6 ม.ค. 2023 เวลา 15:37 • ปรัชญา
“ที่สำคัญคือรู้ว่าจิตคิด ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด
ตรงนี้แยกกันให้ออก“
“ … การที่เราคอยอ่านใจตัวเองเสมอๆ เราจะได้สิ่งหนึ่งขึ้นมา คือตัวสัมปชัญญะ สัมปชัญญะ ความรู้เนื้อรู้ตัวๆ เราค่อยฝึกไป
อย่างจิตเรามันจะตามใจกิเลสแล้ว ให้เรารู้ทัน
ตรงที่เรารู้เท่ารู้ทัน ความตื่นตัวมันก็จะเกิดขึ้น
จิตจะไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด
คนในโลกมันหลงอยู่ในโลกของความคิดตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย หลับแล้วก็ยังไปฝันต่ออีก ตรงนั้นเราหลงอยู่
ฉะนั้นเราต้องพยายามตื่นขึ้นมา ไม่ใช่ตื่นเฉพาะร่างกาย ขณะนี้เราตื่นในร่างกายเรา แต่จิตเราชอบฝัน จิตมันแอบไปหลับไปฝัน ลืมเนื้อลืมตัวอยู่ อันนั้นใช้ไม่ได้ ก็ต้องพยายามรู้สึกตัวไว้
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรจะสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัวเลย ที่จะสามารถทำให้พ้นจากอาสวกิเลสได้
อาสวกิเลส มันมี 4 ตัว ตัวหนึ่งคืออวิชชานั่นล่ะ ถ้าพ้นอาสวะทั้งหมดนี้ได้ ก็เป็นพระอรหันต์
ฉะนั้นท่านบอกเองเลย บอกตรงๆ เลยว่าท่านไม่เห็นอะไรสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัวเลย
ฉะนั้นพวกเราอย่าเอาแต่ล่องลอย ฟุ้งๆๆ ไปเรื่อย ลืมเนื้อลืมตัว พยายามให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง ไม่ใช่รู้เพื่อเอาดี เอาสุข เอาสงบหรอก
แต่ถ้ากิเลสเกิด เราคอยรู้
กุศลเกิด เรารู้ สุขเกิด เรารู้ ทุกข์เกิด เรารู้
ทุกคราวที่รู้ จิตใจมันก็จะตื่นตัวขึ้นมา
มีความรู้สึกตัว
ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด ความฝัน
เวลาเราถูกราคะครอบงำ
เราก็คิดฝันในเรื่องราคะ มีกามวิตกไป
เวลาเราถูกโทสะครอบงำ
เราก็หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน
เป็นพยาบาทวิตกไป
ฉะนั้นเราพยายามปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมาให้ได้
ที่หลวงพ่อสอนมาตั้งหลายสิบปี
จุดแรกที่พยายามพาพวกเรามาก็คือจุดที่จิตมันตื่นขึ้นมา
ถ้าเราตื่นได้ พระพุทธเจ้าท่านบอกเอง ท่านไม่เห็นอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัวนี้เลย ที่จะทำให้เราสามารถละอาสวกิเลสทั้งหมดได้ ละอาสวะได้ มันก็เป็นพระอรหันต์นั่นล่ะ
เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวไม่ใช่เรื่องเล็ก เราอย่าวอกแวก วันๆ หนึ่งอย่าได้หลงฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ คิดโน่นคิดนี่ พูดโน่น พูดนี่ไปเรื่อยๆ พยายามอยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเราไว้ แล้วรู้ทันจิตตัวเองไป
เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่เรื่อยๆ ไป
จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ทัน
ตรงที่เรารู้ทันปุ๊บ ความรู้สึกตัวจะเกิดขึ้น
จิตจะกลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ไม่ใช่ผู้หลง ผู้หลับ ผู้ฝัน แล้วก็ถูกกิเลสเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา
ฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกตัวเองให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา นั่นล่ะคือสภาวะแห่งความรู้เนื้อรู้ตัว
ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือสภาวะที่จิตมีสัมมาสมาธินั่นเอง
อาศัยการมีสติ คอยรู้ทันจิตใจของตัวเองเรื่อยๆ ไป
แล้วสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้น
พอเรามีจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว อย่าหยุดอยู่แค่นั้น
ถ้าหยุดอยู่แค่นั้นก็คือการแพ้กิเลสแล้ว
เป็นผู้รู้แล้วสบาย โล่งว่างอยู่ทั้งวัน
อันนั้นตกเป็นเหยื่อของกิเลสอีกแล้ว
บอกแล้วว่าเราไม่ได้มุ่งไปที่ความสุข ความสงบ ความดี
เพราะความสุขไม่เที่ยง ความสงบไม่เที่ยง ความดีไม่เที่ยง
เราพยายามปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมา
แล้วเรียนรู้ความจริงของตัวเอง
สิ่งที่เรียกว่าตัวเราก็คือกายกับใจ
พอใจเราตื่น ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝันแล้ว
รู้สึกลงที่กาย รู้สึกลงที่ใจ
มีสติระลึกอยู่ที่กาย มีสติระลึกอยู่ที่ใจ
สติเป็นตัวระลึกรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในร่างกาย
มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สติเป็นตัวรู้
ต้องหลุดออกจากความคิดให้ได้
ถึงจะก้าวต่อไปในเส้นทางของพระพุทธเจ้าได้
เพราะฉะนั้นเราพยายามฝึก เบื้องต้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันจิตตัวเองบ่อยๆ
ไม่ได้ทำเพื่อสุข เพื่อสงบ เพื่อความดีใดๆ ทั้งสิ้น
ทำเพื่อจะรู้ทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจไป
เพราะฉะนั้นตรงที่เราไม่ได้ทำเพื่อความสุข ความสงบ ความดีอะไรนั่นล่ะ เรากำลังแผดเผากิเลสอยู่ เป็นอาตาปี
ฉะนั้นตรงที่เรามีสติรู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น
มีสติปุ๊บ สมาธิที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น
อาการของสมาธิที่แท้จริงก็คือความตื่น
จิตจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา
คำว่าพุทโธๆ ที่เราท่องๆ กัน
พุทโธแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
พุทโธไม่ใช่ชื่อพระพุทธเจ้า
พวกเราก็สามารถเป็นพุทโธได้
คือถ้าเราตื่นขึ้นมา เราก็เป็นพุทโธได้
ฉะนั้นพวกเราทุกคน เรามีจิต จิตทุกๆ ดวง ถ้าเราฝึกให้ดี มันสามารถเป็นพุทโธได้
อย่างเราเป็นปุถุชนอยู่ เราฝึกไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่ง เราได้โสดาบัน ได้สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์อะไรขึ้นมา จิตมันเป็นพุทโธขึ้นมาแล้ว มันเป็นพุทธะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
สิ่งเหล่านี้ พวกเรามีของดีของวิเศษอยู่ในตัวเอง ก็คือจิตของเรา แต่จิตของเรานั้นถูกกิเลสห่อหุ้มเอาไว้ ถูกกิเลสลากไป เราไม่ต้องทำอะไรมาก เราคอยพยายามมาสังเกตจิตใจตัวเองไป
ทำกรรมฐานแล้วสังเกตจิตใจตัวเองไป
ถึงจุดหนึ่งจิตใจมันจะแหวกอาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่
มันแหวกออกเอง จิตมันก็จะเป็นอิสระขึ้นมา
เป็นผู้รู้ผู้ตื่นที่แท้จริงขึ้นมา
สิ่งเหล่านี้ไม่เหลือวิสัยที่เราจะทำ
ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจมีความเพียรไป
ไม่ยากเกินไป แต่ก็ไม่ง่าย
มันยากตรงไหน
มันยากตรงที่เราเคยชินที่จะหลง
เราไม่เคยชินที่จะรู้สึกตัว
เราจะต้องมาสร้างความเคยชินอันใหม่
จิตทำไมมันหลงเก่ง เพราะมันชำนาญ มันหลงมาแต่ไหนแต่ไร ถ้าไม่หลง มันก็ไม่เกิดล่ะ เพราะฉะนั้นมันชินกับความหลง เดี๋ยวก็หลงไปทางตา หลงไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หลงบ่อยที่สุดคือหลงทางใจ คิดโน่นคิดนี่ทั้งวัน
ทำอย่างไรจะไม่หลง
รู้ทันมันๆ ถ้าเรารู้ทันมัน ก็ไม่หลงแล้ว
อย่างจิตเราทำกรรมฐานไป แล้วจิตมันหนีไปคิด รู้ทันมันว่าตอนนี้หลงไปคิดแล้ว ไม่ใช่รู้เรื่องที่คิด เรื่องราวที่คิดหมามันก็รู้ มันจะคิดอะไร มันก็รู้ของมัน
ที่สำคัญคือรู้ว่าจิตคิด ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด
ตรงนี้แยกกันให้ออก
ฉะนั้นอย่างเรานั่งพุทโธๆๆ ไป
จิตไปคิดเรื่องอื่นแล้ว รู้ว่าจิตหนีไปแล้ว รู้ว่าจิตไปคิดแล้ว
ทันทีที่รู้ว่าจิตหลงไปคิด ความหลงคิดจะดับ
จิตจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมาในฉับพลันนั้นเลย
อันนี้เราจะได้จิตที่เป็นผู้รู้ผู้ตื่นขึ้นมาแล้ว
เราค่อยๆ ฝึกของเราไปเรื่อยๆ เราก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ การที่เราได้จิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว เป็นจุดตั้งต้นที่จะเอาไปเจริญปัญญา
พอจิตใจเราไม่หลงอยู่ในโลกของความคิดความฝันแล้ว ก็ถึงขึ้นที่เราจะเจริญปัญญาได้ ถ้าจิตเรายังหลงอยู่ในโลกของความคิดความฝัน เจริญปัญญาไม่ได้ ถึงจะไปนั่งคิดว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ยังไม่ใช่การเจริญปัญญา มันเป็นการคิด
การเจริญปัญญา มันต้องฝึกระดับภาวนามยปัญญา
ไม่ใช่จินตามยปัญญา นั่งคิดเอา
ฉะนั้นเราต้องหลุดออกจากความคิดให้ได้
เราถึงจะก้าวต่อไปในเส้นทางของพระพุทธเจ้าได้
ถ้าเรายังหลงอยู่ในโลกของความคิดความฝัน
เราจะไม่สามารถเห็นความจริงของกายของใจได้เลย
อย่างมากก็คิดว่าจริงๆ แล้วกายเป็นอย่างนี้
จริงๆ แล้วจิตใจเป็นอย่างนี้
แค่คิดเอา แต่ไม่เห็น
วิปัสสนาแปลว่าเห็นแจ้ง ต้องเห็น ถ้าไปดูในสติปัฏฐาน ศัพท์ที่ท่านใช้ คือคำว่าเห็น หรือคำว่าเห็น หรือคำว่ารู้ ความหมายอันเดียวกัน …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
บ้านจิตสบาย
18 ธันวาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา