18 พ.ย. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
กินอาหารมื้อเช้า ช่วยป้องกันโรคอ้วน ได้จริงหรือ
คงจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “อาหารมื้อเช้าเป็นอาหารมื้อที่สำคัญที่สุด” มาบ้าง ไม่มากก็น้อย เหตุผลก็คือว่า อาหารมื้อเช้าช่วยให้พลังงานแก่เราในยามเช้า ทำให้มีสมาธิในการทำงานและการเรียนรู้ของเด็ก ๆ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้อ้วนได้อีกด้วย
มีคำแนะนำจากแนวทางเวชปฏิบัติระดับนานาชาติ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แนะนำการกินอาหารมื้อเช้า ว่าเป็นอาหารมื้อสำคัญ ถ้าพลาดอาหารมื้อเช้าแล้วละก็ ยากที่จะลดน้ำหนัก เป็นไปได้ที่จะน้ำหนักจะขึ้นอีกด้วย (คำแนะนำเหล่านี้มาจาก องค์กรชั้นนำเกี่ยวกับอาหาร ในประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ แชะนิวซีแลนด์)
ทำไมอาหารมื้อเช้า จึงป้องกัน โรคอ้วนได้ คำกล่าวนี้ มาจากความเชื่อที่ว่า การไม่กินอาหารมื้อเช้า ทำให้เรามีความหิวกระหายที่มากขึ้นกว่าปกติ นำไปสู่การกินอาหารชดเชยมากขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของวัน ส่งผลให้น้ำหนักขึ้นและเป็นโรคอ้วนได้ในที่สุด
แนวคิดดังกล่าว มาจากงานวิจัยเชิงสังเกต (มิใช่งานวิจัยเชิงทดลองที่มีความน่าเชื่อถือและความถูกต้องมากกว่า) ทั้งนี้มีงานวิจัยเชิงทดลองออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การไม่กินอาหารมื้อเช้านั้นอาจไม่ส่งผลต่อน้ำหนักและอาจลดน้ำหนักได้ การแนะนำให้กินมื้อเช้านั้นอาจส่งผลให้มีน้ำหนักขึ้นได้ เป็นจากการเพิ่มแคลอรี่เข้าไปมากขึ้น เมื่อมีข้อมูลที่ขัดแย้งเช่นนี้แล้ว ความคิดที่ว่า กินอาหารมื้อเช้า ช่วยป้องกันโรคอ้วน ยังเป็นจริงเช่นนั้นหรือเปล่าในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2563 มีบททบทวนวรรณกรรมและวิเคราะห์อภิมาน รวบรวมงานวิจัยเชิงทดลองหลาย ๆ ชิ้นงาน ที่เกี่ยวข้องกับผลของการกิน/ไม่กินอาหารมื้อเช้าต่อน้ำหนักตัวและพลังงานที่ได้รับต่อวัน มีงานวิจัยจำนวน 13 ชิ้นที่ถูกรวบรวมเข้ามาวิเคราะห์ งานวิจัยส่วนใหญ่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น ระยะเวลาที่ศึกษาติดตามมีตั้งแต่ 24 ชั่วโมงไปจนถึง 16 สัปดาห์
เมื่อนำข้อมูลจากงานวิจัยทั้งหมดที่รวบรวมได้มาสังเคราะห์ ผลพบว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยที่ไม่กินอาหารมื้อเช้ามีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าในกลุ่มที่กินอาหารมื้อเช้า 0.44 กิโลกรัม และในกลุ่มที่กินอาหารมื้อเช้าได้รับพลังงานมากกว่ากลุ่มที่ไม่กิน 259 กิโลแคลอรี่ต่อวัน
ทำไมผลของการกินอาหารมื้อเช้า จึงให้ตรงกันข้าม กับคำแนะนำการกินอาหารมื้อเช้าที่กล่าวไว้ก่อนหน้า ทางผู้วิจัยได้กล่าวถึงงานวิจัยในอดีต ว่าการกินอาหารเช้านั้น ส่งผลต่อกระบวนการเผาผลาญอาหาร สร้างพลังงานความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้นไม่มากนัก (diet induced thermogenesis) และมีงานวิจัยบางชิ้นที่อสดงว่าการกินอาหารมื้อเช้าไม่ได้สร้างพลังงานความร้อนในร่างกายแตกต่างจากการไม่กินอาหารมื้อเช้าแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีการทดลอง พบว่า ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความอยากอาหารและความหิว ในกลุ่มการทดลอง ทั้งกินอาหารเช้าและไม่กินอาหารเช้า ไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้แม้ว่าจะไม่กินอาหารมื้อเช้า ก็ไม่ได้ทำให้เราโหยกระหาย กินอาหารในมื้อถัด ๆ มาชดเชยมากขึ้น และมีงานวิจัยเชิงทดลองที่แสดงว่า การกินอาหารมื้อเช้าไม่ได้ทำให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้นต่างจากคนที่ไม่กินอาหารมื้อเช้าด้วย
สุดท้าย ผู้วิจัยสรุปว่า การกินอาหารมื้อเช้า อาจไม่ช่วยลดน้ำหนัก แถมยังอาจได้แคลอรี่เพิ่มเติมไปด้วย ดังนั้นแล้ว การแนะนำอาหารเช้าสำหรับคนอ้วนที่ต้องการลดน้ำหนัก อาจให้ผลตรงกันข้าม อย่างไรก็ตาม บททบทวนวรรณกรรมนี้มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาการทดลองที่สั้นเกินไป และคุณภาพงานวิจัยในภาพรวมยังไม่ดีมาก ดังนั้นการแปลผลบททบทวนวรรณกรรมนี้ต้องแปลผลด้วยความระมัดระวัง และเสนอแนะให้มีการทดลองวิจัยที่รัดกุมมากขึ้น และติดตามผู้เข้าร่วมวิจัยที่นานกว่านี้เพิ่มเติม
จะเห็นได้ว่า จากบททบทวนวรรณกรรม การกินอาหารมื้อเช้า อาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีในการป้องกันโรคอ้วนและการลดน้ำหนัก ในระยะหลังเริ่มมีคำแนะนำให้อดอาหาร หรือทำ intermittent fasting ซึ่งรวมถึงการงดอาหารมื้อเช้าไป การข้ามอาหารมื้อเช้าไป อาจนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยป้องกันโรคอ้วนและลดน้ำหนักได้ อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามงานวิจัยเพิ่มเติมต่อไป ว่า การไม่กินอาหารมื้อเช้านั้นจะเป็นกลยุทธ์ในการลดน้ำหนักที่ดีหรือไม่ อย่างไรต่อไป
อ้างอิง
Sievert K, Hussain SM, Page MJ, Wang Y, Hughes HJ, Malek M, Cicuttini FM. Effect of breakfast on weight and energy intake: systematic review and meta-analysis of randomised controlled trials. BMJ. 2019 Jan 30;364:l42.
Bjørnarå HB, Vik FN, Brug J, et al. The association of breakfast skipping and television viewing at breakfast with weight status among parents of 10-12-year-olds in eight European countries; the ENERGY (EuropeaN Energy balance Research to prevent excessive weight Gain among Youth) cross-sectional study. Public Health Nutr 2014;17:906-14.
Cho S, Dietrich M, Brown CJ, Clark CA, Block G. The effect of breakfast type on total daily energy intake and body mass index: results from the Third National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES III). J Am Coll Nutr 2003;22:296-302.
O’Neil CE, Nicklas TA, Fulgoni VL., 3rd Nutrient intake, diet quality, and weight/adiposity parameters in breakfast patterns compared with no breakfast in adults: National Health and Nutrition Examination Survey 2001-2008. J Acad Nutr Diet 2014;114(suppl):S27-43.
Casazza K, Fontaine KR, Astrup A, et al. Myths, presumptions, and facts about obesity. N Engl J Med 2013;368:446-54.
โฆษณา