15 ต.ค. 2022 เวลา 01:41 • ไลฟ์สไตล์
“กิจของอริยสัจ 4 มี 4 งาน สำเร็จได้ในขณะจิตเดียว
รู้ทุกข์เมื่อไรเมื่อนั้นละสมุทัย
ละสมุทัยเมื่อไร เมื่อนั้นแจ้งนิโรธ
แจ้งนิโรธเมื่อไร เมื่อนั้นมรรคเจริญขึ้นแล้ว
เกิดอริยมรรคแล้ว”
1
“ … ธรรมะมีหลายระดับ
ระดับต้นๆ ทำให้เราอยู่กับโลกอย่างมีความสุข
ระดับสูงขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมะเพื่อการพ้นจากโลก
พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้คิดว่าทุกคนจะพ้นโลกได้
พ้นโลก เหนือโลกก็คือคำว่าโลกุตตระ
ส่วนใหญ่เราก็ยังเวียนว่ายอยู่ในโลกิยะ
โลกของโลก โลกธรรมดา โลกของกาม
หาความสุขความเจริญ ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นอย่างนั้น
น้อยคนที่คิดจะพ้นโลกจริงๆ
ไม่ใช่ความผิด แต่เป็นเพราะยังไม่ถึงเวลาของเราจะพ้นจากโลก
พระพุทธเจ้าท่านก็เข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี
ท่านก็สอนธรรมะให้เราอยู่กับโลกอย่างมีความสุข มีความเจริญ
อย่างธรรมะที่ท่านสอนฆราวาส ท่านจะสอนเรื่องการทำทาน การรักษาศีลอะไรพวกนี้ อยู่ในกลุ่มหมวดของธรรมะชื่ออนุปุพพิกถา เรื่องรู้จักทำทาน รักษาศีล
ถัดจากนั้นก็มีสัคคกถา คือเรื่องของสวรรค์
สวรรค์ก็คือเรามีความสุขมีความเจริญในทางโลกนั้นล่ะ
ยังเป็นๆ อยู่ก็ขึ้นสวรรค์ได้ จิตใจมันมีความสุข
มองอีกมุมหนึ่ง ทำไมท่านสอนอย่างนี้
อันแรกก็คือคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้อยากพ้นโลก
แต่อยากมีความสุข ท่านก็สอนธรรมะให้ ให้รู้จักทำทาน ให้รักษาศีล
1
อนุปุพพิกถา
ท่านแสดงอนุปุพพิกถาครั้งแรกให้พระยสะฟัง ยสะเป็นลูกเศรษฐีอยู่ที่เมืองพาราณสี ถ้าพวกเราเคยไปพาราณสี คนไทยชอบไป เราจะเห็นเลย ในพาราณสี ที่ริมแม่น้ำคงคามีท่าน้ำเอาไว้เผาศพบ้าง เอาไว้ทำพิธีบวงสรวงไหว้เทวดา ไหว้คงคา ไหว้สุริยเทพ
เวลาคนตายก็เอาไปเผาริมแม่น้ำ โยนเถ้ากระดูกลงน้ำไป คนบางกลุ่มเขาจะไม่เผา อย่างพวกนักบวช เขาโยนลงน้ำเลย ที่เผาเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ พวกนักบวชถือว่าบริสุทธิ์อยู่แล้ว ไม่ต้องเผา ทิ้งน้ำไปเลย ทิ้งน้ำเพื่ออะไร จะได้ขึ้นสวรรค์
ยสะเกิดมาในสภาพแวดล้อมอันนั้นกับเพื่อนๆ ทั้งกลุ่ม มีเพื่อนอีก 54 คน อยู่ในสังคมของพราหมณ์ เห็นความสำคัญของแม่น้ำคงคา ถ้าตายริมแม่น้ำ แล้วเผาริมแม่น้ำ แล้วโยนกระดูก เถ้ากระดูกลงน้ำ จะได้ขึ้นสวรรค์
1
พระพุทธเจ้าท่านต่อต้านคอนเซ็ปต์อันนี้ ความเชื่ออันนี้ ท่านบอกว่าถ้าหากลงไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคาแล้วขึ้นสวรรค์ได้ เต่าปลาในแม่น้ำมันอยู่ในน้ำทั้งวัน ขึ้นสวรรค์ไปหมดแล้ว ไม่มีเต่าปลาอะไรในแม่น้ำที่จะตกนรกสักตัวหนึ่ง ไม่มีเลย ดีกว่าคนอีก คนบางคนก็ตกนรกอะไรอย่างนี้
ฉะนั้นท่านไม่เห็นด้วย ฉะนั้นเวลายสะมาหาท่าน ท่านก็พยายามล้างทิฏฐิ คือความเห็นผิดๆ ก่อน บอกว่าอยากจะขึ้นสวรรค์ไม่ได้ขึ้นด้วยการอาบน้ำในแม่น้ำหรอก แต่ขึ้นด้วยการทำทาน ด้วยการรักษาศีล
เราไปอินเดีย เราจะเห็นขอทานเยอะ ฉะนั้นยสะใจดี คงทำทานอยู่แล้วล่ะ ก็สอนเรื่องรักษาศีล แล้วสิ่งที่ได้ก็คือความสุขความเจริญ ได้สวรรค์ ถ้าคนทั่วไปก็ต้องการแค่นี้ล่ะ
อย่างคนไทยเราเราไม่ได้เชื่อเรื่องอาบน้ำในแม่น้ำแล้วก็ขึ้นสวรรค์ได้ ของเราไม่ได้เชื่อกันอย่างนั้น อิทธิพลศาสนาพุทธเข้ามานาน
เราก็เชื่อเรื่องทำทานรักษาศีลแล้วก็ขึ้นสวรรค์ ก็พอใจกันแค่นั้น ชอบมากเลย เรื่องทำทาน ยิ่งกาลทาน ใกล้ๆ ทอดกฐิน ชอบนักเชียว ดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ ทำไปก็เพื่ออยู่กับโลก เพื่อความสุขที่จะเวียนว่ายตายเกิดต่อไปเท่านั้นล่ะ
พอยสะเขาเปิดใจได้ว่าอาบน้ำในแม่น้ำไม่ขึ้นสวรรค์ ทำทานรักษาศีลขึ้นสวรรค์ได้ ถัดจากนั้นพระพุทธเจ้าท่านก็ชี้ความไม่แน่นอน โทษของกาม สวรรค์นั้นก็คือประโยชน์ของกาม เป็นกามที่ให้คุณ มีความสุข ได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่พอใจ
ในสิ่งที่พอใจนั้นมันก็มีความไม่พอใจแทรกอยู่ด้วย
เห็นรูปที่พอใจได้ มันก็เห็นรูปที่ไม่พอใจได้
ได้ยินเสียงที่พอใจได้ มันก็ได้ยินเสียงที่ไม่พอใจได้
ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่พอใจ
มันก็มีกลิ่น รส สัมผัสที่ไม่พอใจได้อีก
เพราะฉะนั้นความสุข ที่แสวงหาความสุขในกาม ความสุขของสวรรค์ มันไม่แน่นอนหรอก มันไม่ยั่งยืน
สุดท้ายท่านก็สรุปโทษของกาม โทษ
แล้วก็ชี้ไปที่อานิสงส์ ผลประโยชน์ของการออกจากกาม
ท่านสอนเพื่อขัดเกลาจิตใจของคนที่ติดอยู่ในโลก
1
แต่ยสะนั้นเริ่มจะไม่ติดในโลกแล้ว บุญบารมีมากพอ
เห็นสิ่งรอบๆ ตัวมีแต่ความขัดข้องวุ่นวาย
บอกที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ ใจมันนึกอย่างนี้
ถ้าเราไปเห็นพาราณสี เราก็จะอุทานเหมือนกันล่ะ หลายพันปีก็เหมือนเดิม ที่มากกว่าเดิมในยุคนี้ก็คือเสียงแตรรถยนต์ เสียงแตรรถมอเตอร์ไซค์ อินเดียเจี๊ยวจ๊าวไปหมดเลย ขับรถก็กดแตรตลอดเวลา
ฉะนั้นถ้ายสะมาเกิดยุคนี้คงรีบออกเร็วเลย กลางคืนก็นอนไม่หลับ หนวกหู
สมัยของท่านมันยังไม่มีแตรรถแต่บุญบารมีท่านเยอะ
ท่านเห็นชีวิตมีแต่ความวุ่นวาย สับสนวุ่นวาย
ถ้าเราไปเห็นเมืองแขก เมืองพาราณสี มันวุ่นวายตั้งแต่กลางคืนเลย คนแห่มาเต็มบ้านเต็มเมืองเลย จะไปริมแม่น้ำ จะไปไหว้พระอาทิตย์ขึ้นอะไรอย่างนี้ จนตกค่ำก็ทำพิธีไหว้คงคาอะไรต่ออะไร มันวุ่นวายตลอดเวลา ผู้คนแออัด
ยสะเห็นแล้วก็เบื่อ อยากพ้นไป มีเวลาไปเดินออกไปนอกเมือง ไปป่าชานเมือง อย่างที่อิสิปตนมฤคทายวัน เดี๋ยวนี้คือสารนาถ อยู่ชานเมืองพาราณสี
เบื่อความวุ่นวาย ออกไปเจอพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็ค่อยๆ ปรับทัศนคติ ปรับความคิด
อันแรกสอดคล้องอยู่แล้วล่ะ ยสะคงไม่เห็นหรอกว่าแห่กันไปอาบน้ำในแม่น้ำแล้วดีอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นท่านจะไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อ ขัดข้องวุ่นวาย
ท่านคงเห็นไม่มีสาระแต่ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ พระพุทธเจ้าท่านสะกิดนิดเดียวเท่านั้น สอนเรื่องการทำทาน การรักษาศีลแล้วผลก็คือได้รับความสุข นั่นคือสวรรค์ ความสุขนั้นมันก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน
ฉะนั้นการออกจากรสชาติของความสุขในโลก
ความสุขในกามอันนั้นมีประโยชน์มากกว่า
พอปรับทัศนคติอย่างนี้ได้แล้ว
ปรับความคิดเบื้องต้นได้แล้ว
ท่านก็สอนวิธีที่จะออกจากโลก
วิธีที่ออกจากโลกก็คือท่านสอนเรื่องของอริยสัจให้
พอใจคิดเบื่อหน่ายอยากจะพ้นจากโลก
ท่านสอนอริยสัจ 4 ให้
ของพวกเรา เราเลยขั้นความเชื่อว่าทำอะไรแปลกๆ แล้วจะขึ้นสวรรค์ เราก็รู้จักทำทาน รู้จักรักษาศีลก็ดีแล้วล่ะ แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นยังมีอีก ถ้าเราพอใจอยู่แค่นี้ก็ไม่เป็นไร ได้แค่นี้ก็เอาแค่นี้ก่อน ดีกว่าทำชั่ว
แต่ถ้าต้องการสิ่งที่เหนือกว่านั้น ความสุขที่ยั่งยืนกว่านั้น
เราก็มาหัดเรียนรู้อริยสัจ 4 ให้ดี
อริยสัจ 4 ถ้าตราบใดที่เรายังไม่รู้แจ้งแทงตลอด
เรายังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิดหรอก
ยังหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้นหรอก
ต้องเข้าใจอริยสัจถึงจะหยุดวัฏฏะลงได้
ต้องเข้าใจอริยสัจถึงจะหยุดวัฏฏะลงได้
วัฏฏะ ดูง่ายๆ เลย มันหมุนจี๋ๆๆ อยู่กลางใจของเรา กลางหน้าอกเรานี้ มันหมุนอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย วุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้น
จิตก็เข้าไปยึดไปถือ
ยึดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์
ยึดในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ
ยึด เจออะไรก็ยึดไปหมด พอยึดอยู่ก็ทุกข์อยู่
ทำไมมันยึด เพราะมันไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ
แต่ก่อนหลวงพ่อยังไม่บวช หลวงพ่อก็เคยภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วเราเห็นจิตมันวาง วางจิตลงไป แล้วมันก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก มันวางได้ไม่ตลอด วางแล้วก็หยิบ หยิบแล้วก็วางอยู่อย่างนั้น
แต่เราเห็นแล้วว่าต้นตอ ต้นตอของความทุกข์มันอยู่ตรงนี้เอง ตรงที่จิตมันไม่รู้อะไรอย่างหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่ามันไม่รู้อะไร
จิตซึ่งมันมีความไม่รู้อยู่มันเป็นต้นตอ
ทำให้เราหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
คือหยิบฉวยจิตขึ้นมา
การที่หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาคือชาติ คือความเกิด
เพราะฉะนั้นเราเห็น หลวงพ่อตอนนั้นยังเป็นโยม ภาวนาแล้วก็เห็นจิตมันเข้าไปหยิบอะไร แล้วก็ทุกข์
ของอื่นดูง่าย ร่างกาย จิตเข้าไปยึดกาย ดูก็วาง
เห็นแล้วกายไม่ใช่เรา
ความรู้สึกสุขทุกข์เกิดขึ้น จิตเข้าไปยึด
เรามองเห็น จิตก็วาง
สัญญา ความจำได้หมายรู้
สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว
จิตเข้าไปยึด เราก็เห็นอีก มันไม่ใช่เรา มันก็วาง
แต่จิตมันเป็นเราอยู่ มันวางไม่ได้
พอภาวนาแล้วก็เห็นบางทีก็วางแล้วก็หยิบๆ
ในใจลึกๆ มันก็พิจารณา
ทำไมมันไม่ยอมวางให้เด็ดขาด
มันไม่รู้อะไรบางอย่าง
รู้อย่างนี้ว่าจิตนี้มันยังไม่รู้อะไรบางอย่าง
เพราะฉะนั้นมันวางไม่ได้หรอก
เดี๋ยวมันก็วางแล้วก็หยิบๆ ไปเรื่อย
อย่างพวกเรามันแทบไม่วางเลย
ถ้าไม่ได้ภาวนา มันยึดถืออยู่อย่างนั้น
ยกเว้นนอนหลับไป ไม่รู้เรื่อง
ตื่นขึ้นมาก็หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ขึ้นมาเป็นตัวกูของกูขึ้นมาอีก
ค่อยภาวนาจนวันหนึ่งก็ค่อยเข้าใจขึ้นมา
สิ่งที่จิตมันขาดแล้วทำให้ปล่อยวางจิต
ปล่อยวางขันธ์ ปล่อยวางโลกไม่ได้
คือมันไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4
ฉะนั้นอริยสัจ 4 เป็นธรรมที่สำคัญที่สุดเลย
ครอบคลุมธรรมะทั้งหมดในคำสอนทางพระพุทธศาสนานี้
ทั้งฝ่ายโลกิยะ ทั้งฝ่ายโลกุตตระ
อริยสัจ 4 เริ่มจากตัวทุกข์
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือรูปนาม
คือขันธ์ 5 คือกายคือใจของเรานี้เอง
อันนี้เรียกว่าตัวทุกข์
หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้ ไม่ใช่ละ
สิ่งเหล่านี้เราต้องเข้าใจ
ถ้าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง เราก็ละสมุทัยได้
ในทางโลกก็มีสมุทัยแล้วก็มันมีทุกข์
แล้วเดี๋ยวก็อยากอีก อยากอีกก็ทุกข์อีกๆ
ตัดวงจรอุบาทว์นี้ออกไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นในอริยสัจ มันมีธรรมทั้งฝ่ายเกิด
คือตราบใดที่ยังมีตัณหาเป็นตัวสมุทัยเป็นเหตุ
ความทุกข์ก็ยังเกิดอีก
นี่คือธรรมะฝ่ายโลกิยะ
ฝ่ายเกิดในอริยสัจ
มีทั้งธรรมะฝ่ายโลกิยะ ธรรมะฝ่ายโลกุตตระ
แล้วทั้งโลกิยะ โลกุตตระก็มี 2 อย่าง
คือมีเหตุกับผล
ในโลกิยะ มันก็มีเหตุคือตัวอยาก มีผลก็คือตัวทุกข์
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์เมื่อกี้บอกแล้ว
คือตัวขันธ์ 5 คือตัวรูปตัวนาม
ไม่ใช่ความทุกข์อย่างที่เรารู้จักอย่างนี้
ฉะนั้นมีตัณหา มันก็มีรูปมีนามขึ้นมา
ยึดถือเอาไว้เป็นตัวเราของเรา
พอรูปมันแปรปรวน ใจมันก็ทุกข์
นามมันแปรปรวน ใจก็ทุกข์
ถ้ามีนามที่ไม่พอใจเกิดขึ้น อยากให้มันหายไป ใจก็ทุกข์
หายไปแล้ว กลัวมันจะกลับมาอีก ใจก็ทุกข์อีก
หรือนามที่ดีเกิดขึ้นก็อยากให้มันอยู่ตลอด
มันจะมีคำว่าอยากแทรกในทุกกระบวนการทำงานในจิตใจของเราเลย
ฉะนั้นที่เราแหวกวัฏฏะออกไปไม่ได้
เพราะเราไม่เคยเห็นตรงนี้ว่าตัณหาเป็นเหตุ มีความทุกข์เป็นผล
เราไม่เห็นหรอกว่ากายนี้เป็นทุกข์ ใจนี้เป็นทุกข์
แค่ทุกข์เรายังไม่รู้เลย
เราก็เห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง
จิตนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง
อันนี้เรียกว่าเรายังไม่รู้ทุกข์เลย
เราสังเกต ภาวนาไปเรื่อย ดูกายดูใจไปเรื่อย
ถึงจุดหนึ่งมันจะรู้ กายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
จิตนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งอย่างนี้ ถึงจะละสมุทัยได้
ถึงจะละตัณหาได้
พอมันรู้ความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ เห็นไหม
ความอยากให้กายเป็นสุขไม่มี
ความอยากให้กายพ้นทุกข์ไม่มี
ถ้ามันเห็นว่าจิตเป็นตัวทุกข์
ความอยากให้จิตเป็นสุขก็ไม่มี
ความอยากให้จิตไม่ทุกข์ก็ไม่มี
คือตราบใดที่เป็นขันธ์
มันก็ต้องมีทุกข์อยู่อย่างนั้นล่ะ
ถ้ามันมีขันธ์อยู่ เพราะว่าจิตมันเข้าไปยึดไปถืออยู่
แล้วการที่เรารู้ทุกข์จนกระทั่งเราละสมุทัยได้
นั่นล่ะคือมรรค
การที่เรารู้ทุกข์จนเราละสมุทัยได้ คือตัวมรรค
แล้วสิ่งที่ตามมา สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีที่มรรคเกิดก็คือนิโรธ
นิพพานจะปรากฏขึ้นทันที
นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นตัวสมุทัย
สมุทัยสิ้นไปเพราะเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง
นอกจากการรู้ทุกข์แล้วไม่มีเส้นทางที่สอง
ฉะนั้นท่านถึงสอนให้เราทำวิปัสสนากรรมฐาน
วิปัสสนากรรมฐานทำไปเพื่อให้เห็นความจริงของกายว่าจริงๆ มันคือตัวทุกข์
ทำไปเพื่อให้เห็นความจริงของจิต ว่าจริงๆ แล้วจิตคือตัวทุกข์
ที่เราทำวิปัสสนาเพื่อให้เห็นความจริงอย่างนี้ ไม่ใช่สะกดจิตตัวเอง
บางคนคิดว่าการทำวิปัสสนาเป็นการสะกดจิตตัวเอง
มองอะไรก็มองให้เห็นว่าเป็นทุกข์ๆ ไปเรื่อย
ไม่ใช่การสะกดจิต เพราะจริงๆ ขันธ์ 5 เป็นทุกข์อยู่โดยตัวของมันอยู่แล้ว
ไม่ใช่เราไปมโนขึ้นมาว่ามันคือตัวทุกข์
แต่เราได้เห็นต่างหาก
ได้เห็นความจริงต่างหากว่าขันธ์ 5
หรือรูป นาม กาย ใจของเรานี้ล่ะ
มันทุกข์จริงๆ มีแค่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ไม่มีทุกข์กับสุขหรอก
พอเห็นอย่างนี้ ตัณหาก็ละ
ทันทีที่ละตัณหา นิโรธก็แจ้งทันทีเลย
เพราะนิโรธ หรือนิพพานก็คือความสิ้นตัณหา
จิตก็เข้าถึงความสงบ
ตราบใดที่มีตัณหาอยู่ มีความอยากอยู่
จิตไม่มีความสงบ
อย่างเราอยากจีบผู้หญิงสักคน จิตเราก็วุ่นวาย
เราอยากได้มือถือราคาแพงอย่างนี้ จิตก็วุ่นวาย
มีแต่เรื่องวุ่นวาย
เราอยากให้การเมืองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จิตก็วุ่นวาย
อยากรวยๆ ก็วุ่นวายอีก
อยากอะไรก็วุ่นวายทุกทีล่ะ
ฉะนั้นงานของเราคือคอยรู้ทุกข์เอาไว้
ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น
ละสมุทัยเมื่อไร ก็แจ้งนิโรธเมื่อนั้น
แจ้งนิโรธเมื่อไร อริยมรรคก็เกิดเมื่อนั้น
นี่กระบวนการ
คือสุดท้ายมันก็หนีการเรียนรู้อริยสัจไม่ได้
เรียนรู้อริยสัจ ทิ้งไม่ได้
อริยสัจครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า
ในฝ่ายโลกิยะก็คือมีตัณหาเป็นเหตุ มีทุกข์เป็นผล
ในฝ่ายโลกุตตระก็มีมรรคเป็นเหตุ มีนิโรธเป็นผล
เรื่องเหตุกับผลทั้งหมด
ทั้งฝ่ายโลกิยะ ทั้งฝ่ายโลกุตตระ
ฟังแล้วเหมือนเยอะ ลงมือทำจริงๆ ไม่เยอะหรอก
รู้ทุกข์ไปเรื่อยๆ เมื่อกี้บอกแล้ว
รู้ทุกข์เมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น
ละสมุทัยเมื่อไรก็แจ้งนิโรธเมื่อนั้น
แจ้งนิโรธเมื่อไรก็เกิดอริยมรรคเจริญขึ้นเมื่อนั้น
เพราะฉะนั้นอริยสัจมันเหมือนมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้มากมาย
มีกิจที่ต้องทำมากมาย
อย่างทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธต้องให้แจ้ง
ให้เข้าประจักษ์ ให้เข้าไปประจักษ์ เข้าไปแจ่มแจ้ง
มรรคต้องทำให้เจริญ ให้เกิดขึ้น
ดู มีตั้ง 4 งาน 4 งานนี้เราทำเสร็จในขณะจิตเดียว
รู้ทุกข์เมื่อไรเมื่อนั้นละสมุทัย
ละสมุทัยเมื่อไร เมื่อนั้นแจ้งนิโรธ
แจ้งนิโรธเมื่อไร เมื่อนั้นมรรคเจริญขึ้นแล้ว
เกิดอริยมรรคแล้ว
ฉะนั้นกิจของอริยสัจ 4 มี 4 งาน สำเร็จได้ในขณะจิตเดียว
เพราะฉะนั้นวิธีปฏิบัติ
รู้กายอย่างที่กายเป็นไป รู้จิตอย่างที่จิตเป็นไป
ไม่มีเส้นทางที่สอง
นอกจากการรู้ทุกข์แล้วไม่มีเส้นทางที่สอง
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์คือกายกับใจ คือรูปนาม
ไม่ใช่ความทุกข์ ความทุกข์มันแค่เวทนา
ต้นพุทธกาลก่อนเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา โกณฑัญญะได้เป็นโสดาบัน ก็ขอบวช ก็เป็นพระโกณฑัญญะ 5 องค์ ก็บวช แล้วพระพุทธเจ้าเข้าพรรษาแล้ว ท่านก็แสดงธรรมอันเดิมนั่นล่ะ แสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร
แล้วสุดท้ายท่านก็สอนจนกระทั่งปัญจวัคคีย์เห็นไตรลักษณ์ ของขันธ์ 5 เห็นอนัตตา อนัตตลักขณสูตร
การที่ท่านสอนอนัตตากับปัญจวัคคีย์สะท้อนอะไรรู้ไหม
สะท้อนว่าปัญจวัคคีย์เป็นพวกที่มีปัญญาแก่กล้ามาก
ท่านเลยสอนอย่างนี้
แล้วหลังจากนั้นก็ไปสอนพระยสะ
สอนอนุปุพพิกถาแล้วก็ต่อด้วยอริยสัจ
เวลาท่านสอนชฎิล พวกบูชาไฟ 1 พันรูป
ท่านก็สอนเรื่องไฟ ความร้อน
อะไรที่เป็นของร้อน
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นของร้อน
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เป็นของร้อน
การที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
กระทบรูป เสียง กลิ่น รส
เกิดความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ตัวความรับรู้ทางอายตนะ
ตัวจิตเป็นของร้อน เป็นของไม่ดี ท่านสอน
แต่ละองค์ท่านสอนแตกต่างกัน
จริตนิสัยแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน
แต่สุดท้ายท่านจะชี้ลงมาเหมือนกันหมด
ไม่ว่าจะสอนองค์ไหน
ก็คือลงมาที่ต้องรู้ทุกข์ รู้ถึงความไม่เที่ยง ความถูกบีบคั้น การบังคับไม่ได้ของรูปนามขันธ์ 5 ของกายของใจ
ท่านสอนปัญจวัคคีย์ ท่านชี้ลงมาความเป็นอนัตตาของกายของใจ เห็นไตรลักษณ์
สอนพระยสะ สอนให้รู้อริยสัจ พอรู้ทุกข์แจ้งก็ละสมุทัย เกิดนิโรธ เกิดอริยมรรค
สอนชฎิล ท่านก็สอนให้เห็นความไม่ดีของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เห็นไม่มีสาระแก่นสาร
จิตกระทบอารมณ์ทีไร มีแต่ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที
ตรงนี้ถ้าพวกเราภาวนา ดูจิตให้ชำนาญแล้วจะเห็น
ทุกครั้งที่จิตกระทบอารมณ์
มันจะเกิดความไหว ความสะเทือนขึ้น
ในกลางอกเรานี้สะเทือนขึ้นมา
ตาเห็นรูปก็เกิดความสั่นสะเทือน
หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส
กายกระทบสัมผัส ก็เกิดแต่ความสั่นสะเทือน
ไม่มีความสงบสุขอะไรเลยในวัฏฏะนี้
เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป ก็เห็นนอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป
เห็นแล้วมันก็วาง มันทิ้งจิตไป จิตปล่อยวางจิต
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตมรรค
จิตก็ปล่อยวางจิตไป
คราวนี้จิตไม่ใช่จิตแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ไม่ใช่จิต
หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดตรงไปตรงมา คนไม่เข้าใจ
คิดว่าท่านพูดปรัชญาธรรมอันลึกซึ้ง
ไม่ใช่ปรัชญาอะไรทั้งสิ้น
คือความจริงทนโท่ต่อหน้าต่อตา
เราไม่เห็นเราก็นึกว่าปรัชญา
ท่านสอนความจริงเลย …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กันยายน 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา