผิดหมดเลย อ่านพระไตรปิฎกแล้วก็ไปอ่านหนังสือท่านพุทธทาส แล้วก็ตีความผิด แล้วอาจารย์สุชีพท่านแก้ให้
หลวงพ่อลงไปประชุมที่สุราษฎร์ ที่ไชยา ไปไชยา เลยเข้าไปกราบหลวงพ่อพุทธทาส ไปถึงก็ไปถามท่าน ท่านอาจารย์ครับ “ท่านอาจารย์สอนว่าตายแล้วสูญหรือครับ”
ท่านตอบว่าอย่างไรรู้ไหม “คุณเห็นเราเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือ”
โห ท่านพูดคำเดียว เรารู้เลยว่าเราไปอ่านหนังสือท่านแต่เราไม่เข้าใจ เราตีความผิดว่าตายแล้วสูญ ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ตายแล้วเกิดก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วทำจิตให้ว่างมันก็มิจฉาทิฏฐิอีก
หลวงพ่อเลยถามท่านต่อ “ท่านอาจารย์ครับ ถ้าผมอ่านหนังสือของท่านอาจารย์ทุกเล่ม ผมจะเป็นพระโสดาบันได้ไหม”
ท่านตอบ “ไม่ได้หรอก ต้องปฏิบัติเอา”
ท่านฟันธงเลย อ่านให้หมดเลย ที่ท่านเขียนเป็นตู้ๆ เลย อ่านให้หมดก็ไม่ได้หรอก ต้องปฏิบัติเอา หลวงพ่อฟังแล้วก็ปิ๊ง เพราะเราเข้าใจอย่างนั้นอยู่แล้วล่ะ
เพราะเราเคยอ่านพระไตรปิฎกเป็นตู้ๆ อ่านแล้วก็ไม่เห็นจะบรรลุอะไร นอกจากความจำที่มากมาย แล้วก็เอาไปหัวเราะเยาะเย้ยคนที่เขาพูดผิดอะไรอย่างนี้ ก็มีแต่กิเลสล่ะ
พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนดูจิตดูใจ ก็ดูอย่างที่สอนพวกเราวันนี้นั่นล่ะ ดูไปๆ ใจมันค่อยเป็นกลาง ถ้าใจเป็นกลาง ใจมันก็ไม่ดิ้นรน ใจมันก็เข้าถึงความสงบสุขเป็นลำดับๆ ไป
ปฏิบัติเอาๆ ไม่มีทางที่สองหรอก
นอกจากการเจริญสติปัฏฐาน. …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 พฤษภาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/help/
เยี่ยมชม
dhamma.com
ธรรมะช่วยเราได้
เราได้พบธรรมะของพระพุทธศาสนา เราก็ลงมือปฏิบัติ เราก็สะอาดหมดจดมากขึ้นๆ ทุกข์น้อยลงๆ อันนี้เราจะรู้ได้ด้วยตัวเอง
Photo by : Unsplash
1 บันทึก
7
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
1
7
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย