17 ต.ค. 2022 เวลา 01:58 • ไลฟ์สไตล์
“สุดท้ายมันไม่ได้มีอะไร ไม่ได้มีอะไรหรอก
จะรู้เลยเราไม่ได้ได้อะไรมา เราไม่ได้เสียอะไรไป”
“ … ตอนหลวงพ่อหัดใหม่ๆ หลวงพ่อทำสมาธิดู ดูจิต
ทีแรกก็เห็นจิตมีราคะ โทสะ โมหะ จิตสุข จิตทุกข์อะไร
มันค่อยๆ รวมๆ เข้าไปแล้วก็ว่าง
บางทีก็ว่างสว่างขึ้นมา
ถ้าสว่างแล้วเราไปอยู่กับความสว่าง ติดอยู่ในความสุข
อันนั้นก็ไปไม่รอด
พอสว่างแล้ว เรารู้สึกขึ้นนิดหนึ่ง รู้สึกตัวรู้ขึ้นนิดหนึ่ง
จิตมันจะเริ่มทำงานได้ มันทำงาน
จะเห็นสภาวะบางอย่างผุดขึ้นมา
ทำไมใช้คำว่าสภาวะบางอย่างผุดขึ้นมา
เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร
เห็นแค่สิ่งบางสิ่งผุดขึ้นมา ไหวขึ้นมา
อย่างเราภาวนา ว่างๆ อยู่ในตัวเรา
พอใจเราไม่ไปติดในความสงบ ในความว่าง ในความสุข
พอมันไม่ติด มันจะเริ่มเดินปัญญาได้
มันก็จะเห็นความไหวขึ้นที่กลางอก
บางทีก็ไหวยิบยับๆ ขึ้นมา
บางคนก็เห็นว่ามันหมุนๆๆ ขึ้นมา
บางทีก็เห็นว่ามันไหวๆ
แล้วมันก็เหวี่ยงสภาวะขึ้นมาเป็นอนันต์
ตรงที่มันเหวี่ยงขึ้นมา สัญญาจะเข้าไปแปลได้
เอ๊ย ตรงนี้ราคะเกิด ตรงนี้โทสะเกิด
อันนี้เป็นสังขารที่หยาบแล้ว
ตรงสังขารที่ยังละเอียดอยู่ไหวยิบยับๆ
ไม่รู้ว่าคืออะไร มันเกินคำพูดแล้ว
นั่งภาวนา นั่งเห็นมันไหวๆๆ ไปเรื่อย
จิตอยู่ต่างหาก จิตเป็นคนรู้คนดู
ไม่เข้าไปวุ่นวายกับมัน
จิตมันก็เกิดปัญญาเป็นลำดับๆ เข้าใจเป็นลำดับๆ ไป
เข้าใจจิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก
จิตเป็นธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์
จิตเป็นสมบัติของโลก
เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ
พอกำลังมันไม่พอ ถ้าสมาธิไม่พอ
มันจะเริ่มหลอกเราแล้ว
จากที่ว่างๆ แล้วเรารู้อยู่ แล้วมันทำงานขึ้นมาแล้วกำลังเราไม่พอ
มันจะเคลื่อน เคลื่อนออกไปข้างนอกนิดหนึ่ง
แล้วก็ไปว่าง ว่างอีกแล้ว
เมื่อกี้ว่างข้างใน นี่ว่างข้างนอก
มันมีอีกว่างหนึ่ง ว่างของนิพพาน ไม่มีข้างนอก ไม่มีข้างใน
มีหลายระดับ ค่อยๆ ฝึก เดี๋ยววันหนึ่งก็เข้าใจ
ไม่เห็นโทษ ไม่เห็นทุกข์
แต่เบื้องต้นถือศีล 5 ไว้ก่อน
พระก็ต้องถือศีล 5 มีศีล 227 แล้วลืมศีล 5 ล้มละลายแล้ว
มี ไม่ใช่ไม่มี
มีศีลเยอะๆ แต่ว่าไม่มีศีล 5
ศีลที่จำเป็นจริงๆ ของพระคือศีล 8
นอกนั้นเป็นศีลที่มีประโยชน์ เป็นวินัยที่มีประโยชน์
ศีล 10 มีประโยชน์
อย่างเราไม่มีเงินๆ
ใจมันจะไม่เหมือนคนที่มีเงินในกระเป๋า
ฉะนั้นที่ท่านไม่ให้พระมีเงิน
ถ้าไปภาวนาแล้วจะเห็นเอง
มีเงินแล้วมันมีอหังการ มีอำนาจซื้อ มีอำนาจ
อยากได้อะไรก็หาได้อะไรอย่างนี้
มันไม่เห็นทุกข์เห็นโทษของตัณหา
อย่างคนรวยมากๆ อยากได้อะไรก็ได้หมด
มันไม่เห็นทุกข์หรอก
แต่อย่างพระใช่ไหม ตกเย็นหิวข้าว
ท้องร้องจ๊อกๆ ดื่มได้แต่น้ำอะไรอย่างนี้ มันเห็นทุกข์
หรือความอยากอะไรเกิดขึ้น มันเห็นทุกข์
เพราะมันไม่มีปัญญาที่จะตอบสนอง
มันเป็นอุบาย วิธีที่ท่านสอนเรา
หลวงพ่อเคยเล่าให้พวกเราฟัง หลวงพ่อเคยไปเจอพระองค์หนึ่ง ท่านเป็นลูกเศรษฐี ลูกคนเดียว ที่บ้านมีเงินราวๆ 2 ร้อยล้าน 2 ร้อยล้านเมื่อ 40 ก่อน เดี๋ยวนี้คิดเป็นเงินเท่าไรไม่รู้ ลูกคนเดียวก็ออกมาบวช บวชไปเรื่อยๆ
วันหนึ่งเห็นพระอื่น ท่านไปบิณฑบาติ ท่านได้ข้าวเหนียวถั่วดำมา อยากกินข้าวเหนียวถั่วดำ ของโปรดเลย ก็ไม่ได้ๆ
จนกระทั่งวันหนึ่งไปบิณฑบาต ได้มาแล้ว แบบวัดป่า อาหารเทรวมกัน ข้าวเหนียวถั่วดำที่ไปบิณฑบาตได้มา องค์อื่นเอาไปแล้ว ตัวเองไม่ได้ บอกร้องไห้เลย เข้ากุฏิได้ ร้องไห้เลย สงสารตัวเอง ทำไมเราต้องลำบากอย่างนี้
ถ้าเป็นฆราวาสไม่รู้สึกหรอกว่ากามมีโทษแค่ไหน
มันเห็นแต่กามคุณ
มันเกิดความต้องการทางเพศก็ตอบสนอง
แหม สนุกสนาน เอร็ดอร่อย
ไม่เห็นกามโทษ เห็นแต่กามคุณ มันละไม่ลงหรอก ก็ติด
ฉะนั้นที่พวกเรามีวินัยมีอะไรขึ้นมา
เป็นอุบายที่จะขัดเกลาตัวเองๆ
ฉะนั้นถ้าเป็นโยมรักษาศีล 5 ไว้ให้ดี
เป็นพระก็รักษาพระวินัยไว้ให้ดี
ทั้งวินัยในปาติโมกข์ อภิสมาจาร นอกปาติโมกข์
ข้อวัตรอะไร พยายามรักษา
ข้อวัตรบางอย่างไม่รักษา อาบัติ
บางอย่างเป็นความสมัครใจ จะสมาทานก็ได้ ไม่เอาก็ได้
อย่างธุดงค์อย่างนี้ ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แล้วแต่อัธยาศัย
แต่ข้อวัตรอื่นๆ ไม่ทำผิด อาบัติ
เป็นพระมีเรื่องปลีกย่อยเยอะแยะ
แต่เป็นโยม ศีล 5 เอาให้ได้ รักษาให้ดี
รักษาแรกๆ ยังไม่เห็นประโยชน์
รักษาไปนานๆ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง
คนที่รักษาศีล 5 นานๆ จิตจะเริ่มมีกำลังขึ้นมา
สมาธิจะเกิดง่าย
ถ้าผิดศีลเมื่อไร สมาธิจะแตกหมดเลย
ถ้ามีศีลไปช่วงหนึ่งสมาธิมันจะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น
เพราะศีลเป็นบาทเป็นฐานของสมาธิ
ส่วนสมาธิกับปัญญานั้นต้องฝึกเอา
ศีลต้องตั้งใจรักษา
เพราะฉะนั้นคำว่าปฏิบัติธรรมๆ
ไม่ใช่เริ่มจากหายใจเข้าพุทออกโธ
การปฏิบัติธรรมเริ่มจากการรักษาศีล
รักษาข้อวัตร รักษาพระวินัยสำหรับพระ
นั่นคือการปฏิบัติ
การฝึกสมาธิ ต้องฝึก แบ่งเวลาไว้เลย
ทุกวันต้องทำในรูปแบบ
จะนั่งสมาธิ หรือจะเดินจงกรม
หรือจะทำกรรมฐานอะไร เอาที่ถนัดนั่นล่ะ
สมาธิจริงๆ ไม่ใช่อยู่ที่กระบวนท่า
ไม่ใช่ว่าเดินท่านี้แล้วจะได้สมาธิ
นั่งท่านี้แล้วจะได้สมาธิ ขยับอย่างนี้แล้วจะได้สมาธิ
ทำกรรมฐานไปแล้วมีสติรู้ทันจิตตัวเองไป
สมาธิจะเกิดอย่างรวดเร็วเลย
อาศัยสติรู้ทันจิตนั่นล่ะ ท่านถึงสอนว่าจิตตสิกขา
การเรียนรู้เรื่องจิตนั่นล่ะทำให้มีสมาธิขึ้นมา
ส่วนจะนั่งสมาธิ เดินจงกรม อันนั้นแค่รูปแบบ
เนื้อในของมันคือการมีสติ
รู้เท่าทันจิตตัวเองไว้แล้วสมาธิจะเกิดง่าย
เข้าฌานได้ เข้าทุกวัน ฝึก
เข้าไม่ได้ อยู่ในชีวิตประจำวันอย่างนี้
ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด
เห็นร่างกายเคลื่อนไหวอะไร รู้สึกไว้
แล้วต่อไปพอจิตมันเคลื่อนไหวก็รู้สึก
ตรงที่รู้สึกถึงสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็นได้
สมาธิจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ
สติก็จะเกื้อกูลให้มีสมาธิขึ้นมา สมาธิที่ถูกต้อง
สมาธิก็เป็นตัวเกื้อกูลให้เกิดปัญญา ทั้ง 2 ตัว
สมาธิชนิดสงบก็สำคัญ สมาธิชนิดตั้งมั่นก็สำคัญ
เวลาเจริญปัญญา เราใช้สมาธิชนิดตั้งมั่น
จิตมันเป็นแค่ผู้รู้ผู้เห็น
เมื่อมันรู้มันเห็นไปช่วงหนึ่งจิตมันจะเหนื่อย
เราก็ใช้สมาธิชนิดสงบเป็นที่พักผ่อน เราก็สงบ
ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงที่มันไม่ปรุงอะไรขึ้นมา
ถ้าทำแนวที่หลวงพ่อบอกได้ มรรคผลไม่ไกลเราหรอก
อาจจะได้ในชีวิตนี้
หรือได้ในชาติต่อๆ ไป 2 – 3 ชาติอะไรอย่างนี้
7 ชาติอะไรอย่างนี้
ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งท่านเคยบอกหลวงพ่อ องค์นี้ท่านมีฤทธิ์มาก หลวงพ่อถามท่านบอกว่า ถ้าเราภาวนาถูก เราใช้เวลานานไหมกว่าจะได้โสดาบัน
ท่านตอบโช๊ะเลย บอกว่าไม่นานหรอก ไม่เกิน 7 ชาติ
เราฟังแล้วนาน ตั้ง 7 ชาติ
แต่เราเกิดมาไม่รู้กี่แสนชาติแล้ว
ฉะนั้นอย่างการที่เราได้ยินได้ฟังธรรมะ
แล้วเราก็ตั้งใจรักษาธรรมะนี้ไว้
ตั้งใจรักษาศีล ตั้งใจฝึกจิตฝึกใจให้มันมีสมาธิ
ทั้งความสงบ ทั้งความตั้งมั่น
พอมันตั้งมั่นแล้วก็หัดเจริญปัญญา
เริ่มต้นแยกขันธ์ออกไป แยกขันธ์ได้แล้วก็ค่อยเห็นสภาวะแต่ละตัวมันแสดงไตรลักษณ์ ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ถ้าทำอย่างนี้ สังสารวัฏของเราก็จะสั้นลงๆๆ
สุดท้ายมันไม่ได้มีอะไร ไม่ได้มีอะไรหรอก
จะรู้เลยเราไม่ได้ได้อะไรมา เราไม่ได้เสียอะไรไป
ถ้าจะมีอะไรที่ได้มาก็คือสัมมาทิฏฐิ
ถ้าจะมีสิ่งที่เสียไปก็คือมิจฉาทิฏฐิ เท่านั้นล่ะ
ความรู้ถูกเกิดขึ้น รู้ถูกเข้าใจถูก มันจะเห็นความจริง
ความจริงอะไร
กายนี้ก็ว่าง โลกนี้ก็ว่าง จิตนี้ก็ว่าง
เป็นความว่างอันเดียวเสมอกันหมด
ที่สุดของทุกข์ก็อยู่ตรงที่มันไม่ปรุงอะไรขึ้นมา
ช่วงยังไม่ได้บวชหลวงพ่อเคยเข้าใจผิด
หลวงพ่อคิดถึงการเข้านิพพาน
เข้าไปตั้งทำสมาธิอันหนึ่งขึ้นมา
แล้วจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่อัตโนมัติอยู่แล้ว
เราส่งจิตไปที่อารมณ์
พอจิตจะสัมผัสเข้ากับอารมณ์ ทวนกระแสกลับเข้าหาตัวผู้รู้
พอจิตจะจับเข้ากับตัวผู้รู้ก็ไม่ให้จับ ทวนออกไปหาตัวอารมณ์
สุดท้ายจิตมันดับลงไป ว่างวับลงไป
แต่มันไม่ใช่ดับสูญ มีสภาวะอันหนึ่งมีอยู่
ขณะนั้นไม่มีความคิด ไม่มีเวล่ำเวลา
ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเลย
ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเลย
พอจิตมันถอนออกมา เราก็รู้สึก
โห นี่นิพพานล่ะกระมัง ท่าจะนิพพานแล้ว ว่าง ไม่มีอะไร
เล่นอยู่พักหนึ่งก็เฉลียวใจว่านี่คือสมถะ
ไม่ใช่นิพพานจริงหรอก
พอดีเจอหลวงปู่บุญจันทร์ องค์นี้ท่านฤทธิ์เยอะ ท่านไม่รู้จักหลวงพ่อ ที่จริงท่านรู้จักหลวงพ่อ แต่หลวงพ่อไม่รู้จักท่าน ต้องใช้คำนี้
ครูบาอาจารย์บางองค์ รู้จักเรามากกว่าเรารู้จักตัวเราเอง ท่านให้พระมาเรียกหลวงพ่อไปหา เราก็ไม่อยากไป ไม่รู้จักท่าน ไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำไป พระนั้นก็เซ้าซี้ให้ไปหาๆ เราก็ไป
ไปถึงท่านชี้หน้าเลย ภาวนาอย่างไร ก็เล่าให้ท่านฟัง
ไม่จับผู้รู้ ไม่จับสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ยึดถืออะไรเลย
โดนท่านตวาดเอา “เฮ้ย นิพพานอะไร มีเข้ามีออก”
โดนท่านตวาดอย่างนี้ ท่านถามว่า “ไง จะภาวนาอย่างไงอีก”
หลวงพ่อก็นึกว่าท่านฟังสำเนียงเราไม่ออก
เพราะเราฟังสำเนียงท่านก็ไม่ค่อยออกเหมือนกัน
ท่านคนอีสานแต่ไปอยู่ทางเหนือ
พูดซ้ำให้ท่านฟัง
ภาวนา ไม่จับอารมณ์ไม่จับจิต
ไม่เอาทั้งผู้รู้ ไม่เอาทั้งสิ่งที่ถูกรู้
ท่านตวาดครั้งที่สอง “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก”
จิตเราวางเลย ทิ้งเลย ไม่เข้าอีกแล้วตรงนี้ ท่านหัวเราะเลย นี่ความเมตตาของครูบาอาจารย์ ไม่รู้จักเลย แต่ท่านรู้เรา คงเข้าไปในข่ายผู้น่าสมเพชในสายตาท่าน ท่านก็เลยเรียกไปสอนให้
ฉะนั้นนิพพานจริงๆ ไม่มีการเข้าการออกทั้งสิ้น ไม่มีหรอก
นิพพานก็คือนิพพานนั่นล่ะ
นิพพานไม่มีเกิด ไม่มีดับ ไม่เหมือนมรรคผล
มรรคผลมีเกิดมีดับ เป็นโลกุตตระที่เกิดดับ
แต่นิพพานเป็นโลกุตตระที่ไม่เกิดไม่ดับ
เป็นอันเดียวเลย
เป็นสภาวะอย่างเดียวเลยที่ไม่เกิดไม่ดับ
สภาวะนี้มีอยู่
หนทางที่จะไปสู่สภาวะอันนี้มีอยู่
สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเราคือศีล สมาธิ ปัญญา
คือการเจริญมรรคมีองค์ 8 นั่นล่ะคือหนทาง
หนทางยังมีอยู่ ร่องรอยการปฏิบัติก็ยังมีอยู่
เห็นตัวอย่างครูบาอาจารย์ ท่านสะอาดหมดจด
เรากิเลสหนา ปัญญาหยาบ
เห็น มีร่องรอย มีรอยเท้าที่เดินตามได้ รีบๆ เดินเสีย
อย่านึกว่าศาสนาพุทธจะอยู่นาน
รีบภาวนา
ตอนนี้โลกมันวิ่งเร็วมาก อย่างพวกชอบออกความเห็น พวกอาจารย์ พวกอะไรนี้ล่ะ ตามมหาวิทยาลัย เรียนมาจากเมืองนอก ก็บอกว่าศาสนาพุทธไม่ต้องมาเรียน ไม่สำคัญหรอก ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่าง แล้วหลักการทางวิชาการ ต้องแยกศาสนาออกจากวิชาการ อันนี้เขาไปรับคอนเซ็ปต์ฝรั่งมา
ศาสนาของฝรั่ง มันต่อต้านความเปลี่ยนแปลง
กาลิเลโอใช่ไหม ค้นพบอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา
ศาสนจักรเหยียบย่ำแย่เลย
ฝรั่งก็รู้สึกว่าศาสนามันต้องแยกออกจากวิชาการ
แต่พุทธเราไม่เคยเป็นแบบนั้น
ศาสนาพุทธเป็นศาสตร์ที่ว่าทำอย่างไรเราจะไม่ทุกข์
จะมีวิชาการอะไร ตราบใดที่ยังทุกข์อยู่
ก็ยังตอบโจทย์ชีวิตไม่ได้หรอก มันไม่เหมือนกัน
ศาสนาพุทธไม่เคยไปเบียดเบียนขัดขวางความเจริญอะไรทั้งสิ้น
พอไม่เข้าใจก็พูดส่งเดชไป
ถ่ายทอดความเห็นผิดออกไป
มีเยอะที่ถ่ายทอดความเห็นผิดกันเยอะแยะมากเลย หลายๆ เรื่อง
ฉะนั้นเด็กรุ่นหลังๆ จะยิ่งไม่เข้าใจมากขึ้นๆ
ของเราต่อไปเราก็แก่ เราก็ตายไป
คนรุ่นหลังจะไม่เอาแล้ว
เพราะฉะนั้นอย่ารอจนวันที่ศาสนาสูญหาย
รีบปฏิบัติเสียก่อน
พวกนักวิชาเกินมีปัญหาเยอะเลย ถ่ายทอด สอนเด็ก
อย่างโจมตีว่าเมืองไทยยุครัชกาลที่ 5 ยังมีทาส เป็นการกดขี่
อันนั้นเอาคอนเซ็ปต์ทาสของยุโรปมาใช้
ประเทศหนึ่งมหาอำนาจนี้ล่ะ เข้าไปยึดประเทศใกล้ๆ เอามา แล้วเอาคนของเขาไปเป็นทาส ฝรั่งด้วยกันนี่ล่ะเอาฝรั่งไปเป็นทาส ยุคแรก แต่มันทำงานไม่เข้มแข็งเท่าไรหรอก ฝรั่งไม่ค่อยทำอะไร เลยไปจับพวกแอฟริกาไปเป็นทาสต่อ เอาไปบังคับให้ทำงาน
ทาสไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ทาสไทย ตอนเลิกทาส ทาสร้องไห้เลย
ต่อไปนี้ลำบากแล้ว ไม่มีผู้ปกครองดูแล
คือไปเอาคอนเซ็ปต์ของชาติหนึ่งของกลุ่มหนึ่งมาสวมลงมา สวมเข้ามาเฉยๆ แล้วไม่ได้เข้าใจบริบท ไม่ได้เข้าใจอะไรในบ้านเมืองของเราจริง ถ่ายทอดอะไรออกไป
ดูแล้วก็ต่อไปข้างหน้าจะลำบากหน่อย
เรารีบๆ ภาวนา รีบภาวนาเข้า
อะไรที่มันเพี้ยนๆ ฝรั่งครอบหัวมาก็เชื่อมันหมด
ที่พูดเรื่องหลังๆ เพื่อจะเตือนพวกเรารีบภาวนาเข้า
ไม่ใช่พูดเพื่อจะไปโจมตีประเทศไหน
หรือโจมตีคนกลุ่มไหนหรอก
เพราะไม่ควรจะโจมตีเสียเวลา ไม่ใช่เรื่อง
งานหลักของเราคืองานล้างกิเลสของเราเอง …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
2 ตุลาคม 2565
อ่านธรรมบรรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา