23 ก.พ. 2023 เวลา 14:02 • ไลฟ์สไตล์
“ไม่ว่าจะดูกาย ดูเวทนา หรือดูจิต
ต้องดูด้วยจิตที่ตั้งมั่น”
“ … ดูกายให้เห็นความไม่เที่ยง ยากกว่าดูจิต
เพราะร่างกาย ตัวรูปอายุยืนกว่านาม
รูปหนึ่งรูป ถ้าเต็มยศของมัน ใช้จิตตั้ง 17 ขณะ
ฉะนั้นดูจิตถี่ยิบเลย ละเอียดยิบเลย
ฉะนั้นก็แล้วแต่ถนัด
อย่างหลวงพ่อให้ดูกาย จะรู้สึกจืดชืด รู้สึกคับแคบ
พอดูจิต มันรู้สึก โอ้โห กว้างขวาง
มีอะไรให้เรียนรู้มหาศาลเลย
เรียนไปเยอะ ถึงจะสรุปลงมาที่ไตรลักษณ์
เรียนกายไม่มีอะไรมากหรอก
ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เห็นไตรลักษณ์แล้ว
ก็แล้วแต่ความถนัด บางคนก็ชอบดูกายก็ดูไป
ชอบดูเวทนาก็ดูไป ชอบดูจิตตสังขารก็ดูไป
เอาที่เราถนัด
แต่ไม่ว่าจะดูกาย ดูเวทนา หรือดูจิต
ต้องดูด้วยจิตที่ตั้งมั่น
เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกให้จิตตั้งมั่นก่อน
ด้วยการทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
แล้วจิตเคลื่อนแล้วรู้
เคลื่อนไปคิดก็รู้ เคลื่อนไปเพ่งก็รู้
แล้วเราจะได้จิตตั้งมั่น
พอได้จิตตั้งมั่นแล้วก็เจริญปัญญา
ถนัดเจริญปัญญาด้วยการดูจิต ให้ดูไปเลย
ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำอย่างนั้น บอก “การดูจิตเป็นวิธีปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด”
ถึงดูกาย วันหนึ่งก็ต้องเข้ามาที่จิตอยู่ดี
เพราะเวลากิเลสเกิด มันเกิดที่จิต ไม่ได้เกิดที่กาย
บอกแล้วว่ากายกระทบอารมณ์ มีสุข มีทุกข์
แต่ไม่มีดี ไม่มีชั่ว
ดีชั่วมันเกิดที่จิตอยู่ที่เดียว
เพราะฉะนั้นอย่างไรก็หนีจิตไม่ได้
แต่บางคนต้องเริ่มจากกายก่อน ก็เริ่มไป ไม่ได้ผิดอะไร แต่ต้องเริ่มให้ถูก
อย่างถ้าขยับอย่างนี้ แล้วไปเพ่งอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ทางสายกลาง
ขยับแล้วก็ใจคิดไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ทางสายกลาง
เห็นท้องพอง เห็นท้องยุบ แล้วก็ถลำลงไปเพ่งท้อง ไม่ใช่ทางสายกลาง
เห็นท้องพองท้องยุบ แล้วหนีไปคิด ไม่ใช่ทางสายกลาง
พุทโธๆๆ ไปแล้วหนีไปคิด ไม่ใช่ทางสายกลาง
พุทโธๆๆ แล้วก็เพ่งลงไปในพุทโธ แล้วก็ว่าง
ไปติดอยู่ในความว่างเลย ทำไมมันว่าง
พุทโธมันไม่มีจริง เป็นความคิดเท่านั้น
พอเราไปเพ่งมัน ความคิดนั้นดับก็ว่างๆ
อันนั้นก็ไปเพ่งเอา
ฉะนั้นเราค่อยๆ ดูของจริงไปเรื่อย
แล้วถึงจุดหนึ่งมันลงไปที่เดียวกัน ทั้งหมด ทุกคน
ไม่ว่าจะเดินเริ่มต้นจะเดินอย่างไร
อย่างเริ่มต้นทำให้จิตตั้งมั่นด้วยการฝึกสมาธิ
ไม่แนะนำกสิณ 10
กสิณ 10 เอาไว้สำหรับพวกที่เขาเล่นอภิญญา
ถ้าเล่นกรรมฐานง่ายๆ พวกอนุสติ 10 พวกอะไรพวกนี้
ง่ายๆ ไปดู Google เอา
พวกอนุสติ ของง่ายๆ ไปทำไปเรื่อยๆ
จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาได้
พอจิตตั้งมั่นแล้วก็เจริญปัญญา อย่าอยู่เฉย
ต้องโน้มน้อมจิตที่ตั้งมั่นแล้วนี้ให้มันทำงาน
จะดูกาย ให้จิตเป็นคนดูกาย
เห็นกายเป็นทุกข์ กายไม่ใช่เรา
จิตตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้เวทนา
ก็เห็นเวทนามันไม่เที่ยง
มันไม่ใช่เรา มันทนอยู่ไม่ได้ มันเป็นทุกข์
เห็นสังขาร ก็ดีบ้างชั่วบ้าง ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา
แล้วแต่จะดู
หรือเห็นตัวจิตจริงๆ เกิดดับทางทวารทั้ง 6
เห็นจิตเกิดดับตั้งแต่ขึ้นจากภวังค์
อันนี้พวกเรายังไม่เห็นหรอก
ตรงที่จิตขึ้นจากภวังค์ ไม่มีใครเห็นหรอก
มันจะมามีสติตอนหลังหรอก
สติแล้วมันระลึกย้อนเข้าไป
มันระลึกย้อนเข้าไป มันถึงจะเห็น
ตรงที่อยู่ในภวังค์ มีสัญญาไหม มี
จิตทุกดวงต้องมีสัญญา
ตอนที่จิตมันขึ้นมาแล้วมันปรุงดีปรุงชั่วได้
ปรุงสติขึ้นมาได้
ตรงนี้มันทวนกลับเข้าไป
ระลึกถึงสัญญาเก่าในภวังค์ มันรู้
อ๋อ จิตมันขึ้นมาแบบนี้เอง ขึ้นมาอย่างนี้เอง
อันนี้มันทวนเข้าไปดู
ในขณะที่มันอยู่ในภวังค์ ดูไม่ได้หรอก
เพราะไม่มีสติ
เส้นทางที่เราจะเดิน
ค่อยฝึก ไม่ยากหรอก เริ่มต้นถือศีล 5 ไว้
ทุกวันทำในรูปแบบ
คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง
แล้วสิ่งที่เราได้คือสมาธิที่ถูกต้อง
เรียกว่าเรามีจิตตสิกขา
เราเรียนรู้จิตของตัวเองไป
ทำกรรมฐานแล้วเรียนรู้จิตไป
จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตหลงไปเพ่ง รู้ทัน
แล้วเราจะได้สมาธิ
พอเรามีสมาธิ จิตเราตั้งมั่น ก็ระลึกรู้
สติระลึกรู้รูป ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของรูป
สติระลึกรู้นาม ก็เห็นไตรลักษณ์ของนาม
เห็นทีแรก เห็นรูปนี้ไม่สวย ไม่ชอบ
ให้รู้ทันที่ไม่ชอบ ความไม่ชอบจะดับ
จิตจะเป็นกลาง
เพราะฉะนั้นจิตมันตั้งมั่น มันก็เห็นสภาวะ
แต่พอเห็นสภาวะแล้ว ก็ยังยินดียินร้ายกับสภาวะ
ให้รู้ลงไปอีกช็อตหนึ่ง
ฉะนั้นเวลามันไปรู้สภาวะแล้ว
ยินดีให้รู้ทัน ยินร้ายให้รู้ทัน
ความยินดียินร้ายก็ดับ
จิตก็จะตั้งมั่นและเป็นกลาง
คราวนี้จะดูโดยไม่มีการลุ้น
เช่นความทุกข์เกิดขึ้น เราก็เห็นโดยไม่ลุ้นว่ามันจะต้องดับ
ความสุขเกิดขึ้น เราก็เห็นไม่มีการลุ้นว่าให้มันอยู่นานๆ
มันเป็นกลางจริงๆ ไม่เข้าไปแทรกแซง
เป็นกลางเพื่ออะไร เพื่อจะได้ไม่เข้าไปแทรกแซง
ถ้าเข้าไปแทรกแซง ก็คือสร้างความปรุงแต่งไม่รู้จักจบจักสิ้น
นี้คือเส้นทางที่เราจะเดินกัน
หลวงพ่อจะต่างกับครูบาอาจารย์ทั่วไป
ส่วนใหญ่ท่านจะสอนให้เดินทีละก้าว
เอ้า ไปพุทโธ พอสัก 3 ปีก็ค่อยมาว่ากันต่อ
ซึ่งคนรุ่นนี้มันทำไม่ได้
ที่หลวงพ่อสอนมันเลยเป็นภาพทั้งกระดานเลย
เหมือนเราดู GPS เราไม่ได้ดูเฉพาะหน้านี้ใช่ไหม
เริ่มต้นเราก็ดูภาพรวมก่อน
จากกรุงเทพฯ จะไปเชียงใหม่ มันจะไปทางทิศทางไหน
มันจะเห็นภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียด
ฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อสอน
หลวงพ่อจะสอนในระบบ GPS เห็นภาพกว้างๆ ก่อน
แล้วก็มาลงรายละเอียดเป็นช็อตๆ ไป
ถ้าบอกพวกเราบอกว่า “เดินไปทางนี้ เลี้ยวซ้ายไป เดินไปข้างหน้า 300 เมตรแล้วเลี้ยวซ้าย” มันก็จะสงสัย จะให้เราเลี้ยวไปไหน สันดานของคนรุ่นนี้ ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ หรอก จะฟุ้งซ่านง่าย
ฉะนั้นถึงต้องบอกทั้งระบบ
พอเข้าใจทั้งกระดานแล้ว ทั้งระบบ
แล้วบอกไปทางนี้ มันถึงจะยอมไป
นิสัยคนรุ่นนี้มันเป็นอย่างนี้
แล้วก็สมาธิก็สั้นด้วย สั้นจุ๊ดจู๋เลย
เพราะฉะนั้นใช้ขณิกสมาธิ หลงแล้วรู้ๆ ไว้ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
4 กุมภาพันธ์ 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา