18 ต.ค. 2022 เวลา 07:56 • ไลฟ์สไตล์
“อาศัยความปรุงแต่งไปเรียนรู้
จนกระทั่งจิตใจมันพ้นความปรุงแต่ง”
“ … ภาวนาดีคือใจมันค่อยคลายออกจากโลก
มันพ้นความปรุงแต่งทั้งหลาย ค่อยๆ คลายออก
คือถ้าเมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่งได้
จิตเราก็เข้าถึงความสันติสุข เข้าถึงความสงบ
ใจที่มันปรุงแต่งดิ้นรนมันก็ไม่มีความสงบ
เมื่อไม่มีความสงบมันก็ไม่มีความสุข
แต่อยู่ๆ เราจะไปทำใจเราให้มันพ้นความปรุงแต่ง ทำไม่ได้
พวกเราทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เทวดา พรหมทั้งหลาย
ก็เกิดมาจากความปรุงแต่งทั้งสิ้น
มีความปรุงแต่งเกิดขึ้น
ก็เกิดจิตวิญญาณขึ้น หยั่งลง มีรูปมีนามขึ้นมา
ฉะนั้นจิตนั้นมันคุ้นเคยกับความปรุงแต่ง
เพราะมันเกิดมาเพราะความปรุงแต่ง
อยู่ๆ เราจะไปห้ามมันไม่ให้ปรุงแต่ง ห้ามไม่ได้
เราถึงต้องลงมือปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมคือการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นมา
ก็คือความปรุงแต่งอีกอย่างหนึ่ง
แต่เราก็ต้องอาศัยความปรุงแต่งไปเรียนรู้
จนกระทั่งจิตใจมันพ้นความปรุงแต่ง
ฉะนั้นจะไม่ทำอะไรเลยไม่ได้
ศาสนาพุทธเป็นกิริยาวาที เป็นกรรมวาที
เป็นกิริยาวาทีต้องมีการกระทำ
ไม่ใช่ไม่มีการกระทำ คือเราปรุงแต่งฝ่ายดีไว้
ใช้พิษล้างพิษ
ถ้าเราไม่พากเพียรปรุงแต่งฝ่ายดี ไม่พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา
จิตที่มันคุ้นเคยกับความปรุงแต่ง
มันก็จะไปปรุงแต่งความชั่วขึ้นมา
ไปปรุงแต่งความโลภ ความโกรธ ความหลง
มันเกิดมากับความหลงผิด
ก็ไปปรุงแต่งจนกระทั่งยึดถือแน่นแฟ้นในความหลงผิด
มันก็ใช้เหมือนใช้พิษแก้พิษ
ในหนังสือจีนมักจะมี หนังสือกำลังภายใน
ถูกพิษชนิดหนึ่ง ก็รับพิษอีกชนิดหนึ่งไปแก้กัน
จิตมันคุ้นเคยกับความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว
ไปปรุงโลภ โกรธ หลง ขึ้นมา
เราก็พยายามพัฒนาความปรุงแต่งอีกอย่างหนึ่ง
ความปรุงแต่งที่จะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา
มันใช้ความปรุงแต่งนั่นล่ะ
ไปทำลายล้างอิทธิพลของความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว
ฉะนั้นไม่ใช่อยู่ๆ ก็จะไม่ปรุงแต่ง
ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกนักคิด นักปราชญ์
เขามองว่าถ้าความปรุงแต่งเป็นต้นตอทำให้เกิดความทุกข์
เราก็หยุดปรุงแต่งเสียเลย
ไม่ต้องทำอะไรหรอก หยุดความปรุงแต่งไป
วิธีที่ฝึกนั้นก็คือทำสมาธิขึ้นมา
พอจิตมีความคิดนึกอะไรเกิดขึ้นก็ปัดทิ้งไปเลย
ไม่เอา ไม่คิด มีความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ปัดทิ้งไม่รับรู้
ในที่สุดมันก็ว่างๆ ปรุงจนกระทั่งจิตเข้าไปอยู่ในว่างๆ
เรียกว่าอากาสานัญจายตนะ
บางทีก็ปรุงต่อไปอีก
เห็นจิตใจซึ่งมันไปรู้ความว่าง ก็ปรุงต่อไปอีก
วางทั้งความว่าง วางทั้งจิต
ก็ไปปรุงสภาวะที่ละเอียดที่สุดเลย
ชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนะ
อันนี้เป็นความพยายามที่จะไม่ปรุงแต่ง
หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์
เพราะความปรุงแต่งทั้งหลายนั้น
ถ้าเราดูมันจะมาจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
มันกระทบอารมณ์ ก็ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง
พวกนักคิดเขาก็เลยพยายามดับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลงไป
ดับตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยการเข้าอรูปฌาน
ดับจิตลงไปด้วยการเข้าอสัญญี อสัญญสัตตา
เป็นอสัญญสัตตา เป็นพรหมลูกฟัก
ดับดับความรู้สึกทั้งหลายลงไป
อันนี้เป็นเส้นทางของคนซึ่งพยายามจะไปให้พ้นความปรุงแต่ง
แต่เป็นเส้นทางที่ใช้ไม่ได้
พอออกจากอรูปฌานมา ออกจากพรหมลูกฟักมา
จิตมันก็ปรุงแต่งความชั่วของมันต่อไปอีก
ฉะนั้นเราก็ต้องเดินตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าท่านสอน
ท่านบอกว่า “ให้ละความชั่วเสีย ให้ทำความดี”
ความชั่วคือความปรุงแต่งฝ่ายชั่ว
ทำความดีก็คือให้พวกเรามาปรุงแต่งฝ่ายดี
เบื้องต้นต้องปรุงแต่งก่อน
คล้ายๆ ความปรุงแต่งนี้ก็เหมือนยาพิษ
ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นยาพิษอย่างหนึ่ง
แต่เอาไว้ล้างพิษของกิเลสตัณหาทั้งหลาย
เรียกว่าใช้พิษล้างพิษ สุดท้ายมันก็สมดุลกัน
เราอย่านึกว่าทำใจว่างๆ แล้วจะพ้นทุกข์ ไม่พ้นหรอก
ทำอย่างไรก็ไม่พ้น
เพราะจิตใจมันเคยชินที่จะปรุงแต่ง …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
1 ตุลาคม 2565
อ่านธรรมรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา