4 พ.ย. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
กินข้าวมื้อดึก ระวังจะอ้วนไม่รู้ตัว
ภาพโดย Bishwas Bajracharya จาก Pixabay
ความชุกของโรคอ้วนที่เคยสำรวจในประเทศไทย เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว พบว่าโรคอ้วนมีความชุก ราว 24% หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรผู้ใหญ่ เรียกได้ว่า เดินตามท้องถนน ทุก ๆ 4 คน เราจะเจอคนอ้วนอยู่ 1 คน โรคอ้วนเป็นต้นทางหรือต้นเหตุของโรคเรื้อรังต่าง ๆ อันได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังอื่น ๆ อีกมากมายหลายชนิด ทำให้อายุขัยสั้นลง และอาจเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ทุกวันนี้ ในชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ มีแต่ความรีบเร่ง มีเรื่องเร่งด่วน เข้ามาตลอด เช้ามาก็ต้องรีบไปทำงาน มีประชุม ตัองทำโอที ทำให้เลิกงานมืดค่ำ แถมยังเจอปัญหารถติด กว่าจะได้กินอาหารมื้อเย็น ก็ปาไปเกือบ 2 ทุ่ม หรือ 3 ทุ่มแล้ว รู้หรือไม่ว่า การกินข้าวมื้อดึกเช่นนี้ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ กล่าวคือ ทำให้อ้วนได้ง่าย
เราคงเคยได้ยินคำกล่าวว่า “ถ้าไม่อยากอ้วน อย่ากินสายหรือกินข้าวมื้อดึก” มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการกินสายหรือกินข้าวมื้อดึกว่า ทำให้อ้วนได้ง่าย และจากการศึกษาวิจัยชิ้นล่าสุด โดยผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด พบว่า การกินสายหรือกินอาหารมื้อดึกนั้น ส่งผลต่อการใช้พลังงาน ความหิว ความอยากอาหาร และการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลของเนื้อเยื่อไขมัน ในลักษณะที่อาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วน
งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดัง Cell Metabolism นำเสนอผลการวิจัยเชิงทดลอง บ่งชี้ว่า การกินข้าวสายหรือกินข้าวมื้อดึก กระตุ้นความหิวกระหาย ความอยากอาหารในเวลากลางวัน ลดการเผาผลาญแคลอรี่หรือพลังงานในแต่ละวัน แถมยังส่งผลต่อกลไกของระบบร่างกาย ซึ่งผลรวมทั้งหมด ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนตามมาได้
รายละเอียดของงานวิจัยนี้ เป็นงานวิจัยเชิงทดลอง ที่มีการควบคุมน้ำหนัก กิจกรรมทางกาย การสัมผัสแสงแดด และการนอนหลับ ในผู้เข้าร่วมทั้งหมด 16 คน ส่วนใหญ่มีน้ำหนักเกินหรือจัดว่าอ้วน
การวิจัยแบ่งผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มที่ได้รับ “มื้ออาหารตามเวลาปกติ” คือ ให้กินอาหาร 3 เวลา คือ 9 โมงเช้า บ่ายโมง และ 5 โมงเย็น และอีกกลุ่ม คือ “มื้ออาหารสายกว่าปกติ” คือ ให้กินอาหาร 3 เวลา เช่นกัน แต่เลื่อนเวลาออกไปอีก 4 ชั่วโมงจากมื้อปกติ เวลาคือ บ่ายโมง 5 โมงเย็น และ 3 ทุ่ม โดยการทดลองดำเนินการวิจัยในลักษณะแบบไขว้ (cross-over study) และมีการตรวจวัดค่าต่าง ๆ เช่น ความหิว ระดับฮอร์โมน การสะสมและการใช้ไขมันในร่างกาย และการเปลี่ยนแปลงของยีนส์ (genes) เกี่ยวกับเมตาโบลิซึมของไขมัน (lipid metabolism)
ผลการทดลอง พบว่า ในกลุ่ม “มื้ออาหารสายกว่าปกติ” เมื่อตรวจเลือดพบว่า มีการลดลงของฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับความอิ่ม ช่วยต่อต้านความหิว เมื่อฮอร์โมนนี้ลดลงจะทำให้เรารู้สึกหิวกระหาย อยากกินอาหารมากกว่าปกติ ทั้งนี้ยังมีการสะสมกรดไขมันในร่างกาย มีการเผาผลาญไขมันลดลงในเซลล์ไขมัน แถมยังทำให้ในระหว่างวันเราเผาผลาญแคลอรี่ลดลงไปด้วย
นอกจากนี้ในระดับยีนส์ พบกว่ามีการแสดงออกของนาฬิกาชีวภาพในระดับเซลล์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเผาผลาญและเก็บสะสมไขมันในร่างกาย
แม้ว่างานวิจัยเชิงทดลองนี้ จะมีจำนวนผู้เข้าร่วมน้อย แต่ผลการวิจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็น ผลเสียของการกินข้าวสายหรือกินมื้อดึก ดังนั้นแล้ว เลิกกินสายหรือเลิกกินอาหารมื้อดึก หันกลับมากินให้ได้ตามเวลามื้อปกติ จะได้ลดปัญหา เรื่องน้ำหนักเกินและโรคอ้วนกัน ซึ่งนับวันโรคอ้วนนี้จะเป็นปัญหาสำคัญในระดับประเทศและระดับโลก
อ้างอิง
Jitnarin N, Kosulwat V, Rojroongwasinkul N, Boonpraderm A, Haddock CK, Poston WS. Prevalence of overweight and obesity in Thai population: results of the National Thai Food Consumption Survey. Eat Weight Disord. 2011 Dec;16(4):e242-9. doi: 10.1007/BF03327467. PMID: 22526130; PMCID: PMC5824639.
Vujović N et al. Late isocaloric eating increases hunger, decreases energy expenditure, and modifies metabolic pathways in adults with overweight and obesity. Cell Metab 2022 Oct 4; 34:1486. (https://doi.org/10.1016/j.cmet.2022.09.007.
โฆษณา