25 ก.พ. 2023 เวลา 12:24 • ไลฟ์สไตล์
“อยากหนีทุกข์ ไม่ได้อยากรู้ทุกข์
แล้วมันจะรู้ธรรมได้อย่างไร
ไม่ได้เดินอยู่ในหลักของอริยสัจ”
1
“ … ธรรมะที่หลวงพ่อบอกกับพวกเรา
มันมากพอแล้วสำหรับการปฏิบัติ
อยู่ที่ไปทำเอา
เวลาภาวนา ต้องมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ทำไม่เลิก
ทำบ้างหยุดบ้างก็ไม่พัฒนา
หลายๆ คนที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจ ภาวนาแล้วมันเปลี่ยน ตัวเองรู้สึกได้เลย คนใกล้ชิดอะไรอย่างนี้ เขาก็รู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เคยกิเลสแรง กิเลสก็เบา
เคยเครียดจัด ก็ไม่ค่อยจะเครียด
มีความเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกได้
เคยเห็นแก่ตัวแล้วก็ลดความเห็นแก่ตัวลง
ฉะนั้นธรรมะไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรหรอก
ขอให้ทำให้สม่ำเสมอ
ที่หลวงพ่อสอนให้มากเกินพอแล้วที่จะลงมือทำ
ส่วนความรู้ความเข้าใจในธรรมะอยู่ที่เราต้องปฏิบัติเอาเอง
ใครก็สอนเราไม่ได้หรอก
พระพุทธเจ้าท่านยังบอก ท่านเป็นแค่ผู้บอกทาง เราต้องเดินทางนี้ด้วยตัวเราเอง
อย่างบอกทางแล้วก็เหมือนให้แผนที่เรา เวลาเราเดินไปตามแผนที่ บางทีเราก็เดินถูกทางบ้างผิดทางบ้าง แต่มีแผนที่เป็นไกด์ไลน์ ก็ค่อยหาทางที่ถูกจนได้
อย่างเราดูจีพีเอส เราจะไปที่สักที่หนึ่ง มันมีตั้งหลายทาง ไปทางนั้นก็ได้ ทางนี้ก็ได้ มันทางใครทางมัน ใครถนัดทางไหน เหมาะกับทางไหนก็ไปทางนั้น แต่ไปสู่ที่เดียวกัน
แล้วในระหว่างเดินทาง เราก็จะได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป
ฉะนั้นเวลาฟังครูบาอาจารย์เทศน์ ฟังพร้อมๆ กัน ฟังเหมือนๆ กัน เวลาลงมือปฏิบัติ สิ่งที่รู้สิ่งที่เห็นมันไม่ค่อยจะเหมือนกัน มีความแตกต่างกัน
อย่างคนฟุ้งซ่านมาก ภาวนาก็ไปอย่างหนึ่ง
คนราคะมาก ภาวนาก็ไปอีกอย่าง
พวกโทสะมากก็ไปอีกอย่าง
บางคนชอบทำสมาธิ ต้องทำสมาธิเยอะๆ เสียก่อน
บางคนทำสมาธิไม่เป็น
หลักแม่บท คืออริยสัจ
ทุกข์ต้องรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ
ทิศทางอันเดียวกัน เรื่องของสติปัฏฐานเหมือนๆ กัน แต่จริตนิสัยที่แตกต่างกัน มันก็จะเหมือนเราเดินไม่เหมือนคนอื่น
อย่างเวลาพวกเราส่งการบ้านหลวงพ่อ เราสังเกต อย่างเวลาเราฟังคนอื่นส่งการบ้าน เรารู้สึกเขาส่งอะไรก็ไม่รู้บางที ทำไมเขาเห็นอะไร เขารู้อะไร เราไม่เห็นเป็นอย่างเขาเลย ท่าจะแย่แล้ว ที่จริงไม่ใช่
กระทั่งเดินถนนเส้นเดียวกัน
บางคนมองไปทางซ้าย บางคนมองไปทางขวา
เห็นอะไรที่ไม่เหมือนกันแล้ว
ในทางเดียวกันนั่นล่ะ แต่สิ่งที่รู้ที่เห็นระหว่างทางแตกต่างกันไป จนไปถึงจุดหมายปลายทางอันเดียวกันนั่นล่ะ ถึงจะเข้าใจตรงกันตรงนั้น
เหมือนเราจะขึ้นภูเขา ถ้าเทียบ เหมือนเราขึ้นภูเขา เราขึ้นได้รอบทิศทาง
บางคนไม่ชอบปีนก็ขึ้นทางที่มันลาดๆ หน่อย
บางคนขึ้นทางลาดๆ ไปสบายๆ ไม่ชอบ ไม่ตื่นเต้น ไม่ท้าทาย ต้องไปปีนทางชะง่อนผาอะไรนี่ ไต่ขึ้นไปยากลำบาก แล้วรู้สึกสะใจ
พอขึ้นไปยอดเขาแล้วมันก็อันเดียวกัน
ก็จะเห็นเลยรอบทิศทางเรา มันขึ้นเขาได้รอบทิศนั่นล่ะ
บางที่ก็เดินมาสบาย
บางที่ต้องผ่านเหวมา ไต่เชือกมาอะไรอย่างนี้
แล้วแต่จริตนิสัย
สุดท้ายมันก็ไปที่เดียวกัน ไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น
ไปสู่ความพ้นทุกข์ เหมือนๆ กัน
เพราะฉะนั้นในสายตาหลวงพ่อ
มันไม่มีสายไหนดีกว่าสายไหนหรอก
ถ้าเดินอยู่ในหลักของอริยสัจอย่างถูกต้อง
รายละเอียดก็เดินอยู่ในหลักของสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง
มันก็ไปได้แล้ว
แนวทางของอริยสัจเป็นแนวทางที่เป็นแม่บท
ถ้าการปฏิบัติเราพลาดจากหลักอริยสัจ ผิดแน่นอน
หลักของอริยสัจก็คือ
ทุกข์ก็ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ
ถ้าหลุดออกจากหลักนี้ก็ผิด
ถ้าทำตามหลักนี้ได้ มันก็จะเข้าไปสู่องค์ธรรม 12 ตัว
อะไรคือทุกข์ รู้ว่าทุกข์คืออะไร คือรูป คือนาม
รู้หน้าที่ต่อทุกข์ว่าต้องรู้รูปรู้นาม
หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ แล้วได้รู้แล้ว 3 ข้อ
สมุทัยคือตัวเหตุของทุกข์ ได้แก่ตัณหา
หน้าที่ต่อตัณหาคือละเสีย แล้วก็ได้ละแล้ว
นิโรธ คือความดับสนิทแห่งทุกข์
หน้าที่ต่อนิโรธไม่ได้ทำนิโรธให้เกิดขึ้น
แต่ว่าเข้าไปเห็นนิโรธ เขาเรียกสัจฉิกิริยา
เข้าไปประจักษ์เข้าไปเห็นแจ่มแจ้งในความจริงของความพ้นทุกข์
คือไปเห็นพระนิพพานนั้นเอง
ฉะนั้นหน้าที่ต่อนิโรธคือการเห็น
ถ้าเราปฏิบัติแล้ว เราได้เห็นแล้ว
หน้าที่ต่อมรรคมีองค์ 8 ประการ
ย่อลงมาเป็นศีล สมาธิ ปัญญา
หน้าที่ต่อมรรคก็คือการเจริญ ทำให้มาก
เพราะฉะนั้นจะบอกว่าไม่ต้องทำอะไรเลย
รู้สึกตัวเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ใช่
ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก ฝึกจิตฝึกใจ
เจริญปัญญาต้องทำ มรรคต้องทำให้เจริญขึ้น
แล้วก็ได้เจริญแล้ว ถึงจะเรียกว่าเข้าใจธรรมะ
ตอนที่พระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัทถะตรัสรู้ ท่านก็เห็นองค์ธรรม 12 ตัวนี้จากอริยสัจ 4 นั่นเอง
อะไรคือทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้ ท่านได้รู้แล้ว
อะไรคือสมุทัย ตัณหาคือสมุทัย
หน้าที่ต่อสมุทัยคือการละ ท่านได้ละแล้ว
หน้าที่ต่อนิโรธ นิโรธคืออะไร นิโรธคือพระนิพพาน
ความดับทุกข์ ท่านได้เข้าไปเห็นแล้ว
ถึงสภาวะที่ดับทุกข์
ตัวมรรค อริยมรรคมีองค์ 8 ท่านได้เจริญแล้ว
หน้าที่ต่อมรรคคือเจริญ ทำให้มีขึ้นมา ให้พัฒนาไป
มีคำว่ารู้แล้ว ละแล้ว เห็นแล้ว เจริญแล้ว
ท่านบอกถ้าท่านไม่ได้องค์ธรรมทั้ง 12 ตัวนี้ ท่านไม่ปฏิญาณตน ไม่ประกาศตนเป็นพระพุทธเจ้าหรอก ไม่เป็นพระอรหันต์หรอก นี่คือแม่บทใหญ่ของการปฏิบัติ แค่เริ่มต้นแม่บทใหญ่
พวกเราส่วนใหญ่ก็ผิดแล้ว ท่านบอกทุกข์ให้รู้ เราอยากละ
ท่านบอกสมุทัยคือตัณหา ให้ละเสีย เราชอบสนองตัณหา
ส่วนนิโรธ เราไม่เคยเห็น อย่างมากก็คิดๆ เอา ไม่ได้เห็นเอา
มรรคก็เจริญบ้างไม่เจริญบ้าง เดี๋ยวก็ทำ เดี๋ยวก็เลิก
ฉะนั้นมันไม่มีวันแจ่มแจ้ง
ทำๆ หยุดๆ เรียกว่าไม่ได้เจริญมรรค
คิดถึงพระนิพพาน ไม่ได้เห็นพระนิพพาน
ก็เรียกว่าไม่ได้เดินอยู่ในกรอบของอริยสัจ
เห็นกิเลสตัณหาแล้วก็ตามใจมัน
ก็ไม่เรียกว่าละสมุทัย
เห็นกายเห็นใจ แทนที่จะเห็นทุกข์
ก็เห็นว่าเป็นของดีของวิเศษเสียอย่างนั้น
แล้วถ้ามีความทุกข์เกิดขึ้นในกาย
มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจก็อยากละ
แทนที่จะรู้ ก็มุ่งไปละ
ลองวัดใจเราดูสิ
เราอยากละทุกข์ หรือเราอยากรู้ทุกข์
บางคนอธิษฐานเลยเวลาทำบุญ ขอให้ห่างไกลความทุกข์ร้อยโยชน์แสนโยชน์ เท่านั้นโยชน์เท่านี้โยชน์ โยชน์หนึ่งเท่าไรยังไม่รู้เลย โยชน์หนึ่ง 16 กิโลเมตร ร้อยโยชน์เท่ากับเท่าไร เยอะแยะ
ก็อยากหนีทุกข์ ไม่ได้อยากรู้ทุกข์
แล้วมันจะรู้ธรรมได้อย่างไร
ไม่ได้เดินอยู่ในหลักของอริยสัจ
ถ้าเรารู้หลักแม่บท
คืออริยสัจว่าทุกข์ต้องรู้ สมุทัยต้องละ
นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ
เรารู้หลักอย่างนี้แล้ว การปฏิบัติ เราจะทำอย่างไร
การปฏิบัติก็อยู่ในหลักเกณฑ์ของเรื่องสติปัฏฐาน เจริญสติปัฏฐาน
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือรูปกับนาม
ฉะนั้นในสติปัฏฐานก็เต็มไปด้วยเรื่องรูปกับนาม
อย่างกาย กายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็เน้นหนักอยู่ที่รูป
เวทนานุปัสสนาเป็นเรื่องของนาม
จิตตานุปัสสนาเป็นเรื่องของนาม
ธัมมานุปัสสนามีทั้งรูปมีทั้งนาม
เพราะฉะนั้นในสติปัฏฐาน 4
มันก็คือการแจกแจงตัวทุกข์ออกมาเป็นอารมณ์ 4 ชนิด
คือกาย เวทนา จิต ธรรม
ก็แจกแจงออกมาจากคำว่า ทุกข์นั่นล่ะ
การจะรู้ทุกข์ได้ ต้องฝึกเครื่องมือตัวที่หนึ่งคือสติ
ทำอย่างไรเราจะสามารถเห็นทุกข์ได้ ไม่ใช่ละทุกข์
จะเห็นทุกข์ได้ เครื่องมือในการเห็นทุกข์ คือสติ
ต้องเห็นจนเข้าใจ จะเข้าใจได้ก็ด้วยปัญญา
สติเป็นตัวรู้ทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง
ความมีอยู่ของกายของใจ
ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ
สติเป็นตัวรู้ทัน ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ
รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ถ้าเห็นอย่างนี้ถึงจะปล่อยวางได้ จะละสมุทัยได้
ถ้าไม่เห็นทุกข์อย่างแท้จริงว่ามันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
ยังละสมุทัยไม่ได้
อย่างเราเห็นว่าร่างกายเป็นทุกข์
แล้วก็รู้สึกบางทีมันก็สุข บางทีมันก็ทุกข์ ร่างกาย
มันละสมุทัยไม่ได้ เพราะว่ามันยังมีทางเลือกอยู่
เวลาดูลงในร่างกาย เห็นสุขบ้างทุกข์บ้าง
มันก็เกิดความอยากที่จะมีความสุข
เกิดความอยากที่จะไม่ทุกข์
เห็นไหม มันมีตัณหาขึ้นมาแล้ว
เพราะมันไม่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง
ถ้ามันรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง มันเห็นว่ากายนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ
แค่บางทีก็ทุกข์มาก บางทีก็ทุกข์น้อย
แต่อย่างไรก็ทุกข์ล้วนๆ เห็นอย่างนี้ถึงละสมุทัยได้
พอมันรู้แจ้งว่ากายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ แล้ว
มันก็ไม่เกิดความอยากที่จะให้ร่างกายไม่ทุกข์
เพราะความอยากอันนั้นไร้เดียงสา
เพราะมันเป็นตัวทุกข์ จะไปอยากให้มันไม่ทุกข์ได้อย่างไร
แล้วมันก็ไม่ได้อยากให้ร่างกายเป็นสุขหรอก
เพราะมันไร้เดียงสา
กายนี้มันเป็นทุกข์ จะเป็นสุขไปได้อย่างไร
ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง มันละสมุทัยกันแบบนี้
คือมันเห็นทุกข์อย่างแจ่มแจ้งจริงๆ
ร่างกายเรามีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
จิตใจเราก็เหมือนกัน
คนที่ไม่ได้ฝึกไม่ได้อบรมจิตใจ ไม่ได้ภาวนา
มันจะเห็นว่าจิตใจนี้บางทีก็มีความสุข บางทีก็มีความทุกข์
แต่ถ้าเราปฏิบัติเต็มเหนี่ยว เจริญสติปัฏฐานได้เต็มที่แล้ว
เราจะเห็นว่าจิตใจนี้ มีแต่ทุกข์
ทุกข์มากบ้าง ทุกข์น้อยบ้าง
เวลาทุกข์มาก คนทั่วไปก็ว่าทุกข์
เวลาทุกข์น้อย คนทั่วไปก็ว่าสุข
เราภาวนาจนเรารู้ความจริง
จิตใจนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ เลย
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ความอยากให้จิตใจไม่ทุกข์ก็ไม่มี
เพราะอยากจะให้ใจไม่ทุกข์ มันไร้เดียงสา
มันเป็นตัวทุกข์ อย่างไรมันก็ทุกข์
ความอยากให้ใจมีความสุข มันก็ไม่ต้องมี
เพราะใจมันคือตัวทุกข์
จะไปอยากให้มันสุขไปได้อย่างไร
ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งมันละสมุทัยกันแบบนี้
เพราะฉะนั้นงานที่เราจะทำจริงๆ
ไม่ต้องไปละสมุทัยอะไรหรอก
รู้ทุกข์เข้าไว้แล้วมันละสมุทัยของมันเอง
การจะรู้ทุกข์ได้ ก็ต้องฝึกเครื่องมือตัวที่หนึ่งคือสติ
การเจริญสติปัฏฐานนั้นเบื้องต้นเราจะได้สติ เบื้องปลายจะได้ปัญญา
เรื่องของสติปัฏฐาน สิ่งที่เราจะได้จากสติปัฏฐาน คือ 2 อัน
เบื้องต้นได้สติ เบื้องปลายได้ปัญญา
สติเกิดจากอะไร สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น
เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนให้เรารู้สภาวะเนืองๆ
มีวิหารธรรมคือเครื่องอยู่ของจิต
จะเป็นกายก็ได้ เป็นเวทนาก็ได้
เป็นจิตตสังขาร คือความปรุงดีปรุงชั่ว
จิตที่ดี จิตที่ชั่วก็ได้
ธัมมานุปัสสนา เว้นไว้ก่อน ยาก เอาไว้ทีหลัง
เดี๋ยววันหลังก็รู้เอง
เราต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ก่อน
เครื่องอยู่เหล่านี้ก็คือรูปนามทั้งนั้นเลย
รูปธรรม นามธรรมทั้งนั้นในสติปัฏฐานเป็นการขยายความ
วิธีปฏิบัติตามแม่บทคืออริยสัจ 4 นั่นล่ะ
เพราะฉะนั้นเราจะรู้รูป รู้นาม ไม่ใช่ละ
รู้ทุกข์ ไม่ใช่ไปดูรูปให้มันไม่ทุกข์
ไม่ใช่ดูจิตให้มันไม่ทุกข์
บางคนก็ฝึกจิต จิตเข้าฌานสมาบัติได้
จิตมีแต่ความสุขอย่างนี้
แล้วบอกว่าบรรลุมรรคผลแล้ว ไม่ใช่เลย
คนละโลกกันเลย
ไปทำสมาธิ ทำให้ตัวทุกข์ไม่แสดงออกมา
รู้สึกจิตมีแต่ความสุข มีแต่ความสงบ มีแต่ความสบาย
อันนั้นเรื่องของสมถกรรมฐาน
ไม่ใช่เรื่องการเจริญสติเจริญปัญญาที่แท้จริงหรอก
เพราะฉะนั้นเราทำสติปัฏฐาน
ถนัดรู้กาย เราก็ใช้กายเป็นวิหารธรรม
ถนัดรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ เราก็ใช้เวทนาเป็นวิหารธรรม
ถนัดรู้จิต เราก็ใช้จิตที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้างเป็นวิหารธรรม
ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ วิหารธรรมของเรา
ลองดู มีแต่รูปธรรมนามธรรมทั้งนั้นล่ะ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 กุมภาพันธ์ 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา