4 มิ.ย. 2022 เวลา 03:52 • ไลฟ์สไตล์
“ระมัดระวังตั้งแต่คำพูดของเรา
การกระทำทั้งหลายมันจะไม่ชั่วหยาบหรอก
ถ้าใจเรา วาจาเราไม่สกปรก
อย่าประมาทนิ่งนอนใจว่าไม่เป็นไร”
2
“ … เราชาวพุทธ ขั้นต่ำสุดต้องรักษาศีลให้ได้
เอะอะจะเจริญปัญญาอะไรอย่างนี้
แต่ศีลไม่มี สมาธิมันก็ไม่มี
สมาธิไม่มี ปัญญามันก็ไม่มี
ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเรียน
การเรียนไม่ใช่เรียนด้วยการอ่าน การฟังอย่างเดียว
ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ
ทุกวันนี้การถือศีลยากลำบากมากเลย ช่องทางที่เราจะผิดศีลมากมายเหลือเกิน เอาแค่สักข้อหนึ่ง อย่างข้อ 4 มุสาวาท รักษายาก
ยิ่งมันมีโซเชียล โอกาสทำผิดพลาด มันเยอะมากเลย ฉะนั้นเวลาพวกเราอ่านอะไรในโซเชียล ก็สังเกตใจตัวเองให้ดี
ถ้าอ่านอะไรแล้วจิตเราเป็นกุศล เราก็อ่านได้
ถ้าอ่านแล้วจิตเราเป็นอกุศล อย่าไปยุ่งกับมัน
เราไปห้ามคนอื่นเขาเขียนอะไร ห้ามไม่ได้
เราก็อย่าไปเสพอะไรที่มันไม่ดี
ที่ทำให้จิตเราเศร้าหมอง
ที่สำคัญตัวเราเอง ก่อนที่จะโพสต์อะไร
ก่อนที่จะเขียนอะไร พิจารณาให้ดี
สิ่งที่เราเขียนไปนั้น
สำหรับเราเองมันทำให้กุศลเจริญขึ้นไหม
หรือทำให้กุศลเสื่อมไป หรือทำให้อกุศลมันเกิด
เราทำให้ตัวเองและผู้อื่นมีกุศลเจริญขึ้น หรือว่ามีอกุศลเจริญขึ้น
สังเกตตัวเอง ขั้นแรกเลยสังเกตตัวเอง
สิ่งที่เราเขียน ถ้าเราเป็นคนอ่าน
ใจเราจะดีขึ้นหรือจะเลวลง สังเกตเอา
1
อย่างถ้าเราอ่านเอง เรารู้สึก แหม เป็นกุศลมาก
เราเขียนด้วยความหวังดีจริงๆ
แต่เรามองกลับ ถ้าคนอื่นเขามาอ่าน
จิตของเขาที่เคยเป็นกุศลมันเสื่อมไปไหม
หรือว่ามันเป็นกุศลมากขึ้น
หรือจิตของเขาเป็นอกุศลมากขึ้นอะไรอย่างนี้
อกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด อกุศลที่เกิดแล้ว เกิดมากขึ้น
ถ้าเราพิจารณาไตร่ตรองให้ดี
เราเห็นว่าอะไรที่เราเขียนออกไปจะทำให้กุศลของเราและของคนอื่นเจริญขึ้น
อกุศลของเรา อกุศลของคนอื่นลดลง
อันนั้นก็เขียนได้ อย่าให้ผิดกฎหมายก็แล้วกัน
แต่ถ้าสิ่งที่เราเขียน คนอื่นมาอ่าน
อกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด อกุศลที่เกิดแล้วก็รุนแรงขึ้น
ส่วนใหญ่ที่เขียนกันมันจะเป็นอย่างนี้ล่ะ
ยิ่งอ่าน อกุศลยิ่งเยอะ
ถ้าอย่างนั้นเราต้องรับอกุศลวิบากแน่นอน
เราไปทำจิตผู้อื่นให้มีกิเลสมากขึ้น เราก็บาป
สมัยพุทธกาล มีนักแสดงคนหนึ่งชื่อตาลบุตร
ตาลบุตรก็คือลูกต้นตาล นายลูกตาล
ก็เป็นนักแสดงดัง ผู้คนชอบ
วันหนึ่งไปเจอพระพุทธเจ้า
เขาไปทูลพระพุทธเจ้าบอกว่า ผมเป็นนักแสดง ขับร้อง ฟ้อนรำ แสดงแบบแขกก็ต้องเต้นเก่งๆ ด้วย ผู้คนมีความสุข
1
ครูบาอาจารย์ของผมบอกว่า การที่เราเป็นนักแสดงทำให้คนอื่นมีความสุข เราได้บุญ เราจะได้ขึ้นสวรรค์ เลยอยากถามความเห็นของพระพุทธเจ้าว่าจริงหรือไม่จริง ท่านไม่ตอบ พระพุทธเจ้าท่านไม่ตอบ
ถามครั้งที่หนึ่งก็ไม่ตอบ ครั้งที่สองก็ไม่ตอบ ตาลบุตรอยากรู้จริงๆ ว่าพระพุทธเจ้าคิดอย่างไร ก็ถามเป็นครั้งที่สาม
พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า สิ่งที่เราแสดงออกไป
มันทำอกุศลที่ยังไม่เกิดของตัวเอง
อกุศลที่ยังไม่เกิด ทำให้เกิดขึ้นหรือเปล่า
ทำอกุศลที่มีอยู่ของตัวเองให้มากขึ้นหรือเปล่า
ทำกุศลที่มีอยู่แล้วให้หมดไปสิ้นไปหรือเปล่า
ท่านสอนให้พิจารณาอย่างนี้
แล้วก็ให้ดูที่คนอื่นด้วย เขาดูกาลเล่นของเราแล้ว
กุศลของเขาเจริญขึ้นหรือเปล่า
หรือกุศลที่มีอยู่เสื่อมไป กุศลใหม่ก็เกิดไม่ได้
อกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด อกุศลที่เกิดแล้วก็รุนแรงขึ้น
ท่านให้ดูว่าสิ่งที่แสดงออกมาให้คนเห็น
มันทำให้ตัวเองและผู้อื่นมีกุศลเจริญขึ้น
หรือว่าอกุศลมันเจริญขึ้น กุศลมันเสื่อม
ท่านชี้ให้ตาลบุตรดู
ตาลบุตรฟังแล้วก็เข้าใจเลย ปิ๊งเลย
อย่างขับร้อง ฟ้อนรำ คนก็หลงขาดสติ
หรือไปเล่นละคร เดี๋ยวจิตเขาก็มีราคะ
เดี๋ยวจิตเขาก็มีโทสะ
อย่างเราชอบดูหนังดูละคร สมัยก่อน เดี๋ยวนี้มีหรือเปล่าไม่รู้ เมื่อก่อนจะมีละครหลังข่าว แม่ผัวลูกสะใภ้ เมียหลวง เมียน้อยอะไรตบกันกระจาย ดูแล้วสนุกอะไรอย่างนี้
จากที่ไม่มีกิเลส จิตสงบก็กลายเป็นจิตฟุ้งซ่าน
นี่พูดถึงการแสดง การแสดงละคร
ในลักษณะเดียวกัน คำพูดของเรา
เราก็ประเมินได้เหมือนกันว่าสิ่งที่เราพูดนั้น
กุศลของเราที่ยังไม่มี มันมีไหม
กุศลของเราที่มีอยู่แล้วเจริญขึ้นไหม
อกุศลของเราที่ยังไม่เกิด มันเกิดไหม
ที่เกิดแล้ว มันเจริญขึ้นไหม มันมากขึ้นไหม
ของคนอื่นก็เหมือนกัน คำพูดของเรา
ทำให้กุศลของคนอื่นที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นไหม
กุศลของคนอื่นที่เกิดแล้วเจริญขึ้นไหม มากขึ้นไหม
หรือทำให้อกุศลของคนอื่นที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
ที่เกิดแล้วก็มีมากขึ้น วัดใจตัวเองให้ดี
เหมือนที่พระพุทธเจ้าตอบตาลบุตร
ถ้าเราไปทำอะไร ที่ทำให้อกุศลของตนเองและผู้อื่นเจริญ
ทำกุศลของเราและกุศลของผู้อื่นให้เสื่อมไป
อันนี้บาป ท่านก็พูดว่าไม่ได้ไปขึ้นสวรรค์หรอก
แต่ตกนรก ท่านว่าอย่างนี้
ฉะนั้นพวกเราระมัดระวัง
ก่อนที่เราจะแสดงความคิดความเห็น
เราบอกเรามีเสรีภาพ อยากแสดงความเห็นอะไรก็ได้
แสดงความเห็นแล้ว คนยิ่งเครียดหนักขึ้น
ยิ่งโมโหโทโส ยิ่งขัดแย้ง
ยิ่งอยากใช้ความรุนแรงมากขึ้นอะไรอย่างนี้
เลี่ยงเสีย อย่าไปยุ่งด้วยเลย
คนอื่นเขาจะทำบาปอกุศล เราห้ามเขาไม่ได้
แต่เราอย่าทำเสียเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปทำผิดในโซเชียล
อันตรายระยะยาว
อย่างเราโกรธใครสักคน เราไปถึง เราไปด่าเขา เราไปชกหน้าเขา ความผิดตรงนั้นมันก็จบตรงนั้นล่ะ ไปขึ้นโรงขึ้นศาลตัดสิน จะถูกปรับจะติดคุกอะไร มันก็จบกันตรงนั้น
แต่อย่างเราไปเขียนอะไรไม่ดีในโซเชียล มันอยู่นาน
ทุกครั้งที่คนไปอ่าน อกุศลของเขาก็เกิด
บาปกรรมของเรามันก็มีขึ้นมาอีก
ในลักษณะที่กลับข้างกัน
เราไปทำอะไรที่คนอื่นเขาเห็นแล้วเป็นกุศล
อย่างบางคนชอบสร้างพระพุทธรูป พระพุทธรูปอยู่นาน
เจ้าของตายไปแล้ว คนมากราบมาไหว้พระ
เจ้าของรู้ก็อิ่มอกอิ่มใจ
อย่างสมมติไปเป็นเทวดาเฝ้าพระอยู่
เห็นคนมาไหว้พระ ใจก็เบิกบานมีความสุข
ก็ยังได้รับผลบุญไปเรื่อยๆ
แต่เราไปเขียนอะไรไม่ดีไว้ 10 ปี 20 ปี
มันยังไม่หายเลย มันยังอยู่เลย
อย่างเราไปปรามาสล่วงเกินครูบาอาจารย์ไว้
หรือไปใส่ร้ายพระที่ท่านไม่มีความผิดไว้ มันอยู่นาน
เขามาอ่านเมื่อไร คนมาเห็นเมื่อไร
จิตเขาเศร้าหมองขึ้นมา
เราก็ได้รับผลไปเรื่อยๆ ในทางไม่ดี
เพราะฉะนั้นยุคนี้เราต้องระวังตัวเองให้ดี
จะแสดงความคิดความเห็นอะไร สำรวจใจให้ดีก่อน
ก่อนที่จะแสดงออกไปทางกาย หรือทางวาจา
ยิ่งออกไปทางโซเชียล มันอยู่นาน
กฎหมายหมิ่นประมาทอะไรอย่างนี้
หมิ่นประมาทกันซึ่งหน้าอะไรอย่างนี้ ไม่เท่าไร เห็นไหม
ถ้าหมิ่นประมาททางสื่อ โทษหนัก โทษหนักกว่า
เขาก็คิดอย่างมีเหตุผลเหมือนกันว่าสื่อนั้นมันอยู่นาน
10 ปี 20 ปีอะไรมันก็ยังอยู่
อกุศลมันก็เกิดซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นเราระมัดระวังตัวเองให้ดี
อกุศลเล็กๆ น้อยๆ เราก็อย่าประมาท
ถ้าเราเริ่มต้นทำผิดเล็กน้อย ส่วนใหญ่ก็เรื่องวาจานี่ล่ะ
เริ่มต้นเราทำผิดด้วยวาจาเล็กน้อย ไม่ถึงกับโกหก
แต่กระแนะกระแหนอะไรอย่างนี้
สมมติกระแนะกระแหน ส่อเสียดอะไรอย่างนี้
เยาะเย้ยถากถางอะไรอย่างนี้
ใจเราก็ยิ่งหยาบกระด้างขึ้นเรื่อยๆ
ทีแรกก็แค่พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเป็นกันเกือบร้อยละ 100 เลย
พวกเล่นโซเชียล คือไม่รู้จะเขียนอะไร
ก็เขียนไปวันนี้วันอาทิตย์ วันนี้วันจันทร์อย่างนี้ เพ้อเจ้อ
มันเริ่มต้นจากอกุศลเล็กๆ อย่างนี้ล่ะ
ต่อไปก็เริ่มชิน ค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปเป็นส่อเสียด
เป็นการโกหก เป็นอะไร
พอโกหกได้ ใจยิ่งกระด้าง อกุศลแรงขึ้นๆ
ต่อไปมันก็เริ่มออกทางกาย
เริ่มผิดศีลทางร่างกาย
ฉะนั้นจุดตั้งต้นของความเลวที่หลวงพ่อเห็น
มันอยู่ที่ใจที่ไม่ไตร่ตรองเป็นต้นเหตุเลย
แล้วก็ส่งผลเกิดพฤติกรรมทางวาจา
เราไม่ค่อยรู้สึกว่าโทษมันมีหรอก
พอเราทำความชั่วทางวาจาได้
สุดท้ายมันก็ออกทางกายด้วย รุนแรง ก้าวร้าว
ระรานคนอื่น หรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
มันจะออกไปอย่างนั้น
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าคนที่โกหกได้ที่จะไม่ทำชั่วอย่างอื่น ยาก
ลองโกหกได้สักอย่างเดียว
ความชั่วอื่นๆ ก็ทำได้หมดล่ะ
เพราะว่ามันเป็นจุดตั้งต้นไป
เพราะฉะนั้นเราระวังตั้งแต่จุดตั้งต้น
ตรงความคิดเราระวังไม่ทัน
สติเราไม่ไว สมาธิเราไม่พอ เราระวังตรงคำพูด
อย่าพูดด้วยวาจา หรือพูดด้วยตัวหนังสือก็ตาม
หรือพูดด้วยสัญลักษณ์ก็ตาม
บางทีเราไม่ต้องพูดด้วยวาจา ใช้สัญลักษณ์
เช่น ชูนิ้วกลางใส่อะไรอย่างนี้ คนก็รู้ความหมาย
มันก็คือคำพูด แต่พูดด้วยนิ้ว
ถ้าเราระมัดระวังตั้งแต่คำพูดของเรา
การกระทำทั้งหลายมันจะไม่ชั่วหยาบหรอก
ถ้าใจเรา วาจาเราไม่สกปรก
อย่าประมาทนิ่งนอนใจว่าไม่เป็นไร
เขียนอย่างนี้ไม่มีใครรู้ ชอบคิดอย่างนี้
ในโซเชียลเวลาจะเขียนอะไร ไม่มีใครรู้หรอก เขียนได้
ความจริงเขารู้ แต่เขาจะเอาเรื่องหรือไม่เท่านั้นเอง
แต่คนที่รู้คือตัวเราเอง
หลวงพ่อเห็นแล้ว โอ ท่าจะลำบาก มันจะสร้างนรกบนแผ่นดินขึ้นมา แล้วก็ไม่ต้องถึงตอนตายหรอก มันลำบากตั้งแต่ตอนนี้ล่ะ จิตใจของเราแทนที่จะพัฒนาขึ้นก็กระด้างขึ้นๆ รับธรรมะยาก
ใจที่แข็งกระด้าง หยาบกระด้าง รับธรรมะไม่ได้
1
ใจที่อ่อนโยน ใจที่อ่อนน้อม ใจที่เปิดรับ ถึงจะรับธรรมะได้
1
การรับธรรมะเรารับกันด้วยใจ
ไม่ใช่รับด้วยสมอง หรือด้วยหู ด้วยตา
ตาเราไปอ่านหนังสือธรรมะ ใจเราไม่ได้รับ
ถ้าตาเราอ่านหนังสือธรรมะแล้วใจเรารับ 100 เปอร์เซ็นต์ คนที่อ่านพระไตรปิฎกจบก็เป็นพระอรหันต์เลย ไม่ได้เป็นกัน ต้องลงมือปฏิบัติจริง ๆ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
29 พฤษภาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา