4 มิ.ย. 2023 เวลา 10:00 • การศึกษา
อำเภอปากช่อง

สอวน.เดอะซีรีส์ EP4 ค่ายเยาวชนธรณีวิทยา ค่ายแนะแนวในความทรงจำ #1

หลังจากที่ผมได้รับข่าวสารจากอาจารย์ ผมก็ได้ทำการโหลดใบสมัครค่ายมาทำการกรอกในทันที
ค่าย ๆ นี้มีชื่อเต็ม ๆ ว่าค่ายเยาวชนธรณีวิทยา หรือ Geology Youth Camp ซึ่งผมจะขอเรียกย่อ ๆ ว่าค่าย GYC นะครับ ซึ่งในปีนี้มาในปีที่ 17 และจะถูกจัดในธีม Geovengers (Geology + Avengers) นั่นเองครับ
โดยนอกจากข้อมูลส่วนตัวที่จะต้องมีการกรอกแล้วก็จะมีคำถามต่าง ๆ ได้แก่ กิจกรรมหรือค่ายด้านวิทยาศาสตร์, นิยามความเป็นตัวเองพร้อมข้อดีและข้อเสีย, ความสำคัญของนักธรณีวิทยา, วาดรูปแร่มา 1 ชนิดพร้อมบอกชื่อและการนำมาใช้, การเลือกหินให้ตรงกับคุณสมบัติที่กำหนด, หากต้องไปทำงานเหมืองและเอาของไปได้ 5 อย่างจะเอาอะไรไปเพราะอะไร และคำถามสุดท้ายคือคิดว่าน้อง ๆ จะได้อะไรจากค่ายนี้
หลังจากที่ผมกรอกใบสมัครพร้อมแนบผลการเรียนและรูปถ่ายไปเรียบร้อยแล้วก็รอผลการคัดเลือกครับ ซึ่งผมเองก็ผ่านการคัดเลือกและนอกจากผมแล้วก็มีเพื่อนจากโรงเรียนเดียวกัน 2 คนที่ผ่านเข้าร่วมค่ายด้วยคือแม็กและปอมครับ
และเมื่อวันเข้าค่ายมาถึงเราก็ได้ไปรวมตัวกันที่ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ครับ เราก็จะทำการลงทะเบียน และขึ้นรถเพื่อไปยังสถานที่จัดค่ายครับ ซึ่งในปีนั้นจะถูกจัดขึ้นที่โรงเรียนปากช่อง จ.นครราชสีมาครับ
ระหว่างที่นั่งรถไปครับ ผมก็ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับเพื่อนคนนึงครับชื่อศิลาครับ ศิลาเป็นคนนครปฐม และมีความฝันอยากเรียนที่เดียวกับผมเลยครับก็คือคณะวิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา จุฬาฯ ครับ
และเมื่อไปถึงที่โรงเรียนปากช่องนะครับ ก็จะมีการแจกถุงผ้าและสมุดค่าย ก่อนเข้าสู่พิธีเปิดในที่สุดครับ หลังจากพิธีเปิดผ่านพ้นไปก็จะเป็นการทำ Pretest เพื่อวัดความรู้คร่าว ๆ ก่อนกิจกรรมต่่าง ๆ ของค่ายจะเริ่มขึ้นครับ
หลังจากนั้น เราจะได้กลับไปรวมกับกลุ่มของตัวเอง ซึ่งในกรณีของผมคือกลุ่ม 8 แม็กอยู่กลุ่ม 9 และปอมอยู่กลุ่ม 10 ครับ เพื่อเข้าสู่กิจกรรมแรกนั่นคือกิจกรรมฐานนั่นเองครับ
สำหรับกิจกรรมฐานแรกที่ผมได้เข้าจะเป็นฐานธรณีสัณฐานวิทยา (Geomorphology) ซึ่งจะเป็นการศึกษารูปพรรณสัณฐานของโลกหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Landform (ภูมิลักษณ์) นั่นเองครับโดยเราจะได้รู้จักภูมิลักษณ์แบบต่าง ๆ ที่เกิดจากการกัดกร่อนหรือการสะสมตัวโดยธารน้ำแข็ง ธารน้ำไหล คลื่นทะเล และลม และที่ไฮไลท์ของฐานนี้ก็คือพวกเราจะยังได้ฝึกใช้กล้อง Stereoscope เพื่อให้เราสามารถมองเห็นภาพถ่ายดาวเทียมเป็นภาพสามมิติด้วยนั่นเองครับ
กล้อง Stereoscope
หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ฐานที่ 2 ก็คือฐานวัสดุโลก ซึ่งเราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฏจักรหิน ได้ทำความรู้จักกับหินอัคนี หินตะกอน หินแปร และได้รู้จักแร่ชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะ แร่ในมาตรา Mohs Hardness Scale (อันประกอบไปด้วยเพชร คอรันดัม โทแพซ ควอตซ์ เฟลด์สปาร์ อะพาไทด์ ฟลูออไรด์ แคลไซด์ ยิปซัม และทัลก์) อีกด้วย
ฐานที่ 3 คือฐานโลกและการเปลี่ยนแปลง ที่ฐานนี้เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างภายในโลกทั้งการแบ่งตามสมบัติเคมีที่เราคุ้นเคยกัน (เปลือกโลก เนื้อโลก แก่นโลก) และการแบ่งชั้นของโลกโดยการใช้สมบัติทางกายภาพ (ธรณีภาค ฐานธรณีภาค มัชฌิมภาค แก่นโลกชั้นนอก แก่นโลกชั้นใน) และยังได้รู้เรื่องของคลื่นไหวสะเทือน (P-Wave, S-Wave) การเคลื่อนตัวของแผ่นธรณี (ชนกัน แยกออกจากกัน เฉือนกัน) และโครงสร้างทางธรณี (รอยเลื่อน Fault,รอยคดโค้ง Fold) อีกด้วย
แม้หลังจากนี้จะมีฝนตกเล็กน้อยแต่ก็เข้าสู่ฐานที่ 4 ได้ ซึ่งเป็นฐานที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษเพราะว่าฐานนี้คือ ฐานธรณีประวัติ เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการแบ่งอายุของโลก (บรมยุค มหายุค ยุค สมัย) อายุทางธรณีวิทยา การเกิดซากดึกดำบรรพ์ กฎการลำดับชั้นหิน และได้เห็นซากดึกดำบรรพ์จริง ๆ อีกด้วย (เช่นไครนอยด์ ฟิวซูลินิด ไทรโลไบต์)
และที่ฐานนี้เองก็เป็นฐานที่ผมได้สร้างตำนานที่ทำให้หลาย ๆ คนจดจำผมไปอย่างแน่นอน ในขณะที่พี่ฐานกำลังอธิบายเรื่องซากดึกดำบรรพ์ไปเรื่อย ๆ จนเนื้อหาในการอธิบายก็ดำเนินมาถึงเรื่องไดโนเสาร์ พี่ฐานก็ได้อธิบายว่าปัจจุบันนี้ในประเทศไทยได้มีการค้นพบไดโนเสาร์แล้วทั้งสิ้นกว่า 11 ชนิด โดยที่สายพันธุ์ล่าสุดคือ "ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ" และ "วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส"
ทันใดนั้นมือของผมก็ได้ค่อย ๆ ยกขึ้นพร้อมกับคำถามที่ว่า "แล้วตัวที่พึ่งค้นพบเมื่อ 3 วันก่อนล่ะครับ" นั่นเพราะเมื่อราว 3 วันก่อนเข้าค่าย ประเทศไทยได้มีการตีพิมพ์ไดโนเสาร์สายพันธุ์ที่ 12 ของประเทศไทยแล้วนั่นเอง ซึ่งนั่นก็คือ "สยามแรปเตอร์ สุวาติ" จากหมวดหินโคกกรวด จ.นครราชสีมานั่นเองครับ เรียกได้ว่าคำตอบนี้เป็นคำตอบแจ้งเกิดของผมในค่ายเลยก็ได้ครับ
และฐานสุดท้ายฐานที่ 5 ฐานแผนที่ธรณีวิทยา ฐานนี้จะเป็นการสอนการอ่านแผนที่ทางธรณีวิทยา การอ่านแผนที่ภูมิประเทศ รวมถึงการหัดใช้เข็มทิศธรณีวิทยาอีกด้วย
หลังจากที่เราได้รับความรู้อย่างเต็มอิ่มแล้วก็จะเป็นการกลับไปที่ ห้องประชุมเพื่อรับฟังรายละเอียดกิจกรรมต่อไปนั่นก็คือ "การแสดง" เราจะทำการจับคู่กลุ่ม 2 กลุ่มเพื่อร่วมทำการแสดงหนึ่งชุด จากพร็อบที่ให้มา ซึ่งกลุ่มของผมก็ได้อยู่คู่กับกลุ่มที่ 3 โดยมีพี่เมล่อน สมาชิกกลุ่ม 8 ของผมเป็นตัวตั้งตัวตีในการคิดบทและซ้อมการแสดงของพวกเรา
การแสดงของผม ถ้าผมจำไม่ผิดจะเกี่ยวกับการช่วยเหลือเจ้าหญิงที่โดนลักพาตัว ถ้าผมจำไม่ผิด แต่กระนั้นก็ตามการแสดงที่ผมยกให้เป็นที่ 1 ก็คงต้องเป็นกลุ่ม 10 ที่เกี่ยวข้องกับการที่คนอ่อนแอได้อำนาจและใช้มันในทางที่ผิด โดยเฉพาะ ปริน จากกลุ่มที่สิบที่แสดงเป็นชายอ่อนแอสวมหน้ากาก เชื่อว่าทุกคนก็ต้องยอมรับว่าเป็นการแสดงที่ดีจริง ๆ
หลังจากนั้นก็จะเป็นโชว์จากพี่ ๆ ธรณีบางซึ่งก็เป็นการเดินแบบ และชุดที่พี่เขาใส่มานั้นก็คือตัวอย่างที่ดีและไม่ดีสำหรับการออกภาคสนามที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้นั่นเอง
การแต่งกายที่ถูกต้องนั้น ควรใส่กางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้น ใส่หมวก และเสื้อแขนยาวเพื่อป้องกันตัวเองจากอันตรายทั้งหนามจากพืช แสงแดด รวมถึงสิ่งมีชีวิตบางชนิด นอกจากนี้จะมีการพกอุปกรณ์อะไรต่าง ๆ ไปมากมายไม่ว่าจะเป็นค้อนธรณี กรดไฮโดรคลอริก เข็มทิศธรณีวิทยา แผนที่ เครื่องเขียน กระเป๋าเป้ สมุดธรณี Handlens (หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าแว่นส่องพระ) ฯลฯ
ตัวอย่างการแต่งตัวของนักธรณีวิทยา
ซึ่งแน่นอน สำหรับพวกผมก็คงไม่ต้องพกอะไรไปเยอะขนาดนั้น เพียงแค่ใส่เสื้อ กางเกง รองเท้าให้ถูกต้อง อย่าลืมหมวด เครื่องเขียน และสมุดจดก็เป็นพอ
สำหรับการออกภาคสนามจะเป็นอย่างไรนั้นก็คงต้องติดตามตอนต่อไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา