6 ก.ค. 2022 เวลา 16:17 • ไลฟ์สไตล์
“เราอยากรู้อะไรต่ออะไรมากมาย
แต่รู้อะไรมากมายก็สู้การรู้จักตัวเองไม่ได้
แสวงหาอะไรก็สู้แสวงหาลงมาในตัวเองไม่ได้”
“ … ทำเหตุสมควรแก่ผล ผลมันก็เกิด
เหตุที่เราต้องสร้างคือเหตุฝ่ายดี
แล้วก็เหตุบางอย่างเราต้องละคือเหตุฝ่ายชั่ว
สิ่งที่เรียกว่าเหตุมี 6 อัน
โลภะ โทสะ โมหะ อันนี้เป็นเหตุฝ่ายชั่ว
เราก็ต้องลดต้องละลงไป ทำให้มันน้อยลงๆ
เหตุฝ่ายดีคือ อโลภะ ไม่โลภ อโทสะ ไม่โกรธ อโมหะ ไม่หลง
มีสภาวะอย่างนี้ก็ต้องฝึก
เหตุฝ่ายดีต้องพัฒนาขึ้นมา เหตุฝ่ายชั่วต้องลดต้องละ
การลดละฝ่ายชั่วมาเจริญฝ่ายดี
คือการปฏิบัติที่เรียกว่าสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ
ถ้าเรามีความเพียรชอบสมบูรณ์ สติเราจะสมบูรณ์
ถ้าสติเราสมบูรณ์สัมมาสมาธิเราจะสมบูรณ์
พอสัมมาสมาธิสมบูรณ์ มรรค ผล นิพพาน
มรรคผลจะเกิดขึ้น นิพพานจะแจ่มแจ้ง
นิพพานไม่เกิดขึ้น
นิพพานเป็นสภาวะที่เที่ยง ไม่มีเกิด ไม่มีดับ
ทำความรู้จักกับจิตตนเองไว้
ฉะนั้นเราพยายามสังเกตที่ใจเรา
อ่านจิตใจตัวเองให้ออก
เหตุฝ่ายชั่วมันเกิดที่จิต ไม่ได้ไปเกิดที่อื่น
เหตุฝ่ายดีมันก็เกิดที่จิต ไม่ได้เกิดที่อื่น
แต่พอจิตมันถูกเหตุฝ่ายชั่วปรุงแต่ง
มันก็คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เลี้ยงชีวิตชั่ว
ถ้ามันถูกเหตุฝ่ายดีปรุงแต่ง
มันก็คิดดี พูดดี ทำดี เลี้ยงชีวิตถูกต้องเป็นธรรม
องค์มรรคทั้งหลายก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา
ฉะนั้นเวลาเราภาวนา อะไรๆ ก็สู้การอ่านจิตอ่านใจตนเองไปไม่ได้ หลวงพ่อพูดไม่ได้พูดเอาเอง ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ท่านก็สอนมาตลอด
“จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นประธาน”
หรือครูบาอาจารย์ท่านก็สอน อย่างหลวงปู่มั่นท่านก็บอก “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรม” ทุกองค์พูดเหมือนๆ กัน
ตั้งแต่พุทธกาลมา จนถึงครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปเรียนด้วย ท่านมุ่งเข้ามาที่จิตทุกองค์
อย่างถ้าคนไหนอินทรีย์อ่อนมากๆ ท่านก็ให้ทำสมถะก่อน ทำสมถะแล้วท่านก็สอนให้ไปดูกาย พิจารณากายในอาการ 32 ก็อยู่ในสติปัฏฐานเหมือนกัน
ค่อยดูไปสติก็จะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น
สมาธิก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
มีสติมีสมาธิดีแล้วก็จะเจริญปัญญาได้
เห็นความจริงของรูป ของนาม ของกาย ของใจ
ความจริงคือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ
ฉะนั้นเราพยายามสังเกตจิตใจของเรา
ทำความรู้จักกับจิตตนเองไว้
เราอยากรู้อะไรต่ออะไรมากมาย
แต่รู้อะไรมากมายก็สู้การรู้จักตัวเองไม่ได้
แสวงหาอะไรก็สู้แสวงหาลงมาในตัวเองไม่ได้
ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ มีพวกเจ้าชาย 30 องค์ เรียกพวกภัททวัคคีย์ 30 องค์ ไปจ้างผู้หญิงมาปรนเปรอ เสร็จแล้วตัวเองก็เมาเหล้าหลับ พวกผู้หญิงขโมยสมบัติไป
ก็เหมือนเดี๋ยวนี้ไปเจอใครข้างถนนก็ไปหิ้วเขา นึกว่าวันนี้โชคดีแล้ว หิ้วพาไปบ้านหรือพาไปเข้าโรงแรม ตื่นขึ้นมาเหลือแต่ตัวทรัพย์สินเงินทองหายหมด
เจ้าชายนั่นก็แบบเดียวกัน ก็โมโหก็ไล่ตามผู้หญิงพวกนั้น เที่ยวเสาะแสวงว่าพวกนี้ไปซ่อนอยู่ที่ไหน จะเล่นงานแล้วในฐานะหลอกลวงเจ้าชาย ขโมยของเจ้าชายมา
นี้บุญบารมีของพวกท่านมีอยู่ ท่านไปเจอพระพุทธเจ้าเข้าตอนนั้นตรัสรู้ไม่นานหรอก เพิ่งตรัสรู้ใหม่ๆ เพิ่งสอนพวกพระรุ่นแรกๆ ไปไม่กี่องค์ เยอะสุดก็กลุ่มพระยสะ
พวกภัททวัคคีย์นี้ก็เข้าไปหาพระพุทธเจ้า จะไปถามว่าเห็นพวกผู้หญิงนี้ไหม เขาเที่ยวตามหา
พระพุทธเจ้าท่านก็ถามกลับว่า “จะตามหาผู้หญิง หรือจะตามหาตนเองดี”
พวกนี้บารมีเขาเยอะ พอได้ยินว่าให้ตามหาตนเอง เขาหยุดเลย หายคลุ้มคลั่งเรื่องจะตามผู้หญิง ลงนั่งฟังธรรม
พระพุทธเจ้าก็สอนธรรมะให้ ช่วงแรกๆ ท่านสอนพวกนี้ก็จะสอนธรรมะง่ายๆ เรียก อนุปุพพิกถา ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม แล้วก็อริยสัจ
1
ท่านเหล่านี้ฟังได้พระโสดาบัน รู้แล้วว่าจะต้องเรียนรู้ตัวเอง ต้องหาตัวเองให้พบ
สิ่งที่เรารักที่สุดก็คือตัวเราเอง
แต่เราละเลยตัวเราเองมากที่สุด
ฉะนั้นผู้มีสติมีปัญญา มีบุญบารมีสะสมมา
ก็จะรู้จักการแสวงหาตัวเอง
เวลาเราจะแสวงหาตัวเอง
สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวเรามันคืออะไรบ้าง
ก็คือรูปนามกายใจของเรานี่เอง
ที่เราจะรู้สึกว่าคือตัวเราๆ
อย่างร่างกายนี้เราก็รู้สึกว่านี่ร่างกายเรา นี่คือตัวเรา
แต่พอมาหัดเจริญสติ เจริญสมาธิถูกต้อง
ปัญญามันเกิด มันเห็นได้ง่ายๆ เลยว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา
อันนี้คนที่ยังไม่ได้โสดาบันก็สามารถเห็นได้
พระพุทธเจ้าท่านบอก “ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ ไม่เคยฟังธรรมะ สามารถเห็นได้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา”
เพราะว่ามันมองเห็นง่าย
ตัวเองเคยหนุ่มเคยสาว เดี๋ยวมันก็แก่ไปแล้ว ไม่หนุ่มไม่สาวแล้ว
เคยแข็งแรงบางทีมันก็เจ็บไข้
คนที่เรารู้จักก็ล้มหายตายจากเป็นลำดับๆ ไป
พวกเราแต่ละคนเรามีเพื่อน เรามีญาติ มีพ่อมีแม่ที่ตายไปตั้งเท่าไรแล้ว ไปงานศพกันอยู่เรื่อยๆ
ตอนยังเด็กๆ อยู่เรียนจบใหม่ๆ ส่วนใหญ่ก็งานแต่ง พอโตขึ้นมาหน่อยงานขึ้นบ้านใหม่ อายุเยอะขึ้นส่วนใหญ่ก็เรื่องงานศพ เวลาชุมนุมศิษย์เก่าเจอหน้าเพื่อน ก็จะถามกันว่าปีนี้ใครตายไปบ้าง
คนทั่วๆ ไปมันก็เห็นได้ว่า ชีวิตร่างกายเราไม่ยั่งยืนไม่แน่นอน ฉะนั้นท่านถึงบอกว่า “ปุถุชนสามารถเห็นได้ว่าร่างกายไม่ใช่เรา”
แต่จะมาเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ต้องเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เพราะคนอื่นเขาจะไม่เรียนเข้ามาที่จิตตัวเองหรอก
เราพยายามโอปนยิโก น้อมเข้ามาเรียนรู้
กายนั้นมันเรื่องง่าย
ถ้าใจเราฟุ้งซ่านมากๆ ดูกายไป ให้มันได้สมาธิขึ้นมา
พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังเข้าไป
เรียกว่าทำกายคตาสติ
สิ่งที่เราจะได้ก็คือสมาธิ จิตจะได้มีกำลัง
1
ในขั้นเจริญปัญญาจะดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้
ดูกุศลอกุศลก็ได้ ดูจิตมันทำงานก็ได้
แล้วแต่ขีดความสามารถของเราที่จะดูได้
ดูอะไรได้ชัดก็ดูอันนั้น
ฉะนั้นบางคนทำสมาธิ
แล้วก็มาเจริญปัญญาด้วยการดูกาย
บางคนสมาธิเขาดีเข้าฌานได้ เขาก็ดูเวทนาได้
เวทนานี้หมายถึงเวทนาทางกาย
ถ้าจิตไม่ทรงฌานไปดูเวทนาทางกายก็จะเจริญปัญญายาก จิตมันฟุ้งซ่าน สติมันจะแตกเสียก่อน
หรือถ้าสมาธิเราไม่มาก เราดูจิตของเราไปเลย
จิตมันสุข จิตมันทุกข์ จิตมันดี จิตมันชั่ว
คอยรู้เท่าทันมันไปเรื่อยๆ
เรียนรู้จิตใจตัวเองให้มาก
แล้วต่อไปเราจะค่อยๆ สังเกตจิตใจเราที่เราเวลารับรู้อารมณ์ แล้วก็เกิดการทำงาน ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วอะไรขึ้นมา
เพราะมันมีสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง
ส่วนใหญ่มันเป็นกิเลสเป็นเหตุ ที่ผลักดันให้จิตปรุงแต่ง
ฉะนั้นถ้าเราอ่านจิตอ่านใจของตนเองให้ดี แล้วจะเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด และการกระทำของเรา ตัวนี้สำคัญ ถ้าเราทำตรงนี้ได้ เราจะเห็นเลยว่าอกุศลเกิดบ่อย
สำหรับพวกเราอกุศลเกิดบ่อย
บางคนบอกว่าปีหนึ่งแล้วยังไม่โกรธเลย
ไม่เห็นจะเป็นอกุศล
อกุศลไม่ได้มีแค่โกรธ
บอกก็ไม่เคยโลภอะไรของใคร
อกุศลก็ไม่ได้มีแค่โลภ
อกุศลตัวหัวโจกเลย ตัวที่ยากที่สุดคือตัวหลง
เดี๋ยวก็หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น
หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสที่กาย หลงไปคิดนึกทางใจ
โดยเฉพาะการหลงคิดทางใจเกิดทั้งวัน
นับครั้งไม่ถ้วนเลย ลองนับดูก็ได้
มีเครื่องนับหลงทีหนึ่งลองกดปุ่มที่หนึ่ง
หรือจะนับลูกประคำก็ได้มันมี 108 ลูก
พอจิตหลงไปทีก็ขยับไป 1 ลูก
ดูสิ 108 ลูกมันจะหมดในเวลาเท่าไร
บางคนหมดในเวลา 5 นาที มันหลงอุตลุดเลย
เพราะฉะนั้นให้คอยสังเกตจิตตนเอง
จิตมีราคะให้รู้ จิตมีโทสะเกิดขึ้นให้รู้ จิตหลงไปให้รู้
จิตหลงมันก็มีหลายแบบ เช่น มันฟุ้งซ่าน ลืมเนื้อลืมตัว
จิตมันหลงไป งง สงสัยอะไรพวกนี้
หรือว่าไม่รู้ว่าตอนนี้สภาวะมันเป็นอย่างไร
เซื่องซึม ไม่รู้เหนือรู้ใต้ นี่พวกหลง
พวกโกรธก็มีหลายแบบ
อย่างโกรธจริงๆ โมโหโทโส อิจฉา
อิจฉานี้อยู่ในตระกูลโทสะ
ตระหนี่ หวงแหน อยู่ในตระกูลโทสะ
1
วิธีดูง่ายๆ เลยว่าจิตเป็นโทสะหรือเปล่า
ก็คือถ้าจิตมีโทสะ จิตจะไม่มีความสุข
แต่ถ้าจิตมีโมหะ จิตเราจะเฉยๆ
จิตมีราคะจะเฉยๆ หรือมีความสุขก็ได้
แต่ถ้าจิตใจเราไม่แช่มชื่น รู้ได้เลยว่าต้องมีโทสะซ่อนอยู่
พอเห็นความเป็นจริงมากเข้าๆ ปัญญาเบื้องต้นก็จะเกิด
หัดสังเกตจิตใจตนเองทุกวันๆ
สังเกตบ่อยๆ แล้วเราก็จะค่อยๆ เห็น
ทีแรกหลงยาว นานๆ จะรู้ตัวทีหนึ่ง
พอหัดดูบ่อยๆ พอหลงปุ๊บรู้ปั๊บเลย
พอฝึกไปเรื่อยๆ หลงปุ๊บรู้ปั๊บนี้ดีมากๆ
ต่อไปปัญญามันก็จะเกิดได้
เพราะว่าพอหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้
ตัวสมาธิคือตัวที่จิตตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่
มันเกิดถี่ขึ้นๆ มันมีกำลังมากขึ้น ปัญญามันก็จะเกิด
มันจะเห็นเลยว่าจิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง
จิตรู้ก็ควบคุมไม่ได้ จิตหลงก็ห้ามไม่ได้
ปัญญามันเกิด เราเห็นความจริงของจิต
จิตนี้มันไม่เที่ยง จิตนี้มันเป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้
พอเห็นความเป็นจริงมากเข้าๆ
ปัญญาเบื้องต้นมันก็จะเกิด
มันจะรู้เลยว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา
จิตนี้ไม่ใช่ตัวเราแล้ว ล้างความเห็นผิดว่าจิตเป็นตนได้
อันนี้เราจะได้ธรรมะขั้นแรกได้เป็นพระโสดาบัน
พระโสดาบันสามารถเห็นได้ว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา
ขันธ์ 5 มันก็รวมวิญญาณหรือรวมจิตเข้าไปด้วยนั่นเอง
จิตที่ทำงานออกไปรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือจิตที่ทำงานทางใจก็อยู่ในวิญญาณขันธ์ ถือว่าเป็นกลุ่มของวิญญาณ
ขันธ์แปลว่ากลุ่ม แปลว่าพวก แปลว่ากอง เป็นกลุ่ม
ฉะนั้นวิญญาณก็มีกลุ่มของมัน
วิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ก็คือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง
ถ้าเราสามารถเห็นได้ขันธ์ 5 ทั้งหมดไม่ใช่เรา
ไม่มีเรานอกเหนือจากขันธ์ 5
ตรงนั้นล่ะเราได้ธรรมะเบื้องต้นแล้ว
เป็นพระโสดาบัน
เมื่อกี้บอกแล้วว่าการเห็นว่ากายไม่ใช่เราเป็นของง่าย
ถ้าใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูจริงๆ
มันจะเห็นทันทีเลยร่างกายไม่ใช่เรา
คนนอกศาสนาพุทธเขาก็ยังเห็นได้เลย
ทั้งๆ ที่จิตไม่ได้ตั้งมั่นหรอก ก็ยังพอเห็นได้
เพราะว่ามันมีประจักษ์พยานให้เห็นมากมาย
คนนั้นก็แก่ คนนี้ก็เจ็บ คนนี้ก็ตาย มีให้ดูทุกวัน
ฉะนั้นใจมันก็ยอมรับได้ว่าร่างกายไม่ใช่เรา
แต่ความสุขความทุกข์ไม่ใช่เราก็เริ่มดูยากขึ้นนิดหนึ่ง
เพราะสิ่งที่เราดิ้นรนแสวงหาก็คือตัวความสุขนั่นล่ะ
ทุกวันนี้ที่ทำมาหากินเหน็ดเหนื่อย
หวังว่าจะได้เงินได้ทองมา
มีเงินมีทองแล้วจะได้มีความสุข
อยู่คนเดียวเหงาๆ หาสามีหาภรรยามาคิดว่าจะมีความสุข
สิ่งที่อยากได้ก็คือความสุขนั่นล่ะ
พอมีสามีมีภรรยาแล้วอยากมีลูกอีกแล้ว
จะมีลูกมันก็ต้องมีบ้าน ขยับขยายไปเรื่อย
พอมีลูกแล้วห่วงลูกอีกแล้ว
ขึ้นรถเมล์ไม่ได้แล้วสงสารลูก ต้องซื้อรถยนต์อีกแล้ว
ความต้องการก็ขยายๆๆ ไปเรื่อยๆ
ถ้าเราตั้งสติดูลงไปเลยที่เราอยากได้ความสุข
เราอยากได้ความสุขแล้วคิดว่า
มีอันโน้นจะสุข มีอันนี้จะสุข
ดูจริงๆ เลยมันสุขไหม
ความสุขในโลกนั้นเป็นความสุขที่เจือกับทุกข์อยู่เสมอ
ไม่ใช่ความสุขบริสุทธิ์อะไรหรอก
มีครอบครัวก็ทุกข์เพราะครอบครัว ห่วงหน้าห่วงหลัง
มีทรัพย์สมบัติก็ทุกข์เพราะทรัพย์สมบัติ
จะไปไหนก็ห่วง ไปฝากธนาคารก็กลัวธนาคารล้ม
จะไปฝังดินกลัวเสียหาย
เดี๋ยวตัวอะไรมาแทะหรือคนอื่นมาขุด
มีอะไรก็เจือที่เราคิดว่ามันจะให้ความสุขเรา
มันเป็นความสุขที่เจือทุกข์มาตลอด
ในโลกนี้มันไม่มีความสุขที่บริสุทธิ์หรอก
ถ้าเราภาวนาเราเห็นความสุขเกิดขึ้นแล้วก็ดับ
แสวงหามาอย่างยากลำบาก อยู่ได้แวบเดียวก็ดับแล้ว
แป๊บเดียวจริงๆ
อย่างบางคนที่หลวงพ่อเคยได้ยิน แต่งงาน อยากแต่งงานลงทุนไปเป็นล้านเลย จัดงานจัดกันเป็นล้านเลย เช่าโรงแรมหรูหรา อยู่กัน 3 เดือนเลิกกันแล้ว ไม่มีความสุข
1
ฉะนั้นความสุขของโลกๆ ที่เราเที่ยวแสวงหาไป
ถ้าเรามีสติมีปัญญาเรียนรู้จิตใจตัวเอง
เราจะรู้ว่าความสุขของโลกๆ หาสาระแก่นสารไม่ได้
มันไม่ยั่งยืน
ความสุขที่ไม่ยั่งยืนจะไปดิ้นรนหามันให้เหน็ดเหนื่อยทำไม
เราค่อยรู้ จิตใจเรามีความสุขเรารู้
จิตใจเรามีความทุกข์เรารู้
เรียนไปเรื่อยๆ เวลามีความทุกข์เราไม่ชอบมัน
เราดูให้ดีเถอะความทุกข์ในใจเรา มันก็อยู่ชั่วคราว
อย่างบางคนอกหัก มีสามีมีภรรยาอยู่ โดยเฉพาะพวกผู้ชายมีภรรยาอยู่ ภรรยาไปรักคนอื่น โอ๊ย เจ็บปวด เจ็บปวดมาก เป็นพระนั่งร้องไห้ก็มีไม่ใช่ไม่มี มันทุกข์
ต่อมาสติปัญญามันทันขึ้นมา
มันเห็นทุกข์นี้มันก็ไม่ยั่งยืน
มันทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะมันรัก
แล้วความรักมันไม่ยั่งยืน มันก็เลยทุกข์ขึ้นมา
ความอยากไม่ได้รับการตอบสนอง
มันก็เลยทุกข์ขึ้นมา
ทุกข์เพราะว่าจิตเราสร้างขึ้นมาเอง
เรียนรู้จิตใจตนเองไป
จะรู้เลยสุขก็อย่างนั้นๆ ล่ะไม่ยั่งยืน
ทุกข์ก็อย่างนั้นล่ะไม่ยั่งยืนหรอก
มันจะมามันก็มา มันจะไปเราก็ไล่มันก็ไม่ไป ถึงเวลามันก็ไปเอง
อย่างนี้เราจะเริ่มมีปัญญา
เราจะเห็นว่าสุขหรือทุกข์ก็ไม่ใช่ตัวเรา
ไม่ใช่ของเราหรอก
มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้
1
เหตุของความสุขก็คือ การกระทบอารมณ์ที่พอใจ
เหตุของทุกข์ทางใจเราก็คือการกระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจ
แล้วก็การกระทบอารมณ์เราเลือกไม่ได้
ว่าจะกระทบสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจ
มันกระทบอะไรเราเลือกไม่ได้ กรรมมันจัดสรร
เวลาอกุศลจะให้ผลมันก็กระทบแต่เรื่องไม่ดี
ไม่ถูกอกถูกใจ จิตก็จมอยู่ในความทุกข์
ถ้าเราฝึกเราก็เห็นสุขมันก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว
จิตก็เป็นกลาง ไม่รักไม่เกลียดมัน
แล้วก็เห็นเลยว่าความสุขความทุกข์มันไม่ใช่ตัวเราหรอก
เราบังคับอะไรมันไม่ได้
เราสังเกตจิตสังเกตใจไป เรารู้จิตเราอยู่
เราจะเห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายไม่ใช่เรา
จิตใจเรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนา
มันก็จะเห็นเวทนาไม่ใช่เรา
จิตใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่
จิตเป็นกุศลหรืออกุศล
โลภ โกรธ หลงอะไรเกิดขึ้นมา เรารู้ทันไป
พอรู้ทันไปมันก็จะเห็น
จิตโลภก็ไม่เที่ยง จิตโกรธก็ไม่เที่ยง
จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง
จิตที่เป็นกุศลก็ไม่เที่ยง จิตที่เป็นอกุศลก็ไม่เที่ยง
ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก 7 วัน 7 เดือน 7 ปี ดูมันเข้าไป
ถึงจุดหนึ่งมันคงไม่โง่ถึงขนาดดูอะไรไม่ออกหรอก …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
2 กรกฎาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา