Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
22 ต.ค. 2022 เวลา 10:57 • ไลฟ์สไตล์
“ตราบใดที่ยังไม่ละความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา ก็ยังไม่พ้น”
1
“ … ขันธ์ 5 เป็นที่รองรับความทุกข์
เมื่อวานหลวงพ่อพูดเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติ
การพัฒนาจิตใจเริ่มต้นตั้งแต่ความรู้สึกตัว
ต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน
เราลืมเนื้อลืมตัวใจลอย หรือไปเคร่งเครียดบังคับตัวเองมากเกินไป บังคับกายบังคับใจ มันไม่ใช่การรู้สึกตัว
คำว่า “รู้สึกตัว” มันดี ภาษาไทยไม่ต้องแปล
รู้สึกตัวได้ ก็ค่อยดูไป
กายส่วนกาย เวทนาส่วนเวทนา จิตส่วนจิต
ขั้นสุดท้ายก็จะเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป
พอเราเห็นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจิตก็จะรู้ขึ้นมา
ตัวเราไม่มี ถ้าตัวเราไม่มี ก็ไม่มีที่รองรับความทุกข์อีกต่อไป
เพราะสิ่งที่รองรับความทุกข์ไว้คือตัวขันธ์ 5 นั้น
ย่อๆ ลงมาก็คือรูป นาม กาย ใจของเรา
สังเกตดูความทุกข์ไม่อยู่ที่กายก็อยู่ที่ใจ
ถ้ามันเห็นความจริง กายก็ไม่ใช่เรา ใจมันก็ไม่ใช่เรา
ความทุกข์มันก็ไม่มีที่ตั้ง
สุดท้ายภาวนาแล้วก็จะเข้าถึงสุญญตา
คือเห็นมันว่าง ร่างกายนี้ก็ว่าง โลกข้างนอกก็ว่าง
จิตก็ว่างเสมอกันหมด
มันก็เข้าถึงความสงบสุข
1
ยิ่งเราปล่อยวางความยึดถือในตัวในตนได้ ก็ยิ่งสบายยิ่งเบา
เมื่อก่อนภาวนายังไม่เป็น หลวงพ่อเคยบวช เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปัญญา วัดชลประทานฯ ไปบวชที่วัดชลประทานฯ ที่นั่นมีข้อดีมากๆ อย่างหนึ่ง
สวดมนต์แปล ทำวัตรสวดมนต์ มีบทแปล
ก็พูดเรื่องขันธ์ 5 ในบทสวดมนต์
ว่ามีขันธ์ 5 แล้วขันธ์ 5 เป็นภาระ
คนทั้งหลายแบกภาระอยู่ก็ไม่พ้นทุกข์หรอก
ถ้าวางภาระลงแล้วก็พ้นทุกข์ ขันธ์ 5 เป็นตัวภาระ
…
ร่างกายมีแต่ภาระ
ตอนนั้นยังภาวนาไม่เป็น
เราไม่เห็นว่าขันธ์ 5 มันเป็นภาระอย่างไร
เห็นแต่ร่างกายเป็นภาระอยู่
ตื่นนอนขึ้นมาก็ต้องไปขับถ่าย
ไปอาบน้ำ ไปแปรงฟัน ไปกินข้าว ไปแต่งเนื้อแต่งตัว
ก็เดินทางไปทำงาน
ถ้าไม่มีร่างกาย ไปด้วยจิต ไม่ต้องไปรอรถเมล์
นี่มันมีร่างกาย มันมีภาระเยอะมากเลย
เราดูลงในกาย
จะเห็นกายนี้เต็มไปด้วยภาระตั้งแต่หัวถึงเท้า
แค่ผมอันเดียวก็มีภาระมากมาย
ต้องสระผม ต้องตัดผม ต้องสระผม ซอยผม
บางคนก็ย้อมผม บางคนไปโกรกสี
แค่เรื่องผมอันเดียวมีกิจกรรมที่ทำเยอะแยะไปหมดเลย
ไม่มีผมก็ไปปลูกผม กิจกรรมมากมายเป็นภาระ
ต้องหาแชมพู หาครีมนวด หาเจลมาใส่
ทำทรงนั้นทรงนี้
1
แค่เรื่องผมอันเดียวก็กินเวลาของเราไปตั้งเยอะแล้ว
เบื่อที่สุดเลยตอนตัดผม ตอนเป็นโยม
เวลาที่เบื่อที่สุดเลย ตัดผม
ต้องไปนั่งรอคิวตัด คนหนึ่งก็เกือบชั่วโมง
รู้สึกเบื่อหน่าย
วันหนึ่งก็เดินไปเห็น ตอนนั้นอยู่คอนโดที่เมืองนนท์
ใต้คอนโดมันมีร้านตัดผมผู้หญิง ของผู้หญิง รู้สึกว่างดี
เลยเดินเข้าไปถาม ตัดผมให้หน่อยได้ไหม
เขาบอกไม่ได้ ไม่เคยตัดผู้ชาย
บอกไม่เคยก็หัดเสีย ตัดเลย
บอกเดี๋ยวมันทรงอะไรก็ไม่รู้
ก็ เออ ตัดให้มันสั้นๆ ทรงอะไรก็ช่างมันเถอะ
อุ๊ย ตั้งแต่นั้นดีใจมาก ได้ที่ตัดผมไม่ต้องรอคิวแล้ว
ไม่ได้สนใจว่ามันจะต้องสวยงามอะไร
บอกถ้ามันจะแหว่งก็ให้มันแหว่ง ไม่ว่าหรอก ทำไปเถอะ
แค่มีผมก็ภาระเยอะแล้ว
ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรต่ออะไรนี่ยุ่งยาก
ก็ต้องโกนหนวดโกนเคราทุกวัน
ปล่อยไว้รุงรังก็ดูน่าเกลียดอะไรอย่างนี้
เล็บมือก็ต้องตัดทุกอาทิตย์
เล็บเท้า 2 อาทิตย์ตัดทีหนึ่ง อันนี้สำหรับคนง่ายๆ
ถ้าคนยากๆ ก็ต้องแต่งเล็บอีก
บางทีก็ทำเล็บหลายๆ สี
ในนี้มีหลวงพ่อเคยเห็น นั่งอยู่ในนี้ล่ะ
เล็บมีตั้งหลายสี แต่ละนิ้วสีไม่เหมือนกัน
บางคนเล็บมือต้องติดเพชรติดพลอยอะไรเข้าไปด้วย
เพื่อความงาม
ฟัน เรื่องฟันก็เรื่องใหญ่รู้สึกไหม แปรงฟัน
มันเรื่องธรรมดาต้องทำทุกวันอยู่แล้วล่ะ
ถึงเวลาต้องไปขูดหินปูน เจ็บไหม เจ็บ
ไปอุดฟัน ไปรักษารากฟัน ไปถอนฟัน
มีอะไรเยอะแยะเลย
แถมมีจัดฟัน ฟันไม่สวย ต้องจัดฟัน
บางคนก็ติดเพชรวูบวาบๆ อยู่ที่ฟัน
คนสมัยโบราณเขามีฟันทอง ใส่ฟันทอง
เวลาโจรปล้น มันจับอ้าปากเอาคีมดึงฟันออกไปเลย
มีฟันปลอม มีฟันทองก็ทุกข์เพราะฟันทอง
เดี๋ยวนี้เขารู้ว่าเพชรเก๊ เขาก็ไม่มาถอนฟันออกไป
ดูในร่างกายแต่ละส่วนๆ มันเต็มไปด้วยภาระทั้งนั้นเลย
จนถึงเล็บเท้า สกปรก ขี้ฝุ่นมาเกาะอะไรอย่างนี้
มาคอยขูดคอยแคะ คอยล้าง
บางทีก็ต้องไปให้เขานวดเท้า แช่น้ำร้อน นวดเท้า
ตั้งแต่หัวถึงเท้าเรามีกิจกรรมมากมาย กิจกรรมที่น่าเบื่อ
ต้องขับถ่าย เดี๋ยวก็อึ เดี๋ยวก็ฉี่
ต้องขับถ่ายวันหนึ่งหลายหน
ไม่ขับถ่ายขึ้นมาหลายวันก็อยู่ไม่ไหวอีกแล้ว
ทุกข์ทรมานอีก
นี่ล่ะร่างกายที่ว่าดีที่ว่าวิเศษนักหนา
จริงๆ มันเป็นอย่างนี้ล่ะ คือมันเป็นภาระ
แถมเราหวงแหน รักใคร่หวงแหนมันมาก
บำรุง รักษาอย่างดี
สุดท้ายมันก็เลี้ยงไม่เชื่อง ทรยศเรา
ดูแลอย่างดี เดี๋ยวก็แก่ หนังเหี่ยว ฟันโยก ฟันคลอน
เดี๋ยวก็เจ็บป่วย สุดท้ายก็ตาย
รักษาดีแค่ไหนสุดท้ายก็ตาย
ถ้าเราพิจารณาลงไป
ร่างกายมันเป็นภาระมากมายเหลือเกิน
ตัวรูปไม่ใช่ของดี ไม่ใช่ของวิเศษหรอก
ต้องกินข้าว อยู่ๆ มีข้าวให้กินไหม ก็ไม่มีอีก
ต้องทำมาหากิน ทำงาน ภาระเยอะแยะ
ตอนนั้นหลวงพ่อยังไม่บวช หลวงพ่อมองลงในกาย
น่าเบื่อเหลือเกิน มีภาระมากมาย
เสร็จแล้วจิตมันก็ค่อยฉลาดขึ้น มันก็เห็น
เอ๊ะ ภาระในร่างกาย ใครเป็นคนรับภาระนั้น
ร่างกายเป็นคนรับภาระ
จิตเสร่อเข้าไปแทรกแซงเอง
1
ใครเป็นคนพาร่างกายไปตัดผม
ก็ร่างกายมันก็เดินไปเอง
เราไม่ได้เอาจิตไปบังคับให้มันเดิน
ไม่ได้ใช้พลังจิตยกร่างกายไปเสียที่ไหน
ร่างกายเวลามันไม่สบาย มันเจ็บมันป่วย
ใครมันเจ็บใครมันป่วย
ร่างกายมันเจ็บมันป่วย
แต่จิตเข้าไปแทรกแซงอีกแล้ว เข้าไปยุ่งวุ่นวายอีกแล้ว
หรืออย่างเรื่องต้องทำมาหากิน เหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน
ทำมาหากินเพื่อจะได้มีเงินมาซื้อข้าวกิน
มีเงินมาซื้อเสื้อผ้าใส่
ใครเป็นคนไปทำมาหากิน
ก็ร่างกายอีกล่ะเป็นคนทำมาหากิน
ค่อยภาวนา ค่อยๆ ดูๆ ไป
ทีแรกก็เบื่อๆ ร่างกาย เกลียดมันเลยล่ะ
ดูไปดูมา ภาระทั้งหลาย
ร่างกายมันก็เป็นคนรับภาระ
แต่จิตต่างหากล่ะเข้าไปยินดีเข้าไปยินร้ายกับมัน
เพราะความโง่ของจิตเราเอง
เราก็ไปเบื่อ
ร่างกายเบื่อไหม ร่างกายไม่เห็นเบื่อเลย จิตเป็นคนเบื่อ
ดูไปๆ หูย ตัวหัวโจกที่นำความทุกข์มาให้
ตัวขันธ์ ตัวกาย มันก็ทุกข์ของมันโดยธรรมชาติของมัน
มันก็ดิ้นรนต่อสู้เอาชีวิตรอดของมัน
แต่จิตมันเข้าไปแทรกแซง
เข้าไปยึดเข้าไปถือว่านี่คือตัวเรานี่ของเรา
แล้วก็มีความคิดมีความเห็นมากมาย
น่าจะอย่างนั้น ควรจะอย่างนี้ ไม่ควรอย่างนั้น
มากมายก่ายกอง วุ่นวาย
มันวุ่นวายขึ้นมาก็เพราะจิตมันเข้าไปยึดไปถือ
ลำพังร่างกายมันก็ทุกข์ของมัน
ไม่เกี่ยวอะไรกับเราหรอก
แต่พอจิตเข้าไปยึดไปถือ
คราวนี้จิตก็พลอยทุกข์ไปด้วย
เบื้องต้นล้างความเห็นผิดว่ากายคือตัวเรา ของเรา
เราค่อยภาวนาเป็นลำดับๆ ไป
ทีแรกเราก็เห็นร่างกายมีแต่ภาระ
ต่อไปเราก็เห็น
กายมีภาระก็จริงแต่มันไม่ได้ทำให้จิตเราเป็นทุกข์
จิตเราเป็นทุกข์เพราะมันเข้าไปยึดถือกายเอง
ทำไมมันยึดถือกาย
เพราะมันไม่เห็นความจริงของร่างกาย
ถ้ามันเห็นความจริงของร่างกาย มันจะไม่ยึดถือหรอก
ค่อยๆ ภาวนาไปทุกวันๆ รู้เนื้อรู้ตัวไว้
เห็นกายมันทำงาน เห็นจิตมันทำงาน
ดูไปเรื่อยๆ
มีสติระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏไปด้วยจิตที่ตั้งมั่น ด้วยจิตที่เป็นกลาง
แล้วเราก็จะเห็นความจริงเป็นลำดับไป
ทีแรกหัดใหม่ๆ
เราก็เห็นแค่ว่ากายกับจิตมันคนละอันกันๆ
แต่ว่ามันยังเข้าไปผูกพัน ไปยึดถือ
ไปเห็นว่าเป็นตัวเรา
สำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราอยู่
ค่อยภาวนาเรื่อยๆ ก็ถอดถอนความเห็นผิด
เบื้องต้นมันก็ล้างความเห็นผิดว่ากายคือตัวเรา กายคือของเรา
อย่างพอจิตเราตั้งมั่นขึ้นมาจริงๆ จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูจริงๆ
เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว
เราจะรู้เลยว่ามันเหมือนเครื่องจักรตัวหนึ่ง
เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเท่านั้น
เคลื่อนไหวทำงานไปตามที่จิตเป็นคนสั่ง
จิตมีโปรแกรมสั่งมันให้ทำงาน
หุ่นตัวนี้มันทำงานไปตามที่จิตสั่ง
ทำงานไปช่วงหนึ่งมันก็เริ่มสึกหรอ
คราวนี้จิตก็สั่ง เครื่องยนต์อันนี้มันก็ไม่ทำงานแล้ว
ร่างกายนี้ทำงานไม่ได้
คล้ายๆ คอมพิวเตอร์ คล้ายๆ โทรศัพท์มือถืออะไรอย่างนี้
มันมีซอฟต์แวร์ มีทั้งซอฟต์แวร์ทั้งฮาร์ดแวร์
เป็นตัวบงการ ตัวซอฟท์แวร์สั่ง
สั่งทีแรกฮาร์ดแวร์มันยังรับได้ มันก็ทำงาน
ต่อมามันเสื่อม มันก็ไม่รับคำสั่งอีกต่อไป
อย่างเราสั่งให้เดิน ร่างกายมันชำรุดลงไป มันก็เดินไม่ได้
ค่อยรู้ค่อยดูลงไป
จะเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง
มันเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง
เป็นของถูกรู้ เป็นของถูกดู
เฝ้าดู ในที่สุดเราก็ถอดถอนความเห็นผิดว่าร่างกายคือตัวเรา
แต่มันจะรู้สึกลดระดับลงมา
ร่างกายเป็นของเรา ไม่ใช่ตัวเราแล้ว แต่ยังเป็นของเราอยู่
ร่างกายของเรา เห็นอยู่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา
ถ้าจิตมันตั้งมั่นขึ้นมา
ก็จะเห็นกายมันถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเราหรอก
แต่มันกายของเรา มันยังยึดอยู่ ยังยึดถืออยู่
มีความเห็นถูกเกิดขึ้นแล้ว
กายไม่ใช่เรา แต่ความยึดถือยังมีอยู่
มันมีศัพท์อยู่ 2 คำ เรื่องของกิเลส
ตัวหนึ่งเรียกว่าทิฏฐิ ทิฏฐิคือความเห็นผิด
อีกอันหนึ่งคืออุปาทาน
ความยึดถือ 2 อันนี้คนละอัน
เบื้องต้นเราหัดภาวนา
เราก็ละความเห็นผิดในขันธ์ 5
เริ่มต้นคือดูที่กายนี่ล่ะง่ายๆ
เห็นกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเราหรอก
มันเป็นของถูกรู้ถูกดู
ดูเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือจิต
มันก็ไม่ใช่เรา
ถ้าเห็นมันไม่ใช่เราอย่างแท้จริง
ก็ล้างความเห็นผิดว่ามันเป็นตัวเรา
ความเห็นผิดตัวนี้ เขาเรียกว่าสักกายทิฏฐิ
ความเห็นว่าขันธ์ 5 เป็นเรา เราเป็นขันธ์ 5
มีขันธ์ 5 มีเราในขันธ์ 5
มีเรานอกเหนือจากขันธ์ 5 อะไรอย่างนี้
ถ้าเรามีสติระลึกรู้ความจริงของกายไปเรื่อยๆ
รู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
รู้ตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
จิตตั้งมั่นเป็นกลางก็จิตผู้รู้นั่นล่ะ
จิตที่มันถอนตัวออกมาเป็นผู้เห็น ผู้รู้
มันก็จะเริ่มล้างความเห็นผิด
เห็นกายไม่ใช่เราหรอก
ละสักกายทิฏฐิ ละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเรา
มาดูตัวเวทนาบ้าง
ตัวเวทนา ความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์เป็นภาระไหม
เรานึกว่านามธรรมไม่เห็นเป็นภาระเหมือนรูปธรรมเลย
ที่จริงไม่ใช่ นามธรรมก็เป็นภาระอันใหญ่หลวงเลย
เราอยากได้ความสุขไหม
ถ้าเราอยากได้ความสุข เราต้องดิ้นรนมากมายใช่ไหม
เพื่อจะได้ความสุข
เราเกลียดความทุกข์ไหม
เราเกลียด เราต้องดิ้นรนมากมายไหมเพื่อจะหนีจากความทุกข์
แค่จะขยับตัวไปมาก็เพื่อหนีความทุกข์
เพราะฉะนั้นตัวเวทนาเองก็เป็นภาระใหญ่หลวง
เราอยากได้ความสุข เราเกลียดความทุกข์
ก็มีสิ่งที่ต้องทำอะไรต่ออะไรมากมายก่ายกอง
ทุกวันนี้ที่มีชีวิตอยู่แล้วดิ้นรนมากมาย
ถ้าดิ้นรนเพื่อร่างกายก็แค่ว่ามีอาหารกินไปวันหนึ่งๆ
มีเสื้อผ้าใส่ไม่ให้หนาวไปร้อนไป
มีที่อยู่อาศัย มีที่ซุกหัวนอนอะไรอย่างนี้
ไม่สบายมียา
คือ basic minimum needs ของร่างกาย
อันนั้นล่ะสิ่งที่ร่างกายต้องการ
แต่สิ่งที่มันต้องการมากกว่านั้น มันต้องการความสุข
ทำไมขี่รถถูกๆ ไม่ได้ ต้องนั่งรถแพงๆ
ก็เพราะว่ามันโก้ดี นั่งแล้วมีความสุข รู้สึกดี
ดิ้นรนหาความสุข อยากมีเมียสวยๆ
มีเมียสวยๆ เชิดหน้าชูตา ไปไหนคนเขามอง
เราก็ภูมิอกภูมิใจ มีความสุข
ลูกสอบได้คะแนนดี สอบได้เกรด 4
ก็ต้องมาลงเฟซบุ๊กให้คนดู
แหม นึกถึงแล้วมีความสุข มันติดในความสุข
เพื่อให้ได้ความสุขมาก็มีภาระมากมายมหาศาล
จะทำให้ลูกได้เกรด 4 มีภาระไหม ภาระเยอะแยะ
ตัวทุกข์ก็เป็นภาระ ต้องหนีมัน ต่อสู้มากมาย
ตัวรูปก็เป็นภาระ ตัวเวทนาก็เป็นภาระ
ตัวสังขาร จิตมันปรุงดีบ้างปรุงชั่วบ้าง เป็นภาระมากมาย
นักปฏิบัติเห็นจิตชั่วทุรนทุราย
ตั้งอกตั้งใจภาวนาใหญ่ อยากจะละกิเลส
ไปละมันทำไม กิเลสเป็นของเกิดแล้วก็ดับ
แค่ไม่ให้มันครอบงำก็พอแล้ว
ก็เห็นมันไป มันมาแล้วมันก็ไปๆ
ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับจิตเลย ฝึกอย่างนั้น
พอเราดูลงไปเรื่อยๆ มันก็มีแต่ภาระทั้งนั้นเลยในขันธ์ 5
จิตใจของเราก็เป็นภาระ
ทำไมเราต้องทำทาน ถือศีล นั่งสมาธิ เจริญปัญญา
เป็นภาระไหม เป็น เพื่ออะไร
เพื่อให้จิตมันสะอาดหมดจด
มันจิตใคร จิตเราสิ
จิตคนอื่นจะสกปรกมันก็เรื่องของเขา
มีตัวเราขึ้นมา ก็มีแต่ความอยาก
ก็เต็มไปด้วยความทุกข์
ขันธ์ 5 เป็นภาระ นำความทุกข์มาให้
ถ้าเราเรียนรู้มันลงไปเรื่อยๆ
ทีแรกเราจะเห็น ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ละสักกายทิฏฐิ
ละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเรา
หรือเรามีขันธ์ 5
ค่อยๆ ดู ดูไปทีละส่วน จะเริ่มจากดูกายก่อนก็ได้
ดูเวทนาก่อนก็ได้ จะดูจิตก่อนก็ได้
แล้วแต่ความถนัด
อย่างดูกายก็ดูอย่างที่หลวงพ่อเล่านั่นล่ะ
ดูกายมันทำงานไป จิตมันเป็นคนรู้คนดู
กายนี้มีแต่ทุกข์ มีแต่ภาระ
เราก็เห็นไปเรื่อยๆ กายนี้มันทำงานไปตามที่จิตมันสั่ง
มันไม่ใช่ตัวเราหรอก
เป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่
เวทนาก็เป็นของถูกรู้ถูกดู
สัญญา ความจำได้หมายรู้
อันนี้หลวงพ่อจะไม่ค่อยได้พูดถึง มันเข้าใจยาก
เว้นไปก่อนก็ได้
จริงๆ สัญญามันมี 2 ส่วน
สัญญาที่ผิดกับสัญญาที่ถูก
จิตทุกดวงประกอบด้วยสัญญาเสมอ
เพียงแต่จิตของพวกเรามันมีสัญญาที่ผิดๆ
สัญญาผิด มันหมายรู้ผิด 4 อย่าง
หมายรู้ของไม่สวยไม่งามว่าสวยว่างาม
หมายรู้ของไม่เที่ยงว่าเที่ยง
หมายรู้สิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
หมายรู้สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน
นี่หมายรู้ผิด
หมายรู้ถูกก็เห็นเป็นอสุภะ
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอะไร อันนี้หมายรู้ถูก
ฉะนั้นสัญญาก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องรังเกียจ
อันนี้ในส่วนของหมายรู้
ยังมีส่วนของจำได้อีก
ฉะนั้นสัญญามันต้องเรียนต่างหาก มันยาวๆ ยุ่ง
เอาไว้เรียนในธัมมานุปัสสนาก็แล้วกัน
อยู่ในธัมมานุปัสสนา
ตอนนี้เราเรียนของที่เราเรียนได้ คือร่างกายเรา
ความรู้สึกสุขทุกข์ในกาย
ความรู้สึกสุขทุกข์เฉยๆ ในจิต
ความดี ความชั่ว ความไม่ดีไม่ชั่วในจิต
เรียนรู้สิ่งเหล่านี้แล้วจะเห็นจิตมันทำงานได้เอง เฝ้าดูไป
เวลาเราสามารถมีสติ
รู้ลงในขันธ์ 5 ตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ปัญญามันจะเกิด มันจะเข้าใจความจริง
พอปัญญาเกิดก็ถอดถอนความเห็นผิด
ทำลายมิจฉาทิฏฐิลงไป
มิจฉาทิฏฐิในเบื้องต้นก็คือการเห็นว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเรา
พอผ่านขั้นโสดาบัน
มันจะเห็นขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเราหรอกแต่ว่ามันยังยึดถืออยู่
มันลดระดับยังยึดถือเป็นของเราอยู่
จริงๆ เรามันไม่มีหรอก
เราเป็นแค่ความหมายรู้ผิด ความคิดผิด ความเชื่อผิด
ความเป็นเรามันก็แค่นั้นล่ะ
จริงๆ ไม่มี แต่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ยังล้างได้ไม่หมด
แต่ล้างก่อนว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มี
อันนี้เห็นแต่ความยึดถือยังไม่หมด
ค่อยภาวนาไปเรื่อย วันหนึ่งก็เห็นความจริง
กายนี้ไม่มีอย่างอื่น กายนี้มีแต่ทุกข์
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
มันทุกข์เพราะอะไร
กายนี้มันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง
มันทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้น
มันทุกข์เพราะมันบังคับไม่ได้ เห็นอย่างนี้
หลวงพ่อเคยภาวนาตอนนั้นบวชในพรรษาที่สาม
มันเหนื่อยมากเลย วัดเพิ่งสร้างใหม่ๆ
ต้องดูแลปลูกต้นไม้ รดต้นไม้อะไรพวกนี้
ตากแดดร้อนเปรี้ยงๆ เลย
เปลี่ยนท้องนาให้เป็นป่า
เช้าๆ สายๆ ญาติโยมก็มาเยอะแยะ ต้องสอน
สอนเสร็จแล้วเหนื่อยๆ
ทำงานที่ใช้ร่างกายก็เหนื่อยอยู่แล้ว
มาสอนญาติโยมก็เหนื่อยมาก ไปนอน
ตอนบ่ายๆ ลงไปนอนแล้วมันลุกไม่ขึ้น
ถึงเวลาจะต้องลุกแล้วมันลุกไม่ได้
ร่างกายเราสั่งให้มันขยับเขยื้อนอะไรไม่ได้เลย
ดูไปเรื่อยๆ มันเป็นอนัตตาให้เราดูแล้ว
สั่งให้มันขยับตัวยังขยับไม่ได้เลย
ดู มันเห็นเองล่ะถึงเวลา
เห็นกายนี้มีแต่ทุกข์ ไม่มีอะไรเลย
กายนี้เป็นอนัตตา ไม่มีอะไรเลย
ค่อยๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ
ทีแรกมันก็ละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเรา
สุดท้ายมันเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งแล้ว
มันก็หมดความยึดถือในขันธ์ 5
ขันธ์ 5 มี 5 ตัว จะดูไปตามลำดับก็ได้
แต่เวลาไปแตกหัก มันจะแตกหักที่จิต
อย่างเราดู เห็นร่างกายไม่ใช่เรา
เวทนาไม่ใช่เรา สัญญาไม่ใช่เรา สังขารไม่ใช่เรา
จิตยังเป็นเราอยู่
พวกเราจำนวนมากเลย ภาวนามาถึงตรงนี้
เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา
สุข ทุกข์ ดี ชั่วไม่ใช่เรา แต่จิตยังเป็นเราอยู่
ตราบใดที่ยังไม่ละความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา ก็ยังไม่พ้น
ในขันธ์ 5 ต้องเห็นทั้ง 5 ขันธ์ว่าไม่ใช่เราถึงจะละสักกายทิฏฐิได้
แต่มันมีเคล็ดลับอยู่อันหนึ่ง
ถ้าเราสามารถละความเห็นผิดที่จิตได้
ละความเห็นผิดว่าจิตเป็นเราได้
ขันธ์ 5 ทั้งหมดจะไม่เป็นเราทันทีเลย
เพราะในสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นเรา เหนียวแน่นที่สุด
คือจิตใจเรานี่เอง
สังเกตไหมในนี้มีจิต มีเราอยู่คนหนึ่งๆ
อยู่ตรงไหนไม่รู้ล่ะ แต่ในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง
ถ้าวันหนึ่งภาวนา เห็นความจริงเลย
จิตมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่คิด
ต้องเห็นๆ ไม่ใช่คิดเอา
คิดเอาไม่ได้เรื่องหรอก
ความคิดเป็นเครื่องมือ เป็นเหยื่อ
เป็นเครื่องมือของมาร หลอกเรา
เห็นความจริงไปเรื่อยๆ
สุดท้ายจิตก็ยอมรับความจริง
การเห็นตามความเป็นจริง
มันเป็นเครื่องมือของพระที่พระพุทธเจ้าท่านให้เครื่องมือนี้ไว้
ถ้าวันใดที่เราเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา
ขันธ์ 5 ทั้งหมดจะไม่ใช่เรา
เพราะ มันเห็นอยู่ทนโท่อยู่แล้ว
ขันธ์ 5 มันเกิดขึ้นมา
ปรากฏขึ้นมาเพราะจิตทั้งนั้นเลย
จิตนั่นล่ะสร้างขันธ์ 5 ขึ้นมา
“วิญญาณะ ปัจจยานามรูปัง”
วิญญาณก็คือจิตนั่นล่ะ เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
คือเกิดกายเกิดใจของเรานี้
พอเราเห็นจิตนั้นมันเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธาน
พอเราเห็นความจริง
ตัวจิตยังไม่ใช่เราเลย
แล้วสิ่งที่จิตเข้าไปยึดไปถือมันจะเป็นเราไปได้อย่างไร
ก็เห็นอยู่ทนโท่อยู่แล้ว
ร่างกายมันดูง่ายจะตายไม่ใช่เรา
สุขทุกข์ดูง่ายจะตายไม่ใช่เรา
ดีชั่วก็ดูง่ายจะตายไม่ใช่เรา
ที่ยากเลยคือจิตมันเป็นเราอยู่
แต่วันใดที่เห็นว่าจิตไม่ใช่เรา
ขันธ์ 5 ทั้งหมดจะไม่ใช่เรา
แล้วไม่มีเราในโลกนี้อีกต่อไปแล้ว
มีแต่โวหารสำนวนเรียกว่าเราอย่างโน้น เราอย่างนี้
อาตมาอย่างนั้น อาตมาอย่างนี้
มันเรียกโดยโวหารเพื่อสื่อความหมาย
แต่มันไม่มีน้ำหนักของความเป็นตัวตนเกิดขึ้นในจิต
คำพูดก็ยังมีอาตมาอย่างนั้น
ผมอย่างนี้ ดิฉันอย่างนี้
ทำไมมีคำว่า ผม คำว่า ดิฉันด้วย
เพราะฆราวาสก็เป็นพระโสดาบันได้ ไม่ใช่ไม่ได้
ภาวนาให้มันจริงจังเถอะ
พอเราละความเห็นผิด ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา
แต่ความยึดถือยังเหนียวแน่นอยู่ มันยังยึดถืออยู่
มันยังมีความรักใคร่ผูกพันอยู่ด้วยความเคยชิน
ความรักใคร่ผูกพันในขันธ์ 5 เป็นอุปาทาน
เรียกว่ากามุปาทาน ยังยึดอยู่
ฉะนั้นอย่างพระอนาคามีละความยึดถือในกายได้แล้ว
แต่ยังยึดถือจิตอยู่
ถ้ายึดถือจิตอันเดียวก็ยึดถือขบวนพะรุงพะรังนี่
แต่ว่ามันวางตัวรูปไปแล้ว ไม่ยึดถือรูป
มันไปยึดถือนาม ไปยึดถือความสุข ความสงบ
ความดีอะไรอย่างนี้
ยังมีความอยากจะพ้นทุกข์
จิตก็ยังทำงานอยู่ จิตยังดิ้นรนอยู่
ทำไมจิตต้องอยากพ้นทุกข์ จิตอยากไม่เกิดอีก
ก็เพราะยังยึดถือจิตอยู่
วันใดที่สติปัญญาแทงตลอดลงไปในจิต
เรียกรู้แจ้งแทงตลอด จิตก็ปล่อยวางจิต
จิตจะปล่อยวางจิตได้
จิตปล่อยวางกาย ปล่อยวางความยึดถือในกายได้ตอนได้พระอนาคามี
จิตปล่อยวางจิตได้ตอนเป็นพระอรหันต์
ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน
“จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย
ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค
ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ”
พอมันเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง
จิตนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มันก็หมดความยึดถือจิต ก็เข้าถึงนิโรธ
เพราะฉะนั้นเวลาแตกหัก แตกหักที่จิตนี้ล่ะ
ไม่ได้แตกหักที่อื่นหรอก
ละความเห็นผิดว่าจิตเป็นเราก็ไม่มีเราอีกแล้ว
ละความยึดถือในจิตได้ก็ไม่ยึดถืออะไรอีกแล้ว
ฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจเรียนรู้ตัวเองไป
ศีล 5 รักษาไว้ เพื่อให้กายให้วาจาของเราเรียบร้อย
เรียบร้อยแล้วจิตใจมันสงบง่าย
ถัดจากนั้นก็มาพัฒนาจิตตัวเอง
เบื้องต้นก็คือรู้สึกตัวไว้ มีความรู้สึกตัวไว้
แล้วก็ค่อยๆ แยกขันธ์ไป
กายกับจิตก็คนละอัน เวทนากับจิตก็คนละอัน
สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่วกับจิตก็คนละอัน
ค่อยดูๆ ไปนานๆ ไปเรื่อยๆ
สติระลึกอะไรก็เห็นลงไป อันนั้นเป็นของถูกรู้ถูกดู
ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอก
ดูเนืองๆ ไป ถึงจุดหนึ่งมันพอแล้ว
ศีล สมาธิ ปัญญามันพอ
ปัญญานี้เป็นปัญญาเบื้องต้นเอง
ปัญญาเบื้องต้นเอง มันจะว่าเห็น
สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ
สุขเกิด สุขดับ ทุกข์เกิด ทุกข์ดับ
หายใจออกเกิด แล้วหายใจออกก็ดับ
ทุกอย่างเกิดดับๆ กิเลสเกิดก็ดับ กุศลเกิดแล้วก็ดับ
จิตเองก็เกิดดับ
เห็นก็ล้างความเห็นผิด
จะเห็นว่าจริงๆ ตัวเราไม่มีหรอก
ความรู้สึกที่ว่ามันมีเราๆ
เกิดจากสัญญาหมายรู้ผิด เกิดสังขารมันคิดผิด
มันก็เลยเกิดความเชื่อผิดๆ
มิจฉาทิฏฐิว่าตัวเรามีจริงๆ
เราภาวนาเรื่อยๆ เราเห็นความจริงไปเรื่อยๆ
สุดท้ายจิตมันก็ยอมรับความจริง หมายรู้ถูก
เห็นร่างกายก็หมายรู้ถูก เห็นไม่ใช่ตัวเรา
เป็นของถูกรู้ถูกดู ก็หมายรู้ถูก
หมายรู้ถูก เวลาคิดถึงมันก็คิดถูก
สุดท้ายก็เข้าใจถูก ก็ล้างสักกายทิฏฐิไป
พอล้างสักกายทิฏฐิได้ เราจะเข้าถึงความปลอดภัย
ไม่ไปอบายอีกต่อไปแล้ว
แต่พ้นทุกข์ได้ไหม ไม่พ้นหรอก
อย่าว่าแต่พวกเราเลย
พระพุทธเจ้าท่านก็ยังมีกรรมเก่า มีวิบาก
เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ยังมีวิบาก
ร่างกายยังเจ็บไข้อยู่ แต่จิตท่านไม่ทุกข์หรอก
หรือมีวิบากต้องถูกคนด่า
คนมาด่าท่านเยอะแยะเลย
บางทีก็มาด่าเอง บางทีก็รับจ้างมาด่า
ท่านก็ยังมีวิบากของท่าน
มันกระทบอะไร ไม่กระทบอะไรท่าน
อย่างมากที่สุดก็กระทบร่างกาย
เทวทัตเอาก้อนหินกลิ้งลงมาจากภูเขา
กระทบเท้าท่านก็ห้อเลือด ก็เป็นวิบาก
เรื่องของกรรมเข้าใจยากๆ แล้วก็หนีไม่ได้ แก้ก็ไม่ได้
แต่เวลากรรมชั่วมันส่งผลมา
วิธีการก็คือทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
อิทธิพลคือวิบากของความดีมันจะช่วยลดอิทธิพลของความชั่วได้ ของกรรมชั่ว ค่อยๆ ฝึกตัวเอง …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
9 ตุลาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/khandhas5-dukkha/
เยี่ยมชม
dhamma.com
ขันธ์ 5 เป็นที่รองรับความทุกข์
ความทุกข์ไม่อยู่ที่กายก็อยู่ที่ใจ ถ้ามันเห็นความจริง กายก็ไม่ใช่เรา ใจก็ไม่ใช่เรา ความทุกข์มันก็ไม่มีที่ตั้ง ภาวนาแล้วก็จะเข้าถึงสุญญตา
Photo by : Unsplash
7 บันทึก
10
2
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
7
10
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย