Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
30 ส.ค. 2022 เวลา 10:05 • ไลฟ์สไตล์
“ศีลไม่ใช่เรื่องเล็ก
ถ้าศีลของเราเสีย อย่ามาคุยเรื่องสมาธิ
ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง
อย่ามาพูดเรื่องเจริญปัญญา ทำไม่ได้”
“ … รู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด
พวกเรารุ่นหลังๆ นี้จะต่างกับนักปฏิบัติรุ่นก่อนๆ
นักปฏิบัติรุ่นก่อนๆ เข้าวัด
สิ่งแรกที่ทำก็คือขอศีลก่อน
ของเราเข้ามาก็อยากรู้วิธีเจริญสติเจริญปัญญา
จุดตั้งต้นแตกต่างกัน
ยุคเรานี้ให้เทศน์เรื่องศีลให้ฟัง กลุ้มใจตายเลย
รู้หมดแล้วๆ แต่ไม่ได้ทำ รู้อย่างเดียว
คนรุ่นก่อน 30 – 40 ปีก่อน หลวงพ่อเข้าวัด
เขาไปถือศีลกัน เป็นจุดตั้งต้นที่ดี
อย่างพวกเราคิดจะเจริญปัญญา
บางคนก้าวกระโดด เอะอะก็จะเจริญปัญญา
จะดูจิต จะอะไรอย่างนี้ หวังว่าจะได้มรรคผลเร็วๆ
มองข้ามบทเรียนสำคัญไป
เรื่องศีล บทที่หนึ่งเลย สีลสิกขา
บทเรียนที่สองก็พัฒนาขึ้นมาสู่จิตตสิกขา
เรียนรู้จิตจนกระทั่งได้สมาธิที่ถูกต้อง
บทเรียนที่สามถึงจะปัญญาสิกขา
มีครั้งหนึ่งอยู่กับหลวงปู่เทสก์ ท่านปรารภให้ฟัง บอกว่ามันมีชาวพุทธเรานี้ล่ะ บางนิกาย มุ่งไปที่ปัญญา
คือท่านพูดถึงเซน เซนที่เข้ามาเมืองไทยยุคแรกๆ มีการแปลหนังสือ แปลตำราของเซนกัน อ่านแล้วก็คิดว่าเป็นเรื่องของการเจริญปัญญา ละเลยเรื่องศีล ละเลยเรื่องสมาธิ พูดกัน เดี๋ยวก็ว่างๆ อันนั้นก็ไม่ยึด อันนี้ก็ไม่ยึดอะไรอย่างนี้
ท่านบอกท่านเห็นจุดอ่อนของเซน
อันนี้ต้องวงเล็บว่าเซนในเมืองไทยที่เข้ามายุคแรกๆ
คือมาแต่ตำรา ท่านบอกจุดอ่อน คือละเลยเรื่องศีลและเรื่องสมาธิ
ท่านวิจารณ์ท่านวิพากษ์ ว่าเดินปัญญาโดยที่จิตไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ใช้ไม่ได้ ซึ่งมันก็ใช้ไม่ได้จริงๆ
อยู่ๆ เราเจริญปัญญาไปเลย เราจะเซลฟ์จัดมากเลย
อันนั้นก็รู้อันนี้ก็รู้
เหมือนพวกที่เรียนเยอะๆ เรียนธรรมะมากๆ เซลฟ์จัด
ดูถูกคนโน้นคนนี้เขาไปทั่ว
ดูถูกนักปฏิบัติ ดูถูกพระ ดูถูกอะไร
เพราะฉะนั้นเวลาเราสื่อสารธรรมะ
ต้องสื่อสารไปตามลำดับ
คำว่า ตามลำดับ
ไม่ใช่ว่าต้องมาถือศีลเท่านั้นเท่านี้ปีก่อนแล้วถึงจะมานั่งสมาธิ
นั่งสมาธิได้แค่นี้ปีถึงจะเจริญปัญญา
ไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก
คำว่าเป็นลำดับ เราต้องสำรวจตัวเองให้ดี
ศีลนั้นถือไปเพื่ออะไร
เพื่อให้จิตใจของเราเป็นปกติ
ศีลมันแปลว่าความเป็นปกติ
จิตของคนทั่วไปไม่ปกติ
เดี๋ยวก็ถูกความโลภครอบงำ
ถูกความโกรธครอบงำ
ถูกความหลงครอบงำ
ถูกความฟุ้งซ่าน ถูกความหดหู่ครอบงำ
จิตใจเสียความสมดุล เสียความเป็นปกติ
จิตนั้นโดยตัวของมันเองประภัสสร
โดยตัวของจิตเองผ่องใส สว่าง
มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา
กิเลสที่ผ่านเข้ามา มันก็เลยไม่ปกติ
เวลาจิตใจเราไม่ปกติ
เราก็เริ่มคิดผิด เริ่มพูดผิด เริ่มทำผิด
เราต้องมารักษาศีลให้ใจของเราเป็นปกติให้ได้
วิธีที่จะรักษาศีลให้ดี คือมีสติรักษาจิตเอาไว้
ราคะเกิดขึ้นกับจิตให้รู้ทัน
โทสะเกิดขึ้นกับจิตให้รู้ทัน
โมหะเกิดขึ้นกับจิตให้รู้ทัน
คอยรู้อย่างนี้บ่อยๆ
ราคะ โทสะ โมหะ มันก็จะครอบจิตเราไม่ได้
เมื่อราคะ โทสะ โมหะครอบงำจิตเราไม่ได้
เราก็ไม่คิดชั่ว
คนเราคิดชั่วก็เพราะกิเลสมันครอบงำจิต
อย่างเราคิดโกรธแค้น
อาฆาตพยาบาทใครต่อใครอะไรอย่างนี้
มันคิดจะผิดลูกผิดเมียเขาอะไรอย่างนี้
คิดจะปล้นจี้เขาอะไรอย่างนี้
มันเกิดจากกิเลสมันครอบงำจิต
ทำให้เราคิดผิด
ตัวคิดผิดเรียกเป็นมิจฉาสังกัปปะ
ฉะนั้นถ้าเรามีสติรักษาจิตเรา
เราเริ่มตั้งแต่ความคิดถูก จะเกิดขึ้น
พอกิเลสอะไรเกิด เรารู้ทัน กิเลสอะไรเกิดขึ้น รู้ทัน
เวลาความคิดที่ไม่ดี
ความคิดที่อยู่ในอำนาจของกิเลสเกิดขึ้น
เรารู้ทัน กิเลสมันก็ดับ
ความคิดของเราก็สะอาดหมดจด
เมื่อความคิดของเราถูกต้องแล้ว
ไม่ตกอยู่ในอำนาจกิเลสแล้ว
คำพูดและการกระทำของเราก็จะดี
กระบวนการขั้นตอนอันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อพูดเอง
เราไปดูองค์มรรคให้ดี
มันเรียงลำดับอย่างที่หลวงพ่อบอก
ขั้นแรก สัมมาทิฏฐิ เราก็มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง
เราจะต้องรู้ว่าเราจะปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร
ไม่ใช่เพื่อเฮง เพื่อรวย เพื่อสวย เพื่อเก่งอะไรทั้งสิ้น
เราปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์
เราจะพ้นทุกข์ได้ เราต้องรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุของทุกข์
รู้จักความดับทุกข์ รู้วิธีปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์
การรู้อย่างนี้ รู้ในเบื้องต้น รู้โดยทฤษฎี
มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง
คำว่า สัมมาทิฏฐิ
ทิฏฐิๆ เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตคือคำว่าทฤษฎี
คนไทยเอาคำว่าทิฏฐิมาใช้ในความหมายอันหนึ่ง
ทฤษฎีเป็นอีกความหมายหนึ่ง
ที่จริงก็คือมีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง
รู้ว่าเราภาวนา เราปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นหรอก
ไม่ใช่เพื่อโชคลาภ เพื่อร่ำรวย
เพื่อจะไม่เจ็บไม่ป่วยอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่
เป็นเรื่องทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ ใครเป็นคนทุกข์ล่ะ
ใจเรานั่นล่ะตัวสำคัญ
บางทีร่างกายยังไม่ได้เจ็บป่วยเลย
ใจก็ทุกข์ไปก่อนแล้ว
ใจมันทุกข์เพราะอะไร
เพราะความคิด มีความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้น ใจก็ดิ้น วุ่นวาย
ฉะนั้นท่านถึงสอน บอกว่าถ้าเราจะปฏิบัติธรรม เรารู้ทฤษฎีชี้นำแล้ว เราก็ต้องมาคิดให้ถูก อย่าคิดผิด ตรงความคิดเป็นจุดตั้งต้นของความผิดพลาดเรื่องอื่นๆ
บางคนรู้ว่าความคิดนี่ล่ะเป็นต้นตอทำให้เกิดคำพูดและการกระทำที่ไม่ดี คำพูดและการกระทำที่ไม่ดี หรือความคิดที่ไม่ดีนำความทุกข์ให้เกิดขึ้นกับจิตใจ ก็พยายามจะไม่คิดๆ อันนั้นไม่ใช่วิธีการของชาวพุทธเรา
จิตมันมีธรรมชาติ คิด นึก ปรุง แต่ง
เราจะไปสั่งมันว่าอย่าคิด อย่านึก อย่าปรุง อย่าแต่ง
สั่งไม่ได้ มันเป็นอนัตตา สั่งมันไม่ได้
แต่ให้เรามีสติไว้ เวลามันคิด เรารู้ทันไปเลย
เราคิดเรื่องนี้เพราะอะไร
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเราเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล
มันคิดเพราะโลภหรือเปล่า
มันคิดเพราะโกรธหรือเปล่า
มันคิดเพราะหลงหรือเปล่าอะไรอย่างนี้
คอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรานั่นล่ะ
เมื่อเรารู้ทัน กิเลสมันจะครอบงำจิตใจไม่ได้
ครอบงำความคิดไม่ได้
มโนกรรมที่ชั่วมันก็ไม่มี
เมื่อเราไม่มีมโนกรรมทางชั่ว
คำพูดและการกระทำมันก็ไม่ชั่ว
เพราะฉะนั้นสัมมาสังกัปปะที่บริบูรณ์
คือการที่เรามีสติคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา
สัมมาสังกัปปะที่บริบูรณ์จะทำให้ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สิ่งเหล่านี้จะสมบูรณ์ขึ้นมา
ฉะนั้นถ้าเรารู้เท่าทันจิตใจตัวเอง
ที่เราคิดอยู่นี้เพราะอะไร
ถ้าเรารู้ทันแล้วเราไม่คิดไปตามอำนาจของกิเลส
คำพูดของเราก็จะไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส
การกระทำของเรา
การเลี้ยงชีวิตของเราก็จะไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส
นี่มันคือลำดับขององค์มรรคๆ
แล้วการที่เราคอยมีสติรู้เท่าทันความคิดของเรา
มโนกรรมชั่วๆ ไม่มี วจีกรรมที่ชั่วไม่มี กายกรรมที่ชั่วๆ ไม่มี
การเลี้ยงชีวิตแบบฉ้อฉลปลิ้นปล้อนหลอกลวงอะไรอย่างนี้ ไม่มี
อันนี้มันจะไปเกื้อกูลทำให้อกุศลที่เราเคยมีอยู่เสื่อมถอยลงไป
มันเกื้อกูลที่จะให้กุศลที่ยังไม่มีก็เกิดมีขึ้นมา
กุศลที่มีแล้วก็จะเจริญยิ่งขึ้นๆ
เพราะฉะนั้นตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
มันจะมาเกื้อกูลสัมมาวายามะให้สมบูรณ์ขึ้นมา
สัมมาวายามะก็คือความเพียรชอบ
ความเพียรชอบมีองค์ 4 อัน
หนึ่งเพียรละอกุศลที่มีอยู่
เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด
เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด
เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญงอกงามขึ้น
นี่ความพยายาม 4 อย่าง
ถ้านอกเหนือจากความพยายาม 4 อย่างนี้ก็ไม่ใช่ความพยายาม ไม่ใช่ความเพียรในองค์มรรค ก็เป็นเรื่องอื่นๆ ไป ขยันทำมาหากินอะไรอย่างนี้ก็คนละเรื่องกัน
ฉะนั้นคำว่า ความเพียรๆ เราก็ต้องรู้
ท่านมีคำว่า ความเพียรชอบ
ความเพียรชอบก็คือเพียรลดละกิเลส
ปิดกั้นกิเลสใหม่ไม่ให้เกิด
เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด
เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้ยั่งยืน ให้เจริญ
นี่ล่ะถึงจะเรียกว่า ความเพียรชอบ
ขยันทำมาหากินอะไรอย่างนี้ยังไม่เรียกว่าความเพียรชอบ
ความเพียรชอบมันก็เกิดมาจากมีทฤษฎีชี้นำที่ถูก
เรารู้เลยว่าถ้าเราปฏิบัติขัดเกลาตัวเองไป
ให้ศีล สมาธิ ปัญญาของเราดี
วันหนึ่งจิตเราก็พ้นจากความทุกข์
รู้ทางทฤษฎีแล้วก็ลงมือทำ
ลงมือทำก็เริ่มตั้งแต่คอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง
อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด
ถ้าเรารู้ตรงนี้ได้ ความคิดของเราก็จะสะอาด
คำพูดของเราก็จะสะอาด
การกระทำของเราก็จะสะอาด
การเลี้ยงชีวิตทำมาหากินก็จะสะอาด
ไม่ฉ้อฉลหลอกลวง เบียดเบียนใคร
แล้วก็อกุศลที่เคยมีมันก็จะค่อยๆ ลดลง
อกุศลใหม่ก็จะไม่เกิด
กุศลที่ไม่เคยมีก็จะเกิดขึ้น
กุศลที่มีแล้วก็จะเจริญขึ้น
เพราะฉะนั้นตรงที่เรามีสติรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของตัวเอง หลวงพ่อมอง มันแทบจะเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ
จริงๆ การปฏิบัติไม่ใช่นั่งสมาธิเดินจงกรมเฉยๆ
มันตั้งแต่ว่าขัดเกลาตัวเองด้วยศีล
หรือดูแลคำพูด การกระทำ
การเลี้ยงชีวิตของตัวเองให้ดี
ไม่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส
แล้วก็ถัดจากนั้นตัวสมาธิมันก็จะเกิดขึ้น
คือจิตใจเราเป็นปกติ
ไม่ถูกกิเลสผลักดันให้วิ่งพล่านๆ เหมือนหมาถูกน้ำร้อน
พอจิตใจเราเป็นปกติ จิตใจมันก็สงบ
ไม่เห็นจะยากอะไรเลย
ศีลไม่ใช่เรื่องเล็ก
เพราะฉะนั้นศีลเป็นตัวเกื้อกูลสมาธิ
ถ้าศีลเราไม่ดี สมาธิเสื่อม เสื่อมแน่นอนเลย เพราะอะไร
เวลาศีลไม่ดี ใจมันจะฟุ้งซ่าน
ดูอย่างเทวทัตเป็นตัวอย่างเลย สมาธิดีมากๆ เลย ตอนออกมาบวชทีแรก ไม่ใช่คนกระจอก มีบุญบารมีไม่ใช่น้อยเหมือนกัน
ถ้าไม่มีบุญบารมีเลย ไม่มาเป็นคู่ชกของเจ้าชายสิทธัตถะได้ บุญบารมีเขาก็มี แต่เขาขี้อิจฉา เขาอยากใหญ่อะไรอย่างนี้ ก็เลยคิดชั่ว คิดทำร้ายพระพุทธเจ้า คิดจะครอบครองศาสนจักร อยากตั้งตัวเป็นศาสดาแข่งกับพระพุทธเจ้าอะไรอย่างนี้
มีการคิดชั่ว มีการกระทำชั่ว ไปหลอกลวงอชาตศัตรูให้ฆ่าพ่อเพื่อจะยึดอำนาจ พอตัวเองได้อำนาจเหนือพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจแล้วตัวเองมีอำนาจเหนือพระเจ้าแผ่นดิน คิดจะใช้อำนาจนั้นไปจัดการพระพุทธเจ้า
ความชั่วมากมายจากคนซึ่งเคยเก่ง
สมาธิดีก็เสื่อมลงๆๆ แต่เขาเสื่อมช้าหน่อย
เพราะบุญบารมีเขาเยอะ
กว่าเขาจะเสื่อมเต็มที่ หมดฤทธิ์ หมดเดช
หมดอำนาจ หมดคนเชื่อถืออะไรอย่างนี้ ตอนอายุเยอะแล้ว
แล้วก็สำนึกผิดขึ้นมา
ตัวเองอยากได้ทุกสิ่งทุกอย่าง
สุดท้ายสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
สำนึกผิดแล้วจะไปขอขมาพระพุทธเจ้า
เขามีบุญ ก็เลยหล่อเลี้ยง กรรมชั่วยังไม่ทันให้ผล
แต่สุดท้ายกรรมชั่วก็ให้ผล
เขาทำอนันตริยกรรม 2 ข้อ
ทำให้สงฆ์แตกแยกกับทำพระพุทธเจ้าห้อเลือด
ทำร้ายพระพุทธเจ้าเป็นอนันตริยกรรม
จากคนซึ่งมีสมาธิ มีปัญญาอะไรไม่ใช่น้อย
เสื่อมแล้วก็มีอบายเป็นที่ไป
เพราะฉะนั้นศีลไม่ใช่เรื่องเล็ก
ถ้าศีลของเราเสีย อย่ามาคุยเรื่องสมาธิ
ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง
อย่ามาพูดเรื่องเจริญปัญญา ทำไม่ได้
เพราะฉะนั้นจุดสำคัญบอกแล้วว่าศีลเราจะดี
ถ้าเราคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา
เราคิดเรื่องนี้ คิดเพราะกุศล หรือคิดเพราะอกุศล
ไปสังเกตให้ดี
อย่างเรายกตัวอย่าง บางเรื่องดูยากหน่อย
อย่างคนเขามาชวนเราไปหล่อพระประธาน
หล่อพระโน้นพระนี้
ทำฉัตรทำโน้นทำนี้สร้างเจดีย์อะไรนี่
ถามว่าดีไหม ดี เป็นบุญไหม เป็น
เป็นกุศลไหม ไม่แน่ แต่เป็นบุญ เป็น แต่อาจจะไม่ถึงกุศล
ถ้าเราไม่สังเกตใจของเราให้ดี
อย่างเราไปสร้างสิ่งโน้นสิ่งนี้
แล้วเราก็ตั้งความปรารถนาขอให้รวยๆ อะไรอย่างนี้
มันมีโลภะแทรกอยู่
บุญของเราไม่สะอาดเต็มร้อยหรอก
บุญนี้ไม่ประกอบด้วยสติ
คือไม่สามารถรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง
ไม่ประกอบด้วยปัญญา
ไม่รู้ ไม่มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้องว่าที่เรามาศึกษาปฏิบัติธรรม
เรามาถือศีล ทำสมาธิเจริญปัญญานั้นเพื่อความพ้นทุกข์
ไม่ใช่เพื่อร่ำรวย ไม่ใช่เพื่อสวยงาม
ฉะนั้นเวลาไปทำบุญทำทานแล้วอธิษฐานขอโน้นขอนี่ ได้บุญเหมือนกัน ได้นิดเดียว เพราะลึกๆ มันประกอบด้วยกิเลส ประกอบด้วยโลภะ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
21 สิงหาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/motive-of-thoughts/
เยี่ยมชม
dhamma.com
รู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด
ถ้าศีลของเราเสีย อย่ามาคุยเรื่องสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง อย่ามาพูดเรื่องเจริญปัญญา จุดสำคัญคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา
Photo by : Unsplash
7 บันทึก
7
4
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
7
7
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย