31 พ.ค. 2023 เวลา 10:00 • การศึกษา

สอวน.เดอะซีรีส์ EP3 มินิสอวน.ออนไลน์แบบทีม

*หมายเหตุหลังจากนี้จะมีการกล่าวถึงเพื่อน ๆ หลาย ๆ คน ซึ่งชื่อทั้งหมดที่ปรากฎในเรื่องจะเป็นนามสมมุติทั้งหมด (แต่ถ้าเจ้าตัวมาอ่านก็คงรู้ว่าหมายถึงใคร) เพื่อความง่ายในการเล่าและความเข้าใจของผู้อ่านนะครับ
ณ ตอนนี้ผมก็ขึ้นม.ปลายแล้ว พร้อมกับไฟอันแรงกล้าว่าจะต้องสอบติดสอวน.เพื่อยื่นพอร์ตเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ แล้วปีนี้ผมจะสอบวิชาอะไรดีล่ะ จากการไปทำการรีเสิร์ชมาผมสามารถสอบวิชาหลัก (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คอม เลข) ได้ 2 จาก 5 ตัว และวิชารองกี่ตัวก็ได้หากเวลาในการเข้าค่ายนั้นไม่ทับซ้อนกัน
ในส่วนของวิชาหลักนั้น ผมก็คงเลือกสอบวิชาชีวะและเคมีเหมือนเดิม เพราะผมเองก็ไม่มีความสามารถด้านคำนวณและการเขียนโปรแกรม ในส่วนของวิชารองผมเองก็อยากลองเปลี่ยนสายไปสอบในวิชา "ภูมิศาสตร์" ดูบ้าง แต่ฝันสลายครับ ผมอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่เขาตั้งเอาไว้ ทำให้ผมก็ต้องล้มเลิกความคิดนี้ไปก่อน
ในระหว่างที่ผมกำลังเซ็งอยู่นั้นก็ได้มีเพื่อนคนหนึ่งติดต่อมา เธอคนนี้ชื่อพลอย เป็นเพื่อนที่เคยอยู่โครงการเตรียมสอวน.ดาราศาสตร์ด้วยกัน แต่ได้ย้ายโรงเรียนไปเมื่อตอนม.4 โดยเพื่อนคนนี้ได้ชวนผมไปทำการร่วมทีมเพื่อแข่งตอบปัญหา
เมื่อผมถามรายละเอียดผมจึงทราบว่านี่เป็นกิจกรรมแข่งตอบคำถามแบบทีม ในรูปแบบออนไลน์ โดยแบ่งเป็นทีม ทีมละ 5 คน โดยจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีมูลนิธีสอวน. ในชื่อ Mini Science and Math Olympiad นั่นเอง
กฎกติกาของการแข่งนี้คือทุก ๆ ทีมจะต้องเข้ามาตอบคำถามวันละ 5 ข้อ เป็นเวลาราว ๆ 1 เดือน ผ่านทางเว็ปไซท์ของทางรายการ โดยระดับความยากของคำถามนั้นจะต้องใช้ความรู้ระดับค่ายอบรมผู้แทนสอวน. โดยคำถามจะมีทั้งสิ้น 8 วิชาคือฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เลข คอมพิวเตอร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวิทยาศาสตร์โลก และในบางครั้งจะมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิสอวน.โผล่มาด้วย โดยคำถามในแต่ละวันจะได้คำถามที่มาจากรายวิชาที่ต่างกัน
การตอบคำถามจะมีเรื่องของความถูกต้องและเรื่องของเวลา หากตอบผิดจะไม่ได้คะแนนในข้อนั้น หากตอบถูกจะได้คะแนนตามเวลาที่เหลือในแต่ละข้อ (กำหนดให้แต่ละข้อต้องตอบภายใน 3 นาที) หากใช้เวลาในการตอบน้อยก็จะยิ่งได้คะแนนมาก
ทางรายการจะคัดทีมที่ผ่านเข้ารอบไปแข่งออนไซท์จำนวน 20 ทีม โดยแบ่งเป็นทีมที่มีคะแนนรวมสูงสุดทั่วประเทศ 10 ทีม และ 2 ทีมที่มีคะแนนสูงสุดจากแต่ละภูมิภาค (กทม เหนือ กลาง อีสาน ใต้) และไม่ได้อยู่ในคะแนนรวม 10 อันดับแรก
โดยทีมของผมนั้นประกอบไปด้วยผมและเพื่อนร่วมห้องของผมชื่อภา พลอยและฟาง ซึ่งเป็นเพื่อนจากโครงการสอวน.ดาราศาสตร์ ซึ่งย้ายโรงเรียนไปแล้วทั้ง 2 คนและเพื่อนร่วมห้องของพลอย 1 คน ชื่อเพิร์ล แต่การแข่งนี้มีอุปสรรคที่สำคัญอยู่นั่นคือช่วงเวลาในการจัดแข่งขัน เพราะการแข่งขันนี้จะถูกจัดในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน ซึ่งมันตรงกับช่วงสอบกลางภาคของพวกเราทั้งสองโรงเรียน
ความโชคดีอยู่ที่โรงเรียนผมและโรงเรียนของเพื่อนผมนั้นจัดสอบเหลื่อมกัน นั่นทำให้เราแบ่งหน้าที่กันว่าในช่วงที่โรงเรียนนั้นทำการสอบกลางภาค ผมและภาจะเป็นคนเข้าเว็ปไซท์และทำการตอบคำถาม ส่วนในช่วงที่โรงเรียนผมจัดสอบกลางภาค พลอย ฟาง แล้วก็เพิร์ล จะเป็นคนตอบคำถามเอง และหลังจากที่การสอบได้เสร็จสิ้นลง เราก็จะกลับมารวมตัวและช่วยกันตอบคำถามด้วยกัน
การแข่งขันนั้นเริ่มต้นขึ้น ผมได้เห็นคำถามจากกิจกรรมนี้มากมายและได้รู้ถึงความน่ากลัวของค่ายสอวน.ว่าต่อให้ผ่านคัดเลือกเข้าค่ายอบรมไปแล้ว ก็ต้องไปพบเจอกับเนื้อหาที่มีความยากมาก ๆ เพราะคำถามที่โผล่ขึ้นมาในการแข่งขันนั้นบางคำถามก็ไม่มีใครในทีมที่สามารถตอบหรือวิเคราะห์อะไรได้แม้แต่นิดเดียวเลย
ด้วยความที่พวกเราทุกคนไม่ได้ทำการเตรียมตัวกับการแข่งขันนี้มากนัก ส่งผลทำให้คะแนนโดยรวมของเราไม่ได้สูงมากและไม่ได้ไปต่อในรอบถัดไป โดยอันดับโดยรวมของพวกเรานั้นอยู่ในอันดับที่ 557 ของทั้งประเทศ และอันดับที่ 153 ในระดับภูมิภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น
คะแนนแบ่งตามรายวิชาของทีมพวกผมจากการแข่งขันในครั้งนี้
ถึงแม้ผลการแข่งขันในครั้งนี้จะไม่ได้ดีมากนัก แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ให้กับพวกเราทุก ๆ คนในทีม ผมได้รู้จักเพื่อนใหม่ รวมถึงได้ประสบการณ์จากการแข่งขันตอบปัญหา ซึ่งนี่ก็เป็นครั้งแรกของผมอีกด้วย
สำคัญที่สุดคือมันทำให้ผมรู้ว่า หากผมอยากที่จะผ่านเข้าค่ายอบรมของสอวน.นั้น ผมจะต้องมีความขยันและเตรียมตัวอย่างหนักมาก ๆ เพื่อให้ตัวเองพร้อมที่จะเผชิญกับเนื้อหาภายในค่ายอบรมที่ผมใฝ่ฝัน
หลังจากจบการแข่งขัน ผมก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างเคว้งคว้า เพราะผมเองก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มอ่านหนังสืออย่างไร อ่านเล่มไหน ควรเน้นที่เนื้อหาอะไรเป็นพิเศษ แต่แล้ววันหนึ่งก็ได้มีข้อความนึงส่งมาผม ข้อความนี้ส่งมาจากอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมวิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ที่ดูแลโครงการเตรียมความพร้อมสอวน.ดาราศาสตร์ที่ผมเคยเข้าร่วมอีกด้วย
ที่ภาคธรณี จุฬาฯ มีการเปิดรับสมัครนักเรียนเพื่อเข้าร่วมค่ายเยาวชนธรณีวิทยา ถ้าปกป้องสนใจก็ลองไปสมัครเข้าค่ายดูนะ ครูมองว่ามันน่าจะเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ สำหรับเราที่มีความสนใจที่จะเข้าคณะนี้อยู่แล้ว
อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมวิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์
โปรดติดตามตอนต่อไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา