5 มี.ค. 2023 เวลา 05:30 • ปรัชญา
“ถ้าทำไม่ถูกหลักยาก ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เหนื่อยเปล่า
เวลาลงมือทำทีไรก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค บังคับตัวเองทุกที
เวลาไม่ได้ทำก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค หลงโลกทุกที
ไม่เข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา ไม่เข้าสู่ทางสายกลางสักที”
“ … พวกเราจะต้องไปหาเครื่องอยู่
เราอยู่กับอะไรแล้วจิตใจมีความสงบ มีความสุข
รู้เนื้อรู้ตัวด้วย
ไม่ใช่ไปสูบกัญชาแล้วบอกมีความสุข อันนั้นได้สมาธิไม่ได้ สูบกัญชาแล้วขาดสติ
ฉะนั้นเราทำกรรมฐานอยู่กับอารมณ์กรรมฐานที่มีความสุข มีสติอยู่ด้วย ขาดสติไม่ได้ สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ
อย่างถ้าหลวงพ่อฝึก หลวงพ่อหายใจ นี่ทำสมถะ ถนัดหายใจเอา หลวงพ่อก็หายใจด้วยความมีสติ
หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก
หายใจแล้ว จิตใจมันวุ่นวาย ก็รู้สึก
ไม่ได้ไปอยากให้มันสงบ
1
วุ่นวายก็รู้ สงบขึ้นมา ก็ไม่ได้ดีใจกับมัน
ดูไปเรื่อยๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง
แต่อยู่กับเครื่องอยู่ที่มีความสุข
อยู่ด้วยจิตใจที่สบายๆ เป็นกลางๆ
ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
ไม่ถึงนาทีจิตก็รวมแล้ว สงบแล้ว
ถ้าชำนาญ มันลงทันที มันเป็นทันทีเลย
อยู่ที่เราฝึกเอา ของฟรีไม่มี
หลักอันเดียวกันทั้งหมด
เวลาเจริญปัญญา เบื้องต้นหลวงพ่อดูจิตเอา หลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต แต่เดิมดูกายมาก่อน ดูกายแล้วมันจืด มันไม่รู้สึก มันรู้สึกไม่ชอบเท่าไร ดูนิดเดียวร่างกายก็ระเบิดแล้ว เพราะสมาธิมันแรง แล้วไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ
ที่จริงพอสลายกาย ก็ต้องดูจิตต่อ
แต่ตอนนั้นยังดูจิตไม่เป็น
พอดูกาย กายแตกสลาย หายไปหมดเลย กลายเป็นคลื่นแสง วัตถุทั้งหลาย พอแยกย่อยออกไปแล้วกลายเป็นคลื่นแสงไปหมดเลย ตรงนั้นไปต่อไม่เป็น
จนหลวงปู่ดูลย์ท่านมาสอนให้ดูจิต หลวงพ่อก็เห็นจิตมันเกิดดับ ใช้จิตเป็นวิหารธรรม
จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้
จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้
จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้
จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้
จิตทำสมาธิก็รู้ จิตไม่มีสมาธิก็รู้
จิตยึดก็รู้ จิตปล่อยก็รู้
หัดรู้ไปเรื่อยๆๆ เดินปัญญาอย่างนี้
เดินไปเดินมา แป๊บเดียว ใช้เวลาไม่นานหรอก
พอทำถูก ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนก็เห็นแล้ว
จิตไม่ใช่เราหรอก
จิตมันเป็นแค่สภาวธรรมอันหนึ่ง
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ทำไมมันดูอย่างนี้ได้ ทำไมเดินปัญญาอย่างนี้ได้
เพราะสมาธิมันพอ จิตมันตั้งมั่นเด่นดวง
ฝึกมาตั้งเยอะแยะแล้ว ตั้งแต่เด็กแล้ว
พวกเราส่วนใหญ่สมาธิมันไม่พอ
เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำในรูปแบบทุกวัน
ถนัดกรรมฐานอะไรก็ทำไป
แต่อย่าทำด้วยความโลภ ทำด้วยความมีสติ
อยู่กับกรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข
ก็อยู่ไปด้วยความมีสติไป
สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง วางใจอย่างนี้
แป๊บเดียวก็สงบแล้ว
ถ้าอยากสงบ ไม่มีวันสงบหรอก
เหมือนอยากนอนหลับมันจะไม่หลับ
ไม่ได้เจตนาจะหลับมันหลับเก่ง
สมาธิก็เหมือนกัน ฝึกให้มันมีเครื่องอยู่ไว้
แล้วเวลาจะเจริญปัญญา
ไปดูตัวเอง ถ้าดูจิตได้ให้ดูจิต
ดูจิตไม่ได้ให้ดูกายแสดงไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ
ดูไปช่วงหนึ่งเหนื่อย กลับมาทำสมถะ
ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย
ดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ไหว ทำสมถะ
เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก
สมถะเราก็ต้องฝึก เคล็ดลับมันมีนิดเดียว
น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง
ด้วยความมีสติ ต่อท้ายหน่อย ต้องมีสติ
ถ้าเราจะเจริญวิปัสสนา
จะดูกาย ดูเวทนา ดูจิตอะไรก็ได้
แต่ก็มีหลักอันเดียวกันทั้งหมด
มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนั่นล่ะคือจิตที่ทรงสมาธิ
ถ้าไม่มีจิตที่ทรงสมาธิจะไม่เห็น
จะไม่สามารถมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้
จะทำได้แค่ไหน จะทำได้แค่มีสติรู้กายรู้ใจได้
แต่จะไม่เห็นความจริง
คือจะไม่เห็นไตรลักษณ์ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง
ตัวที่ทำให้เราเห็นไตรลักษณ์ได้คือสมาธิที่ถูกต้อง
สัมมาสมาธิเป็นใกล้ให้เกิดปัญญา
อย่างมีสติ ร่างกายกระดุกกระดิก รู้ ท้องพองท้องยุบ รู้
อันนี้ยังไม่ได้ก้าวขึ้นมาสู่ขั้นการทำวิปัสสนา
ขยับมือ รู้ เห็นมือเคลื่อนไหว รู้ อันนี้เห็นอะไร
เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรม
เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรมยังไม่ใช่วิปัสสนา
ต้องเห็นไตรลักษณ์ในรูปธรรม ไตรลักษณ์ในนามธรรม ถึงจะเป็นวิปัสสนา
จะเห็นไตรลักษณ์ได้จิตต้องตั้งมั่นจริงๆ
จะต้องตั้งมั่นจริงๆ
ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นโคลงเคลงๆ ไม่เห็นอะไร
นี่คือหลักของการปฏิบัติทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา
เครื่องมือคือสติกับสมาธิ
สติเกิดจากการเห็นสภาวธรรมเนืองๆ เห็นบ่อยๆ
ไม่ทำไปด้วยโลภ ทำไปเรื่อยๆ
แล้วสติมันจะเกิดเอง
รู้สึกกายก็ได้ รู้สึกจิตใจก็ได้
คอยรู้ไปเรื่อยๆ แล้วสติมันจะเกิด
สติที่แท้จริงเกิด
สมาธิที่แท้จริง สัมมาสมาธิก็จะเกิดร่วมด้วย
ดูท้องพองท้องยุบได้สมาธิไหม
ดูท้องพองท้องยุบได้สมาธิ สมาธิชนิดสงบ
แต่ถ้าจิตตั้งมั่น
เห็นรูปที่พองเห็นรูปที่ยุบไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
อันนั้นขึ้นวิปัสสนา
ฉะนั้นแยกแยะให้ดี มิฉะนั้นจะเดินตุปัดตุเป๋แล้วรู้สึกธรรมะทำไมมันยากเหลือเกิน
ธรรมะในตู้พระไตรปิฎกหลวงพ่อย่อมาให้เราเพื่อการปฏิบัติ ย่อลงมาเหลือเท่านี้ เอาไปทำให้ได้ แล้วชีวิตมันจะได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เรื่องยาก
ถ้าทำไม่ถูกหลักยาก ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เหนื่อยเปล่า
เวลาลงมือทำทีไรก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค บังคับตัวเองทุกที
เวลาไม่ได้ทำก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค หลงโลกทุกที
ไม่เข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา ไม่เข้าสู่ทางสายกลางสักที
ถ้าจิตเราเดินอยู่ในทางสายกลางได้
ไม่ย่อหย่อน ไม่ตึงเกิน
จิตเดินอยู่ในทางสายกลาง
จิตจะมีแนวโน้มไปสู่พระนิพพานอัตโนมัติ
เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบท่อนไม้ลอยในแม่น้ำคงคา
ลอยอยู่ตรงกลางกระแสน้ำ
ไม่ติดฝั่งซ้าย ไม่ติดฝั่งขวา
ไม่ไปเกยตื้น ไม่ไปโดนคนจับเอาไว้
ไม่โดนจระเข้งับเอาไป
ท่อนไม้นี้ถึงวันหนึ่งจะออกไปสู่มหาสมุทรได้
หรือไม่ผุพังเน่าไปเสียก่อน ก็จะออกไปสู่มหาสมุทรได้
จิตที่เดินอยู่ในเส้นของมัชฌิมาปฏิปทา
ไม่เผลอไป ย่อหย่อน
ไม่เพ่งเกินไป ตึงเครียด
จิตอย่างนั้นล่ะมีแนวโน้มที่จะไปสู่พระนิพพาน
เราทำพระนิพพานให้เกิดได้ไหม ไม่ได้
เดินอยู่ในทางสายกลางเถอะแล้วจิตมันไปนิพพานของมันเอง
ค่อยๆ ฝึกเอา ละความเชื่อเก่าๆ เสียว่าต้องนั่งอย่างนั้น ต้องเดินท่านี้ เดินมีกี่จังหวะ ดีไหม ดีเหมือนกันล่ะ แต่ดีไม่มากหรอก
ต้องเดินด้วยความมีสติ มีจิตตั้งมั่น อันนั้นดีเยี่ยม
นั่งด้วยความมีสติ มีจิตที่ตั้งมั่น
เห็นรูปมันนั่ง อันนั้นดี …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 กุมภาพันธ์ 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา