27 ต.ค. 2022 เวลา 02:31 • ไลฟ์สไตล์
“ทิฏฐิตัวสำคัญเลยเรื่องสักกายทิฏฐิ
ตัวเรามีอยู่ คิดว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ
พอตัวเรามีอยู่จริงๆ มันก็นำไปสู่ทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิอื่นๆ”
“ … การฟังธรรมเป็นบุญใหญ่ มันทำให้จิตใจของเราเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกมากขึ้น โดยเฉพาะรู้วิธีที่จะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
เบื้องต้นก็รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร ก็รู้วิธี รู้สิ่งที่ควรนั้นเราจะทำอย่างไร ทำแล้วมีผลอย่างไร ธรรมะจะตอบโจทย์เราอย่างนี้
ถ้าเราฟัง เลือกฟัง ไม่ใช่ฟังเปรอะๆ ไป ไม่ได้อะไรเท่าไร หรือฟังแล้วให้มันได้สติ ฟังแล้วให้มันได้สมาธิ ฟังแล้วให้มันได้ปัญญา อันนั้นเป็นบุญของเรา
บุญอีกชนิดหนึ่งคือบุญของการแสดงธรรม การแสดงธรรมก็เป็นบุญ อย่างหลวงพ่อเทศน์ให้พวกเราฟังปาวๆ นี้ก็เป็นบุญของหลวงพ่อ
พวกเราช่วยหลวงพ่อเผยแพร่ออกไปก็เป็นบุญ มีเวยยาวัจจมัย มีธรรมทาน มีอะไรหลายอย่าง ฉะนั้นการฟังธรรมก็เป็นบุญ การแสดงธรรมก็เป็นบุญ
พระพุทธเจ้าท่านเคยบอก บางคนบรรลุธรรมได้โสดาบัน ได้สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ ในขณะที่ฟังธรรม
แล้วบางคนก็บรรลุธรรมในขณะที่แสดงธรรม เพราะขณะนั้นกำลังทำบุญอยู่ ทำสิ่งที่ดีที่งามอยู่ โอกาสที่จะบรรลุธรรมก็มี
….
บุญที่สมบูรณ์สูงสุด
บุญสำคัญที่สุด คือการปรับความคิดความเห็นของเราให้ถูก ให้ตรง นี้เป็นบุญใหญ่ที่สุด บุญที่เป็นกุศลไปในตัวเลย ล้างโมหะได้ ล้างความเห็นผิดได้
อย่างพวกเราชาวพุทธ ถ้าเราเชื่อเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ก็ถือว่าเรามีสัมมาทิฏฐิเหมือนกัน
เราเชื่อเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม เรารู้ว่าถ้าทำกรรมชั่ว เราจะต้องได้รับผลชั่ว ถ้าทำกรรมดีเราจะได้รับผลดี คนไม่ภาวนามองตัวนี้ไม่ค่อยออกหรอก แต่คนภาวนามองออกได้ไม่ยาก
เวลาจิตใจของเราเกิดกิเลสอะไรรุนแรงขึ้นมา จิตใจเราชั่ว มีมโนทุจริตแล้ว คิดร้ายอะไรต่อคนอื่น เราจะเห็นเลยว่าสิ่งที่ตามมา คือความเร่าร้อนของจิตใจ
แค่เราคิดชั่วเท่านั้นเอง ความทุกข์ก็เกิดขึ้นในใจเราแล้ว เพราะฉะนั้นความชั่วเล็กๆ น้อยๆ มันก็ให้ผลเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น ถ้าเราภาวนาเราจะเห็นเลย
ช่วงไหนเราราคะรุนแรง จิตใจเราก็จะฟุ้งซ่านเลอะเทอะไปหมด
ช่วงไหนโทสะรุนแรง บางทีก็พลิกเป็นราคะ
บางทีก็พลิกเป็นความหลง มืดตึ๊บไปเลย
มึนทั้งวันทั้งคืนไปเลย
1
โกรธแรงๆ เราเห็นผลทันทีว่าเวลา
ยังไม่ทันจะพูดชั่ว ไม่ทันจะทำชั่ว
แค่คิดชั่ว จิตเราก็รับบาปอกุศลแล้ว
จิตเราเศร้าหมอง
เพราะฉะนั้นเราจะรู้เลยว่า เออ กฎของกรรมมีจริง เราทำเหตุชั่ว เราก็มีผลเป็นความทุกข์ เราทำเหตุที่ดี เราก็มีผลเป็นความสุข เราจะรู้ด้วยตัวเอง ไม่ได้ต้องเชื่อใครเลย แต่มันเห็นได้ด้วยตัวเอง
แล้วความเห็นถูกสูงๆ ขึ้นไป มันจะเป็นระดับของการเป็นกุศลแล้ว เป็นความฉลาด อย่างที่พวกเรามาเรียนวิปัสสนากรรมฐาน
ถ้าเราเจริญวิปัสสนา เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ต่อไปเราจะเกิดความรู้ถูก ความเห็นถูก
กายนี้ ใจนี้ รูปนาม ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
มันเป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย
เป็นของบังคับไม่ได้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ไม่ใช่ตามที่เรากำหนด
อย่างนี้เรามีความเห็นถูกแล้ว
ความเห็นถูกว่าไม่มีตัวเรา ที่เราควบคุมบังคับได้จริง
กายนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวเราอย่างแท้จริง
เราสั่งมันไม่ได้จริง
สั่งอย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย ทำไม่ได้
จิตใจนี้เราก็สั่งมันไม่ได้
สั่งว่าจงมีแต่ความสุขก็ไม่ได้ ห้ามมีความทุกข์ก็ไม่ได้
จงมีแต่ความดีก็ไม่ได้ ห้ามมีความชั่วก็ไม่ได้
มันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ของเรา
จิตใจนี้บางทีก็เป็นผู้รู้ บางทีก็เป็นผู้คิด
บางทีก็เป็นผู้เพ่ง บางทีก็เป็นผู้ไปดูรูป
ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส
ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ
จิตมันทำงานสารพัดจะทำ เราสั่งมันไม่ได้
อย่างเราจะสั่งมันว่าห้ามคิด
ห้ามคิด ต่อไปนี้ห้ามคิด
ห้ามไม่ได้ ความจริงเลย ห้ามไม่ได้
การที่เราเห็นถูกว่ากายนี้ใจนี้ของเรา
มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา
มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
นี่เรามีความเห็นที่ถูกต้องสมบูรณ์ในตัวเองแล้ว
รู้แล้วว่าตัวตนไม่มี ละสักกายทิฏฐิได้
ทิฏฐิตัวสำคัญเลยเรื่องสักกายทิฏฐิ
ตัวเรามีอยู่ คิดว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ
พอตัวเรามีอยู่จริงๆ มันก็นำไปสู่ทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิอื่นๆ
เช่น ตัวเราที่มีอยู่ในนี้ ในปัจจุบันนี้
ในอดีตมันก็มีมาแล้ว ในอนาคตก็ตัวนี้ล่ะ
พอตายไป เดี๋ยวจิตก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่
อันนี้ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดหนึ่ง
มันมาจากคำว่ามันมีตัวเราเสียก่อนแล้ว
พอมีเราแล้วเราก็เลยคิดว่า เราเที่ยง
เราในอดีตชาติ เราในปัจจุบันชาติ
เราในอนาคตชาติ ก็เป็นคนๆ เดิม
อันนี้พอเรามีความเป็นตัวเป็นตน ตัวเรามีอยู่
ก็คิดว่าตัวเรามีอยู่ถาวร
อันนี้ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิที่รองลงมา
มิจฉาทิฏฐิอีกอันหนึ่ง ที่มันมาจากความมีตัวเรา ก็คืออุจเฉททิฏฐิ ตอนนี้ตัวเรามีอยู่ แต่ต่อไปพอตายแล้วก็สูญไปเลย คิดว่าตอนนี้มีจริง แต่ว่าต่อไปพอตายแล้วก็สูญไปหมดเลย ไม่มีอะไรเหลือเลย
อันนี้ดูยากว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างไร คนรุ่นนี้พวกที่เรียนทางวิทยาศาสตร์ จะตกเข้ามาสู่ทิฏฐิตัวนี้
แล้วทิฏฐิตัวนี้เราจะเห็นว่ามันผิดได้อย่างไร
ถ้าเรารู้ว่าตัวเราไม่มีตั้งแต่ตอนนี้
เราก็จะรู้ว่าความคิดที่ว่า
ตอนนี้ตัวเรามีแล้วในอนาคตสูญไปเลย มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ
เพราะจริงๆ มันไม่มีตัวเราตั้งแต่ตอนนี้แล้ว
มิจฉาทิฏฐิมันมีหลายระดับ เยอะแยะไปหมดเลย
ถ้าเราสามารถล้างมิจฉาทิฏฐิหัวโจก
ตัวสำคัญเชื่อเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรมให้ได้
แล้วก็เห็นความจริงได้ว่าตัวเราไม่มี
ตัวนี้เราจะแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา
เราจะรู้เลยพระพุทธเจ้าสอนสัจธรรมจริงๆ เลย
เราจะไม่มีปัญหาหรอกว่า ตายแล้วไปเกิดที่ไหน
คิดถึงตัวเองตายแล้วไปเกิดที่ไหน ยังพอทำเนา
มันคิดต่อไปอีกพระอรหันต์นิพพานแล้วไปเกิดที่ไหน
นี้หนักข้อเข้าไปอีก
พระอรหันต์นิพพานแล้วไปเกิดที่ไหน
มันไม่มีตัวตนที่จะเกิดมาตั้งแต่แรกแล้ว
ตั้งแต่ยังไม่ทันจะตายเลย ไม่มีตัวตน
แล้วท่านก็ไม่ได้ยึดถืออะไร
เวลาพระอรหันต์ท่านคิดถึงการนิพพาน ท่านคิดอย่างไร
ท่านคิดว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป ท่านรู้สึกแค่นี้เอง
ไม่ได้รู้สึกว่านิพพานแล้วจะต้องไปอยู่ตรงนั้น
นิพพานแล้วจะไปอยู่ตรงนี้
อันนั้นยังมีตัวมีตนอยู่
มันถึงจะไปอยู่ที่โน้นที่นี้ได้
เมื่อก่อนหลวงพ่อก็เคยสำคัญผิด
ตอนเป็นโยมภาวนาแล้วกำหนดจิต กำหนดจิตลงไป
ไม่ยึดรูป ไม่ยึดนาม ไม่ยึดจิต ไม่ยึดอารมณ์
ไม่ยึดอะไรสักอย่าง
รวมลงไปในความไม่มีอะไรสักอย่าง
ว่าง สว่างอย่างนั้น ไม่มีอะไร
ไม่มีสัญญาความจำได้ ไม่มีสังขารความปรุงแต่ง
ไม่มีสุขมีทุกข์ ไม่มีอะไรเลย
เหลือแต่จิตอยู่ดวงเดียว แล้วก็คิดว่านี่นิพพานๆ
ไปเจอหลวงปู่บุญจันทร์ วัดถ้ำผาผึ้ง แต่ตอนนั้นหลวงพ่อรู้แล้วว่า นี้เป็นเรื่องของสมาธิไม่ใช่นิพพานหรอก แล้วทำไปให้ตายก็ไม่นิพพาน แต่มันยังชอบเล่นอยู่ ไปเจอหลวงปู่บุญจันทร์ วัดถ้ำผาผึ้ง
ท่านให้พระมาเรียกหลวงพ่อไปหา เราก็ฝืนใจไปไม่รู้จักท่าน ไปถึงท่านก็ตวาดเอาว่า “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก”
โดนท่านตวาดเข้า 2 รอบ ก็จิตมันก็ไม่เอาแล้ว
รู้ว่าเสียเวลา ไปเข้าสมาธิว่างๆ อยู่
ไม่ได้ประโยชน์อะไร
นิพพานจอมปลอม ตัววิมุตติ ตัวนิพพาน
ตัววิมุตติ ในพระไตรปิฎกยังมีคำว่าสัมมาวิมุตติอยู่เลย
ฉะนั้นมิจฉาวิมุตติ มี สัมมาสติก็มี มิจฉาสติก็มี
สัมมาทิฏฐิก็มี มิจฉาทิฏฐิก็มี มันมีทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นเวลาสัมมาวิมุตติ
เช่นเรากำหนดจิตเข้าไปอยู่ในความว่าง
อันนี้เป็นมิจฉาวิมุตติ
สัมมาวิมุตติจริงๆ สัมผัสพระนิพพานจริง
ไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันไม่ได้มีตัวมีตนอะไรหรอก
อันนี้มันยังมีการเข้า มีการออก
ยังมีการเป็นสิ่งที่เป็นคู่อยู่ เข้านิพพาน ออกจากนิพพาน
เป็นธรรมะที่เป็นคู่
ธรรมะอะไรที่เป็นคู่ เป็นธรรมะที่ยังไม่พ้นความปรุงแต่ง
นิพพานเป็นหนึ่งไม่มีคู่
อย่าทำบุญอย่างเดียว ให้ได้กุศลเจือลงไปด้วย
เราค่อยๆ ภาวนา แล้วบุญเราจะสมบูรณ์สูงสุดเลย ตรงที่เรามีความเห็นถูก แล้วกุศลของเราก็สูงสุดตรงที่เรามีความเห็นถูกนั่นล่ะ
เพราะฉะนั้นเวลาเราจะทำบุญทำทานอะไร อย่าทำบุญอย่างเดียว ให้มันได้กุศลเจือลงไปด้วย
จะทำทานก็ทำเพื่อล้างกิเลส
จะรักษาศีลก็เพื่อล้างกิเลส
จะทำสมาธิก็เพื่อล้างกิเลส
จะเจริญปัญญาก็เพื่อล้างกิเลส
ไม่ใช่เพื่อเอาอะไร อย่างนี้บุญก็จะสูงสุด กุศลก็จะสูงสุด
เมื่อเช้าหลวงพ่อเดินไปคุยกับทีมงานที่มาช่วยงานไลฟ์ หลวงพ่อยังบอกเขาเลย เออ บุญมีโอกาสก็ทำ แต่สติต้องทำตลอดเวลา
บุญมีโอกาสก็ทำ ถ้าไม่มีโอกาสก็ไม่ต้องทำ อยู่เฉยๆ ก็ได้ ขวนขวายดิ้นรนอยากทำบุญจนทุรนทุราย อันนั้นกำลังทำบาปอยู่ จิตใจเร่าร้อน
อย่างเราอยากทำบุญ เราก็ไปพิมพ์ซองกฐินมา แล้วก็ไปเที่ยวแจกๆๆ คนเขาคืนมาพร้อมด้วยสตางค์ เราก็ดีใจ โอ้ อนุโมทนาบุญ
อีกคนหนึ่งมันเอาไปโยนตะกร้าถังขยะ เราก็ด่ามันเลย โกรธแค้นมัน ใจบาปหยาบช้า ชาติต้องต้องยากจน ก็เขาไม่อยากทำ ไม่อยากทำก็ไม่ทำ
คนอยากทำบุญแต่ว่าได้บาป ไปทำคนอื่นเขาเดือดร้อน มันเป็นบุญหรือเป็นบาป เที่ยวเรี่ยไรหน้าด้านๆ ไปเรื่อย มันก็เป็นบาป มันไม่ได้เป็นบุญ
2
ฉะนั้นทำไม่ว่าเราจะทำบุญอะไร
ทำให้มันเจือกุศลลงไปให้ได้
เจือสติเจือปัญญาลงไปให้ได้
ทำทาน ทำเพื่ออะไร
ทำเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว
ทำเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น สงเคราะห์สัตว์อื่น
สงเคราะห์พระศาสนา
ให้รู้เป้าหมายที่ถูกต้องชัดเจน
ถือศีลเพื่ออะไร เพื่อลดละกิเลส
ไม่ใช่ถือศีลเพื่อเอาไว้อวดคนอื่น
ฉันมีศีล 8 แกมีศีล 5 แกต้องไหว้ฉัน
หรือฉันมีศีล 227 ฉันจะขออะไรใครก็ได้
เพราะฉันเป็นภิกขุแปลว่าผู้ขอ
ผู้ขอของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ผู้หน้าด้าน
ท่านมีระเบียบวิธีในการขอ
อย่างจะไปบิณฑบาต ไม่ใช่ไปร้องตะโกน
เอ้า รีบมาใส่บาตรเร็วๆ ไม่ใช่
ท่านให้เดินไปตามลำดับ ลำดับบ้าน
เดินไปใครเขาอยากให้เขาก็ให้
เขาไม่อยากให้ เขาก็ไม่ว่าอะไรเขา ก็ไม่เกี่ยว
ต้องรู้จักมีศีลมีธรรมอะไรในตัวเอง
ภาวนา อันนี้ต้องทำ แล้วมันจะก้าวไปสู่การเจริญสติ เจริญปัญญาได้ดีขึ้นๆ
เวลาจะไหว้พระสวดมนต์ ทุกวันนี้เริ่มทำไม่เป็นแล้ว
เช่น สวดมนต์แล้วหวังว่าจะรวย สวดบทนี้แล้วจะรวย
จะมีโชคมีลาภ นี่ไม่ใช่ภาวนาที่เป็นบุญแล้ว
มันเจือด้วยกิเลสรุนแรงลงไป
คืออยากได้โน่นอยากได้นี่ พุทโธๆ หรือสวดมนต์คาถาบทนั้นบทนี้ หวังจะมีโชคมีลาภ หวังว่าจะได้นั้นได้นี้ หวังว่าจะให้สาวรัก ท่องคาถา นั่นไม่เรียกว่าภาวนาของพุทธ
ภาวนาต้องหมายถึง อบรมจิตใจตัวเองให้มันสงบสุข ให้มันฉลาด 2 อัน เพื่อความสงบสุขอันหนึ่ง เพื่อความฉลาดรอบรู้ มีเหตุมีผล นั่นล่ะภาวนา
คือเจริญสติกับเจริญปัญญาถึงจะเรียกภาวนา
ถ้านั่งท่องๆๆ ไปหวังว่าจะรวย ไม่ได้เรื่องหรอก
หวังว่าเทวดาจะรัก เขาก็อาจจะรัก
สวดมนต์เยอะๆ เทวดาก็รัก
แต่พอเทวดารัก เราก็ขอเลย ขอโน่นขอนี่
อันนี้ทำไปเพื่อกิเลส
ฉะนั้นเราจะทำทานก็ทำด้วยสติด้วยปัญญา
จะรักษาศีลก็รักษาด้วยสติปัญญา
จะภาวนาก็มีสติมีปัญญา
จะมีความอ่อนน้อมก็ต้องมีสติปัญญา
ไม่ใช่แกล้งอ่อนน้อม แต่ใจกระด้าง
อันนี้ไม่ใช่ ไม่เป็นบุญ
อ่อนน้อมแต่เปลือกแต่ข้างในกระด้าง
อันนี้ไม่มีบุญหรอก
มันมารยา มันหลอกลวง ลวงโลก
ฉะนั้นตัวสำคัญที่ว่าเราจะได้บุญหรือไม่ได้บุญ อยู่ที่ใจของเรานี่ล่ะ
ใจเราเป็นบุญหรือใจเราเป็นบาป
ถ้าเราทำบุญแต่ใจเราเจือด้วยกิเลส มันเป็นบาป
มันไม่เป็นบุญหรอก เพราะมันทำไปด้วยอำนาจของกิเลส
อย่างทำบุญทำทานก็จะมีอานิสงส์ เช่น เขาจะสอนกันเยอะ ทำแล้วจะได้โน้นจะได้นี้ เกิดมาจะรวย จะสวย จะอย่างโน้นอย่างนี้ เอาไว้จูงใจให้คนทำบุญทำทาน ถ้าสอนให้ดีให้มันได้เนื้อแท้ของธรรมะ คือทำเพื่อลดละกิเลส
ฉะนั้นมาที่วัดหลวงพ่อ อย่างพรุ่งนี้ทอดกฐิน หลวงพ่อบอกใครมาได้ก็มา มาเพื่ออะไร เพื่ออนุโมทนา อนุโมทนาคนเขามาทำบุญ
สมมติเราไม่มีเงิน เราอนุโมทนาเราได้บุญแล้ว อนุโมทนามัย ได้บุญแล้ว เจ้าภาพทอดกฐินแล้ว ได้ยินว่าเราอนุโมทนา แล้วก็ดีใจ เราทำความดีแล้ว คนอื่นเขาก็พลอยมีความสุขไปด้วย อย่างนี้ดีใจ อย่างนี้เราก็ได้บุญ
บุญจากการแผ่ส่วนบุญ แผ่ส่วนบุญไม่ใช่แค่ไปนั่งกรวดน้ำ แผ่ส่วนบุญ อย่างเราทำความดีทำอะไร เป็นการจูงใจให้คนอื่นเขาดีด้วย ทำแล้วเรามีความสุข แล้วก็ชักจูง จูงใจให้คนอื่นเขามีความสุขด้วย อย่างนี้ถึงจะดี
ไม่ใช่แค่กรวดน้ำแล้วก็ถือว่าได้บุญแล้ว แหม ได้บุญเยอะเลย กรวดน้ำไป 3 จักรวาล 3 โลกธาตุ โอ๊ย ทำไปหวังว่าจะเฮง ไม่ได้เรื่องหรอก ไม่ได้เรื่องได้ราว ทำด้วยกิเลส
เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราทำอะไร ทำบุญ ไปดูบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ แล้วก็ไปสำรวจใจลงไปอีกชั้นหนึ่ง
สิ่งที่เราทำบุญนั้น เราทำไปแล้วสติเราดีไหม
ทำไปแล้วกุศลเราเจริญขึ้นหรือเปล่า ลดละกิเลสไหม
หรือว่าทำไปแล้วพอกพูนกิเลส พอกพูนความเห็นแก่ตัว
อย่างนั้นไม่ทำเสียดีกว่า
เพราะฉะนั้นสำรวจตัวเอง
อย่างพรุ่งนี้ใครจะมาก็มาอนุโมทนาบุญกัน
ถือว่าทุกคนมีบุญร่วมกันแล้ว
การที่เรามีบุญร่วมกันก็คล้ายๆ อย่างนี้เรียกว่าบริวาร บางคนได้ยินว่าทำบุญ ไปอนุโมทนาเขาแล้วต้องเป็นบริวารเขา ไม่เอา ไปแปลคำว่าบริวารผิด คล้ายๆ ไปเป็นขี้ข้าเขา เห็นเขาทำบุญแล้วเราไม่อนุโมทนา เดี๋ยวต้องไปเกิดเป็นบริวารเขา อันนี้ไม่รู้จัก ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ
“บริวาร” แปลว่า ผู้แวดล้อม พวกเดียวกัน ไปช่วยกันทำดีก็เป็นพรรคเป็นพวกกัน อย่างไปช่วยกันเก็บศพไร้ญาติ ไปช่วยกันทำงานก็กลายเป็นพรรคพวกกัน เป็นทีมเดียวกัน
คราวนี้เวลาเกิดอะไรขึ้นก็เห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือกัน อย่างนี้เรียกว่า บริวาร ไม่ใช่ไปทำบุญกับคนอื่นแล้ว ต้องเป็นบริวารเขา ไปเป็นขี้ข้าเขา ไม่ใช่
แล้วใครทำบุญแล้วหวังว่าจะได้บริวาร หวังได้ขี้ข้า เข้าใจผิด ก็ต้องไปแจ้งกรมแรงงานอยากได้คนมาทำงาน ไม่ใช่ไปทำบุญ ก็ไปบอกกรมแรงงานเขา
เพราะฉะนั้นเราจะทำบุญ ทำทาน ทำด้วยความฉลาด
ทำแล้วก็จิตใจต้องเจริญขึ้น
ต้องมีสติ ต้องมีจิตใจที่มั่นคง มีสมาธิ
รู้เหตุรู้ผล อะไรควร อะไรไม่ควร
เราถึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง
ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นพุทธแต่เปลือก
อย่างเมื่อก่อนหลวงพ่อเป็นโยม โอ้โห พอช่วงนี้ซองมาเป็นปึกเลย เงินเดือนเราก็พันกว่าบาท สองพัน มา 10 ซอง หน้ามืดเลย ซองละร้อยๆๆๆๆ เงินเดือนหมดแล้ว จิตใจเศร้าหมองไปอีกเดือนหนึ่ง
ตอนหลังฉลาด ซองมา อนุโมทนา คืน
อนุโมทนาได้บุญไปแล้ว
ทำอะไรอย่าโง่ อย่าเป็นเหยื่อ
อันนี้เป็นธรรมะเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่เป็นธรรมะ
เพราะเราเอาสิ่งที่หลวงพ่อสอนนี้ไปดำรงชีวิตจริงๆ เถอะ
ความดีมีตั้งเยอะตั้งแยะ ไปทำเสีย
แล้วทำอย่างฉลาด ทำแล้วยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
15 ตุลาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา