Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
13 ม.ค. 2023 เวลา 04:11 • ไลฟ์สไตล์
“ค่อยๆ พัฒนา ก้าวไปเรื่อยๆ
เราไม่ต้องบรรลุมรรคผลในวันนี้พรุ่งนี้หรอก
ก้าวไปให้ใกล้จุดหมายปลายทางให้มากขึ้นๆ
อย่าหลงทิศหลงทางเท่านั้น อย่าหลงโลก”
“ … ความเพียรชอบ
อย่างไปเดินจงกรมบอกนี่ปฏิบัติธรรม เดินทีหนึ่งตั้งหลายชั่วโมง อาจจะไม่ได้ปฏิบัติเลย มันก็แค่เดินเท่านั้น ถ้าเดินไปแล้วจิตใจก็หนีเตลิดเปิดเปิงไป ไม่ได้ปฏิบัติ
หรือเดินแล้วก็ยืนเพ่งร่างกาย
เห็นร่างกายมันเดิน จ้อง
จ้องจนใจเครียดไปหมดเลย
อันนั้นก็ไม่ได้ปฏิบัติ อันนั้นกำลังทรมานตัวเองอยู่
ส่วนถ้าเดินแล้วใจลอย เขาเรียกเดินเรื่อยเปื่อย ไม่ได้ปฏิบัติ
นั่งสมาธิแล้วก็เคลิ้ม เห็นโน่นเห็นนี่ หรือสบายเพลินๆ ไม่ได้ปฏิบัติ กำลังขาดสติอยู่ กำลังหลงอยู่
หรือนั่งสมาธิแล้วก็เพ่งเอาๆ จนเคร่งเครียด นั่นก็ไม่ได้ปฏิบัติ นั่นกำลังทรมานจิตใจ ทรมานร่างกายตัวเองอยู่
ฉะนั้นคนที่ว่าปฏิบัติๆ มันอยู่ในทางสายกลางจริงๆ มีนิดเดียวเลย นิดเดียวจริงๆ ไม่ต้องดูอื่นดูไกล เราดูตัวเราเอง เวลาเราลงมือปฏิบัติ
เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
จิตเราหนีไปคิด เรารู้ไหม
ถ้าจิตเราหนีไปคิด เรารู้ ใช้ได้
ส่วนใหญ่หนีไปแล้ว หนีไปนานเป็นชั่วโมงๆ เลย ป่วยการ นั่งให้เมื่อยเปล่าๆ จิตใจหนีไปแล้ว ไม่รู้เรื่อง
ไม่ต้องคนอื่นคนไกล พวกเราเหมือนกัน อย่างเวลาเราภาวนา จิตใจเราก็หนีไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วเราไม่เห็น
ถ้าไม่เห็นคือไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าเห็นได้ปฏิบัติ
ฉะนั้นจุดสำคัญก็คือให้เรารู้เราเห็นเท่าทันจิตใจของเราเองไว้
แล้วถึงจะเรียกว่าเราปฏิบัติได้จริง
สิ่งที่เรียกว่าความเพียร ไม่ใช่ว่านั่งสมาธินานแล้วมีความเพียร ไม่ใช่เดินจงกรมนานแล้วมีความเพียร
คำว่าสัมมาวายามะ คำว่าความเพียรชอบ ไม่ใช่นั่งนาน ไม่ใช่เดินนาน แต่เพียรลดละกิเลส เพียรเจริญกุศล
กิเลสเกิดที่จิตใจของเรา
กุศลก็เกิดที่จิตใจของเรา
ฉะนั้นเราทำกรรมฐาน แล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตใจของเรา จิตใจเรามันคิดไปในทางชั่ว เรารู้ทันปุ๊บ ที่ชั่วมันก็ดับ นั่นล่ะเรียกว่าเรามีความเพียรชอบ
สิ่งที่เรียกว่ามีความเพียรชอบมีองค์ธรรม 4 อย่าง
อันที่หนึ่ง เป็นความเพียรที่จะละอกุศลที่มีอยู่
เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด
เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด
เพียรเจริญกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น
อันนี้ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย มีสติรักษาจิตไว้อันเดียวเลย ถึงจะทำได้
ส่วนจะรูปแบบ การทำกรรมฐานอะไรก็ได้ ถนัดอะไรก็ใช้ได้หมด หายใจเข้าทุกข์ หายใจออกโธ หรือถนัดเดินจงกรมก็เดินไป ถนัดดูท้องพองยุบก็ดูไป ถนัดทำจังหวะอย่างหลวงพ่อเทียนก็ทำไป
แต่ไม่ว่าทำกรรมฐานอะไร ต้องรู้ทันจิตตนเอง
อย่างเราขยับอย่างหลวงพ่อเทียน ขยับไปๆ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น หรือไปคิดเรื่องมือ ท่านี้แล้วท่าต่อไปเป็นอย่างไร ให้รู้ว่าจิตกำลังหลงคิดอยู่ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเรารู้ทันแล้ว
จิตมันหลงคิด จิตหลงมันเป็นอกุศล
ทันทีที่เรารู้ว่าจิตหลงอกุศลดับทันที กุศลเกิดทันที
คือทันทีที่สติเกิดนั่นล่ะ กุศลเกิดแล้ว
ทันทีที่สติเกิดนั่นล่ะ อกุศลที่มีอยู่ดับแล้ว
เพราะฉะนั้นความเพียรชอบ มันเพียรอยู่ที่จิตนี่เอง
ไม่ได้เพียรอยู่ที่กายหรอก
เดินไปเดินมาอย่างนี้แล้วไม่มีสติ ไม่มีประโยชน์อะไร
ทรมานตัวเอง
อย่างเราเดินชอปปิง สมมติว่าเราไปเดินชอปปิง เราเห็นอันนี้ เห็นกระเป๋าแบรนด์เนม อยากได้ เรารู้ทันใจที่อยาก อันนี้คือการปฏิบัติ นี่เราได้ปฏิบัติแล้ว ไม่ได้เดินในกระบวนท่าตามหลักสูตรเป๊ะๆๆ หรอก
ขืนไปเดินยกเท้าย่างเท้าอะไรในห้าง คนเขาคงถอยแหวกทางให้ เขานึกว่าคนบ้ามา เดินธรรมดานี่เอง แต่ตัวสำคัญคือสติเราต่างหาก
เดินไปแล้วเห็นผู้หญิงสวย ใจมันชอบ รู้ว่าชอบ
เดินแล้วเห็นศัตรูคู่แค้น เห็นแล้วโกรธขึ้นมา รู้ว่าโกรธ
เวลาอยู่ในชีวิตธรรมดา อยู่ในชีวิตประจำวัน รู้ทันจิตตัวเองไป เวลาทำในรูปแบบ ก็ทำกรรมฐานที่เราถนัด แล้วรู้ทันจิตตัวเอง
ฉะนั้นงานรู้ทันจิตตัวเอง ทั้งในรูปแบบก็ต้องรู้ทันจิต
ทั้งอยู่ในชีวิตประจำวันก็ต้องรู้ทันจิต
มิฉะนั้นเราไม่ได้ปฏิบัติหรอก
เพราะว่าอกุศลเกิดแล้วเราไม่เห็น
เราอยากปฏิบัติ อยากได้มรรคผล แหม ฟังแล้วดี ขยันภาวนาหามรุ่งหามค่ำ มันทำด้วยความอยาก
ความอยากเขาเรียกว่ามันเป็นสหชาตปัจจัยของกรรม
มันเกิดร่วมกับการกระทำกรรม
ฉะนั้นพอเราอยากปุ๊บแล้วเราลงมือทำ
ความอยากนั้นยังอยู่ จิตยังเป็นอกุศลอยู่
อยากนั่งสมาธิแล้วก็นั่งโดยไม่รู้ทันว่าจิตกำลังอยากอยู่ อกุศลยังอยู่ ฉะนั้นนั่งอย่างไรจิตก็ไม่เป็นกุศลขึ้นมา
สิ่งที่จะทำให้จิตเราเป็นกุศลได้ คือตัวสตินั่นล่ะ
ในตำราเขาก็สอนไว้ชัดว่าสติทำหน้าที่อารักขา
คือคุ้มครองรักษาจิต
เวลาจิตมันชั่ว มีกิเลสมีบาปเกิดขึ้น
พอสติรู้ทันเท่านั้น อกุศลดับทันที
แล้วขณะที่เรามีสติอยู่ อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้
ขณะที่เรามีสติอยู่ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว
แล้วการที่เรามีสติบ่อยๆ
ศีล สมาธิ ปัญญาก็จะสมบูรณ์ขึ้น
กุศลเจริญงอกงามขึ้น
เห็นไหมครบองค์ธรรมของสัมมาวายามะ
องค์ธรรมก็คือละอกุศลที่มีอยู่
ปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด
ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด
ทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ
เราทำอันนี้ได้ด้วยการมีสติรักษาจิตของเรานั่นเอง
คอยรู้ทันมันไป
ทีนี้อยู่ๆ จะรู้ในชีวิตประจำวัน มันรู้ยาก เพราะเวลาเราอยู่ในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันกระทบอารมณ์ตั้ง 6 ทวาร มันดูยาก เราก็ต้องฝึกทำในรูปแบบ
เวลาทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด
เคล็ดลับอยู่ตรงที่ทำแล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง
อย่างเราไปนั่งสมาธิ แล้วจิตเราฟุ้งซ่าน
อย่าไปโมโหมัน อย่าไปอยากสงบ
ถ้าอยากสงบไม่มีวันสงบ
เหมือนเราอยากนอนหลับ มันจะไม่หลับหรอก
พอนอนเล่นๆ มันหลับ
อยากให้จิตสงบ จิตจะไม่สงบ
ฉะนั้นเราภาวนาไป
จิตสงบ เราก็รู้ จิตไม่สงบเราก็รู้
จิตมันฟุ้งซ่านอยู่ เราไม่ชอบ รู้ว่ามันไม่ชอบ
รู้ทันจิตตัวเองไป
พอจิตเป็นกลางปุ๊บ สงบทันทีเลย
พอเราฝึกในรูปแบบชำนิชำนาญ
เราจะรู้ทันจิตตัวเองได้ชำนาญ ทุกวันจะต้องทำ
อย่างหลวงพ่อ แต่ก่อนหลวงพ่อหายใจเอา
หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำไปเรื่อยๆๆ
จิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน
หายใจไป ไม่ได้อยากให้สงบ ไม่ได้อยากหายฟุ้งซ่าน
ก็แค่รู้ว่ามันฟุ้งซ่าน นี่ทุกข์ให้รู้แล้ว
หายใจไปๆ มันสงบก็รู้ว่ามันสงบ
ฝึกอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก
พอเรามาอยู่ในชีวิตประจำวัน
เราจะเจริญสติในชีวิตประจำวันได้
ถ้าจิตเราถูก การปฏิบัติมันก็ถูก
คำว่า เจริญสติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ของเล่น ถ้าเราไม่เคยฝึกในรูปแบบจนกระทั่งรู้เท่าทันจิตตัวเอง มาอยู่ในชีวิตประจำวันมีแต่หลงกับหลง
เพราะอยู่ในรูปแบบ เราก็มีแต่แค่กายกับใจของเรา ไม่ได้สนใจอย่างอื่น แต่อยู่ในชีวิตจริง มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย เรื่องราวทางใจ ระดมเข้ามาตลอดเวลาเลย
เดี๋ยวตาเห็น เดี๋ยวหูได้ยิน เดี๋ยวจมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด อุตลุดเลย แล้วจะลงมือปฏิบัติอย่างไร ตั้ง 6 ช่องทางที่ความวุ่นวายจะเข้ามา มันมีตั้ง 6 ช่องทาง เอาช่องเดียว คือมีสติรู้ทันจิตตนเองไว้
พอตาเห็นรูป จิตเราเกิดราคะ ให้รู้ทัน
หูได้ยินเสียง จิตเกิดโทสะให้รู้ทัน
จมูกได้กลิ่น จิตมันชอบ ให้รู้ทัน
อากาศกำลังหนาว ลมก็พัดมาอีก ใจไม่ชอบเลย รู้ว่าไม่ชอบ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ให้มันกระทบไป แต่พอกระทบแล้ว จิตใจของเราเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว เกิดชอบเกิดไม่ชอบขึ้นมา มีสติรู้ทัน นี่ล่ะเรียกว่าการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ไม่ใช่ว่าจะเดินก็ต้องกำหนดไปเรื่อย เดี๋ยวก็รถทับตาย
มันทำไม่ได้อย่างนั้น มันไม่ใช่ทาง
มันไม่ได้อยู่ที่ร่างกายการปฏิบัติ
ไม่ใช่กายเดินท่าไหนถึงจะดี ไม่ใช่
มันอยู่ที่ว่าจิตของเราถูกหรือไม่ถูก
ถ้าจิตเราถูก นั่นล่ะการปฏิบัติมันก็ถูก
ถ้าจิตเราไม่ถูก ทำอย่างไร
เดินสวยอย่างไรมันก็ไม่ถูกอยู่นั่นล่ะ
ทำไปแล้วกิเลสยิ่งแรง
ฉะนั้นเราพยายามฝึก คอยรู้ทันจิตใจของตนเองเรื่อยๆ
จะฝึกในรูปแบบก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
แล้วก็คอยรู้ทันจิตใจตนเอง
พอมาอยู่ในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว จิตใจของเราเกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เรารู้ทัน
ถ้าทำได้อย่างนี้ เราจะเข้าใจธรรมะอย่างรวดเร็วเลย
มันจะเห็นร่างกายที่เคลื่อนไหว
ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่ตัวเรา
เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ
ยืมโลกมาใช้ วันหนึ่งก็ต้องคืนเจ้าของ
ก็คือคืนโลกไป
กายตายลงไป
ดินส่วนดิน น้ำส่วนน้ำ ลมส่วนลม ไฟส่วนไฟ
เป็นอย่างนั้นไป
ส่วนจิตใจ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย
มันเป็นไปตามการกระทบอารมณ์
กระทบอารมณ์นั้นก็เกิดความรู้สึกอย่างนี้
กระทบอารมณ์นี้เกิดรู้สึกอย่างนั้น
ไม่ได้มีอะไรจริงจัง
เหมือนกำลังฝันอยู่ทั้งวันทั้งคืน
หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้
คอยรู้ๆๆ ไป สุดท้ายปัญญาแก่กล้าขึ้น ค่อยวาง
เพราะรู้ตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย
เพราะเบื่อเหนื่อยจึงคลายความยึดถือ
เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น
เพราะหลุดพ้น จึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
แล้วจะรู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มี
คำว่าชาติสิ้นแล้วก็คือจิตมันไม่เกิดอีกแล้ว
ถ้าเราภาวนา เราจะเห็นจิตเราเกิดอยู่เรื่อย
เดี๋ยวก็เกิดเป็นเปรต อยาก ใจโลภขึ้นมา
จิตเราขณะนี้ก็เป็นจิตเปรตขึ้นมา
เดี๋ยวก็โมโหโทโส
เดี๋ยวก็กลุ้มใจก็เป็นสัตว์นานาชนิดไป
นี่ความเกิด
ถ้าเราภาวนาจนเข้าใจความจริงของรูปนาม กายใจ
จิตมันไม่ไปหยิบฉวยอะไรขึ้นมาอีก
ไม่เกิด ไม่เข้าไปเกาะไปเกี่ยว
เวลาเกิด จิตมันเข้ามาเกาะรูปธรรมนามธรรม กลุ่มก้อนนี้เกาะขึ้นมา กรรมทำให้เรามีตัวนี้ขึ้นมา มีร่างกาย เกิดจิต ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในร่างกาย
กายนั้นเริ่มต้นตั้งแต่เซลล์ของพ่อแม่ผสมกัน
แล้วจิตหยั่งลงตรงนั้นเลย
ปฏิสนธิเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นเลย
เป็นสัตว์เรียบร้อยแล้วตั้งแต่อยู่ในท้อง
เพราะฉะนั้นทำแท้งก็คือฆ่ามนุษย์ ไปทำแท้งมนุษย์
แล้วเสร็จแล้วก็อาศัยเลือดของแม่ อาศัยออกซิเจนผ่านแม่ ค่อยๆ ตัวใหญ่ขึ้นมา อาศัยน้ำ อาศัยอาหาร อาศัยอากาศจากแม่
คลอดออกมาก็มาอาศัยธาตุของโลกอีก กินอาหาร ขับถ่าย หายใจเข้าออก ค่อยตัวใหญ่ขึ้น ถึงวันหนึ่งก็แตกสลายคืนสภาพเดิม ก็ไม่มีสาระแก่นสาร
ค่อยๆ ดู ค่อยๆ ภาวนา
ร่างกายไม่มีอะไร ที่นั่งอยู่ มีสติอยู่ ทุกข์ตลอดเลย
ทุกข์ เช่น เดี๋ยวก็คัน
เวลานั่งฟังหลวงพ่อเทศน์ไม่คันรู้สึกไหม
หลวงพ่อพูดคำว่าคัน เริ่มรู้สึกคันหรือยัง คันไหม
เห็นไหมทำไมทีแรกไม่รู้สึก จิตมันไม่ได้มาจับ
เพราะจิตมันสนใจในธรรมะอยู่
พอมันคัน จิตมาจับ มันคันแล้ว
คราวนี้อยู่นิ่งไม่ได้แล้ว กระยุกกระยิกล่ะ
ฉะนั้นจิตเรียนรู้มันไว้ให้ดี
จิตนี้พาเราไปนรกก็ได้
พาเราไปเป็นเปรต อสุรกาย
ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้
พามาเป็นมนุษย์ก็ได้
พาไปเป็นเทวดา เป็นพรหมก็ได้
พาไปนิพพานก็ได้ ก็อาศัยจิตนี้ล่ะ
ฉะนั้นเรามีของดีของวิเศษ ก็คือจิตตนเอง
พยายามดูแลรักษาของดีของเราไว้ให้ดี
คนทั่วไปเขาไม่เห็นคุณค่าของการรักษาจิต
ก็ปล่อยจิตใจเตลิดเปิดเปิงไป
ก็จมอยู่ในความทุกข์
เวียนว่ายตายเกิด ไม่รู้จักจบจักสิ้น
เราดูแลรักษาจิตของเราด้วยสติ
จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เรามีสติคอยรู้ๆๆ ไป
นั่นล่ะจิตได้รับการดูแลรักษาแล้ว
อกุศลที่มีก็จะดับ อกุศลใหม่ก็จะไม่เกิด
กุศลที่ยังไม่เกิด ก็จะเกิด ที่เกิดแล้วก็เจริญขึ้นไป งอกงาม
สุดท้ายก็เข้าถึงโลกุตตรกุศล
อย่างพวกเราทำบุญทำทานอะไร เรียกว่าโลกิยกุศล
ตอนที่เกิดอริยมรรคมันเป็นโลกุตตรกุศล
ฉะนั้นค่อยๆ พัฒนา ก้าวไปเรื่อยๆ
เราไม่ต้องบรรลุมรรคผลในวันนี้พรุ่งนี้หรอก
ก้าวไปให้ใกล้จุดหมายปลายทางให้มากขึ้นๆ
อย่าหลงทิศหลงทางเท่านั้น อย่าหลงโลก
ถ้าหลงโลกก็คือหลงทางแล้ว
ถ้าเราไม่หลงโลก แบ่งเวลาไว้ดูแลรักษาจิตใจตัวเอง
ฝึกในรูปแบบทุกวันต้องทำ
แล้วต่อไปจิตขยับเขยื้อน
จิตสุข ทุกข์ ดี ชั่วอะไร รู้หมดเลย
จิตหลงไปคิดก็รู้ หลงไปดู หลงไปฟังอะไร ก็รู้หมด
อย่างนี้เราพร้อมจะเจริญสติในชีวิตประจำวันแล้ว
ฝึก ทำไปเรื่อยๆ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 ธันวาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/freed-from-suffering/
เยี่ยมชม
dhamma.com
ความไม่ทุกข์คือรางวัลอันยิ่งใหญ่
ผู้ภาวนาเข้าใจความจริงของชีวิตแล้ว แก่ก็เรื่องของกาย เจ็บมันก็เรื่องของกาย ตายมันก็เรื่องของร่างกาย คุณงามความดีไม่ได้ตายไปด้วย
Photo by : Unsplash
3 บันทึก
12
2
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
3
12
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย