2 มี.ค. 2023 เวลา 02:15 • ปรัชญา
“สิ่งที่เราต้องละคือความอยาก
ไม่ใช่อยากละทุกข์“
“ … จับหลักให้แม่น
ช่วงนี้มีคนต่างชาติเข้ามาเรียนเยอะ หลายประเทศ แต่ละคนก็มีพื้นฐานแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ของคนปฏิบัติจะสนใจว่านั่งสมาธิแบบไหนถึงจะถูก หายใจอย่างไรถึงจะถูก เดินแบบไหนถึงจะถูก แล้วแต่ละที่ก็จะแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน
อย่างหายใจ บางแห่งเขาสอนหายใจให้กระทบ 7 จุดบ้าง 6 จุดบ้าง พอเรียนหลายที่ก็เลยงง อันไหนมันถูก อันไหนไม่ถูก อันไหนดีกว่าอันไหน
หรือเดินจงกรม เดินจะเอามือไว้ที่ไหน ความเร็วควรจะเร็วแค่ไหน มีข้อสงสัยได้ตลอดเลย เพราะว่าแต่ละแห่งสอนไม่เหมือนกัน
ที่จริงแล้วสิ่งที่สอนๆ กัน ส่วนใหญ่มันแค่รูปแบบของการปฏิบัติ แค่เปลือก รูปแบบ
แก่นสารสาระจริงๆ ก็คือสติกับสมาธิ 2 ตัวนี้
เราจะต้องพัฒนาสติกับสมาธิขึ้นมา
ส่วนรูปแบบการปฏิบัติ วิธีปฏิบัติอะไร ก็แล้วแต่จริตนิสัยแต่ละคน ไม่เหมือนกัน
ฉะนั้นเราจะต้องเรียนให้ได้แก่น มิฉะนั้นเราสับสน
เข้าวัดนี้สอนอย่างหนึ่ง เข้าวัดนี้สอนอีกอย่างหนึ่ง
อันนั้นมันเป็นแค่เปลือก
1
ถ้าเทียบกับผลไม้ มันเหมือนเปลือกของทุเรียน
ไม่มีเปลือกได้ไหม ไม่ได้
แต่เราไม่ได้กินเปลือกมัน เราจะกินเนื้อในมัน
ฉะนั้นเราต้องเรียนให้ได้เนื้อใน
ให้ได้แก่นสารสาระจริงๆ
พัฒนาสัมมาสติ พัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมาให้ได้
เครื่องมือในการปฏิบัติที่สำคัญมี 2 ตัว
สัมมาสติตัวหนึ่ง สัมมาสมาธิตัวหนึ่ง
ฉะนั้นในองค์มรรคทั้ง 8 ไปดูให้ดี จะลงท้าย
องค์มรรคอันที่เจ็ดคือสัมมาสติ
อันที่แปดคือสัมมาสมาธิ
ถัดจากนั้นไม่มีแล้ว
ฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาเครื่องมือ 2 ตัวนี้ขึ้นมาให้ได้ สัมมาสติกับสัมมาสมาธิ
สัมมาสติมันเป็นเครื่องระลึกรู้รูปนาม กายใจของเรา
พระพุทธเจ้าอธิบายสัมมาสติด้วยสติปัฏฐาน 4
รู้กาย อันนี้เป็นส่วนของรูป
รู้เวทนาเป็นส่วนของนาม
รู้จิต อันนี้รู้จิตที่เป็นกุศลอกุศล อันนี้เป็นส่วนของสังขาร
แล้วก็ธัมมานุปัสสนา มีทั้งรูป มีทั้งนาม ขั้นแอดวานซ์
สติเป็นอนัตตา สั่งให้เกิดไม่ได้
เราทำเหตุของสติแล้วสติจะเกิด
เหตุของสติก็คือการที่เราเห็นสภาวะเนืองๆ เห็นบ่อยๆ เห็นถี่ๆ สภาวะอันนั้นก็คือรูปธรรมกับนามธรรม
ถ้าเราไปเห็นสภาวะอย่างอื่น เช่น เราเห็นลมพัดใบไม้ไหวอะไรอย่างนี้ มันออกข้างนอกไป ให้เรียนรู้อยู่ที่รูปธรรมนามธรรม
เบื้องต้นให้เรียนที่ตัวเองก่อน
ถ้าเราชำนิชำนาญจริงแล้ว
รูปนามภายใน รูปนามภายนอกก็ใช้ได้เหมือนกันหมดล่ะ
แต่เบื้องต้นให้เรียนที่รูปนามภายในก่อน
สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น อย่างเราจะจำใครได้แม่นสักคนหนึ่ง เราต้องเห็นเขาบ่อยๆ อย่างเรามีญาติพี่น้องแต่เราไม่ได้เจอกัน 20 ปี เจอกันจำไม่ได้ เรามีเพื่อนเจอกันทุกวันตั้งแต่เด็กจนแก่ เห็นที่ไหนเราจำได้เลย
ฉะนั้นสติมันจะเกิดได้ ถ้าเราเห็นสภาวะบ่อยๆ
การที่ท่านสอนสติปัฏฐาน
บอกให้เรารู้กายเนืองๆ รู้เวทนาเนืองๆ รู้จิตเนืองๆ รู้ธรรมเนืองๆ
เนืองๆ ก็คือรู้ถี่ๆ รู้บ่อยๆ
การรู้บ่อยๆ ทำให้สติเกิดขึ้น
อย่างหลวงพ่อหัดหายใจ หายใจแล้วรู้สึกตัวๆ
เวลาเราเผลอ อย่างเห็นผู้หญิงสวยๆ
สมัยหนุ่มๆ ตอนนี้เห็นก็เหมือนเห็นต้นไม้แล้ว
เห็นผู้หญิงสวยๆ ใจเราชอบ
มันก็เห็นใจมันเกิดความชอบขึ้นมา
หรือบางทีเราเคยฝึกร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้สึก
ร่างกายขยับอะไร เรารู้สึก
พอเราเผลอๆ เราก้าวเท้าไป
เวลาฝึก ฝึกมือขยับ ตอนขาดสติ เราขยับเท้า
แค่ร่างกายเคลื่อนไหว สติเกิดเองเลย รู้ตัวขึ้นมา
เห็นร่างกายเคลื่อนไหว เห็นรูปมันเคลื่อนไหว
จิตก็ตั้งมั่น สมาธิก็เกิดขึ้นทันที
ถ้าเมื่อไรมีสัมมาสติ
เมื่อนั้นจะต้องมีสัมมาสมาธิอัตโนมัติเลย
สัมมาๆ ทั้งหลาย เวลาเกิด มันเกิดร่วมกัน
มันไม่เกิดทีละตัวหรอก
ฉะนั้นเมื่อไรเรามีสติ
ระลึกรู้กายอย่างถูกต้อง
ระลึกรู้นามธรรม สุข ทุกข์ ดี ชั่ว
หรือระลึกรู้เท่าทันจิต
สมาธิก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
2 ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ
ถ้าเรามีสัมมาสติ เรามีสัมมาสมาธิ
การเจริญวิปัสสนากรรมฐานจะทำได้
เรียกว่ามีสัมมาญาณะ
มีการหยั่งรู้สภาวธรรมได้ถูกต้อง
คือเห็นไตรลักษณ์ของมัน
พอเราทำวิปัสสนาได้ หรือมีสัมมาญาณะได้แล้ว
สัมมาวิมุตติ คืออริยมรรค อริยผลก็จะเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำ
พัฒนาสัมมาสติ พัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมาให้ได้
องค์มรรคก่อนหน้านั้นอีก 6 องค์
องค์มรรคอีก 6 อันเป็นพื้นฐาน
ที่จะสนับสนุนให้เราพัฒนาสัมมาสติและสัมมาสมาธิขึ้นมา
อย่างมีสัมมาทิฏฐิ เราเรียนรู้ทฤษฎีที่ถูกต้อง
รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าทุกข์คือรูปนาม คือกายใจของเรานี้
หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้
สิ่งที่เราต้องละคือความอยาก
ไม่ใช่อยากละทุกข์
แต่ท่านให้รู้ทุกข์
เราต้องรู้หลักอย่างนี้ให้แม่น
มิฉะนั้นเวลาภาวนาจะผิดเลย
อย่างเวลาจิตเราฟุ้งซ่านขึ้นมา
เราอยากละ อยากให้จิตสงบ อยากละ
อันนี้ผิดแล้ว
จิตที่ฟุ้งซ่าน มันอยู่ในกองทุกข์ อยู่ในขันธ์
ในสังขารขันธ์ที่เป็นกองทุกข์
หน้าที่คือรู้ ไม่ใช่ละ
นี่คือตัวสัมมาทิฏฐิ รู้ว่าเราต้องรู้ทุกข์ ละอะไร
ละความอยากของเราเสีย
อันนี้เป็นพื้นเลยที่จะต้องเข้าใจ
การรู้ทุกข์จนกระทั่งละความอยากได้
นั่นล่ะคือการเจริญมรรค
แล้วผลก็คือความพ้นทุกข์ หรือนิโรธ
เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้ทุกข์ ละสมุทัยให้ได้ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 กุมภาพันธ์ 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา