13 มิ.ย. เวลา 02:13 • หุ้น & เศรษฐกิจ

🔥[สรุป] หลักสูตรอบรมการลงทุนแบบเน้นคุณค่า : THAI VI 21 (Part 6)🔥

✴️“นักเก็งกำไรคือผู้ทำเงินอย่างมหาศาลให้โบรกเกอร์ นั่นคือสาเหตุที่พวกเขาดูแคลนนักลงทุน และป่าวร้องความน่าสนใจของการเก็งกำไรเสมอมา”
“ผมมีหมวกสองใบ หน้าที่การงานคือนักวิเคราะห์ หากแต่วิถีชีวิตคือนักลงทุน” : กวี ชูกิจเกษม
ผมแบ่งปันแนวคิดและกระบวนการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value investing) มานับสิบปี แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เหตุเพราะทฤษฎีดังกล่าวนั้นได้พิสูจน์ตนเองผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน ว่าสามารถหยิบนำไปประยุกต์ใช้และประสบความสำเร็จในวิถีทางของปัจเจกบุคคลได้อย่างแท้จริง หากแต่ผมจะไม่ปรามาสหรอกว่าแนวทางอื่นอันนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปนั้นไม่สมควรดำรงอยู่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำความรู้จักตนเอง ตรวจทานความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง ทั้งนี้ก็เพื่อก่อรูปก่อร่างสู่แนวทางการลงทุนอันมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง
🟢นักลงทุน
➡️‘Value investor’ : มุ่งเน้นเข้าลงทุนในบริษัทพื้นฐานดี มีแนวโน้มผลการดำเนินงานในอนาคตเติบโต ราคาหุ้นไม่แพง และมีแนวคิดการลงทุนระยะยาว
➡️‘Yield investor’ : มุ่งเน้นเข้าลงทุนในบริษัทพื้นฐานดีและจ่ายเงินปันผลสูง ถือครองหุ้นระยะยาวเพื่อรับเงินปันผลไปเรื่อยๆจนกว่าพื้นฐานบริษัทจะมีการเปลี่ยนแปลง
🟠นักเก็งกำไร
➡️‘Momentum investor’ : มุ่งเน้นซื้อขายหุ้นตามปัจจัยและวัฏจักรทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือสถานการณ์พิเศษต่างๆ
➡️ ‘Speculate investor’ : มุ่งเน้นการเก็งกำไรเป็นสำคัญ ไม่สนใจปัจจัยเชิงพื้นฐาน มักใช้ทฤษฎีการวิเคราะห์เชิงเทคนิค (Technical analysis)
❎ผมไม่เคยปฏิเสธแนวทางแบบการเก็งกำไร ทุกวิถีทางสามารถใช้ได้หากมันสามารถทำเงินและถูกจริตกับตัวคุณเอง สิ่งสำคัญก็คือ “อย่าเก็งกำไร โดยคิดว่าตนเองกำลังลงทุนอยู่” เก็งกำไรในสิ่งที่รู้ดีเท่านั้น อย่าเก็งกำไรอย่างเอาเป็นเอาตาย อย่าใช้เงินกู้ (Margin) และอย่าขาดวินัย
❎“นักเก็งกำไรคือผู้ทำเงินอย่างมหาศาลให้โบรกเกอร์ นั่นคือสาเหตุที่พวกเขาดูแคลนนักลงทุน และป่าวร้องความน่าสนใจของการเก็งกำไรเสมอมา”
☑️รู้ตัวเสมอว่าเราเป็นใคร รู้ว่าจะลงทุนอย่างไร ยึดมั่นในแนวทาง และเรียนรู้จากความผิดพลาด สิ่งเหล่านี้คือหนทางสู่ความสำเร็จในโลกแห่งการลงทุนอันแสนอลหม่านวุ่นวาย
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ก็เคยทำผิดพลาดมามากมาย แต่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ มีความอดทนสูง มีวินัย มั่นใจในสิ่งที่คิด หากสิ่งใดไม่ใช่ก็ตัดทิ้ง และลงทุนระยะยาว จากเงินลงทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาท และตกงานช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เข้าซื้อหุ้น ‘มาม่า’ ที่ราคา 10 บาทต่อหุ้น จนมูลค่าวิ่งขึ้นไปถึง 1,000 บาทต่อหุ้น (ก่อนแตกพาร์) พลิกมูลค่าพอร์ตเป็น 1,000 ล้านบาท
หลังจากนั้นขายมาม่า ไปเข้าซื้อหุ้น ‘7-11’ ที่ราคา 2-3 บาทต่อหุ้น ภายหลังราคาวิ่งขึ้นไปจนถึง 120 บาทต่อหุ้น (ก่อนแตกพาร์) พลิกพอร์ตอีกครั้งเป็นหลัก 10,000 ล้านบาท
แนวทางการลงทุนส่วนตัวของผมคือ “ลดความเสี่ยง เพิ่มผลตอบแทน” กระจายความเสี่ยงให้เพียงพอ การซื้อหุ้นราคาถูกไม่สำคัญเท่าซื้อหุ้นดี และผมให้ความสำคัญกับเงินปันผลในฐานะเจ้าของกิจการมากกว่าราคาหุ้น เงินปันผลคือของจริง เราสะสมมันไปเรื่อยๆ จนเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือเรียกอย่างสวยหรูว่า “มีอิสรภาพทางการเงิน” ทำงานต่อไปอย่างมีความสุขมากขึ้น มีอิสระ ไม่กลัวตกงาน
1️⃣ เลือกลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานดี
2️⃣ ซื้อหุ้นราคาถูกกว่ามูลค่าที่ประเมินได้
3️⃣ ถือครองหุ้นระยะยาว
4️⃣ กระจายความเสี่ยงอย่างเพียงพอ
5️⃣ ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
⭐“ความสำเร็จในตลาดหุ้น ขึ้นอยู่กับความทุ่มเทหาความรู้ของนักลงทุน”
🔥‘MOAT’ คุณสมบัติของบริษัทพื้นฐานดี
1️⃣ กำไรบริษัทมีแนวโน้มเติบโตสม่ำเสมอในระยะยาว
2️⃣ มีอำนาจในการต่อรองลูกค้าสูง
3️⃣ เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม
4️⃣ ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากมายในอนาคตเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม
5️⃣ มีความสามารถในการทำกำไรสูง
📈“งบการเงินคือลายแทงสมบัติของนักลงทุนหุ้น” คุณจำเป็นต้องมองหาความสัมพันธ์รวมถึงความผิดปกติในตัวเลขต่างๆ หาเหตุผล และอธิบายมันออกมาให้ได้ การอ่านรายงานประจำปีและการวิเคราะห์งบการเงินคือ “การค้นหาบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันระยะยาว” จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ หมั่นลงมือทำ ดูกรณีศึกษาในอดีตเยอะๆ จะเข้าใจมากขึ้น
💸“คุณต้องเข้าใจบัญชี เข้าใจความแตกต่างเล็กๆน้อยๆ บัญชีคือภาษาธุรกิจ แต่เป็นภาษาที่ไม่สมบูรณ์ ตราบใดที่คุณไม่มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้และเข้าใจมัน จงอย่าเลือกหุ้นด้วยตนเอง : Warren Buffett
คำถามสุดท้ายที่คุณจำเป็นต้องตอบตนเองก่อนซื้อหุ้นก็คือ “หากเกิดวิกฤตในอนาคต บริษัทที่เราลงทุนจะยังอยู่ไหม? และอีก 10-20 ปีข้างหน้า บริษัทเราจะเป็นอย่างไร?” ผมชอบบริษัทที่มีประวัติยาวนานให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ (Track record) ธุรกิจที่มีความยั่งยืน รอจังหวะเข้าซื้อเมื่อราคาหุ้นร่วงลงมาลึกๆ ไม่ต้องกังวลว่าจะซื้อไม่ทัน วิกฤตมีมาอีกแน่ ใจเย็นๆ
วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เข้าซื้อหุ้น ‘Apple’ ในวันที่ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) เสียชีวิต นักลงทุนหลายคนเลือกหุ้นเก่ง แต่รอซื้อไม่เป็น ทนถือเงินสดนานๆไม่ได้
ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับการทำงาน มีความสุขกับการลงทุน มีชีวิตที่เรียบง่าย ความสุขของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน
🖋️กวี ชูกิจเกษม
ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์และคอนเทนต์ : บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)
โฆษณา