16 ต.ค. 2022 เวลา 02:10 • ไลฟ์สไตล์
“ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่เป้าหมาย
ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นความปรุงแต่ง
เราไม่ได้เอาความปรุงแต่งมาเป็นจุดหมายปลายทาง
จุดหมายปลายทางของเราพ้นจากความปรุงแต่ง
คือตัววิสังขาร ตัวนิพพาน”
“ … พัฒนาปัญญา
การพัฒนาศีลก็คือความปรุงแต่งที่ดี
การพัฒนาสมาธิก็คือความปรุงแต่งที่ดี
การพัฒนาก็คือความปรุงแต่งที่ดี
พัฒนาปัญญาเป็นความปรุงแต่งที่ดี
ทั้งหมดนี้เป็นความปรุงแต่งทั้งสิ้น แต่ต้องปรุงแต่ง
ถ้าเราไม่ปรุงแต่งศีล สมาธิ ปัญญา
จิตมันก็ปรุงแต่งความชั่ว เพราะมันเคยชินที่จะชั่ว
ฉะนั้นเราพัฒนา ทำไปเรื่อยๆ
ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่เป้าหมาย
ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นความปรุงแต่ง
เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เอาความปรุงแต่งมาเป็นจุดหมายปลายทาง
จุดหมายปลายทางของเราพ้นจากความปรุงแต่ง
คือตัววิสังขาร ตัวนิพพาน
ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องมือ
เป็นความปรุงแต่งชนิดที่เป็นเครื่องมือ
ในการล้มล้างกิเลสออกจากจิตใจของเรา
เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก
วิธีปรุงแต่งปัญญาทำอย่างไร
ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางมันได้มาจากการที่เราฝึกสมาธิ
จิตมันตั้งมั่นไม่โคลงเคลง
แล้วก็ต้องฝึกเรื่อยๆ เห็นสภาวะทั้งหลายเกิดดับ
หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง
เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว
พอฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปมันจะเป็นกลาง
มันจะเห็นว่าสุขมันก็ของชั่วคราว ทุกข์มันก็ของชั่วคราว
ดีมันก็ของชั่วคราว ชั่วมันก็ของชั่วคราว
เพราะฉะนั้นสุขกับทุกข์มันก็เสมอกัน ด้วยความเป็นไตรลักษณ์
มันเป็นของชั่วคราวเหมือนกัน
เราก็จะไม่หิวความสุข ไม่เกลียดความทุกข์
ดีกับชั่วมันก็เสมอกัน มันเป็นของชั่วคราว
สุดท้ายปัญญาที่เป็นโลกุตตระมันจะเกิดขึ้น
เราค่อยๆ พัฒนาเป็นลำดับๆ ไป
เมื่อวานมีคอร์สจีน เราไปเห็นคนจีน
โอ้ คนจีนจำนวนไม่ใช่น้อยเลย
ราวๆ หนึ่งในสามตั้งอกตั้งใจภาวนาดี
แล้วบางคนภาวนาดีเลย ดูเขาตั้งอกตั้งใจ
อีกส่วนหนึ่งก็ยังทำบ้างไม่ทำบ้าง
อีกพวกหนึ่งยังเตาะแตะอยู่ ยังไม่ค่อยได้หลักเท่าไร
แต่ที่ดีๆ มีหลายคนเลย
หลวงพ่อก็ต่อยอดให้พวกดีๆ
เพราะว่าไหนๆ อุตส่าห์มาเข้าคอร์สแล้ว
คือต่อยอดเรื่องการเจริญปัญญา
บอกการที่เราเห็นความเกิดดับของรูปของนาม
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นอยู่
เรียกว่าเราเจริญวิปัสสนาอยู่
เช่น เราเห็นกิเลสทั้งหลายเกิดแล้วดับ
กุศลเกิดแล้วดับ
เห็นรูปเคลื่อนไหว รูปไม่คงที่ ไม่เที่ยง
รูปถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
รูปไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแค่วัตถุ
นี่การเจริญปัญญา
ถ้าดูรูปก็ดูรูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
นี้ทำวิปัสสนาแล้ว
ถ้าดูนามเราก็จะเห็นเวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง
ความสุข ความทุกข์ ความจำได้หมายรู้
ความปรุงดีปรุงชั่ว ไม่เที่ยง
ทนอยู่ไม่ได้ในสภาวะอันใดอันหนึ่ง
ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย นั่นคือทุกขัง
แล้วก็บังคับไม่ได้ สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้
สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้
นี่คืออนัตตา
บอก เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้
นี่คือการเจริญปัญญาขั้นวิปัสสนา
หรือสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง
ก็คือดูลงมาที่จิต เราก็เห็นว่าตัวจิตนี้มันไม่เที่ยง
เดี๋ยวจิตที่รู้ตัวก็ดับกลายเป็นจิตไปดูรูป
จิตไปดูรูปอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เกิดจิตที่รู้ตัว
จิตที่รู้ตัวอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เกิดจิตที่ฟังเสียง
จะหมุนๆๆ มีจิตที่รู้ตัวอยู่แล้วดับ
เกิดจิตที่หลงคิด เราเห็นอย่างนี้ จิตไม่เที่ยง
ฉะนั้นเวลาเราทำวิปัสสนา เบื้องต้นเอาอันใดอันหนึ่งก็ได้
จะดูรูปเป็นหลักไว้ก็ได้
เห็นรูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ก็ถือว่าทำวิปัสสนาอยู่ แต่มีจิตเป็นผู้รู้ผู้เห็น
ไม่อย่างนั้นรูปกับจิตจะแยกออกจากกันไม่ได้
มันจะกลายเป็นก้อนเดียวกัน
ถ้าขันธ์ 5 มารวมเป็นก้อนเดียวกัน ทำวิปัสสนาไม่ได้
เรายังเจริญปัญญาไม่ได้เลย
ต้องแตกมันให้แตกกระจายออกไป
เรียกว่าแยกมันออกไป แยกขันธ์ 5 ออกไป
ถ้าขันธ์ 5 มารวมกันเมื่อไร มันมีตัวเราทันทีเลย
แต่ถ้าขันธ์ 5 มันแตกออกไป
มันจะเห็นเลยแตกออกไปเป็น 5 ส่วน
มีรูป จะเห็นรูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะเห็นได้แล้ว
เวทนา สุข ทุกข์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้
สัญญาก็เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้
สังขารความปรุงดีปรุงชั่วก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
วิญญาณก็คือจิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เบื้องต้นเอาอะไรก่อนก็ได้ แต่ต้องมีจิตที่ตั้งมั่น
ที่เราฝึกมาจากการฝึกสมาธิจนจิตมันมีกำลัง
พอจิตมันมีกำลังขันธ์มันจะแยก
ถ้าจิตไม่มีกำลังขันธ์แยกไม่ได้
เพราะฉะนั้นที่เราฝึกสมาธิ “สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา”
ปัญญาต่ำสุดคือการแยกรูปนาม
แยกขันธ์ 5 ออกจากกันได้
พอแยกขันธ์ 5 ออกจากกันได้
วิธีเรียนรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีชื่อว่า วิภัชชวิธี
คือวิธีแยกสิ่งที่เราเห็นว่ามีตัวมีตน
พอจับมันแยกออกไปแล้ว จะพบว่ามันไม่มีตัวมีตน
อย่างเราเห็นรถยนต์หนึ่งคัน มีรถยนต์มีหนึ่งคันแล้ว
ถ้าเราจับมาถอดเป็นชิ้นๆ
พวงมาลัยไม่ใช่รถยนต์ เครื่องยนต์ไม่ใช่รถยนต์
ตัวถังไม่ใช่รถยนต์ กันชนไม่ใช่รถยนต์
ลูกล้อไม่ใช่รถยนต์
เบาะ สายไฟ น็อต สกรู ไม่ใช่รถยนต์
สิ่งที่เป็นรถยนต์มันจะหายไปทันทีเลย
สิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ถ้าเราจับมันแยกออกเป็นขันธ์ 5 ได้
ความเป็นตัวตนมันจะหายไปทันทีเลย
มันเหมือนเราถอดอะไหล่รถยนต์ออกมา
แล้วสุดท้ายไม่มีรถยนต์หรอก
รถยนต์เป็นภาพลวงตา
ตัวเรานี้จริงๆ ไม่มี มันเป็นภาพลวงตาว่ามี
แบบเดียวกับรถยนต์นั่นล่ะ
หรือบ้าน เรามีบ้านหลังหนึ่ง
หลังคาหลุดออกไป หลังคาไม่ใช่บ้าน
ฝาผนังไม่ใช่บ้าน ประตู หน้าต่าง ไม่ใช่บ้าน
ปาเก้ไม่ใช่บ้าน
พอจับแยกออกไป คำว่าบ้านมันหายไปแล้ว
คำว่า “ตัวเราๆ” พอเราแยกขันธ์ออกไป ตัวเราก็หายไป
มันจะเห็นรูปก็ไม่ใช่ตัวเรา
ร่างกายนี้มันเป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่ ไม่ใช่เราหรอก
อันนี้จะแยกขันธ์ได้ จิตต้องมีพลัง จิตต้องตั้งมั่น
พอแยกได้แล้วเราจะเดินปัญญาได้จริงแล้วคราวนี้
เราจะเห็นว่ารูปทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ความสุขทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ความจำได้หมายรู้ทั้งหลายเกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ความปรุงดีปรุงชั่วเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
จิตที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดที่ไหนมันก็ดับที่นั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ตรงนี้เราเดินวิปัสสนา
ล้างกิเลส
ตรงที่เราสามารถแยกขันธ์ได้ เรามีปัญญาขั้นต้นแล้ว
แต่ตรงที่เราสามารถเห็นขันธ์แต่ละขันธ์
ขันธ์แต่ละขันธ์ สภาวะแต่ละสภาวะ
ทั้งรูป ทั้งนาม ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวใช่ตน
ตรงนั้นคือการขึ้นวิปัสสนาแล้ว
การเจริญปัญญามี 3 ระดับ
มีปัญญาพื้นๆ อย่างเราแยกขันธ์ 5 ได้
เรามีสมาธิ ขันธ์ 5 ก็แยก นี้ปัญญาธรรมดา
แล้วก็ขึ้นไปสู่วิปัสสนาปัญญา
เราจะเห็นสภาวธรรมแต่ละอัน
รูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
ตรงนี้เป็นวิปัสสนา
พอเห็นมากเข้าๆๆ จิตก็จะเป็นกลาง
คำว่า “เป็นกลาง” เป็นกลางเพราะการเจริญวิปัสสนามาเต็มที่แล้ว
ไม่ใช่เป็นกลางเพราะบังคับจิตให้นิ่ง
อันนั้นเป็นกลางด้วยสมาธิ
ยังไม่ใช่กลางที่หลวงพ่อต้องการสื่อกับพวกเรา
เราดูไปเรื่อยเลย อย่างเรา จิตเราตั้งมั่นเราเห็น
เดี๋ยวโลภมันก็มา แล้วโลภมันก็ไป
เดี๋ยวโกรธมันก็มา เดี๋ยวโกรธมันก็ไป
เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้สึกอะไรอย่างนี้
เฝ้ารู้ๆๆ ไปเรื่อยๆ
ถึงจุดหนึ่งมันก็จะเห็นเลย
จิตโลภมันก็ไม่เที่ยง จิตไม่โลภมันก็ไม่เที่ยง
จิตโกรธมันก็ไม่เที่ยง จิตไม่โกรธมันก็ไม่เที่ยง
จิตหลงมันไม่เที่ยง จิตไม่หลงมันก็ไม่เที่ยง
จิตสุขมันก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์มันก็ไม่เที่ยง
ก็เห็นอย่างนี้
พอเห็นอย่างนี้จิตมันจะเข้าไปสู่ความเป็นกลาง
คราวนี้พอจิตเป็นกลางแล้ว จิตจะหยุดการดิ้นรนแล้ว
ความปรุงแต่งทั้งหลาย
ฝ่ายชั่วซึ่งตอนนี้เราสู้กับมันด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
พอปัญญาถึงขั้นสุดขีด
กระทั่งความปรุงแต่งฝ่ายดี คือตัวปัญญายังหยุดเลย
ศีล สมาธิ ปัญญาที่เราทำๆ มาในฝ่ายโลกียะ มันหยุด
จิตมันหมดความดิ้นรน จิตมันหมดความปรุงแต่ง
จิตมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ โดยเราไม่ได้เจตนา
มันรวมเอง
ถึงเวลาที่มันจะล้างกิเลส มันจะเกิดอริยมรรค
จิตจะเข้าอัปปนาสมาธิทุกคน
ถึงเราไม่เคยเข้าฌานมาก่อน
ถึงจุดนั้นจิตจะเข้าฌานของมันเอง ไม่ต้องห่วงหรอก
มันเข้าของมันเอง ขอให้ทำวิปัสสนาให้พอ
พอมันรวมเข้าไปแล้ว มันไปเดินปัญญาอยู่ข้างใน
ปัญญาตรงนี้เหนือสมมติ
เหนือ ไม่มีคำพูดแล้ว
มันเห็นแค่สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป
สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป
สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป
นี่เดินปัญญา 3 ขณะ
ถ้าพวกที่ปัญญาแก่กล้า ปัญญินทรีย์แก่กล้า
มันจะเห็นแค่สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
สิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นแค่นี้
มันแจ่มแจ้งแล้ว รู้แล้ว
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา
พอเข้าใจอย่างนี้จิตมันจะวางโลก
ทวนกระแสเข้ามาที่ธาตุรู้ ทวนเข้ามา
ทีแรกมันทวนเข้ามาที่ตัวผู้รู้ก่อน
เสร็จแล้วอริยมรรคจะแหวกทำลายอาสวะที่ห่อหุ้มจิตผู้รู้ออก
จิตผู้รู้ก็สลายตัวไป กลายเป็นธาตุรู้ขึ้นมา
ธาตุรู้นี้สัมผัสพระนิพพาน
เมื่อกี้หลวงพ่อบอกไว้แล้ว
มีจิตต้องมีอารมณ์ มีอารมณ์ต้องมีจิต
นิพพานเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง
นิพพานเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์อันหนึ่ง
เป็นอายตนะอันหนึ่งๆ
อายตนะข้างนอก ธาตุรู้เป็นอายตนะภายใน 2 อันนี้
กระทบรวมเข้าด้วยกัน
เพราะฉะนั้นจิตตรงนั้นจะว่าง สว่าง เบิกบาน มีความสุข
ตรงนี้ล่ะมันมาถึงคำว่า ว่าง ว่างจริงๆ แล้ว
ที่แกล้งแต่งจิตให้ว่างนั้น ว่างจอมปลอม
เป็นความปรุงแต่งที่เรียก อเนญชาภิสังขาร
แต่อันนี้มันพ้นความปรุงแต่ง
ว่างชนิดพ้นความปรุงแต่ง คือว่างของพระนิพพาน
“นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” มันว่าง มันก็สันติ
มันว่างแล้ว ไม่มีอะไรกระทบกระทั่งได้แล้ว
มันก็เข้าถึงความสงบสันติที่แท้จริง
ในโลกไม่มีสันติหรอก มีแต่ปาก
สันติภาพไม่เคยมีในโลก มีแต่ความวุ่นวาย
แต่พอเราภาวนาวางขันธ์ลงไปแล้ว
จิตใจเราว่าง จิตใจเราเข้าถึงความสงบ
จิตใจเข้าถึงความสุข สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี
นิพพานังถึงเป็นปรมัง สุขัง
เราค่อยๆ ฝึก แล้วไม่ใช่เพ้อๆ ฝันๆ
นิพพานเป็นอย่างนั้น นิพพานเป็นอย่างนี้
นิพพาน ก็คือสภาวะที่จิตมันพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหมด
พ้นความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว
พ้นความปรุงแต่งฝ่ายดีด้วย
เพราะมันวางไปแล้ว
พ้นทั้งดี พ้นทั้งชั่ว
พ้นทั้งความพยายามจะไม่ปรุงแต่ง
เรียกว่าพ้นจากความปรุงแต่งทั้ง 3
ปุญญาภิสังขาร ปรุงดี
อปุญญาภิสังขาร ปรุงชั่ว
อเนญชาภิสังขาร ปรุงว่าง ปรุงความไม่ปรุง
ทั้งหมดนี้รากเหง้าอันเดียวกันคือ อวิชชา
ถ้าเราเข้าใจ เราไม่ห้ามมันหรอก
จิตมันจะปรุงชั่วเราไม่ห้าม แต่เราปรุงดีไว้
เราพัฒนาตัวเอง พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา
ไม่ตามใจกิเลส
แล้วในที่สุดวันหนึ่งก็หัก หักล้างกิเลสลงได้
หักวัฏจักรลงได้ จิตใจก็เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง
แต่ระหว่างทางก็มีศัตรู ศัตรูของการทำวิปัสสนา
คือวิปัสสนูปกิเลส มี 10 ข้อ
หมดเวลาแล้ว ก็ไปหาอ่านเอาเองก็แล้วกัน
ไปถามหลวงพ่อกู๋ หลวงพ่อกู๋รู้ทุกเรื่อง
หลวงพ่อกู๋ไม่รู้อันเดียว ไม่รู้จิตตนเอง
รู้ทั้งโลกธาตุไม่รู้ตัวเองเท่านั้น
1
รู้สึกสอนยากไปหรือเปล่า ต้องประเมินผลตัวเอง
ถ้าสอนยากไปก็จะสอนใหม่ ไปทำบุญ ทำทาน
ทำบุญเยอะๆ จะได้บุญเยอะๆ
คนมีกิเลส บางทีสอนให้ลดให้ละ มันรับไม่ไหว
ท่านก็เอากิเลสมาล่อ ทำทานไปจะได้รวย เห็นไหม
ทำทานไปแล้วจะได้ ได้อะไร ได้รวย
ถือศีลไปเถอะแล้วจะสวย
เพราะคนไม่มีศีลหน้าเป็นยักษ์ขมูขี ดูไม่ได้ น่าเกลียด
ถือศีลแล้วจิตใจมันอิ่มเอิบ มันเบิกบาน หน้าตามันผ่อง
หรือว่าสอนถือศีล สอนถือศีลแล้วจะรวย มีโภคทรัพย์
จะดีอย่างโน้นดีอย่างนี้
ทำทานแล้วก็จะได้อันนี้ รักษาศีลแล้วก็จะได้อย่างนี้
มีแต่เรื่องจะได้ ไม่มีเรื่องวาง
แต่ทำไมต้องสอนอย่างนั้น
เพราะคนส่วนใหญ่สอนให้วางมันรับไม่ได้
ก็สอนให้มันได้ก่อน ให้มันได้ที่ดีไว้ก่อน
ให้เกิดเป็นเทวดาก็ยังดีกว่าเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย
ฉะนั้นบางทีธรรมะก็ต้องลดลงมา ให้เท่าๆ คนฟัง
ช่วงที่หลวงพ่อสอนใหม่ๆ หลวงพ่อสอนกรรมฐานอย่างนี้ มีครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็เตือนนิดหนึ่ง ท่านบอก “เอ๊ย ปราโมทย์สอนยากไป ฆราวาสมันทำไม่ได้หรอก ฆราวาสสอนมันทำทาน ถือศีล แค่นี้พอแล้ว มันได้แค่นี้ล่ะ”
หลวงพ่อก็บอกท่าน “ครับๆๆ”
แต่หลวงพ่อก็ยังสอนอย่างเดิม ทำไมไม่เชื่อท่าน
ก็หลวงพ่อภาวนาตั้งแต่เป็นฆราวาส
ทำไมเราภาวนาได้ พวกเราไม่ได้โง่กว่าหลวงพ่อ
แค่ขี้เกียจมากกว่าหลวงพ่อเท่านั้นล่ะ
ไม่โง่หรอกแต่ละคน
ฆราวาสก็ภาวนาได้ ในพระไตรปิฎกท่านก็มีเยอะแยะ
เป็นพระโสดาบัน สกทาคามี มีตั้งเยอะตั้งแยะ
ตอนอนาถบิณฑิกะใกล้จะตาย
พระสารีบุตรไปเทศน์ให้ฟัง เทศน์เรื่องขันธ์ 5 ให้ฟัง
เทศน์เรื่องที่หลวงพ่อเทศน์ให้พวกเราฟัง ตั้งแต่ยังไม่ตายนี่ล่ะ
อนาถบิณฑิกะร้องไห้เลย แล้วบอกพระสารีบุตรว่า
“ทำไมผมไม่เคยได้ฟังธรรมะอย่างนี้มาก่อน”
ที่จริงแกอยู่กับพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำไป แต่ไม่ได้สนใจที่จะฟังธรรมะ สนใจแต่จะทำบุญ ฉะนั้นก็เลยไม่ได้ยิน เรื่องขันธ์ 5 เรื่องอะไรอย่างนี้ ไม่เคยได้ยิน
พอพระสารีบุตรมาเทศน์ให้ฟัง ร้องไห้เลยบอกว่า “ต่อไปก็ขออาราธนา ขอให้พระช่วยสอนธรรมะภาคปฏิบัติอย่างนี้ให้ฆราวาสด้วย ฆราวาสที่อินทรีย์แก่กล้าก็ยังมีอยู่ ถ้าเขาไม่ได้ฟังแล้วเขาเสียโอกาส เหมือนตัวท่านที่เสียโอกาส” ได้แค่โสดาบัน แทนที่จะได้มากกว่านั้น
ฉะนั้นที่หลวงพ่อสอนนี้
ไม่ใช่ว่าฆราวาสไม่ควรฟัง ฆราวาสทำไม่ได้ ไม่ใช่
มันอยู่ที่ฟังแล้วไม่ทำต่างหาก
ถ้าทำก็ได้ผลหรอก ไม่ใช่ไม่ได้ผล
ไปตั้งใจทำเข้านะ อย่าขี้เกียจ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
1 ตุลาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา