17 ก.ย. 2022 เวลา 19:01 • สุขภาพ
ที่มาของการรณรงค์ป้องกันการขาดสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่องจนมีวันไอโอดีนแห่งชาติ 24 มิถุนายนของทุกปี เริ่มขึ้นเมื่อเกือบ 70 ปี ก่อน (บทความ 2565)
พ.ศ. 2496 ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ได้รายงานผู้ป่วยโรคคอพอกบางท้องที่ของภาคเหนือและภาคอิสาน ซึ่งอยู่ในเส้นทางสายคอพอก (goiter belt) ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาอยู่ห่างไกลจากทะเล บางหมู่บ้านพบผู้ป่วยสูงถึง 84.4% (หมู่บ้านคอพอก)
2 ปีต่อมา องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงส่งดร.รามา ริงกาสวามี มาศึกษาพบว่า 2 จังหวัดทางภาคเหนือมีผู้ป่วยโรคคอพอกที่มองเห็นได้ชัดเจน (visible goiter) สูงถึง 58% และภาคอิสาน 15-21%
WHO สำรวจซ้ำอีก 2 ปี พบโรคคอพอกใน 5 จังหวัดทางภาคเหนือ 23.5-45.5% โรคคอพอกดังกล่าวเกิดจากภาวะพร่องหรือขาดสารไอโอดีน ทำให้ต่อมไทรอยด์โตขึ้นจนมองเห็นชัดเจนแม้ในระยะไกล
ถึงแม้การเกิดโรคคอพอกอีกสาเหตุหนึ่งของผู้ป่วยบางส่วน จะเป็นการขัดขวางการใช้ไอโอดีนของร่างกาย โดยสารกลุ่ม goitrogen
แต่จากการศึกษาไอโอดีนในดิน น้ำ และ พืชผัก ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยเทียบกับกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ต่างๆ พบว่าแตกต่างกัน เช่น กรุงเทพมหานครมีไอโอดีนในสิ่งแวดล้อมมากกว่า นอกจากนี้ยังได้ศึกษาไอโอดีนที่ถูกขับออกมาทางปัสสาวะก็พบว่าต่ำเช่นเดียวกัน จากผลการศึกษาจึงสรุปได้ว่าโรคคอพอกที่พบเกิดจากผู้ป่วยได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอเป็นเหตุจากสิ่งแวดล้อม (Environmental deficiency) เรียกว่ามีความผิดปกติจากการพร่องไอโอดีน (Iodine Deficiency Disorder: IDD)
ซึ่งไอโอดีนส่วนใหญ่จะมีอยู่ในอาหารทะเล
อันดับหนึ่งคือสาหร่ายสีน้ำตาลตากแห้ง (Kelp) หรือจะเป็นสาหร่ายผมนาง (สด) ก็มีไอโอดีนสูงถึง 2,430 ไมโครกรัมต่อส่วนที่กินได้ 100 กรัม ส่วนสาหร่ายแห้งทำแกงจืดมีไอโอดีนน้อยกว่าสาหร่ายผมนาง (สด) 7 เท่า สาหร่ายแต่ละชนิดในรูปแบบสด แห้ง มีไม่เท่ากัน
ตัวอย่างอาหารที่มีไอโอดีนจากกรมอนามัยเทียบกับส่วนที่กินได้ 2 ช้อนกินข้าว
(30 กรัม) ในสาหร่าย ไข่เป็ด ไข่ไก่ กุ้ง ปลาทู ปลากระบอก
เนื่องจากอาหารของทุกบ้านจะมีเกลือเป็นเครื่องปรุงรสแต่เกลือจะขาดไอโอดีนหรือมีน้อยจนไม่เพียงพอต่อความต่องการของร่างกาย กระทรวงสาธารณสุขจึงรณรงค์การเสริมไอโอดีนลงในเกลือ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการขาดสารไอโอดีนเริ่มต้นที่จ.แพร่ ขยายไปยังเชียงใหม่และเชียงราย (พ.ศ.2508) ประเมินผลใน 4 ปีต่อมา พบว่าการเกิดโรคคอพอกลดลง เช่น เชียงราย จาก 42% เป็น 2.6% ในเวลาไม่ถึงปี หมู่บ้านคอพอกลดลงเป็น 32.6%
ภายใน 3 ปี
แต่เมื่อการกระจายของเกลือขาดช่วงหรือการเสริมไอโอดีนไม่ได้มาตรฐาน ก็ทำให้ปัญหาโรคคอพอกกลับมาอีก
ดังนั้นจากเกลือเสริมไอโอดีน ก็ขยายการเสริมไอโอดีนในอาหารต่างๆ เช่น เครื่องปรุงรส ไข่ บะหมี่สำเร็จรูป เป็นต้น
ที่มา: วิวัฒนาการของการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย งานควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย อดีต-ปัจจุบันและอนาคต, 2535
อุทัย พิศลยบุตร อดีตผอ.กองโภชนาการ
ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2563
คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย
ครั้งหน้าพบกับสาระน่ารู้ในเรื่องของเกลือและผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนกันต่อค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา