11 ก.ค. 2022 เวลา 10:27 • อาหาร
“ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวแก้ว วุ้นกาแฟ บากา และแกงมัสมั่น: ความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของอาหารตรุษอิฎิลอัฏฮาชุมชนมุสลิมบางอุทิศ”
น่าเชื่อว่าชุมชนมุสลิมอายุ 237 ปี ท่ามกลางวัฒนธรรมวงล้อมไทยพุทธเกิดการแลกรับปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไม่น้อย ดูจากรายชื่ออาหาร 5 ชนิดในสำรับฉลองตรุษสมัยที่ "มะ" กับพี่น้องผู้หญิง 5 คนจำความได้ ลงมือทำ และวางมือไปเมื่อปีก่อนหลังรู้สึกเมื่อยล้าเกินกว่าจะทำต่อ อาหารที่มะจัดเตรียมแจกจ่ายแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านปีนี้จึงมาจากตลาดในชุมชน 5 ชนิด คือ ทองหยิบ ทองหยอด ลูกขนุน ขนมชั้น และฝอยทอง ยกเว้นแกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากรายที่มะยังโขลกเครื่องแกงและปั้นชิ้นปลาเอง
"ข้าวต้มมัด" หรือ "ตูปัด" ไส้กล้วยน้ำว้าสุกงอมและถั่วดำของมะแบบที่คนมุสลิมบางอุทิศยังคงทำสืบทอดกันมา แอดมินติดมือกลับมาบ้านกินกับชามาเลย์ (Teh Tarik) มื้อเช้าก็เข้ากันดี
ชุมชนมุสลิมบางอุทิศก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ โดยคนมุสลิมเชื้อสายมลายูจากปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2328 สมัยรัชกาลที่ 1 กลุ่มเดียวกับมุสลิมสวนหลวง บรรพชนรุ่นแรก ๆ ที่อพยพมายังคงสื่อสารกันด้วยภาษามลายู (ยาวี) รวมทั้งละหมาดรวมกันที่สุเหร่าเก่า ก่อนจะมีการสร้างมัสยิดหรือสุเหร่าใหม่แยกออกมาภายหลังชุมชนขยายตัว
ชาวบ้านเรียกสุเหร่าใหม่นี้ว่า “สุเหร่าแม่บาง” ตามชื่อนางบาง (ขัตติยะ นานา) ผู้อุทิศที่ดิน และอีกชื่อหนึ่งว่า “สุเหร่าใหม่วัดพระยาไกร” ต่อมามีการตราพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 ส่งผลให้ต้องจดทะเบียนมัสยิดเป็นนิติบุคคล ตำแหน่งอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น และกรรมการมัสยิด จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และได้รับการจดทะเบียนเป็นลำดับที่ 62 ของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น “มัสยิดบางอุทิศ” โดยยังคงรักษานามผู้อุทิศไว้เป็นอนุสรณ์
1
วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม ปีนี้เป็นวัน “อีฎิลอัฏฮา ฮิจเราะฮ์” ของคนมุสลิมทั่วโลก บุคคลภายนอกอาจเรียกว่า ตรุษแขก หรือวันขึ้นศักราชใหม่อิสลาม นับเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองใหญ่ประจำปีฮิจเราะฮ์ศักราช 1443
“ตรุษ” หรือ “วันอีด” ในภาษาอาหรับ หรือ “ฮารีรายอ” ในภาษามาลายู ของศาสนาอิสลามมี 2 วัน ได้แก่
  • ตรุษแรก คือ ตรุษหลังเสร็จสิ้นภารกิจในเดือนรอมฎอน ที่คนมุสลิมจะต้องถือศีลอด เรียกตรุษนี้ว่า "อีดิ้ลฟิตรี่" หรือวัน "อีดเล็ก"
  • ตรุษที่สอง คือ ตรุษเพื่อรำลึกยกย่องอิบรอฮีมที่จะเชือดพลี (กุรบาน) ลูกชายตามคำสั่งของอัลลอฮ์ แต่ก่อนที่ท่านจะเชือดพลีลูกชายของตนเอง อัลลอฮ์รับสั่งให้เชือดแกะแทน จากนั้นแบ่งแกะออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งให้คนจนและคนที่ต้องการ อีกส่วนให้เก็บไว้ที่บ้าน และที่เหลือนำไปแจกให้ญาติ เรียกตรุษนี้ว่า “อีดิ้ลอัฎฮา” หรือ "อีดกุรบาน" ถือเป็นวัน "อีดใหญ่"
กิจกรรมในวันตรุษหรือวันอีดมีมากมาย เริ่มด้วยการกล่าวตักบีร (สรรเสริญพระเจ้า) การไปร่วมละหมาด (นมัสการ) ที่มัสยิด มุสลิมทุกคนทั้งชาย หญิง เด็ก และผู้ใหญ่จะมีความสุขสดชื่น อาบน้ำชำระร่างกายสะอาดหมดจด แต่งกายด้วยชุดที่ดีที่สุด ประพรมของหอม และไปมัสยิด ฟังการคุตบะฮ์ (เทศนา) ทำความสะอาดหลุมศพ ร่วมรำลึกขอพรให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วยังกุโบร์ (สุสาน)
"มะ" ข้างหลุมศพสามีคู่ยากที่จากไปเมื่อต้นปีหลังอยู่เคียงข้างกันยาวนานเกินกว่ากึ่งศตวรรษ
ชุชนมุสลิมบางแห่งอาจจะมีการกินเลี้ยงที่มัสยิด ประกอบพิธี "กุรบาน" (เชือดสัตว์พลีทาน) แจกจ่ายสมาชิกชุมชน ปัจจุบันคนมุสลิมบางอุทิศเชื่อว่า ผู้เป็นเจ้าภาพจัดหาวัว แพะ หรือแกะในพิธีกุรบานจะได้อานิสงส์แรง สัตว์จะเป็นพาหนะพาดวงวิญญาณบุคคลผู้นั้นไปพบพระอัลลอฮ์
นอกจากคนทุกคนในชุมชมจะอาสาช่วยงานส่วนรวมตั้งแต่ก่อนเทศกาลจะมาถึง แต่ละครอบครัวจะจัดเตรียมใบตอง ข้าวเหนียว และกล้วยสำหรับทำข้าวต้มมัด ขนม และอาหารต่าง ๆ เพื่อแจกจ่ายแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน
แต่ละบ้านจะนำอาหารที่ทำขึ้นนี้ไปมอบให้เพื่อนบ้านและเพื่อนบ้านก็จะมอบอาหารหรือขนมอื่น ๆ ตอบแทนกลับมา บางครั้งบางครอบครัวจะมีอาหารหรือขนมกินโดยไม่ต้องซื้อหรือทำเพิ่มนานสองถึงสามวัน
การนำของกินไปมอบแก่กันเป็นไปตามหลักศาสนาที่กำหนดให้มีการเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกัน ขอมาอาฟ (ขออภัย) ซึ่งกันและกัน ใครที่ทำผิดต่อกันก็ให้วันนี้เป็นวันเริ่มต้น ขอโทษ ให้อภัย ซึ่งกันและกัน บรรดาลูกหลานก็จะออกเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่ในชุมชน
อาหารฉลองตรุษอิฎิลอัฏฮาในความทรงจำของมะและพี่น้อง 5 สาวเมื่อ 70-80 ปีก่อนปรากฏร่องรอยอาหารไทย เพื่อนบ้านอุษาคเนย์ และตะวันตกให้เห็นในข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวแก้ว และวุ้นกาแฟ แต่น่าเชื่อว่า เมื่อตอนที่วัฒนธรรมอาหารเหล่านี้มาจากปัตตานีเมื่อ 237 ปีก่อนอาจจะไม่ใช่สำรับนี้ อย่างน้อยข้อมูลจากการสำรวจชุมชนมุสลิมบ้านครัวก็บอกกับเราว่า ขนมหวานมุสลิมส่วนใหญ่ทำมาจากข้าวเจ้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปที่รากเหง้าของคนบางอุทิศ ชุมชนมุสลิมที่ปัตตานีปัจจุบันยังคงมีข้าวต้มมัดเป็นอาหารสำคัญประจำเทศกาลตรุษ เป็นข้าวต้มมัดที่ไม่ใส่ใส้กล้วยอย่างบางอุทิศ แต่กินกับ “ซามาอีแก” หรือ "สมันปลา" ปลายีละเอียดผัดกะทิและเครื่องเทศ เช่น หอมแดง กระเทียม ส้มแขก น้ำตาล และเกลือ คล้ายหน้าปลาสำหรับกินคู่ข้าวเหนียวมูน รวมทั้งสามารถเก็บไว้กินได้นาน
"ตูปัด" หรือ "ข้าวต้มมัด" ห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยม (Thada Anusorn School 2562)
"ซามาอีแก" หรือ "สมันปลา" อาหารโบราณของคนมุสลิมปัตตานี กินกับข้าวสวยและกินกับตูปัด (A Lady Named Fern 2563)
"บากา" (อาแป/อาแปบากา) ขนมโบราณของมุสลิม บากา แปลว่า เผา เพราะต้องใช้ไฟล่างและไฟบนคล้ายการทำขนมหม้อแกง ทำจาก แป้งข้าวเจ้า ใบเตย น้ำตาล และเกลือ เป็นขนมหวานอีกชนิดหนึ่งที่มะและพี่น้องเลิกทำแล้วเพราะต้องใช้ความอุตสาหะในการเตรียมส่วนผสม และอิงความร้อนจากเตาไฟและถ่านไฟเหนือถาดขนมเป็นเวลานานระหว่างการเผา แม้ว่ามุสลิมปัตตานีวันนี้ส่วนใหญ่ใช้การทอดแทนที่จะย่างอย่างที่มะและพี่น้องทำ
ขนม "อาแปบากา" ของมุสลิมปัตตานีในปัจจุบัน ส่วนผสมประกอบด้วย แป้งข้าวเจ้า กล้วยหอม น้ำตาลมะพร้าว ผงฟู และเกลือ (ปทิตตา หนูสันทัด 2562)
จากที่เล่ามานี้ก็จะเห็นได้ว่า เพราะวัฒนธรรมมีชีวิต วัฒนธรรมจึงแลกรับปรับเปลี่ยน ไม่เคยแช่แข็งตายตัว ความเปลี่ยนแปลงของอาหารตรุษอิฎิลอัฏฮาของคนบางอุทิศที่เห็นในปีนี้ไม่ได้หมายความว่าความเปลี่ยนแปลงเพิ่งเกิด แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดแล้วอย่างน้อยสองระลอกใหญ่ ครั้งแรกหลังจาก 237 ปีก่อนหลังการย้ายถิ่นฐาน อีกครั้งเกิดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ราว 70-80 ปีที่ผ่านมา เมื่อสามัญชนมีโอกาสสัมผัสกับทุนนิยม แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ความหมายของการให้ตราบที่คนมุสลิมยังคงมีให้แก่กัน
สำรับอาหารหวานที่แอดมินได้รับการต้อนรับจากมะในวันอีฎิลอัฏฮาที่บางอุทิศ
“อีดมุบาร็อก” (ขอพระผู้เป็นเจ้าจงประทานความเป็นศิริมงคลแด่ท่าน)
โฆษณา