15 ธ.ค. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

ลดกินเค็มช่วยลดความดันได้ในคนทั่วไปหรือไม่

งานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำ JAMA เผยว่า การลดปริมาณโซเดียมในอาหารสามารถลดความดันโลหิตได้อย่างมีนัยสำคัญในผู้ใหญ่ช่วงวัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะมีภาวะความดันโลหิตสูงหรือใช้ยาควบคุมความดันโลหิตหรือไม่
งานวิจัยนี้ดำเนินการโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Vanderbilt University Medical Center และ Johns Hopkins University โดยมีผู้เข้าร่วม 213 คน อายุระหว่าง 50 ถึง 75 ปี ซึ่งมีระดับความดันโลหิตและการรักษาภาวะความดันโลหิตที่แตกต่างกัน ผู้เข้าร่วมได้รับการสุ่มแบ่งกลุ่มให้บริโภคอาหารโซเดียมสูง (เพิ่มโซเดียมประมาณ 2200 มิลลิกรัมต่อวันในอาหารปกติ) หรืออาหารโซเดียมต่ำ (จำกัดปริมาณโซเดียมประมาณ 500 มิลลิกรัมต่อวัน) เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นสลับไปบริโภคอาหารอีกชนิดเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
นักวิจัยวัดความดันโลหิตของผู้เข้าร่วมโดยใช้เครื่องติดตามความดันโลหิตแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ซึ่งจะบันทึกค่าความดันโลหิตตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน พวกเขาพบว่าในขณะที่บริโภคอาหารปกติ อาหารโซเดียมสูง และอาหารโซเดียมต่ำ ค่าความดันโลหิตซิสโตลิกเฉลี่ย (ตัวเลขบน) ของผู้เข้าร่วมคือ 125, 126 และ 119 มิลลิเมตรปรอท ตามลำดับ ความแตกต่างเฉลี่ยของค่าความดันโลหิตเฉลี่ย ระหว่างอาหารโซเดียมสูงและต่ำ คือ 4 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติและสามารถลดได้โดยไม่ขึ้นกับสถานะของภาวะความดันโลหิตสูงของผู้เข้าร่วมวิจัย
นอกจากนี้ งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า อาหารโซเดียมต่ำลดความดันโลหิตได้สูงถึงร้อยละ 73.4 ของผู้เข้าร่วม และ มีร้อยละ 46% ของพวกเขาจัดอยู่ในกลุ่ม "ไวต่อโซเดียม" หมายความว่า ความดันโลหิตลดลง 5 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปเมื่อเปลี่ยนจากอาหารโซเดียมสูงเป็นอาหารโซเดียมต่ำ
การลดลงของความดันโลหิตจากอาหารโซเดียมต่ำนั้นเหมือนกันในแต่ละกลุ่มเมื่อแบ่งตามอายุ เพศ เชื้อชาติ ภาวะความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตเบื้องต้น โรคเบาหวาน และดัชนีมวลร่างกาย อาการไม่พึงประสงค์ที่ผู้เข้าร่วมรายงานในขณะที่บริโภคอาหารโซเดียมสูงและต่ำนั้นมีเล็กน้อย ไม่รุนแรงและโอกาสเกิดไม่ต่างกัน
ผู้วิจัยหลักของงานวิจัย Dr. Deepak K. Gupta กล่าวว่า ผลการศึกษามีผลกระทบสำคัญต่อระบบสาธารณสุขและการปฏิบัติทางคลินิก "งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า การลดโซเดียมในอาหารสามารถลดความดันโลหิตได้ในผู้ใหญ่ช่วงวัยกลางคนถึงผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะมีภาวะความดันโลหิตสูงหรือใช้ยาควบคุมความดันโลหิตหรือไม่ นี่แสดงให้เห็นว่า การลดโซเดียมในอาหารควรได้รับการแนะนำเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับการควบคุมความดันโลหิตและป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด"
Dr. Gupta ยังกล่าวเสริมว่า งานวิจัยนี้ใช้วิธีการที่เรียบง่ายและสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้ “เราจัดหาเครื่องปรุงรสทดแทนโซเดียมต่ำสำหรับกลุ่มอาหารโซเดียมต่ำ วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการลดปริมาณโซเดียมในอาหารที่ทำได้ง่ายและประหยัด ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกคน"
ดังนั้นแล้ว เรามาลดการทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมปริมาณสูง และเลือกทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมต่ำกันครับ เพื่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดที่ดีชึ้น และลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง
อ้างอิง
Gupta DK, Lewis CE, Varady KA, Su YR, Madhur MS, Lackland DT, Reis JP, Wang TJ, Lloyd-Jones DM, Allen NB. Effect of Dietary Sodium on Blood Pressure: A Crossover Trial. JAMA. 2023 Nov 11:e2323651. doi: 10.1001/jama.2023.23651. Epub ahead of print. PMID: 37950918; PMCID: PMC10640704.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา