Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
11 ม.ค. 2023 เวลา 16:10 • ปรัชญา
“เมื่อความอยากนั้นไม่มีที่สิ้นสุด
การสนองความอยากไปเรื่อยๆ
จึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีจริง”
1
“ … อย่างเราเป็นฆราวาสถือศีล 5 เราภาวนา ทำมรรคผลให้เกิดได้ โสดาบัน สกิทาคามีอะไรนี่ ฆราวาสถือศีล 5 ทำได้สบายๆ นี่มาบวชแล้วทำไม่ดี ติดอาบัติ ติดอะไร ภาวนาไม่ขึ้น มันไม่ขึ้นจริงๆ ไม่ใช่คำขู่
อย่างเคยอาบัติแรงๆ แล้วก็ไม่ได้แก้อาบัติ พอลงมือภาวนา จิตจะรวม จิตมันจะดีดออกเลย รวมไม่ได้แล้ว
ฉะนั้นเป็นฆราวาสภาวนา ทำได้ พวกเราแค่ถือศีล 5 เอาไว้เท่านั้น แล้วเราก็พัฒนาธรรมะ 4 อย่าง
อันแรกเราสร้างความเห็นถูกให้เกิดขึ้น เรารู้ว่าเราศึกษาธรรมะ ไม่ใช่แค่เพื่อความดี ความสุข ความสงบอะไรหรอก
ความดีเป็นของไม่เที่ยง
ความสุขมันของไม่เที่ยง
ความสงบมันก็ไม่เที่ยง
เราสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น มันจะเห็นความจริงว่าทุกข์ ทุกข์มันอยู่ที่กายที่ใจนี่ ฉะนั้นถ้าถามว่าทุกข์อย่างไร ก็ทุกข์กายกับทุกข์ใจ ฉะนั้นทุกข์มันอยู่ที่นี่
1
…
ทุกข์ให้รู้
พระพุทธเจ้าบอกทุกข์ให้รู้ ไม่ได้บอกว่า ทุกข์ให้ละ มันฝืนกระแสโลก กระแสโลกอยากละทุกข์ อยากหาความสุข
2
พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้รู้ทุกข์
ทุกข์มันอยู่ที่กาย ทุกข์มันอยู่ที่ใจ
เพราะฉะนั้นเราก็รู้ลงที่กาย รู้ลงที่ใจ
ทุกข์มันไม่ไปอยู่ที่ต้นไม้หรอก
ฉะนั้นพยายามรู้ลงที่กายที่ใจของเราเอง
2
แล้วค่อยๆ สังเกตไป ค่อยรู้สึกๆ ไป
เราจะรู้ว่าความทุกข์ก็ไม่ได้ของลอยๆ มา
ก็ต้องมีเหตุให้เกิด
ความทุกข์ทางร่างกาย
มันมีเหตุก็คือความเกิดของเรา
พอเราเกิดมามีร่างกาย
ร่างกายนี้มันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
ความทุกข์ทางจิตใจมันเกิดจากความอยาก
เราอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย
อยากโน่นอยากนี่
2
เวลาความอยากเกิดขึ้น คนทั่วๆ ไปก็มองเห็นว่าเวลามันอยากแล้วไม่ได้อย่างอยาก มันทุกข์มาก ก็เลยพยายามแก้ทุกข์ด้วยการสนองความอยากไปเรื่อยๆ มันไม่มีวันจบสิ้น
เมื่อความอยากนั้นไม่มีที่สิ้นสุด การสนองความอยากไปเรื่อยๆ จึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีจริง
1
สิ่งที่เราต้องจัดการ จัดการทำอย่างไรกับตัณหา
คือความอยากมันจะไม่เกิดขึ้นอีก
ความอยากมันเกิดจากความไม่รู้
ไม่รู้ความจริงของร่างกายว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เกิดแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
อย่างร่างกายเราเจ็บอยู่ตลอดเวลา
เจ็บเล็กเจ็บน้อย นั่ง เดี๋ยวก็คัน
เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน
เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็เมื่อย
เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวกระหาย เดี๋ยวปวดอึ ปวดฉี่อะไรนี่
ร่างกายมันก็แสดงความจริง
คือแสดงความทุกข์ให้ดูอยู่ตลอดเวลา
1
ถ้าเราคอยรู้ลงที่กายเรื่อยๆ ดูมันไป
อย่าหลงลืมมัน
เมื่อไรขาดสติ มีกายก็ลืมกาย มีจิตใจก็ลืมจิตใจ
ให้เรารู้สึกกาย รู้สึกใจของเราไป
แล้วเราก็จะเห็นความจริง
ร่างกายมันมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ทุกข์เล็กทุกข์น้อยมันมีตลอดวัน นอนอยู่ว่านอนสบายแล้ว ซื้อเตียงมาราคาเป็นแสน ที่นอนอย่างดีเลย นอนไปนอนมา ก็ปวดก็เมื่อย ต้องพลิกซ้ายพลิกขวา
ความทุกข์มันไม่ได้อยู่ที่เตียง
ความทุกข์มันอยู่ที่ร่างกายเราเอง
พอเราเห็นความจริงอย่างนี้ ร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษเลย มีแต่ความทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้นเอง
พอใจมันยอมรับความจริงได้แล้วว่า ร่างกายมันต้องทุกข์ ท่านถึงบอกให้รู้ทุกข์ จะได้รู้ร่างกายมันต้องทุกข์ ให้ละความอยากเสีย
ความอยาก อยากให้มันไม่ทุกข์ มันเป็นไปได้ไหม
อยากให้ร่างกายไม่หิวข้าวได้ไหม
อยากให้มันไม่หนาวไม่ร้อนได้ไหม
ไม่ให้ปวดอึปวดฉี่ได้ไหม
ไม่ให้ปวดให้เมื่อยได้ไหม
ทำไม่ได้สักอย่าง
1
พอเรารู้ว่าความอยากอันนี้มันไร้เดียงสา
เพราะร่างกายมันคือตัวทุกข์
จะไปอยากให้มันไม่ทุกข์ เป็นไปไม่ได้
มันก็จะเข้าใจความจริง
พอเราเข้าใจความจริงของกาย
ว่ากายนี้คือตัวทุกข์ จิตมันก็ค่อยปล่อยวางกาย
พอปล่อยวางกายแล้ว
ต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย มันไม่ทุกข์
ถ้าทุกข์ ก็ทุกข์น้อยๆ ทุกข์เฉพาะร่างกาย
แต่ความทุกข์นั้นเข้ามาไม่ถึงจิตใจ
อย่างเราภาวนา คนทั่วๆ ไป เวลาร่างกายไม่สบาย หรือร่างกายมันแก่อย่างนี้ ใจเราทุกข์ไปด้วย เราไม่อยากแก่
เราภาวนาให้ดี เข้าใจความจริงของร่างกาย
ร่างกายไม่ใช่ของดี ร่างกายคือตัวทุกข์
พอเราเข้าใจอย่างนี้
จิตมันก็หมดความดิ้นรนหิวโหย
ที่จะให้ร่างกายมีแต่ความสุขอย่างเดียว
หมดความดิ้นรนหิวโหยที่จะให้ร่างกายไม่มีความทุกข์
ใจมันก็ไม่ทุกข์ไปด้วย
ต่อไปร่างกายจะแก่จิตใจไม่แก่ด้วย ไม่ทุกข์
ร่างกายจะเจ็บ จิตใจก็ไม่เจ็บด้วย ไม่ทุกข์
ร่างกายจะตาย จิตใจก็ไม่ได้ตายไปด้วย
มันก็ไม่ทุกข์
พอเราเรียนรู้ความจริงของกายได้
เราจะไม่ทุกข์เพราะกายอีกต่อไป
มันก็จะเหลือทุกข์ทางจิตใจของเรา
ทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
ทุกข์เพราะประสบกับสิ่งที่ไม่รัก
ทุกข์เพราะไม่สมปรารถนา
ทุกข์เพราะความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน
ความไม่สบายกายไม่สบายใจอะไร
มันพลอยทำให้จิตใจเป็นทุกข์ไปด้วย
ถ้าเรามาเรียนรู้ความจริงของจิตใจบ้าง
เหมือนที่เราเรียนรู้กายนั่นล่ะ
เราเห็นความจริงของกาย
ยอมรับได้ว่ากายคือตัวทุกข์
ความอยากให้กายไม่ทุกข์ไม่มี
ความอยากให้กายมีความสุขไม่มี
ความอยากเกี่ยวกับกายไม่เกิด
ถ้าเราเห็นความจริงของจิตใจ
ความอยากเกี่ยวกับจิตใจมันก็จะไม่เกิดขึ้น
ความอยากเกิดจากการที่เราไม่รู้ความจริง
เราหัดภาวนาไปเรื่อยๆ
เราก็จะเห็นจิตใจเราเต็มไปด้วยความอยาก
อยากอะไรบ้าง
อยากเห็นรูปที่พอใจ อยากได้กลิ่น
อยากได้รส อยากได้สัมผัสที่พอใจ
อยากได้อารมณ์อะไรที่เพลิดเพลินพอใจ
แล้วก็มีความอยากที่จะให้สิ่งซึ่งไม่ถูกอกถูกใจนั้นมันหายไป
หรือมันไม่เกิดขึ้น มันก็อยากได้อารมณ์ที่ดี
จิตใจมีตัณหา อยากได้อารมณ์ที่ดี
อยากให้อารมณ์ที่ไม่ดีหมดไปสิ้นไป
อยากได้อารมณ์ที่ดีเรียกว่ากามตัณหา
อยากให้อารมณ์ที่ไม่ดีหมดไปสิ้นไป เรียกว่าวิภวตัณหา
พอเรามีอารมณ์ที่ดี ถูกอกถูกใจ
อย่างเราได้อยู่กับคนที่เรารัก มีความสุข
เราไม่อยากให้ความสุขนี้ผ่านไป
อยากให้มันคงอยู่ตลอดไป
อันนั้นเรียกว่าภวตัณหา
ตัณหาเลยมี 3 ลักษณะ อยากได้อารมณ์
พอได้อารมณ์มาแล้ว เป็นอารมณ์ที่ชอบใจ ก็อยากให้มันอยู่นานๆ
ได้แล้วได้อารมณ์ที่ไม่ถูกใจ อยากให้มันหมดไปสิ้นไป
ใจเราที่มันทุกข์ก็เพราะความอยาก 3 ตัวนี้ล่ะ ไม่มีตัวที่สี่
เราค่อยๆ เรียนรู้ลงที่จิตใจของเรา เราจะรู้เลยความอยากมันเกิดจากอะไร
อย่างทางร่างกาย
ความอยากเกิดจากการที่เราไม่รู้ความจริงของร่างกาย
ว่าร่างกายมันคือตัวทุกข์
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
มันก็เลยเกิดความอยากให้ร่างกายมีความสุข
อยากให้ร่างกายไม่ทุกข์
ถ้าเรามาดูจิตดูใจ เราก็จะเห็นว่าความอยากมันก็เกิดจากการที่เราไม่เข้าใจความจริงของจิตใจนั่นเอง
จิตใจเราไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก
จิตใจเรามันก็ไม่เที่ยง มันก็ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
แล้วมันก็ควบคุมบังคับไม่ได้
ถ้าเราบังคับจิตใจของเราได้
เราก็สั่งเลยว่าจงมีแต่ความสุข สั่งไม่ได้
จงอย่าทุกข์ สั่งไม่ได้
จงคิดแต่เรื่องดีๆ สั่งไม่ได้
จงอย่าคิดความชั่ว อย่าคิดเรื่องชั่ว ก็สั่งไม่ได้
นี่เรียกอนัตตา
การที่เรามีสติ เราคอยเรียนรู้จิตใจของเราไปเรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะรู้ จิตใจเราก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่นเดียวกับร่างกายนั่นล่ะ
จิตใจนั้นมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ไม่ใช่ทุกข์กับสุข
คนที่ไม่ได้ภาวนาจะรู้สึกว่าจิตใจมีทุกข์กับสุข
เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็สุข
พอมีทางเลือก มีทุกข์กับสุข
ก็ดิ้นรนอยากได้ความสุข ดิ้นรนหนีความทุกข์
ก็เกิดความอยากอีกแล้ว
แต่ถ้าเมื่อไรเราเห็นจิตใจของเรานั่นล่ะ
ก็คือตัวทุกข์ตัวหนึ่งเหมือนร่างกายนั่นล่ะ
มันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง
มันทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา
มันทุกข์เพราะว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา
ไม่เป็นไปตามใจอยาก
พอเราเห็นซ้ำๆๆ มันจะเข้าใจความจริงเลย
จิตใจก็ไม่ใช่ของวิเศษอะไรหรอก
ถ้าเห็นถึงจุดนี้ จิตจะปล่อยวางจิต
เมื่อจิตปล่อยวางกาย เราก็จะไม่ทุกข์เพราะกาย
เมื่อจิตปล่อยวางจิต ก็จะไม่ทุกข์เพราะจิตใจอีกต่อไปแล้ว
จิตก็เป็นแค่ธรรมชาติที่รู้อารมณ์อันหนึ่ง
เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป
เหมือนร่างกายเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป
เราจะเห็นโลกทั้งหมด พอเราเห็นกายเห็นใจเรา มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราแล้ว เราไม่ทุกข์กับมันแล้ว มองออกไปที่โลกข้างนอก มันก็เป็นเนื้อเดียวกันกับกายกับใจเรานั่นล่ะ
ในโลกข้างนอกจะมีอะไร ก็มีแต่วัตถุ มีธาตุ 4
ในร่างกายเราก็มีธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม
ข้างนอกก็มีจิตใจของสัตว์จำนวนมาก ของคนจำนวนมาก
ในกายเราก็มีจิตใจของเราเหมือนกัน
พอเราเข้าใจความจริง จิตใจเรานี้น่าสงสาร มันตัวทุกข์ตัวหนึ่ง
มองออกโลกข้างนอก เห็นสัตว์ทั้งหลาย มันก็น่าสงสารเหมือนกัน
ความเมตตากรุณามันจะเกิดขึ้นมาเต็มหัวใจ
แต่สงสารแล้วก็เข้าใจความจริงอยู่เรื่องว่า
สัตว์โลกมันเป็นไปตามกรรม
สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม อย่างบางคนฐานะร่ำรวยอยู่แล้ว ก็ยังอยากรวยต่อไปอีก พออยากรวยมากๆ บางทีก็ทำผิด ทำบาป ทำอะไร ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นอะไร แค่จะรวยเพิ่มขึ้น
มีเงินล้านหนึ่งก็พอกิน อยากรวยเพิ่มขึ้น หมื่นล้านแล้วยังไม่พอเลย อยากได้แสนล้าน ล้านล้าน เท่าไรมันก็ไม่พอกับความอยาก
ถามว่าแล้วมันจำเป็นกับชีวิตจริงๆ ไหม
ไม่จำเป็นหรอก
มีเงินพอซื้อข้าวกินอิ่มกับมีเงินมากมาย
มันก็กินอาหารได้เท่าๆ กัน
มีเงินซื้อเสื้อผ้าได้เยอะ มันก็ใส่ได้แค่นี้ล่ะ
ร่างกายมันมีอยู่แค่นี้ จะเอาเสื้อผ้าอะไรมากมาย
เพราะความไม่ฉลาด
มันก็อยากโน่นอยากนี่ไปเรื่อย ไม่มีที่สิ้นสุด
อยากแล้วก็ดิ้นรน
บางทีดิ้นรนแล้วก็เบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนสัตว์อื่นต่อไปอีก แล้วก็ได้มาแล้วก็นึกว่าตัวเองกำไรแล้ว ชีวิตนี้รวยเหลือเกิน พวกนี้ไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม ไม่เข้าใจสังสารวัฏ
อย่างการทำมาหากินอะไร ถ้าเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนสัตว์อื่น ผลที่ตามมานั้น มีแน่นอนเกิดผลแน่นอน แต่ว่าสัตว์โลกมันมืดบอด มันไม่รู้มันไม่เห็น มันก็รวยไว้ก่อน ได้ไว้ก่อนแล้วจะดี คิดอยู่แค่นี้ เราเห็นแล้วเราก็สงสาร สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม
ภาวนาเพื่อวันหนึ่งจิตใจเราจะเกิดความมั่นคงขึ้นมา
พวกเราก็อย่าไปโง่ไปเขลา เหมือนคนที่ไม่ได้ยินได้ฟังธรรมะ เราเคยได้ยินได้ฟังธรรมะแล้ว อย่าไปหลงกับโลกมาก
เราทำมาหากิน พออยู่พอกินได้ในวันนี้ พออยู่พอกินวางแผนไว้เผื่อสำหรับอนาคตแล้ว เวลาที่เหลือพยายามมาทุ่มเทพัฒนาจิตใจของตัวเองให้มันสูงขึ้นๆ ค่อยๆ ฝึกตัวเอง
แล้วจิตใจเราจะร่มเย็น มีความสุข
เวลาแก่ก็แก่อย่างมีความสุข
เวลาเจ็บก็เจ็บอย่างมีความสุข
เวลาจะตายก็ตายอย่างมีความสุข
เวลาเราพลัดพรากจากคนที่เรารักที่พอใจ
ก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา
อย่างพวกเราที่ไม่ได้ภาวนา คนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ภาวนา คนที่รักตายไป หรือลูกของตัวเองตายไป มันทุกข์แสนสาหัส ทุกข์มาก
แต่ถ้ามันเคยภาวนา เคยรู้ความจริงว่าโลกมันไม่ยั่งยืน โลกมันไม่เที่ยง คนที่เรารักมันตายไปก็เห็นธรรมดา เขาอยู่มาช่วงหนึ่งแล้ว เขาก็ต้องตายไป
บางคนพ่อแม่ติดโควิดตายในวัน 2 วัน ก็มีให้ได้ยินอยู่เรื่อยๆ คนที่ไม่ได้ภาวนาก็กลุ้มใจ เสียอกเสียใจ คนภาวนาก็เสียใจนิดหน่อย สลดสังเวชใจ ชีวิตนี้ไม่ยั่งยืน ชีวิตนี้ไม่แน่นอน ประมาทไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นคนซึ่งภาวนากับคนที่ไม่ได้ภาวนามันจะต่างกัน
มีส่วนที่เหมือนกันแล้วก็มีส่วนที่ต่างกัน
ระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ไม่ปฏิบัติ
ผู้ปฏิบัติและผู้ไม่ปฏิบัติเหมือนกัน
ร่างกายนี้เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เหมือนกัน
ทางจิตใจ บางทีก็สมหวัง บางทีก็ผิดหวัง
บางทีก็พลัดพรากจากคนที่เรารักอะไรอย่างนี้
บางทีก็เจอกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ
หมุนเวียนตลอดเวลา เปลี่ยนแปลง เหมือนๆ กัน
อย่างพระอรหันต์ๆ บางทีท่านไม่ได้มีกิเลสแล้ว มีวิบากเก่าๆ บางทีถูกทำร้ายก็มี
แต่ว่าคนทั่วไปจะต่างกับผู้ปฏิบัติแล้ว
คนทั่วไปพอแก่ก็ทุกข์ใจ
พอเจ็บก็ทุกข์ใจ พอตายก็ทุกข์ใจ
พอพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็ทุกข์ใจ
พอเจอสิ่งที่ไม่รักก็ทุกข์ใจอีก
แต่ผู้ภาวนาเข้าใจความจริงของชีวิตแล้ว
แก่ก็เรื่องของกาย เจ็บมันก็เรื่องของกาย
ตายมันก็เรื่องของร่างกาย
คุณงามความดีไม่ได้ตายไปด้วย
เวลาประสบกับสิ่งที่ไม่รักก็เรื่องธรรมดา
มีตา มันจะเห็นแต่รูปที่สวยที่พอใจได้อย่างไร
มีหูมันก็ได้ยินทั้งสิ่งที่พอใจสิ่งที่ไม่พอใจ
ใจมันเป็นกลาง
กระทบอารมณ์แล้วจิตใจมันเป็นกลาง
กระทบอารมณ์ที่ไม่ดี ใจก็ไม่ห่อเหี่ยว
กระทบอารมณ์ที่ดี ใจก็ไม่ฟูหลงระเริงไป
คนภาวนามันจะเป็นอย่างนี้
ฉะนั้นชีวิตมันจะเสถียร มั่นคง
ฉะนั้นที่เราพยายามมาฝึกตัวเอง
มาภาวนาเพื่อวันหนึ่งจิตใจเราจะเกิดความมั่นคงขึ้นมา
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย จิตใจเราจะไม่ทุกข์
ไม่ว่าเราจะต้องประสบกับอารมณ์ที่ดีหรืออารมณ์ที่เลว
จิตใจของเราก็ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่ทุกข์
นี่คือรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่เราจะได้ คือความไม่ทุกข์
เห็นไหมว่าความไม่ทุกข์มันเกิดจากเราละตัณหา ละความอยากได้ เราละความอยากได้เพราะเราเห็นความจริงของกายของใจ
1
ท่านถึงสอนบอกทุกข์ให้รู้
นี่คือต้นทางของการปฏิบัติเลย
พอเรารู้ทุกข์จริงๆ แล้ว กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์
มันละสมุทัยเอง
ท่านถึงบอก ทุกข์ให้รู้สมุทัยให้ละ
ทันทีที่สมุทัยถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นทันทีเลย
พร้อมๆ กับที่อริยมรรคเกิดขึ้น
นี่คือเส้นทางที่พวกเราจะต้องเดินไปสำหรับพวกเราชาวพุทธ …”
1
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 ธันวาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/freed-from-suffering/
เยี่ยมชม
dhamma.com
ความไม่ทุกข์คือรางวัลอันยิ่งใหญ่
ผู้ภาวนาเข้าใจความจริงของชีวิตแล้ว แก่ก็เรื่องของกาย เจ็บมันก็เรื่องของกาย ตายมันก็เรื่องของร่างกาย คุณงามความดีไม่ได้ตายไปด้วย
Photo by : Unsplash
3 บันทึก
6
6
12
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
3
6
6
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย