Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฝึกใจไปกับธรรมะ
•
ติดตาม
8 มิ.ย. 2024 เวลา 11:59 • หนังสือ
มีคำถามว่าถ้าเรามีความคิดอยู่กับปัจจุบัน จะทำให้เป็นคนไม่รอบคอบเพราะขาดการวางแผนล่วงหน้าหรือเปล่า
ที่จริงความคิดที่อยู่กับปัจจุบันยิ่งรอบคอบเพราะเวลาใช้ความคิดจะเป็นการใช้ความคิดที่มีประสิทธิภาพมาก อยู่กับปัจจุบันไม่ได้หมายความว่าห้ามคิด คิดได้ เพราะพระพุทธเจ้าจะไปเทศน์ที่ไหนก็ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า แต่ว่าตอนที่กำลังคิดวางแผนเรารู้สึกตัวอยู่ พูดง่าย ๆ ว่า ตาดูดาวแต่เท้าต้องติดดิน คือหลายคนเวลาคิดจะไม่รู้ตัว
อย่าง โทมัส อัลวา เอดิสัน หลังจากแต่งงานแล้ว วันหนึ่งขณะที่เขากำลังทดลองสิ่งประดิษฐ์อยู่ ภรรยาถือกาแฟมาให้ "คุณคะ กาแฟค่ะ"
เอดิสันก็หันไปถาม "คุณคือใคร"
แก้วกาแฟตกเลย หลังจากนั้น ภรรยาก็ขอเลิกเพราะเวลาเขาคิดประดิษฐ์สิ่งของเขาจะเข้าไปในความคิด เขาลืมปัจจุบัน เราเคยเป็นไหมเวลาที่ทำอะไรจนหมกมุ่นมาก ๆ แล้วลืมไปเลย พระพุทธเจ้าบอกว่าอยู่กับปัจจุบันขณะรู้สึกตัวอยู่ แต่ตอนที่คิดก็รู้ว่ากำลังคิดอยู่ด้วย นี้จะเป็นความคิดที่มีประสิทธิภาพ คนส่วนใหญ่ชอบคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พอมีเพื่อนมาเรียกชื่อบางทีก็ไม่ได้ยิน นั่นแหละคือความคิดที่ขาดสติ
ถ้าคิดอย่างมีสติก็จะเป็นความคิดที่มีประสิทธิภาพมาก ถ้าคิดไม่มีสติมันก็จะฟุ้ง ความคิดเป็นทศนิยมที่ไม่รู้จบมันไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่เชื่อ เวลานอนลองดูว่าความคิดจะพาเราไปไหน มันจะไปเรื่องต่อเรื่อง เรื่องต่อเรื่อง แต่ละเรื่องล้วนไม่จบ คิดตลอด คือความคิดมันกำลังทำงาน
เรียนสูงทั้งที ต้องเต็มที่กับความรู้
เวลาที่เราไปเรียนอะไร สิ่งสำคัญที่สุดต้องมีความเป็นเลิศทางวิชาการ อย่าคิดว่าเรียนไปแค่จบ ๆ มันต้องฝันว่าจะต้องมีความเป็นเลิศทางวิชาการ เพราะไม่อย่างนั้นเราก็ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป เราเรียนหนังสือเพื่อให้ได้อัตตามากกว่าปัญญาคือความรู้
ผู้เขียนคิดว่าเมืองไทยเราไม่ค่อยเน้นเรื่องนี้ เมืองไทยตอนนี้อาจจะมีด็อกเตอร์มากที่สุดในโลกแล้ว ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปิดหลักสูตรแข่งกันมากมาย มีหลักสูตรประหลาด ๆ เช่น จ่ายครบก็จบแน่ เกิดขึ้นมากมาย และก็มีหลักสูตรสำหรับนักการเมือง หลักสูตรสำหรับนักธุรกิจ คือ ไม่ใช่เรียนเอาปริญญา แต่เป็นการเรียนเพื่อสายสัมพันธ์ (Connection) นี่คือของการศึกษาไทยที่น่าเป็นห่วงมาก
มันไม่ใช่เป็นการเรียนรู้เอาปัญญา ไม่ได้เอาความเป็นเลิศทางวิชาการ รายงานแทบไม่ต้องทำ ใช้พวกเลขาฯ ทำ ผู้ใหญ่บางคนเขาจะเรียนหนังสือกันเอาพวก หลักสูตรเรียนเอาพวกก็คือ วันหนึ่งเมื่อได้มาบริหารบ้านเมืองก็มีแต่พวก และมันก็มีแต่การฮั้วเอาผลประโยชน์ก็พวกกันหมด ถ้าพวกเราทำผิดก็เก็บเอาไว้ใต้พรม กฎหมายก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์
คนที่รักษากฎกับคนที่จะทำผิดกฎในอนาคต คือ ก๊วนคอนเนกชั่นเดียวกัน นั่นเป็นเหตุให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ การเมืองไม่มีคำว่าประโยชน์สุข มีแต่คำว่าผลประโยชน์ และการเรียนหนังสือไม่คำนึงถึงความเป็นเลิศทางวิชาการ แล้วก็เกิดค่านิยมชนิดหนึ่งขึ้นมา คือค่านิยมปริญญานิยมที่แห่กันเรียนหนังสือทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่
แต่ในรอบสิบปีเกิดกระแสตีกลับ ผู้ใหญ่จำนวนมากกลับมาเรียนหนังสือกันมโหพาร หลักสูตรต่าง ๆ มากมาย แต่ทำไมบ้านเมืองแย่ลง ๆ ทั้งที่มีด็อกเตอร์มากขึ้น แต่ทำไมวิธีคิดของสังคมกลับอยู่แบบดึกดำบรรพ์ แบบโบราณ แบบฮั้ว ๆ
รัฐบาลหรือประเทศคงไม่อยากได้อาจารย์คนหนึ่ง ถ้าผู้เขียนเป็นคนให้ทุนการศึกษา ผู้เขียนก็หวังว่าจะได้ปัญญาชนคนหนึ่ง ซึ่งปัญญาชนคนนั้นควรจะมีคุณสมบัติมากกว่าอาจารย์ อาจารย์คือคนที่รับผิดชอบวิชาไหนก็ไปกันอยู่แค่นั้น ถ้าสอนอยู่สิบปีอย่างมากก็จะเชื่ออยู่ตรงนั้น ในขณะที่สังคมมีพลวัตไปทางไหนก็ไม่รู้ มีทัศนคติอะไรที่อันตรายก็ไม่สน เด็กมีแนวโน้มจะดีหรือจะแย่ลงก็ไม่สน สอนแต่วิชาการ ถ้าเป็นอย่างนี้ถือว่าไม่คุ้มทุน
เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาเล่าเรียนควรบอกตัวเองว่า หนึ่ง เราจะมีความเป็นเลิศในสาขาวิชาที่เรียนมา สอง ควรจะมีศักยภาพในความคิดด้วยการมองอะไรให้มาก และไม่ต้องห่วง คนเก่งจริงจะถูกเกลียด มีแต่คนกระจอกเท่านั้นที่อยู่ตรงไหนก็รวมตัวกับเขาได้ และคนที่เก่งจริง ซิกมันด์ ฟรอยด์ ก็ถูกเกลียด ไอน์สไตน์ ก็ถูกเกลียด ดาวินชี ก็ถูกเกลียด ถวัลย์ ก็ถูกเกลียด เฉลิมชัย ก็ถูกเกลียด สุนทรภู่ ก็ถูกเกลียด ถึงขั้นไม่มีแผ่นดินอยู่
เชื่อไหมทุกคนที่ถูกเกลียดล้วนแล้วแต่เป็นยอดคนทั้งนั้น แต่คนที่หลอมรวมอยู่ที่ไหนก็ได้ เขาเดินพาเหรดมาก็หลอมรวมเข้าไปในแถว คนพวกนี้จะไม่มีหลักไมล์อะไรในประวัติศาสตร์
ถ้าเราไม่มีความกล้าทางจริยธรรม ถึงแม้เราจะมีต้นทุนสูงขนาดไหนก็ตาม เรียนดีขนาดไหนก็ตาม เราก็จะเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งผู้เขียนคิดว่าประเทศเรามีมากพออยู่แล้ว ปัญญาชนธรรมดาที่เอาตัวรอดไปวัน ๆ ไม่ออกมาทำอะไร บ้านเมืองเรามีค่านิยมวิปริตอะไรก็ไม่เอา ฉันจะสอนหนังสือ ฉันจะอยู่กับครอบครัวเงียบ ๆ พอแล้ว
ผู้เขียนคิดว่าโอกาสที่เราจะแวะมาสู่โลกใบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะได้โควต้ามาเกิดเป็นคนได้ ฉะนั้น ต้นทุนชีวิตพวกเราสูงมาก และประเทศควรจะได้ประโยชน์จากพวกเราสูงด้วย
อย่าไปคิดว่าเราตัวเล็ก ๆ คงทำไม่ได้ ต้องคิดว่าตัวเล็กอย่างเรานี่แหละจะทำให้ดู และมันทำได้ถ้าเรากล้า ความเป็นคนกล้า ความเป็นคนตรง สิ่งนี้ขาดหายมากในสังคมไทย คนไทยนี้ไม่กล้า ผู้เขียนคิดว่า การไม่มีความกล้าทางจริยธรรมมันทำให้ปัญญาชนบางส่วนเป็นได้แค่อาจารย์ที่รับจ้างสอน ซึ่งแท้ที่จริงศักยภาพที่เรามีมันน่าจะทำได้มากกว่านี้ แต่มันไม่เกิดในบ้านเรา นักคิดเลยไม่เกิด
สรุปแล้วอย่างน้อยที่สุดผู้เขียนคิดว่า
หนึ่ง เวลาเรียนหนังสือควรจะมีความเป็นเลิศทางวิชาการ เราเรียนด้านไหนเราต้องเป็นเลิศ อย่าเรียนแค่ว่าให้จบ ๆ ไป
สอง เป็นมากกว่าอาจารย์ ต้องเป็นปัญญาชนด้วย อาจารย์เป็นไม่ยาก อ่านมาก ๆ เรียนมาก ๆ ไปสอนแล้วมอบงานก็เป็นอาจารย์แล้ว แต่ปัญญาชนต้องคิดเป็น คิดต่าง คิดใหม่ ที่สำคัญต้องคิดให้ถูกด้วย
และ สาม มีความกล้าหาญทางจริยธรรม เพื่อที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ เป็นสิ่งที่เราควรจะให้บ้านให้เมืองเรา
และแถมอีกข้อหนึ่ง อย่าดูถูกตัวเอง อย่าไปดูถูกว่าเราทำอะไรไม่ได้ ถ้าคนเราคิดอย่างนี้กันหมด ประเทศชาติจะเสียหายมาก
" รู้ ทั น ค ว า ม คิ ด ชี วิ ต จ ะ ง่ า ย ขึ้ น "
• • • • • • • • •
ว.วชิรเมธี
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "กลั่นทุกข์ให้เป็นสุข" | Suffering
|ความทุกข์เกิดขึ้นมาไม่ใช่เพื่อทำให้เราท้อ
|แต่เกิดขึ้นมาเพื่อให้เราก้าวต่อไปจนพบความสุข
ธรรมะ
หนังสือ
พัฒนาตัวเอง
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กลั่นทุกข์ให้เป็นสุข (Suffering) | ว.วชิรเมธี 🌻
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย