30 พ.ค. เวลา 14:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ

🔥[สรุป] หลักสูตรอบรมการลงทุนแบบเน้นคุณค่า : THAI VI 21 (Part 2)🔥

✴️"นักลงทุนที่เฝ้ารอคอยให้สมมติฐานทุกอย่างปรากฏแจ่มชัดในงบการเงิน มักกลายเป็นผู้พ่ายแพ้เสมอในตลาดหุ้น"
💰‘Accounting 101 for Value Investor’ : มาร์ช : อลงกฎ มโนรุ่งเรืองรัตน์
🪙งบการเงินคือ ภาษาสากลแห่งโลกการลงทุน เสมือนเข็มทิศว่าเราอยู่ตรงไหน สะท้อนอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานก็เพียงพอแล้วสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น การวิเคราะห์งบการเงินทำให้เราเข้าใจโครงสร้างบริษัท ปัจจัยการเติบโต ประมาณการโลกอนาคต รับรู้ความเคลื่อนไหวและพัฒนาการของบริษัท รวมไปถึงการประเมินโอกาสและความเสี่ยง
🔑กุญแจสำคัญคือ เราต้องเข้าใจงบการเงินอย่างลึกซึ้ง กระทั่งสามารถประมาณการรายได้และอัตรากำไรอย่างแม่นยำ หน้าที่หลักของนักลงทุนคือ การเปลี่ยนข้อมูลและสมมติฐานให้กลายเป็นตัวเลข วิเคราะห์ตัวชี้วัดบางอย่างของอุตสาหกรรม ก่อนที่ตัวเลขเหล่านั้นจะสะท้อนลงบนงบการเงินในอนาคต
🟢หลักการวิเคราะห์งบการเงินขั้นพื้นฐานแบบง่ายๆ🟢
1️⃣ ค้นหาคนทำงานเก่งผ่าน “งบกำไร-ขาดทุน”
🔹 สิ่งที่เราต้องมุ่งเน้นก็คือ ควานหาการเติบโต การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกำไรขั้นต้น กำไรจากการดำเนินงาน และอัตรากำไรสุทธิ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของรายได้และต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญ
🔹 รูปแบบโครงสร้างทางธุรกิจเป็นอย่างไร? ขายดีไหม? รายได้และกำไรโตหรือเปล่า? ถ้าเติบโต โตเท่าไหร่? แหล่งรายได้หลักมาจากไหน? ขายของที่ไหน? ขายให้ใคร? และขายอย่างไร? ตรวจสอบมาตรฐานทางบัญชีด้วยว่าบริษัทมีการรับรู้รายได้อย่างไร?
🔹 เปรียบเทียบอัตรากำไรขั้นต้นกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน หากบริษัทที่เราสนใจทำได้ดีกว่าย่อมหมายถึงการมีความสามารถในการแข่งขัน (DCA) การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) หากขายสินค้าได้มากขึ้น กำไรขั้นต้นควรเพิ่มขึ้นด้วย
🔹 หากอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นเรื่อยๆยิ่งดี แต่ส่วนใหญ่จะพบลักษณะเช่นนี้ในหุ้นราคาแพง ต้องรอเข้าซื้อช่วงเกิดภาวะวิกฤตหนักๆ
🔹 ธุรกิจที่โครงสร้างมีการจ้างคนนอกเยอะๆ จะเพิ่มกำไรขั้นต้นได้ยากมาก ต้องไปพยายามลดค่าใช้จ่ายในการขายแทน (SG&A) บริษัทที่รายได้เพิ่ม แต่ SG&A ลดลงจะยอดเยี่ยมมาก เพราะกำไรจะเติบโตดี
🔹 บริษัทมีวิธีการรับรู้ต้นทุนอย่างไร? ถัวเฉลี่ยหรือ First In First Out หากต้นทุนเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ยิ่งต้องตรวจสอบให้ดี ต้นทุนขายนั้นหากเป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) จะดีมาก เช่น ค่าเสื่อม ค่าเช่า เพราะไม่ต้องลงทุนบ่อย เติบโตได้ยาวๆ ควบคุมง่าย ไม่ผันผวน หากรายได้เติบโต เม็ดเงินก็สามารถไหลลงสู่กำไรได้ทันที
🔹 ค่าใช้จ่ายในการขาย ควรคงที่ไม่ผันผวน นอกเสียจากจะมีเหตุผลที่หนักแน่นมากเพียงพอ เช่น ขยายกิจการ ตรวจสอบดูว่าบริษัทควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพไหม? ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารไม่ควรเพิ่มขึ้นมากเกินไปในแต่ละปี
🔹 กำไรจากการดำเนินงาน คือกำไรจากการทำธุรกิจหลัก ตัดกำไรส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป หากบริษัทมีการขยายกิจการก็ต้องมีปริมาณขายเพิ่มมากขึ้น รายได้เพิ่มมากขึ้น และกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น ใช้วัดความสามารถเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งว่าใครเจ๋งกว่ากัน
🔹 ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลแง่ลบต่อบริษัทที่มีหนี้สินเยอะ และกระทบอย่างมากต่อธุรกิจการเงิน สำหรับบริษัททั่วไปนั้นอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ประมาณ 4-5 เท่ากำลังดี น้อยกว่านี้ถือว่าเสี่ยง ยกเว้นธุรกิจการเงินซึ่งใช้เงินกู้เพื่อดำเนินกิจการเป็นเรื่องปกติ
🔹 ตรวจสอบกำไรก่อนหักภาษีดูว่าบริษัทควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีไหม? บริษัทใดที่จ่ายภาษีน้อยกว่าปกติให้ระวังเรื่องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (BOI) ชั่วคราว หรืออาจเคยขาดทุนสะสมมาก่อน
🔹 กำไรสุทธิคือ ภาพสะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างในงบการเงิน เข้าใจง่ายแต่มีประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์น้อยที่สุด เพราะไม่มีรายละเอียดใดๆเลย หากกำไรสุทธิเติบโตเร็วกว่ารายได้อย่างก้าวกระโดด ควรตรวจสอบหาสาเหตุ สาเหตุส่วนใหญ่คือ การประหยัดต่อขนาด รายได้ผ่านจุดคุ้มทุน ขายสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงขึ้น ได้รับส่วนแบ่งเงินลงทุน หรือมีรายการพิเศษ
🔹 กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ควรเติบโตควบคู่ไปกับกำไรสุทธิโดยธรรมชาติ ให้ระวังเรื่องการซื้อหุ้นคืน การออกหุ้นใหม่ หรือการออก Warrant
🔹 ลำดับการวิเคราะห์งบกำไร-ขาดทุน ให้เรียงจากการดู กำไรสุทธิต่อหุ้น (เปรียบเทียบ YoY, QoQ) กำไรจากการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (คงที่หรือผันแปร หากเพิ่มแล้วรายได้เพิ่มด้วยไหม?) กำไรขั้นต้น (ดูต้นทุนว่าคงที่หรือผันแปร) สุดท้ายคือดูรายได้ (สัดส่วน การเติบโต เปรียบเทียบ YoY, QoQ) อย่าลืมอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินในส่วนของงบกำไร-ขาดทุนด้วย
2️⃣ ค้นหาคนเครดิตดี มีเงินสด ผ่าน “งบกระแสเงินสด”
🔸 งบกำไร-ขาดทุนคือความเห็น ส่วนงบกระแสเงินสดคือความจริง มองเห็นความเคลื่อนไหวของเงินสดที่ไหลผ่านไปมาในกิจการ
🔸 บริษัทเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดซึ่งได้รับเข้ามาจริงๆเท่าไหร่? มีการลงทุนเยอะไหม? ค่าเสื่อมมากหรือเปล่า? มีรายการพิเศษอะไรบ้าง? การเติบโตต้องใช้เงินเยอะไหม? ต้องลงทุนเพิ่มอีกไหม? (ดีที่สุดคือสามารถเติบโตต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม)
🔸 “กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน” ตรวจสอบดูค่าเสื่อมว่าบริษัทลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง? ค่าเสื่อมส่วนใหญ่จะแฝงอยู่ในต้นทุนขาย บางส่วนอาจอยู่ในค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
🔸 “กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน” คือเรื่องของการลงทุนเพิ่ม และการขายสินทรัพย์ออกไป
🔸 “กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน” คือเรื่องของการจ่ายปันผล จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ การกู้เงิน และการจ่ายคืนเงินกู้
🔸 ข้อมูลในงบกระแสเงินสด สามารถใช้ประเมิน “กระแสเงินสดอิสระ” (Free Cash Flow) นั่นคือเงินเหลือจากกิจกรรมทางธุรกิจทุกอย่างที่บริษัทสามารถเอาไปทำอะไรก็ได้ การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) จำเป็นต้องรู้ตัวเลขดังกล่าวนี้
3️⃣ ค้นหาคนที่มีความมั่นคง ผ่าน “งบแสดงฐานะทางการเงิน” หรือ “งบดุล”
🔘 ตรวจสอบดูว่ามีสินทรัพย์อะไรบ้าง เงินสดเยอะไหม? หนี้สินล้นพ้นตัวไหม? บริษัทขายของเป็นเงินสดหรือเงินเชื่อ? โครงสร้างของบริษัทเป็นอย่างไร? บริษัทใช้สินทรัพย์เพื่อสร้างรายได้อย่างคุ้มค่าไหม?
🔘 หนี้สินสามารถบอกถึงความเสี่ยง และตรวจสอบได้ว่าสินทรัพย์ที่บริษัทเอามาทำธุรกิจนั้นได้มาอย่างไร?
🔘 หากหนี้สินเยอะเกินไป ก็คงไม่พ้นต้องนำกำไรจากกิจการมาลดหนี้ ขายสินทรัพย์ที่เอาไว้ทำมาหากิน หรือแย่ที่สุดคือการเพิ่มทุน ซึ่งไม่สร้างการเติบโตใดๆเลย
🔘 หากมีหนี้ที่สงสัยจะสูญ (NPL) บริษัทต้องตั้งสำรองให้ครบถ้วนตามหลักการ หากลงทุนในบริษัทสินเชื่อต้องวิเคราะห์ลูกหนี้ทุกครั้ง
🔘 การมีหนี้อย่างเหมาะสม ทำให้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขยายธุรกิจได้เร็ว นำดอกเบี้ยจ่ายไปลดภาษีได้ เพิ่มผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และกระจายความเสี่ยง ตรวจสอบดูว่าบริษัทกู้เงินมาทำไม? กู้เท่าไหร่? และกู้มาจากใคร?
🔘 โดยธรรมชาติของสินค้าคงเหลือ ควรเพิ่ม-ลดในระดับเดียวกันกับรายได้ ลองเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมว่าใครบริหารจัดการได้ดีกว่ากัน
🔘 ค่าความนิยมคือ การซื้อสินทรัพย์มาในราคาที่สูงกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น ไม่มีการตัดจำหน่าย แต่จะใช้การประเมินราคายุติธรรมแทน
🔘 บริษัทที่ดีคือบริษัทที่มีกำไรสะสมเป็นบวกและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้วไม่ควรเพิ่มขึ้น
🔘 ส่วนของผู้ถือหุ้น บ่งบอกภาพรวมว่าเม็ดเงินที่ลงทุนไปในธุรกิจนั้นคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด?
🟩วิธีการหาหุ้นลงทุนจากการวิเคราะห์งบการเงินแบบพื้นฐานคือ มองหาบริษัทที่มีรายได้เติบโตเร่งตัวขึ้น กำไรทั้ง 3 เติบโตอย่างพร้อมเพรียงกัน (กำไรจากการดำเนินงาน กำไรสุทธิ กำไรสุทธิต่อหุ้น) หรือบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญ
วิเคราะห์แยกส่วนประกอบของรายได้ แบ่งตามส่วนธุรกิจ ปริมาณขาย รายได้เก่า รายได้ใหม่ ให้เรามุ่งเน้นที่การเกิดขึ้นของรายได้ใหม่ พร้อมทั้งค้นหาตัวชี้วัดหรือแรงขับเคลื่อนรายได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ลองประเมินมูลค่าดูคร่าวๆ หากราคาแพงก็ควรปล่อยผ่านไปก่อน แต่หากราคาถูกค่อยศึกษาอย่างเจาะลึกเพิ่มเติม
🎈เรียนรู้กรณีศึกษาในอดีต ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยเสมอ หาหุ้นเติบโตในอดีตมาศึกษาพฤติกรรมย้อนหลัง 5-10 ปี สังเกตดูว่ารายได้และกำไรเติบโตแค่ไหน แล้วราคาหุ้นเคลื่อนที่อย่างไร
🎈นักลงทุนที่เฝ้ารอคอยให้สมมติฐานทุกอย่างปรากฏแจ่มชัดในงบการเงิน มักกลายเป็นผู้พ่ายแพ้เสมอในตลาดหุ้น อย่ารอให้ทุกอย่างเฉลยออกมา 100% เพราะคุณจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ส่วนต้องรอนานแค่ไหนอยู่ที่ความรู้และความเข้าใจ
🎈โลกแห่งการลงทุนคือบ้านป่าเมืองเถื่อน คุณต้องดูแลตนเองให้ดี
🎈การใส่ใจในรายละเอียด ทำให้เราแตกต่างจากคนธรรมดา วิเคราะห์งบการเงินฉบับเดียวกัน ก็อาจมีความเห็นต่างกัน บางคนเห็นวิกฤติ บางคนเห็นโอกาส
🎈ผู้บริหารมักตอบคำถามเรื่องการเติบโตของบริษัทไม่ได้ ถ้าหากอนาคตมันไม่โตจริง
🎈หลักการประเมินมูลค่ากิจการคือ “การคิดลดกระแสเงินสด (DCF)” เราจำเป็นต้องเรียนรู้ ต่อให้การลงทุนในชีวิตจริงจะไม่ได้ใช้เลยก็ตาม
🎈หุ้นเติบโตควรมีรายได้เติบโตมากกว่า 10% ต่อปี ยิ่งเติบโตยิ่งแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของคู่แข่ง อีกทั้งยังมีอำนาจในการต่อรองกับทั้งลูกค้าและคู่ค้ามากขึ้น
🎈ราคาหุ้นในตลาดหุ้นอเมริกา วิ่งขึ้นด้วยความคาดหวัง (Outlook) ส่วนราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทย วิ่งขึ้นด้วยกำไรบริษัท กำไรต้องมาก่อนเสมอ ถ้าหากรายได้เติบโต กำไรเติบโต ราคาหุ้นพุ่งขึ้นแน่นอน
🎈คุณควรประเมินมูลค่าหุ้นแบบมีหลักการเพียงแค่คร่าวๆก่อน จากนั้นค่อยเพิ่มข้อมูล ปรับสมมติฐาน และปรับสัดส่วนการลงทุนตามข้อมูลและความมั่นใจ
🎈การเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงิน ให้เปรียบเทียบ 3 รูปแบบทั้ง YoY และ QoQ ทั้งบริษัทที่เรากำลังวิเคราะห์และบริษัทคู่แข่งหรือบริษัทที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกัน ซึ่งควรดูย้อนหลังสัก 3-4 ไตรมาส เพื่อความแม่นยำ
🖋️มาร์ช : อลงกฎ มโนรุ่งเรืองรัตน์
📎เทรนด์ลงทุน
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ 🙂
โฆษณา