5 มิ.ย. เวลา 03:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ

🔥[สรุป] หลักสูตรอบรมการลงทุนแบบเน้นคุณค่า : THAI VI 21 (Part 3)🔥

✴️อนาคตคือสิ่งยากเย็นที่จะจินตนาการถึงมัน หากแต่บางสิ่งรอบตัวสามารถคาดการณ์อนาคตได้ คุณต้องเชื่อเช่นนี้ก่อน เพราะถ้าไม่เชื่อ ก็คงไม่จำเป็นต้องวนเวียนอยู่ในตลาดหุ้นให้เสียเวลาเปล่า
📌Stock Portfolio Management : เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ
หลักการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนสำหรับผมคือ ความพยายามที่จะสร้างผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาว ภายใต้ความเสี่ยงอันเหมาะสม และพอร์ตต้องไม่แตก!! (ขาดทุนหมดตัวจนต้องเดินหนีหายออกจากตลาดหุ้นไป)
ความคิดเห็นส่วนตัว เรื่องการจัดประเภทสินทรัพย์ตามความเสี่ยง เราเรียนรู้กันมาแบบผิดๆ คนส่วนใหญ่ร่ำเรียนทฤษฎีทางการเงินมากมายเพื่อเอาไปเข้าสอบ ทฤษฎีเก่ง แน่นอนผมเข้าใจได้ว่าเรียนเอาไว้เถอะ เวลาลงทุนแล้วจะได้ไม่เจ๊ง ซึ่งขอพูดตรงนี้เลยว่าหากคุณมีความคาดหวังสูงกว่าคนอื่น คาดหวังว่าจะร่ำรวยมั่งคั่งจากตลาดหุ้น แล้วเชื่อทฤษฎีที่ว่านั่นทั้งหมด คุณไม่มีวันรวยหรอก
🟨หลักการบริหารความเสี่ยงคือ “ความเสี่ยงคือความไม่รู้” แค่นั้น จบ…
หลักการบริหารพอร์ตคือ การมุ่งเน้นบริหารความเสี่ยง ส่วนผลตอบแทนที่คาดหวังเป็นเรื่องรองลงมา มันคือฟูกนุ่มๆเพื่อรองรับร่างกายเมื่อเราเลือกหุ้นผิดตัว ลงทุนผิดทาง
🎈All I Want To Know Is Where I'm Going To Die So I'll Never Go There : Charlie Munger
สิ่งที่เราควรยึดมั่นตลอดเส้นทางการเป็นนักลงทุนคือ “ความเสี่ยง” อย่ามัวหมกมุ่นคิดถึงเพียงแต่ผลตอบแทน ในเชิงทฤษฎีนั้นการถือครองหุ้นอยู่ในพอร์ตมากกว่า 20 บริษัทก็กระจายความเสี่ยง (เชิงตลาด) มากเพียงพอแล้ว หากถือมากกว่านั้นผลลัพธ์ก็ไม่แตกต่าง แต่ประเด็นอยู่ตรงไหนรู้ไหม? หากคุณทำตามทฤษฎีเช่นนี้ “คุณจะไม่มีวันเป็นผู้ชนะ”
🟢แล้วในพอร์ตการลงทุนของเราคุณมีหุ้นกี่บริษัทกันแน่ล่ะ?
🔸 ขึ้นอยู่กับจริตและวิถีชีวิตของตัวคุณเอง มีเวลาศึกษา เรียนรู้ และติดตาม ก็ถือหุ้นหลายบริษัทได้
🔸 มีเงินทุนเยอะ พอร์ตใหญ่ ก็ถือหุ้นหลายบริษัทได้
🔸 ถือหุ้นตามความรู้และความเข้าใจของตนเอง ถามตัวเองก่อนว่าที่ลงทุนไปน่ะเข้าใจมันจริงๆหรือเปล่า?
🔸 ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ควรมีหุ้นในพอร์ตน้อยกว่า 3 บริษัท การถือหุ้นน้อยขนาดนี้ได้คุณต้องเป็นคนโคตรเก่ง ความมั่นใจสูง (แต่ห้ามผิดพลาดเลยนะ เจ็บหนักแน่ๆ)
🔸 รู้ตัวเองว่าเป็นคนไม่เก่ง ประสบการณ์น้อย ควรมีหุ้นในพอร์ตอย่างต่ำ 10 บริษัท
🔸 รู้ตัวเองว่าเป็นคนขี้กลัว ไม่เข้าใจธรรมชาติของตลาดหุ้น ก็ถือหุ้นไปเลย 20 บริษัท ไม่เป็นไรหรอก แต่ให้จดจำไว้เลยว่ายากที่จะร่ำรวยเหนือกว่าค่าเฉลี่ยนะ
🔸 ไม่ทุ่มสุดตัวกับหุ้นเพียงบริษัทเดียว (All in) ไม่กู้เงินมาลงทุน (Margin)
⭐หากจะให้สรุปเรื่องจำนวนหุ้นในพอร์ต ตามความคิดเห็นส่วนตัว นักลงทุนรายย่อยที่มีมูลค่าพอร์ตน้อยกว่า 500 ล้านบาท ควรถือหุ้นระหว่าง 5-10 บริษัท และหุ้นแต่ละบริษัทเราจะให้น้ำหนักมันไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความรู้และความเข้าใจต่อหุ้นตัวนั้น แต่เราจะให้สัดส่วนมากที่สุดต่อหุ้น 1 บริษัท ไม่เกิน 30-50% ของพอร์ตรวม คุณจำเป็นต้องมั่นใจในหุ้นที่เลือกใส่น้ำหนักเยอะอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือหุ้นที่มี Upside สูง ความเสี่ยงต่ำ (จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อทำการบ้านอย่างเจาะลึก)
คนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไม่เก่งมากพอที่จะประสบความสำเร็จ แต่มันเป็นไปได้นะ หากคุณพยายามเป็นคนส่วนน้อย
ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) มีพอร์ตการลงทุนหลักแสนล้านบาท แต่ถือหุ้นไม่ถึง 10 บริษัท เราควรเรียนรู้ว่าคนเก่งเขาทำอะไร ไม่ใช่ว่าเขาพูดอะไร
หากคุณอยากประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น ต้องมี “Edge” หรือความสามารถ ความพิเศษ ข้อได้เปรียบบางอย่างที่เหนือกว่าคนส่วนใหญ่ ปัจจัยสำคัญดังกล่าวนี้จะทำให้เราเลือกหุ้นถูกตัว ประสบความสำเร็จเหนือค่าเฉลี่ย ทำผลตอบแทนได้สูงทั้งๆที่ตลาดหุ้นในภาพรวมยังย่ำอยู่กับที่ เลือกหุ้นถูกตัวยังไม่พอ ต้องใส่น้ำหนักการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญต่อพอร์ตด้วย ต้องโฟกัส ไม่อย่างนั้นชีวิตไม่เปลี่ยน
ชีวิตคนเราตั้งแต่เกิดจนตายจะประสบพบเจอจุดเปลี่ยนเพียงไม่กี่ครั้ง โอกาสไม่ได้ผ่านมาบ่อยๆ ถ้าเจอเมื่อไหร่ต้องคว้าเอาไว้ให้ได้ หุ้นลักษณะ “ตีแตก” ถ้าเจอต้องรีบซื้อให้เยอะที่สุด (แต่อย่าเกิน 40% ของพอร์ต) ขุดคุ้ยค้นหาให้เจอ ให้รวดเร็ว เจอแล้วซื้อให้เยอะ ต้องพยายามเป็นคนส่วนน้อยในตลาดให้ได้ คนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นนั้นเจ๊งเพราะชอบทำตามคนอื่น จึงเปลี่ยนชีวิตไม่ได้ อย่าไปโทษใครเลย ต้องโทษตัวเองที่ไม่สมควรได้รับความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น
เพียงแค่บริหารพอร์ตการลงทุนเป็น ยังไม่ทำให้คุณร่ำรวยหรอก เหตุเพราะไม่รู้ว่าจะซื้อหุ้นตัวไหนดี? หลักการอย่างรวบรัดก็คือ ค้นหาบริษัทที่จะเติบโตในอนาคต (แต่ปัจจุบันยังไม่โต) เราต้องมองเห็นก่อนคนอื่น คนส่วนใหญ่ไม่เห็นหรือไม่เชื่อ เราต้องมองเห็นก่อนบริษัทจะโต P/E ต่ำ ราคาถูก อนาคตสดใส ลักษณะ “หุ้นเด้ง” จะเป็นเช่นนี้
⭐Voting & Weighing : ระยะสั้นอยู่ที่กระแสความนิยม ส่วนระยะยาวอยู่ที่มูลค่ากิจการ นี่คือหลักการของวีไอ
☀️Value investing & Value speculating : อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นนักลงทุนวีไอ
☀️Value investing : คิดเหมือนนักธุรกิจ ลงทุนแล้วนานแค่ไหนจึงจะคืนทุน?
☀️Value speculating : ซื้อหุ้นเพราะคาดการณ์ว่าราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ระยะสั้น รายไตรมาส (คนส่วนใหญ่คิดแบบนี้)
คุณเป็นนักลงทุนแบบไหน? เมื่อทั้ง 2 แบบใช้การวิเคราะห์เชิงพื้นฐานและประเมินมูลค่ากิจการเช่นเดียวกัน
🛑Super Stock คืออะไร? (หุ้นที่จะโตได้เป็น 10 เด้ง)
หัวใจสำคัญของกระบวนการลงทุนคือ “มองอนาคตให้ออก” หากมองออกก่อนคนอื่น และคิดถูก ก็ได้เงิน คาดการณ์ว่าบริษัทแบบไหนที่รายได้และกำไรจะเติบโตมหาศาลในอนาคต หลายสิ่งรอบตัวคาดการณ์อนาคตได้ (แต่น้อยมาก) วิเคราะห์ว่ามูลค่ากิจการวันนี้ กับอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร ถ้ามี Upside มากพอก็ได้เงินมหาศาล
ทั้งชีวิตทำให้ได้ 2-3 ครั้งก็รวยแล้ว “Super Stock” คือหุ้นของบริษัทที่เราสามารถคาดการณ์อนาคตได้ว่ารายได้ กำไร และเงินปันผล จะเติบโตอย่างต่อเนื่องยาวนาน หน้าที่ของเราคือมุ่งมั่นค้นหาบางสิ่งที่คาดการณ์ได้ เพราะยีนส์มนุษย์มันเหมือนกันหมด “เอาตัวรอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์” ต้องมีบางสิ่งที่คาดการณ์ได้ว่าจะดีในอนาคตแน่นอน
อนาคตคือสิ่งยากเย็นที่จะจินตนาการถึงมัน หากแต่บางสิ่งรอบตัวสามารถคาดการณ์อนาคตได้ คุณต้องเชื่อเช่นนี้ก่อน เพราะถ้าไม่เชื่อ ก็คงไม่จำเป็นต้องวนเวียนอยู่ในตลาดหุ้นให้เสียเวลาเปล่า เอาเงินไปซื้อกองทุนรวมดัชนีก็พอแล้ว
เราจะคาดการณ์ได้อย่างไรว่ากิจการนั้นจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ กิจการนั้นต้องมี “ความสามารถในการแข่งขัน” (Durable Competitive Advantage) ลองศึกษาเพิ่มเติม
เพราะนี่คือหลักการลงทุนเพียงข้อเดียวของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)” ที่ทุกคนรู้จักนั่นเอง หุ้นที่แข็งแกร่ง สินค้ามีแบรนด์ติดตลาด เลียนแบบยาก คาดการณ์อนาคตได้ ถ้าคุณมองออกนั่นคือคุณเลือกหุ้นเป็นแล้ว นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดของ “Value investing” ส่วนตัวผมคิดว่าในตลาดหุ้นไทยมีหุ้นแข็งแกร่งอย่างที่ว่าและน่าลงทุน ไม่ถึง 3% ของตลาด
🏈Investing is a game of probability : การลงทุนคือเกมส์แห่งความน่าจะเป็น
การลงทุนคือความพยายามในการคาดการณ์โอกาสที่จะเกิดขึ้นของเหตุการณ์ต่างๆในอนาคต การตั้งสมมติฐานทั้งด้านดีและเลวร้าย “เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham)” ร่ำรวยจากหุ้นเพียงตัวเดียว (บริษัทประกัน GEICO) แต่ต้องใช้เวลาพิสูจน์อย่างยาวนาน ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความอดทนขนาดนั้น โอกาสดีๆไม่ได้มีเข้ามาหาเราตลอดเวลา
🪙ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ซื้อหุ้น ‘CPALL’ ครึ่งหนึ่งของพอร์ตรวมทั้งหมด ตั้งแต่ราคาหุ้นละ 5-7 บาท (ก่อนแตกพาร์) หลักการธรรมดาคือการมุ่งเน้น และเฝ้ารอโอกาส ทั้งชีวิตขอโอกาสชนะไม่กี่ครั้งก็เพียงพอแล้ว คุณต้องอดทน ความสำเร็จหลายครั้งต้องแลกมาด้วยการรอคอยอย่างยาวนาน อย่าซื้อขายบ่อย โอกาสดีๆไม่ได้มีทุกวัน
🪙ผมเข้าซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่งตั้งแต่ราคา 0.50 บาท/หุ้น ก่อนน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ช่วงนั้นบริษัทค้าขายขาดทุนทุกปี Market Cap. ประมาณ 200-300 ล้านบาท ตอนนั้นไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครเชื่อ ปัจจุบันบริษัทมี Market Cap. 15,000 ล้านบาท “หุ้นดี แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ไม่เชื่อ และราคาไม่แพง หากเจอต้องคว้าเอาไว้ให้มั่น” ผมเริ่มต้นลงทุนมา 16 ปี ตีแตกหุ้นได้แค่ 2 ครั้ง ทำผลตอบแทนเฉลี่ย 30% ต่อปี ช่วงเวลาส่วนใหญ่ผมคิดผิด แต่เสียน้อย ได้เยอะ หลักการแบบดันโด แค่นั้นเอง… (The Dhandho Investor)
หลายคนอาจสงสัยว่าสรุปแล้วตลาดหุ้นนั้นพึ่งพาทักษะหรือโชคชะตา มันอยู่ที่ว่า “กิจกรรมนั้นพึ่งพาสิ่งใดมากกว่ากัน” ส่วนตัวผมคิดว่า “ตลาดที่มีประสิทธิภาพต้องพึ่งพาโชคชะตา ส่วนตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพต้องพึ่งพาทักษะ” สำหรับตลาดหุ้นไทยอาจจำเป็นต้องพึ่งพาทักษะ 40% และโชคชะตาอีก 60% (แต่หุ้นที่ผมซื้อลงทุนไม่ได้ปาเป้าเลือกมาอย่างแน่นอน)
👍You know something that most people don’t : ค้นหาและทบทวนจริตของตนเอง จนกว่าจะพบแก่นสารว่าเรามีอะไรเหนือกว่าคนส่วนใหญ่
🌿วิถีนักลงทุนนั้นแพ้บ้าง ชนะบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งสำคัญอยู่ที่เมื่อแพ้ แพ้เท่าไหร่? เมื่อชนะ ชนะมากแค่ไหน?
🌿สุดท้ายหวังว่าเราจะทำสิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ในขณะมุ่งมั่นเดินทางไปสู่เป้าหมายการลงทุนระยะยาว
🌿ขณะที่เราแสวงหาความสุข โปรดอย่าทำร้ายผู้อื่น
1
🌿จะเป็นผู้ให้ หรือผู้รับ คุณต้องเลือกเอง
🌿หวังว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จ และมีความสุข
🖋️เชาว์ : เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ
นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) : THAI VI
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ 😊
โฆษณา