18 มิ.ย. เวลา 08:18 • การศึกษา

🔥[สรุป] หลักสูตรอบรมการลงทุนแบบเน้นคุณค่า : THAI VI 21 (Part 7)🔥

✴️“ช่วงเริ่มต้นศึกษาการลงทุน มักออกเรี่ยวแรงมาก แต่ได้ผลลัพธ์น้อย ขออย่าเพิ่งล้มเลิกความตั้งใจ พยายามหน่อย สักวันหนึ่งผลลัพธ์มันจะก้าวกระโดดแบบไม่ทันรู้ตัว อย่าท้อ เราไม่มีวันรู้หรอกว่าจะสุดทางเมื่อไหร่” : ศรุติ โชติเสรีวิทย์
Dopamine (โดพามีน : สารสื่อประสาทที่ทำงานร่วมกับสมอง) ส่งผลต่อสภาพจิตใจ เกิดความรู้สึกพึงพอใจเมื่อคาดหวังแล้วได้รับรางวัลคืนกลับมา ทำให้เกิดความสุข ความรัก โลภ โกรธ หลงใหล ก่อตัวภายในจิตใจ หากคุณเป็นนักลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นนั้น ‘Dopamine’ ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อหรือขายหุ้นในตลาด
💸เหตุใดจึงมีเพียงคนส่วนน้อยที่เป็นผู้ชนะในตลาดหุ้น?
🟢ผู้คนส่วนใหญ่กว่า 80% ลงทุนในตลาดหุ้นแล้วขาดทุน สำหรับผมแล้วการลงทุนมีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 อย่าง
1️⃣ มีเงิน (ออมเพื่อนำมาลงทุน)
2️⃣ มีทัศนคติที่ดี นั่นคือมีกระบวนการคิด ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจและพฤติกรรมทางการลงทุน
3️⃣ มีระบบที่ดี นั่นคือกระบวนการลงทุน เป้าหมายการลงทุนคืออะไร? จะลงทุนในสิ่งใด? จึงจะประสบความสำเร็จในเป้าหมายนั้น
❎คนส่วนใหญ่ที่ล้มเหลวมักคิดว่าหุ้นที่ดีคือ “หุ้นที่ราคากำลังพุ่งสูงขึ้น” พวกเขามักแห่ทำตามคนอื่น โดยไร้เหตุผลและปราศจากความรู้ความเข้าใจ ชอบหาข้อมูลแบบ ‘Public information’ ทั่วๆไปที่คนอื่นก็รู้อยู่แล้ว แบบนี้ไม่มีประโยชน์
☑️คนส่วนน้อยที่ประสบความสำเร็จมัก “พิจารณาอารมณ์ของคนส่วนใหญ่” วิเคราะห์ความคาดหวังของผู้อื่น และเฝ้ามองหาบางสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ รู้ลึกและคิดลึก รวมทั้งการค้นหาข้อมูลมารองรับความคิด (Insight not Inside) มุ่งเน้นที่ “กระบวนการ” มากกว่าผลลัพธ์
👍‘Black Swan’ ซึ่งสำคัญที่สุดในตลาดหุ้นก็คือ “เราไม่รู้ ว่าเราไม่รู้อะไร?”
👍“ซื้อหุ้นดี ราคาถูก ในจังหวะเวลาที่ใช่”
หุ้นพื้นฐานดี ราคาไม่แพง จังหวะเวลาดี สามส่วนนี้คือสิ่งที่ควรต้องพิจารณาก่อนซื้อหุ้น คุณอาจได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอันเหนือกว่าค่าเฉลี่ย “ราคาที่ถูกต้อง ในเวลาที่ใช่” คือการลงทุนที่ดี แม้กับบริษัทดาษดื่นธรรรมดาๆก็ตาม นี่คือปัจจัยสำคัญเลยทีเดียว
หลักการก็คือ เราจำเป็นต้องรู้ “ความจริงที่เป็นประโยชน์” หยิบฉวยนำมาใช้งานได้ นำมาวิเคราะห์ว่าหุ้นของบริษัทที่เราสนใจลงทุนนั้น “ปัจจัยที่ทำให้หุ้นราคาขึ้นคืออะไร?” และ “ความเสี่ยงที่จะทำให้ราคาหุ้นร่วงลงคืออะไร?” ค้นหาความจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย หรือมีเพียงคนส่วนน้อยที่มองเห็น เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว หากรับข้อมูลข่าวสารมากเกินไปยิ่งตัดสินใจยาก ข้อมูลน้อยๆแต่คัดสรรมาแล้วย่อมดีกว่า
🧨“อยากรวยเร็วให้เล่นหุ้นเหมือนวิ่งแข่ง 100 เมตร อยากรวยนานๆให้เล่นหุ้นเหมือนวิ่งมาราธอน”
🧨ความผันผวนคือต้นทุนระยะสั้น เพื่อผลตอบแทนอันงดงามในระยะยาว วินัยจึงสำคัญมาก
🥇“History Doesn't Repeat Itself, but It Often Rhymes” : Mark Twain
🟢“ริอาจผจญภัยในตลาดหุ้น ต้องพิสูจน์ตนเองอย่างน้อย 9 ปี” (ทฤษฎี 3+3+3)
1️⃣ 3 ปีแรกคือ ‘Survival Mode’ : การเอาตัวรอดในตลาดหุ้นคืออย่าคิดรวยเร็ว หมั่นฝึกฝนเคล็ดวิชา เก็บเกี่ยวความรู้ ร่ำเรียนและทดลองกระบวนการให้หลากหลายแนวทาง นั่นก็เพื่อ “ค้นหาจริตส่วนตัวทางการลงทุน” เลือกอาจารย์ให้ถูกคน เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อรอวันเติบโต
2️⃣ 3 ปีต่อมาคือ ‘Knowledge’ : การต่อยอดองค์ความรู้ กลั่นกรองสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากคนอื่น ประยุกต์ ปรับเปลี่ยน กลายร่างไปสู่ “องค์ความรู้ในแบบฉบับของตนเอง” ใกล้ชิดกับผู้คนที่ส่งเสริมให้เราเดินหน้าต่อไปอย่างถูกทิศทาง วางแผนการเงินและวางกลยุทธ์การลงทุนอย่างเหมาะสม จัดพอร์ตได้อย่างกระชับชัดเจนตามเป้าหมายการลงทุนของตนเอง
3️⃣ 3 ปีสุดท้ายคือ ‘Financial freedom’ : มีอิสรภาพทางการเงินอย่างยั่งยืน กระบวนการทำซ้ำ ทบทวน ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม มีทัศนคติทางการลงทุนที่ถูกต้อง มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ ปรับความเร็วให้สมดุลกับจริตส่วนตัว แบ่งปัน ส่งต่อ และทำเพื่อสังคมทั้งทรัพย์สินและองค์ความรู้
⭐คนส่วนใหญ่มี 2 แบบ
🔹คิดเร็ว ใช้อารมณ์และสัญชาตญาณ
🔹คิดช้า ใช้ข้อมูล ตรรกะและเหตุผล
🌿จังหวะอารมณ์นักลงทุน
1️⃣ ตกหลุมรัก (Fear of missing out) : ไม่ได้โลภแต่กลัวพลาดตกรถ และขาดความรู้ หากต้องการซื้อหุ้นก็ควรซื้อก่อนคนส่วนใหญ่จะตกหลุมรักมัน ซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า กระจายความเสี่ยงให้เพียงพอ ลงทุนในธุรกิจพื้นฐานดีและผู้บริหารต้องดีด้วยเช่นกัน
2️⃣ ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ (Confirmation Bias) : เฝ้ามองหาเหตุผลเพื่อมายืนยันความเชื่อของตนเอง อะไรๆก็ดูดีไปเสียหมดทุกอย่าง หาข้อมูลและหลักฐานเพียงเพื่อเป็นเครื่องยืนยันต่อสิ่งที่ตนเองคิดเท่านั้น
3️⃣ มั่นใจเกินไป (Overconfidence) : ประเมินความสามารถของตนเองสูงมากเกินไป คิดว่าตนเองเก่งกว่าค่าเฉลี่ยคนส่วนใหญ่ มีความเชื่อผิดๆที่ว่าตนเองมีความรู้ (แต่อันที่จริงแล้วไม่มีเลย)
4️⃣ ความผูกพัน (Sunk Cost) : อยู่ด้วยกันมานานเลยตัดใจทิ้งไม่ลง ขาดทุนหุ้นแต่เสียดายต้นทุนที่ซื้อมา เสียดายเวลาที่เฝ้าศึกษาเรียนรู้กิจการ ทางออกคือ “ลืมต้นทุนที่ซื้อมาให้หมด แล้วประเมินมูลค่าใหม่” ลองชั่งน้ำหนักดูว่าถ้าตอนนี้ไม่ได้ถือหุ้นอยู่จะทำอย่างไร? ก็จงทำเช่นนั้น ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) สำคัญมากที่สุด
5️⃣ บอบช้ำ (Loss Aversion) : จากงานวิจัย ด้วยจำนวนเงินเท่าๆกัน ความทุกข์จากการขาดทุน จะมากกว่า ความสุขจากการได้กำไร “ถึง 2 เท่า” หุ้นที่ขาดทุนไม่ยอมขาย หุ้นที่กำไรนิดเดียวก็รีบขายทันที สุดท้ายมูลค่าพอร์ตก็ย่ำอยู่กับที่
6️⃣ ยอมรับ เข้าใจ และเรียนรู้ (Survivorship Bias) : ท้อได้ แต่อย่ายอมแพ้ อย่าล้มเลิกความตั้งใจ อย่าถอย พยายามนำจิตใจตนเองกลับสู่เส้นทางเดินให้ได้ รู้ว่ามีโอกาสตายที่ไหนก็อย่าไปที่นั่น เรียนรู้จากคนที่รอดชีวิต และการเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเองจะทำให้เรามองเห็นเส้นทางเดินที่ถูกที่ควรในอนาคต
✅ลงทุนสไตล์ ‘Stock Vitamins - วิตามินหุ้น’✅
ส่วนตัวจะมีกระบวนการหาหุ้นแบบ ‘Bottom up’ ขุดหุ้นที่น่าสนใจเป็นรายบริษัท วิเคราะห์งบการเงิน แยกหุ้นที่ดีออกมาทำการบ้านต่อ ส่วนที่เหลือก็แยกเก็บไว้ใน ‘Watchlist’ คอยติดตามความน่าสนใจอยู่เสมอ ซื้อหุ้น ‘โซนล่าง’ ราคาหุ้นยังไม่ขึ้นมาเยอะ อุตสาหกรรมรวมมีแนวโน้มเติบโตดีในอนาคต ธุรกิจมีรายได้ประจำสม่ำเสมอ และจดบันทึกการซื้อขายหุ้นทุกครั้งว่าเราซื้อขายหุ้นบริษัทนี้ด้วยเหตุผลอะไร? จัดพอร์ตโดยลงน้ำหนักมากกว่าในหุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตสูง แต่ต้องมั่นใจแบบกลยุทธ์ดันโด (Dhandho Investor) เช่น
🟨เสี่ยงต่ำ : ผลตอบแทนสูง (25% : 25%)
🟨เสี่ยงปานกลาง : ผลตอบแทนสูง (15% : 15%)
🟨เสี่ยงสูง : ผลตอบแทนสูง (10% : 10%)
⭕“ราคาหุ้น = ความจริง + จินตนาการ”
⭕ความจริงคือ งบการเงิน ผลการดำเนินงาน และการประเมินมูลค่า
⭕จินตนาการคือ ความคาดหวังในอนาคต
ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าในแต่ละครั้งส่วนใดควรให้น้ำหนักมากกว่ากัน
⭕“มูลค่า = คุณภาพ” คุณภาพเกิดจากการบริหารจัดการ การเงิน วิสัยทัศน์ อนาคต (ของบริษัท) เราต้องหาเหตุผลมาประกอบการให้มูลค่าในแต่ละส่วน
🗣️สิ่งที่เราควรเรียนรู้ในบทความนี้คือ หลายครั้งเรามีอคติในการตัดสินใจ ต้องสำรวจตนเองให้ถ่องแท้ มีสติให้มากขึ้น อย่าทำตามคนอื่น ครุ่นคิดให้ช้าลง คิดด้วยเหตุผล เพราะการสร้างความมั่งคั่งในตลาดหุ้นคือ “การวิ่งมาราธอน” ผลตอบแทนจะดีและมีความสุข
Dopamine (โดพามีน) กระตุ้นอารมณ์ให้เราเกิดการตัดสินใจ นอกเหนือจากนั้นเราควรมี ‘เซโรโทนิน (Serotonin)’ ด้วย นี่คือ “ความสุขที่แท้จริง” ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว จุดหมายปลายทางจะมีความสุขในระยะยาวมากขึ้น
🖋️จิม : ศรุติ โชติเสรีวิทย์
Stock Vitamins - วิตามินหุ้น
โฆษณา