Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
2 มิ.ย. 2022 เวลา 11:58 • ปรัชญา
“ไม่ต้องไปเที่ยวหาแสวงหาพระอริยะที่ไหน
… ใครจะเป็นพระอริยะไม่สำคัญหรอก
สำคัญที่เรามีกิเลสแค่ไหน ได้พยายามลดละกิเลสไหม”
“ … โควิด ทางการเขาก็เตรียมจะให้เป็นโรคประจำถิ่น หลวงพ่อคุยกับทีมงาน ถ้าโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็จะเปิดวัด
แต่การเข้ามาในศาลานี้ต้องใช้วิธีจองเหมือนเดิม คงไม่ให้วิ่งแย่งกันเหมือนแต่ก่อนนี้ ดูแล้วสลดสังเวช แย่งกันอะไรนักหนา ต้องแบ่งๆ กันไป
ส่วนการส่งการบ้านหลวงพ่อจะใช้วิธี Zoom ต่อไป แล้วทั่วโลกก็ส่งได้เหมือนกันหมด เท่าเทียมกัน ยุติธรรม ไม่ใช่ส่งได้เฉพาะคนที่มาวัด คนที่อยู่ไกลๆ ไม่ได้มาวัด มีจำนวนมากกว่าคนมาวัดอีก
เมื่อก่อนก็พูดอยู่เรื่อยอย่าแย่งกันเข้าศาลา อย่าแย่งกันกินข้าว พูดไปก็เท่านั้นล่ะ ก็แย่งกันเหมือนเดิม
คือตราบใดที่เราคิดว่า ได้มาฟังธรรมใกล้ๆ หลวงพ่อแล้วจะได้ธรรมะ เข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิงเลย
คือถ้าเราไม่คิดลดละกิเลสของตัวเอง ไม่ลดละความเห็นแก่ตัว อย่างไรมันก็ไม่ได้ธรรมะ
ธรรมะเป็นของสะอาดบริสุทธิ์หมดจด แต่เราหล่อเลี้ยงความสกปรกเอาไว้ในใจเรา ไม่กล้าแตะมัน ใจมันก็ไม่เข้าสู่ความสะอาดหมดจดเสียที ไม่ได้ธรรมะเสียที
อะไรที่มันเป็นกิเลส พยายามอย่าไปตามใจมัน
ทุกๆ เรื่องไม่เฉพาะเรื่องแย่งกันฟังเทศน์หรอก
สังเกตดูคนซึ่งไม่เห็นแก่ตัว ภาวนาให้ผลง่าย
คนเห็นแก่ตัวมันภาวนาลำบาก
ทำทุกอย่างก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
เช่น นั่งสมาธิก็หวังผลประโยชน์ว่าจะมีความสุข
มีความสงบ มีหูทิพย์ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ มีอิทธิฤทธิ์
อันนี้ทำไปด้วยกิเลสทั้งหมด
หรือเจริญปัญญากะว่าได้โสดาบันแล้ว จะทำบาปก็ไม่ตกนรก ใจลึกๆ ยังไม่ได้คิดจะละอกุศล อย่างนี้ไปไม่รอดหรอก
ไม่ต้องไปเที่ยวหาแสวงหาพระอริยะที่ไหน
พูดถึงโสดาบัน ยุคนี้เป็นยุคเห่อพระอรหันต์ เห่อพระอริยะกัน ใครจะเป็นพระอรหันต์
ใครจะเป็นพระอริยะไม่สำคัญหรอก
สำคัญที่เรามีกิเลสแค่ไหน ได้พยายามลดละกิเลสไหม
อย่างเราอยากเจอพระอรหันต์เพื่อจะได้ไปทำบุญด้วย หวังว่าทำบุญด้วยแล้วจะได้บุญเยอะๆ คิดจะเอา อย่างนี้ไม่มีประโยชน์อะไร มันเห็นแก่ตัวอยู่อย่างนั้น
ฉะนั้นงานของเราจริงๆ คอยลดละความเห็นแก่ตัวของเราลงไป เรียนรู้ตัวเองไป
จิตใจเราเห็นแก่ตัวรู้ทันไป กิเลสทั้งนั้น
เมื่อกี้ก็บอกใครจะเป็นพระอรหันต์ไม่สำคัญหรอก
สำคัญที่ว่าเราได้พยายามที่จะลดละกิเลสตัวเองหรือเปล่า
พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างหนึ่งว่า ถ้ามีใครบอกว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ ท่านบอกว่าไม่ต้องยอมรับแล้วก็ไม่ต้องปฏิเสธ
ค่อยๆ ดู ค่อยๆ รู้ไปนานๆ ว่าบุคคลนั้นประพฤติปฏิบัติ ขัดเกลาตัวเองไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นจริงไหม
ค่อยๆ สังเกตดู ฉะนั้นอย่าไปมัวแต่เห่อเที่ยวแสวงหาพระอรหันต์
พยายามสังเกตจิตใจตัวเองไป
กิเลสอะไรมีอยู่ซ่อนอยู่ เรียนรู้มันเข้าไป
ท่านอื่นท่านจะเป็นพระอรหันต์ก็เรื่องของท่าน
กิเลสมันเรื่องของเรา
เมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครพูดกัน เรื่องใครบรรลุอะไรต่ออะไร ยุคหลังๆ นี้เยอะเหลือเกิน ถึงขนาดขึ้นทะเบียน มีทะเบียน แล้วทะเบียนนี้ก็ปรับปรุงเป็นระยะๆ
เอาภูมิจิตภูมิธรรมอะไรไปวัดกัน เอาความรู้สึก เอาความเชื่อ มันใช้ไม่ได้หรอก
อะไรซึ่งมันกำกวม ไม่ใช่ อะไรที่เป็นข้อกำกวม
อย่างบางคนเขาเชื่อเขาเรียนปริยัติ เรียนอภิธรรม
เขาบอกเลยว่ายุคนี้ไม่มีพระอรหันต์แล้ว
1
พันปีที่หนึ่ง พ.ศ.ศูนย์ถึงหนึ่งพัน มีพระอรหันต์ปฏิสัมภิทา พันปีที่สองมีพระอรหันต์ธรรมดา ของเราพันปีที่สามบอกมีแค่พระอนาคามี พันปีที่สี่มีแค่สกทาคามี พันปีที่ห้ามีแค่โสดาบัน ถัดจากนั้นไม่มีแล้ว อันนี้ก็เรื่องมโนเอาทั้งนั้น
ในพระไตรปิฎกไม่เคยบอกเลยเรื่องอย่างนี้ มีแต่ท่านบอกว่า “ถ้าเรายังเจริญสติปัฏฐานกันอยู่ การที่จะเอาชนะกิเลสก็เป็นไปได้ ถ้าภาวนาไปเรื่อยลดละกิเลสตัวเองไปเรื่อยๆ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์หรอก”
เจริญอยู่ในองค์ของมรรค ฝึกตัวเอง
ฉะนั้นบางทีตำรามันก็เชื่อไม่ได้ ตำรามันแต่งทีหลัง
ในพระไตรปิฎกไม่มี
คนที่เขาเรียนปริยัติ
เขาได้ยินว่าใครเป็นพระอรหันต์ตอนนี้เขาปฏิเสธทันที
ไม่ได้ใช้หลักที่แท้จริง ใช้ท่องตำรามา
ฉะนั้นมันกำกวม
ส่วนคนที่ศรัทธามากได้ยินว่า ท่านนี้เป็นพระอรหันต์เชื่อเลย มีศรัทธามาก
ที่ผ่านมาก็มีบ่อยๆ พระอรหันต์ปาราชิกไปก็มี
มันหันปลอมๆ ไม่ใช่ของจริง
พระดังๆ ตั้งหลายองค์ เมื่อก่อนคนก็เชื่อว่าพระอรหันต์
สุดท้ายสึกออกไปเยอะแยะเลย
ฉะนั้นมันเป็นเรื่องกำกวม
พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ยอมให้พระประกาศ
ตัวเองเป็นพระอรหันต์ ประกาศไม่ได้
หรือมีหน้าม้ามาประกาศก็ไม่ได้
อย่างเราเป็นหน้าม้าเราก็บอกองค์นี้ได้พระอรหันต์
อย่างนี้ท่านก็ห้าม ทำไมท่านห้าม
มันเป็นเรื่องยุ่งยากกำกวม มันพิสูจน์ยาก
ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแล้วใครจะไปรู้ได้
มันต้องรู้ด้วยตัวเองว่ากิเลสมีหรือไม่มี
ธรรมะของพระพุทธเจ้าจะไม่มีเรื่องกำกวมเลย
ชัดเจนแจ่มแจ้งมีเหตุมีผล
ฉะนั้นอะไรที่กำกวมท่านไม่ให้ทำหรอก
อีกอย่างหนึ่งถ้าโฆษณาพระอรหันต์
คราวนี้ก็แบ่งแยกพระเป็น 2 พวกแล้ว
นี้พวกพระอริยะพระอรหันต์ นี้พระธรรมดาอะไรอย่างนี้
ทำให้วุ่นวายกับพระ
พระทั่วๆ ไปท่านก็ลำบาก คนไม่อยากใส่บาตร
ฉะนั้นอะไรที่พระพุทธเจ้าห้ามต้องไม่ทำ
อะไรที่ท่านให้ทำเราทำ
อย่างถ้าใครเขาบอกเขาเป็นพระอรหันต์
เราก็เฉยๆ เสียไม่ต้องเห่อ
ท่านเป็นก็อนุโมททนากับท่าน
เป็นหรือไม่เป็นเราไม่รู้
ที่สำคัญคือกิเลสเรามีไหม
เรียนรู้ตัวเอง สนใจโลกข้างนอกให้น้อยๆ ลง
อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป
ท่านห้ามไว้เยอะ อย่างเรื่องแสดงอิทธิฤทธิ์ก็ห้าม
เหาะได้ พระเหาะได้ก็มี
เหาะแล้วก็คนก็แตกตื่นอยากดูพระเหาะได้ สารพัด
อาจจะเจอการเล่นกลก็ได้ มันไม่แน่นอน
แล้วทำให้พระที่เหาะไม่ได้ คนดูถูก
ทั้งๆ ที่เป็นพระดี
ชาวพุทธเราตั้งหลักให้แม่นๆ
ดูพระไตรปิฎกเป็นหลักไว้ คัมภีร์รองๆ ลงมา ฟังหูไว้หู
มันคือการตีความ
ยิ่งคัมภีร์ชั้นหลังๆ เป็นการตีความ อธิบายขยายความ
ดูคัมภีร์ชั้นเดิมหรือตัวพระไตรปิฎกเป็นหลักเอาไว้
อันไหนที่ท่านให้ทำเราก็พยายามทำเข้าไป
อริยมรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาเป็นศีล สมาธิ ปัญญา
อันนี้ท่านให้ทำ
บาปอกุศลทั้งหลายท่านให้ละเราก็ละเสีย
กุศลทั้งหลายท่านให้เจริญเราเจริญเสีย
ตัวกุศลไปดูกุศลกรรมบถ 10 ข้อ
เป็นเรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ ปัญญาทั้งหมด
ฉะนั้นไม่ต้องไปเที่ยวหาแสวงหาพระอริยะที่ไหน
ฝึกจิตฝึกใจตัวเอง อยู่ในศีล ในสมาธิ ปัญญา
ทำให้มาก ทำให้เจริญ ลดละกิเลสไปตามลำดับ
ศีลก็เป็นเครื่องมือต่อสู้กิเลสอย่างหยาบ
สมาธิก็เป็นเครื่องมือต่อสู้กิเลสชั้นกลาง
คือพวกนิวรณ์ทั้งหลาย
ปัญญาเป็นเครื่องมือต่อสู้กิเลสชั้นละเอียด
คือพวกอวิชชาทั้งหลาย พวกอาสวะทั้งหลาย
นี่คือเครื่องมือสู้กิเลส
ภาวนาเรื่อยๆ ไป ทุกวันตั้งอกตั้งใจรักษาศีล
ศีล 5 ข้อสำคัญที่สุด
เมื่อก่อนหลวงปู่ดูลย์ท่านเคยอบรมพระลูกศิษย์ท่าน บอกมัวโฆษณาว่ามีศีล 227 ข้อแล้วก็ลืมศีล 5 มีคนก็นึกว่าพระอรหันต์ ยุคหนึ่ง สุดท้ายก็ไม่ใช่อยู่ไม่รอด
คนอื่นอย่างไรก็ช่างเขาเถอะ
กิเลสเรา เราก็มีหน้าที่สะสางของเราเอง
ตั้งใจรักษาศีล 5 ข้อให้ดี …”
.
1
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
28 พฤษภาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/purity-at-heart/?fs=e&s=cl
เยี่ยมชม
dhamma.com
จิตเป็นผู้สัมผัสธรรมะ
ความเป็นพระแท้ไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบหรอก แต่อยู่ที่จิตของเรา พระสงฆ์อยู่ที่ใจที่สะอาดนี่เอง จิตอันนี้เอง เป็นผู้สัมผัสธรรมะ
Photo by : Unsplash
2 บันทึก
8
2
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
2
8
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย